++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

เรื่องของค่าเงินบาท มาตรการ 30 % ในอดีต และราคาน้ำมัน

ไม่มีอะไรในกอไผ่ สำหรับการประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดพิเศษ เช้าวานนี้ เพื่อหารือเรื่องค่าเงินบาทแข็ง เพราะเป็นแค่การสร้างภาพให้เห็น ความขมีขมัน กระตือรือร้น ใส่ใจต่อปัญหาของรัฐบาล ว่า ไมได้ลอยชายไปวันๆ ปล่อยให้ค่าเงินลอยขึ้น ลอยลงตามใจนักเก็งกำไร

ผลการประชุม มีแต่การรายงาน หารือ กำชับผู้ที่มีหน้าที่ดูแลค่าเงิน แต่ไม่มีมาตรการอย่างหนึ่งใดออกมา เพราะว่า การแข็งขึ้นของค่าเงินบาทนั้น มีเหตุปัจจัยมาจากภายนอก คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ยังอ่อนแอ เงินทุนจากตะวันตก ไม่มีที่ไป จึงไหลเข้ามาลงทุนในเอเชีย เงินดอลลาร์จำนวนมากถูกขายออกมา แลกเป็นเงินสกุลท้องถิ่น ในแต่ละประเทศ เพื่อนำไปซื้อหุ้น ซื้อตราสารหนี้ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนตัวลง และเงินบาท รวมทั้งเงินสกุลต่างๆในภูมิภาคนี้ แข็งค่าขึ้น ตามหลักดีมานด์ ซัพพลาย

การ เปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท จึงเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยเรานั้น เป็นระบบลอยตัว เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะตลาด ถึงแม้ว่า จะเป็นระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ แต่การจัดการก็สามารถทำได้จำกัด เพราะตลาดเงินตราต่างประเทศมีขนาดใหญ่ มีผู้เล่นมากมาย และไม่มีใครรู้ว่า มีเงินบาทอยู่ในตลาดเท่าไร ใครถือบ้าง แต่นักเก็งกำไรรู้ว่า แบงก์ชาติ มีหน้าตักเท่าไร ขืนเข้าไปจัดการ แทรกแซงมากๆ มีโอกาสถูกโจมตี จนหมดตัวเหมือนเมื่อปี 2540

การ จะเรียกร้องให้แบงก์ชาติ หรือรัฐบาลมีมาตรการแก้ไข ป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งตัวมากไปกว่านี้ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือ ทำไม่ได้ และไม่ควรทำ

เมื่อปี 2549 เงินบาทมีค่าแข็งขึ้นมาก จากที่เคยอยู่ที่ 40 บาทต่อดอลลาร์ในปี 2548 เมื่อถึงปลายปี 2549 เงินบาทมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ 14 เปอร์เซ็นต์ เป็น 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ทำให้บรรดาผู้ส่งออกทั้งหลาย ซึ่งเคยชินกับ การอาศัยค่าเงินถูกๆ เป็นปัจจัยการแข่งขันในตลาดโลก รู้สึกเดือดร้อน กลัวว่า จะไม่สามารถทำมาหากินกันได้ง่ายๆอีกต่อไป เรียกร้องให้รัฐบาล และแบงก์ชาติในขณะนั้น รีบแก้ไขปัญหา มิฉะนั้นแล้ว การส่งออกของไทย จะพังทลาย และเศราฐกิจไทยจะพินาศ

เย็น วันที่ 18 ธันวาคม 2549 ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศมาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศ 30 % เพื่อสกัดเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศ ที่เข้ามาเก็งกำไร ภายใต้มาตรการนี้ นักลงทุนต่างชาติ ที่นำเงินดอลลาร์ ไปแลกเงินบาท จะถูกสถาบันการเงิน หักเงินไว้ 30 % ให้แลกเพียง 70% เท่านั้น โดยจะคืนเงิน 30% ให้เมื่อครบ 1 ปี เมื่อนักลงทุนรายนั้นพิสูจน์แล้วว่า เงินที่นำเข้ามานั้น ไม่ใช่เข้ามาเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น

วันรุ่งขึ้น ตลาดหุ้นไทย พังทลายทันทีจากมาตรการนี้ ดัชนีลดลงไปต่ำสุดถึง 140 กว่าจุด ตลาดหลักทรัพย์ต้องพักการ ซื้อขายชั่วคราว และเมื่อปิดตลาด ดัชนีลดลง 108 จุด คิดเป็น 19 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ มูลค่าตลาดหายไปทันที 8 แสนล้านบาท นับเป็นความตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

ผลกระทบอย่างรุนแรงของมาตรการ 30 % นี้ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในตอนนั้นคือ ม.ร.ว. ปริดิยาธร เทวกุล ต้องสั่งให้ยกเลิก การใช้มาตรการนี้กับการลงทุนในตลาดหุ้น และต้องออกมานั่งแถลงข่าวเอง ทั้งๆที่เป็นเรื่องของนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของนางธาริษา วัฒนเกษ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ โดยอ้างว่า ขณะนั้น นางธาริษาอยู่ที่เชียงใหม่ มาแถลงข่าวไม่ได้

