++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

"โศกนาฎกรรม พฤษภา 53" ค้นหาความจริงจากสื่อในสมรภูมิราชประสงค์

จุลสาร ราชดำเนิน หนังสือรายสามเดือนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นสื่อกลางข้อมูลข่าวสาร ระหว่างสมาชิกของสมาคมที่เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์

“ราชดำเนิน” คือ ถนนราชดำเนินกลาง ที่ตั้งของสมาคม ก่อนที่จะย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ถนนสามเสน เยื้องกับ โรงพยาบาลวชิรพยาบาลในปัจจุบัน

เรื่องราวส่วนใหญ่ในจุลสารราชดำเนิน นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวในวงการสื่อสารมวลชนแล้ว ยังเป็นเวทีทัศนะ และถ่ายทอดประสบการณ์ของนักข่าว บางครั้งก็เป็นช่องทางในการโต้แย้ง ถามกลับ การวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยก็มี

จุลสาร ราชดำเนิน ฉบับล่าสุด “ โศกนาฏกรรมพฤษภา 53 -บันทึกปากคำสื่อ สมรภูมิราชประสงค์ กระชับวงล้อมทะเลแดง” เป็นฉบับพิเศษ ที่รวบรวมเหตุการณ์ความรุนแรง “ พฤษภา 2553” การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในแง่มุมต่างๆ จากมุมของนักข่าวภาคสนามที่ติดตามขบวนเสื้อแดง และอยู่ในสมรภูมิรอบพื้นที่กระชับวงล้อม ที่ได้เห็นเหตุการณ์จากจุดต่างๆ นำมาบอกกล่าวบางส่วน

ในฐานะนักข่าว ที่ต้องเกาะติด รายงานความเคลื่อนไหวของการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง นักข่าวจึงถือว่า เป็นประจักษ์พยานที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มากที่สุดคนหนึ่ง เห็นกับตาตนเอง ณ จุดที่ตัวเองอยู่ว่า ใครยิง ใครเผา กระสุน ระเบิดมาจากไหน ใครอยู่บนตึกสูง

นักข่าวในสนามหลายคน เกาะติดการชุมนุมมาต่อเนื่อง ได้เห็นความเคลื่อนไหวทั้งบนเวที และหลังเวที เห็นพฤติกรรม การพูดจาของแกนนำ จึงได้รับรู้สถานการณ์ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง ในหลายๆมิติ มากกว่าผุ้ชุมนุม และมากกว่าผู้ติดตามการชุมนุมผ่านสื่อ ที่ข้อมูลจากสนามถูกกลั่นกรอง เสริมแต่แต่ง และตัดแปะ จากกระบวนการจัดการข้อมูลข่าวสาร ในกองบรรราธิการ

บางคน ถึงกับถูกกระแสข่าวลือหลังเวที นปช.ที่ราชประสงค์ว่า เป็นตัว “ ล็อกเป้า ให้ “ เสธฯ แดง โดนยิงเสียชีวิต” เป็นตัวชี้เป้า “เสธฯ แดง”

“โศกนาฏกรรม พฤษภา 53 “ ซึ่งประกอบด้วยรายงานกว่า 30 ชิ้น จากนักข่าวทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์หลายสำนัก ที่ประจำอยู่ทุกจุด ที่มีการปะทะกัน ตั้งแต่ บ่อนไก่ – ศาลาแดง – แยกสารสิน –ราชปรารภ –สามเหลี่ยมดินแดง -สี่แยกราชประสงค์ และวัดปทุมวนาราม ทั้งก่อน และในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

บางชิ้นเป็นรายงานบรรยากาศในฐานที่มั่น ศอฉ.ในกรมทหารราบที่ 11 ที่สะท้อนถึงอารมณ์ ความรู้สึกของนายกรัฐมนตรี และผู้ที่รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์

“เอ็กซ์คลูซีฟ ใน ศอฉ. กดดัน–รอคอย–รุนแรง-สูญเสีย” โดยประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ จาก หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ตอนหนึ่ง รายงานว่า

“ ราว 4 ทุ่มของคืนวันที่ 10 เมษายน นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ได้เดินมาบอกกับบรรดารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่า เป็นนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือดไม่ได้ แต่ก็ถูกกล่อมให้ล้มเลิกการตัดสนิใจดังกล่าว และให้มีความอดทน

อาการถอดใจของนายกรัฐมนตรีมีอยู่หลายครั้ง แต่มีการขอร้องว่า หากนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจทางการเมือง ก็ขอให้ลาออกแทนการยุบสภา เพื่อให้รองนายกรัฐมนตรีสุเทพ รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดการแก้ปัญหาการชุมนุมให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อรักษาประเทศและกฎหมายเอาไว้

หรือปฏิกิริยาของพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา หลังเหตุการณ์ถล่มทหารที่สี่แยกคอกวัว ที่ปัญญา ทิ้ว สังวาลย์ แห่งสำนักข่าวเนชั่น รายงานไว้ในเรื่อง “ กองทัพ – ประยุทธ์-เสธ.แดง ใต้เงามืด”ว่า

