++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

นักวิจัย มช.คนเก่ง"เพิ่มมูลค่าข้าวไทย"คว้าสุดยอดนักวิทย์ฯ รุ่นใหม่'53

ดร.ชนา กานต์ พรมอุทัย นักวิจัยและอาจารย์พิเศษ ประจำสาขาวิชาพืชไร่ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2553 ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จาก ผลงานวิจัย “การเพิ่มมูลค่าข้าวไทยด้วยการเพิ่มคุณภาพทางโภชนาการ” โดยเข้ารับโล่พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2553”

ผลงานวิจัยดังกล่าว เป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวไทยด้วยการเพิ่มปริมาณธาตุเหล็กและสังกะสีในข้าวซึ่ง ปกติจะมีปริมาณอยู่น้อยมาก เมื่อเติมทั้งสองธาตุในระหว่างกระบวนการนึ่งข้าว พบว่า กระบวนการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารด้วยวิธีดังกล่าวสามารถเพิ่มธาตุเหล็กและ สังกะสีในข้าวสารถึง 50 และ 4 เท่าตามลำดับ โดยธาตุที่เติมเข้าไปสามารถคงอยู่ในข้าวนานถึง 6 เดือน และสามารถคงอยู่ในข้าวสวยได้แม้จะผ่านการล้างน้ำมาแล้วหลายครั้งหรือ ผ่านกระบวนการหุงต้มแล้วก็ตาม นอกจากนี้ธาตุเหล็กที่อยู่ในเมล็ดข้าวยังได้รับการทดสอบแล้วว่ามีประโยชน์ ทางโภชนาการสูงหลังจากการบริโภคอีกด้วย

สำหรับประวัติการทำงาน ดร.ชนากานต์ พรมอุทัย ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2553

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาโรคพืช จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เกียรติบัตรรางวัลเรียนดี พ.ศ.2540 และพ.ศ. 2541) ต่อมาในปี 2547 ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) โดยมี ศ.ดร.เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ Prof. Dr.Bernard Dell เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม

จากนั้นได้ทำงานวิจัยที่ Murdoch University ประเทศออสเตรเลีย เพื่อศึกษาเกี่ยวกับตำแหน่งและรูปแบบการสะสมของธาตุเหล็ก ในส่วนต่างๆ ของเมล็ดข้าวด้วยกล้องอิเล็กตรอน พร้อมทั้งได้ร่วมวิจัยกับ Prof. Dr. Ross Welch ที่ Cornell University ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นประโยชน์ทางโภชนาการของธาตุเหล็กในเมล็ดข้าว ด้วยเทคนิค in vitro digestion/ Caco-2 cell culture model ต่อมาในระหว่างปี 2548-2550 ดร.ชนากานต์ได้ทำวิจัยหลังปริญญาเอกที่ School of Land and Food Sciences ที่ The University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย ทำวิจัยร่วมกับ ศ.ดร.เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม Dr. Longbin Huang และ Prof. Dr. Shu Fukai มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ 7 เรื่อง เป็นผู้นิพนธ์หลัก (Corresponding Auther) 6 เรื่อง

ในปี 2551 ดร.ชนากานต์ ได้เข้าปฏิบัติงานเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาวิชาพืชไร่ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับทุนวิจัยร่วมระหว่าง The University of Queensland ประเทศ ออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาเกี่ยวกับการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ในข้าวนึ่งด้วยการเติมธาตุเหล็กและสังกะสีในระหว่างกระบวนการนึ่งข้าว และทำงานวิจัยร่วมกับ Prof. Dr. Ismail Cakmak ที่ Sabanci University ประเทศตุรกี (ทุนของ Internation Zinc Association) ศึกษาเรื่องการเพิ่มความแข็งแรงของต้นกล้าข้าวด้วยการใส่ธาตุสังกะสีในเมล็ด ข้าวก่อนการปลูก

ต่อมาในปี 2552 ได้รับทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และทุนวิจัยจาก International Foundation for Science (IFS) เพื่อทำการวิจัยต่อเนื่องเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่า ข้าวไทยด้วยการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ โดยมีศ.ดร.เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการนานาชาติแล้ว 3 เรื่อง พร้อมทั้งได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานวิจัย (Reviewer) ให้กับวารสารวิชาการนานาชาติอีกหลายฉบับ อาทิ Journal of Food Composition and Analysis, Journal of Soil Science and Plant Nutrition, Plant and Soil, Food Chemistry และ Journal of Plant Nutrition เป็นต้น

สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่นี้ ถือเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการว่าเป็นรางวัลสูงสุดระดับประเทศ สำหรับนักวิทยาศาสตร์พื้นฐานและนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์อายุต่ำกว่า 35 ปี ทั้งนี้ รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่นั้น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ริเริ่มขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2534 โดยการสนับสนุนของเครือซิเมนต์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจแก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ของไทยที่มีศักยภาพสูงในการทำงานวิจัยที่มีคุณภาพ โดยมีเงื่อนไขคือต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 35 ปี มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน หรือสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเผยแพร่ในวารสารที่มีมาตรฐานระดับสากล จำนวนไม่น้อยกว่า 3 เรื่อง ผู้เสนอควรเป็นผู้วิจัยหลักและเป็นงานที่ทำในประเทศไทย เป็นผู้ทำการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง มีคุณธรรม และมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งการประกาศรางวัลจะจัดขึ้นในต้นเดือนสิงหาคมของทุกปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น