วันรุ่งขึ้น หลัง ม.ร.ว ปริดิยาธร แถลงยกเลิกมาตรการ 30 % ในตลาดหุ้น ดัชนีก็ปรับตัวขึ้นทันที 100 จุดเศษๆเหมือนกัน

การยกเว้นไม่บังคับใช้ มาตรการ 30 % กับการลงทุนในตลาดหุ้น ถือเป็นรอยด่างของแบงก์ชาติ เพราะสะท้อนถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดในตอนแรก และความโลเล ไม่เป็นตัวของตัวเองในตอนต่อมา เมื่อนโยบายส่ง ผลกระทบรุนแรง ยอมให้ฝ่ายการเมืองจูงจมูก แทรกแซงการกำหนดนโยบายทางการเงิน

ที่สำคัญคือ การที่ดัชนีหุ้นถูกทุบลงมา 108 จุด ภายในวันเดียว และวันรุ่งขึ้นก็ดีดขึ้นไป 100 จุด ทำให้คนที่รู้ข้อมูลภายในล่วงหน้าว่า จะมีการใช้มาตรการ 30 % ในวันพรุ่งนี้ และจะมีการยกเลิกนัวนต่อไป ไปรอช้อนซื้อหุ้นที่ตกลงมาอย่างถล่มทลาย แล้วเทขายในวันรุ่งขึ้น ทำกำไรได้มหาศาล

เรื่องนี้ ก็เป็นรอยมลทินของใครบางคน ที่ฝันอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีกับเขาบ้างด้วยเช่นกัน
ปีที่แบงก์ชาติประกาศใช้มาตรการ 30 % เพื่อช่วยภาคส่งออกของไทยไม่ให้ล่มจมเพราะค่าเงินบาทแข็งนั้น เงินบาทมีค่าอยู่ที่ ประมาณ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ปีนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแล้ว จนถึง 31 บาทกว่าๆต่อหนึ่ง ดอลลาร์ ภาคส่งออกไทยกลับโตเอาๆ ยอดการส่งออกเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ แสดงว่า ค่าเงินที่แข็งขึ้นนั้น ไม่ได้กระทบกับการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญเท่าไร แต่เป็นวิสัยของพ่อค้า ที่เอะอะอะไร ก็ต้องขอให้รัฐบาลช่วยไว้ก่อน

ใน สถานการณ์ที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นครั้งนี้ ยังไม่มีเสียงเรียกร้องจากภาคการส่งออกใ ห้รัฐบาลเข้ามาดูแลค่าเงิน หรือถ้ามี ก็ไม่ดังเท่าครั้งก่อนๆ เพราะที่สุดแล้ว ผู้ส่งออกทั้งหลายต่างรู้ดีว่า การแทรกแซงค่าเงิน เพื่อตรึงให้อยุ่ในอัตราที่พอใจ ในโลกปัจจุบันนั้น แทบจะทำไม่ได้ และผู้ที่เป็นผู้นำของภาคเอกชน ซึ่งมักจะเป็นตัวตั้งตัวตี เรียกร้องให้แบงก์ชาติเข้ามาดูแลค่าเงิน คงจะเข็ดเขี้ยวกับ "ยาแรง" อย่างมาตรการ 30 %

ที่สำคัญคือ ที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้เตือนผู้ส่งออกมาเป็นระยะๆว่า ต้องดูแล ป้องกันตัวเอง ด้วยการซื้อประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งดูเหมือนผู้ส่งออกจะเชื่อ และทำตาม ทำให้ธนาคารพาณิชย์ฟันรายได้ค่าธรรมเนียมการรับปะรกันความเสี่ยงมากเป็น ประวัติการณ์

ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ไม่ใช่จะมีแต่ด้านที่เป็นลบ ด้านที่บวกก็มีคือ ทำให้สินค้านำเข้าทีราคาถูกลง เป็นโอกาสของผู้ที่รู้จักปรับตัว จะนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักรใหม่ มาปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตให้ดีขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยไม่ต้องพึ่งพา ค่าเงินถูกเพียงอย่างเดียว

รัฐบาล ไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งนั้นถูกแล้ว แต่ควรจะมีมาตรการที่ส่งเสริม การแสวงหาประโยชน์จากค่าเงินที่แข็งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาน้ำมัน จะต้องถูกลงกว่านี้ เพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้นมา 2 บาทกว่าแล้ว แต่ราคาน้ำมัน ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ลดลงไปไม่ถึง 1 บาท เวลาจะขึ้นราคาน้ำมัน บริษัทน้ำมันก็อ้างว่า เนื่องจาก เงินดอลลาร์ ทีค่าแข็งขึ้น แต่พอค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง ซึ่งทำให้เงินบาทแข็งขึ้น ราคาน้ำมันไม่เห็นลดลงมาเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น