“ ไปดูสิ เขาทำกับลูกน้องพี่อย่างไรบ้าง พี่ไม่ไหวแล้ว ทำไมถึงไม่รักบ้านรักเมืองกัน บ้านเมืองเสียหายมามากแล้ว วันนี้ถึงอย่างไรก็จะต้องคลี่คลายสถานการณ์ให้เรียบร้อย เพราะถ้ายังปล่อยให้ยืดเยื้อออกไป จะยิ่งส่งผลต่อประเทศชาติมากเท่านั้น แค่นี้พอนะพี่ยังยุ่งอยู่ไว้ค่อยคุยกัน”

ประเด็นเรื่อง กองกำลังติดอาวุธ สไนเปอร์บนตึกสูง ชายชุดดำสวมหมวกไหมพรม ถูกกลุ่มคนเสื้อแดง และสื่อบางค่าย ตอบโต้ว่า ไม่มีอยู่จริง ศอฉ. และ ดีเอสไอ กุเรื่องขึ้นมาเอง ในเรื่อง “ใครยิงใคร” โดยนิมิต สุขประเสริฐ แห่งสำนักข่าวไทย เรื่อง “ สไนเปอร์จากฝั่งแดง” ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ ปรีชาพล อินทรโชติ โปรดิวเซอร์ข่าวของทีวีไทย , เรื่อง “ระทึกขวัญที่บ่อนไก่ จากแนวสีเขียวสู่แนวเผายาง” โดย วัสยศ งามขำ จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฯลฯ ถ่ายทอดสิ่งที่พวกเขาเห็นให้ผู้อ่านไปคิดกันเอาเองว่าอะไรเป็นอะไร

รวมทั้งการเสียชีวิตของช่างภาพชาวอิตาลีที่ แยกสารสิน ก็ได้รับการกล่าวถึงในเรื่อง “ วันสลายที่ศาลาแดง” โดยนิติพันธ์ สุขอรุณ แห่ง หนังสือพิมพ์แนวหน้า ว่า เขาตายเพราะอะไร

พรรณี อมรวิพุธพนิช แห่ง หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ซึ่งอยู่ในวัดปทุมวนาราม ตั้งแต่ห้าโมงเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม จนถึงเที่ยงวันรุ่งขึ้น รายงานสิ่งที่เธอเห็น และได้ยินในเรื่อง “ภาพที่เห็นกับตา ในวัดปทุมฯ ......” โดยสรุปในตอนจบว่า

“ 18.00-06.00 น. เวลา 12 ชั่วโมง ในวัดปทุมฯ ค่ำคืนนั้น ทำให้ข้าพเจ้าเรียนรุ้ว่า จากนี้ไป คำสั่งสอนใน “คัมภีร์นักข่าว” ที่เน้นย้ำว่า อย่ารายงานข่าวถ้า ไม่ได้ “ เห็นกับตา” หรือ “ ได้ยินกับหู” คงจะไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะวันนี้คนไทยส่วนใหญ่สร้างความเชื่อของตัวเองขึ้นมาแล้ว ความจริงที่เห็นกับตาหรือได้ยินกับหู จะถูกดัดแปลงให้ตรงกับความเชื่อและความคิดเห็นส่วนตัวทันที

ต่อไปนี้ ข้อความที่อ้างว่า “ ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ คงไม่มีความหมาย และไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไป”

เรื่อง “เมื่อรถไฟขบวนแดง แล่นออกจากสถานีประเทศไทย” โดยเสถียร วิริยะพรรณพงศา แห่งสำนักข่าวเนชั่น ให้ภาพแกนนำคนเสื้อแดงที่มีความสลับซับซ้อนว่า ใครเป็นใคร มีวาระซ่อนเร้นกันอย่างไร

“ แต่ไม่ว่า “ ศูนย์การนำ” จะกระจายอยู่เป็นส่วนๆ ไม่เป็นเอกภาพ แต่แม่น้ำทุกสายไหลกลับเข้าสู่แม่น้ำสายใหญ่คือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เขาคือ ผู้โยงการเคลื่อนไหวทุกสายทั้ง “สายสันติวิธี” “ สายกองกำลัง” “ สายการเมือง” “ ซ้ายเก่า” “ พรรคเพื่อไทย” อิทธิพลของเขาแผ่ขยายไปควบคุมมวลชนกลุ่มย่อยตามจังหวัดต่างๆ”

ทุกเรื่องใน “ โศกนาฏกรรม พฤษภา 53 “ ผู้เขียนเขียนด้วยความระมัดระวัง รายงานข้อเท็จจริงที่ได้เห็น ได้ฟังมาด้วยตัวเอง พยายามหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า ใครผิด ใครถูก

ใคร ที่พยายามค้นหาความจริง จากความตาย 90 ศพ คนตายนั้นพูดไม่ได้ ทำไมไม่ลองค้นหาความจริง จาก คนเป็น ในจุลสาร ราชดำเนิน ฉบับพิเศษ “ โศกนาฎกรรมพฤษภา 53”ดูบ้าง

( จุลสารราชดำเนิน ไม่ขาย แต่แจกฟรีให้กับสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถอ่าน และดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของสมาคม www.tja.or.th )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น