++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

สิ่งที่ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนักวิชาการ 19 คน ยังไม่รู้

โดย ดร.ป.เพชรอริยะ 6 กันยายน 2553 17:14 น.

ข่าว ASTV “ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่ต้องถือว่า เป็นชนวนและต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนานใน ช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งกลุ่มการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มีความเห็นในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกัน”

ขยายความเพิ่มเติมว่าอันที่จริง รัฐธรรมนูญทุกฉบับล้วนเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อ มีความขัดแย้งทางการเมืองถึงทางตันก็เกิดรัฐประหาร (coup d'etat) หรือไม่ก็เกิดขบถ หรือไม่ก็เกิดจลาจล (riot) เผาบ้านเผาเมือง จากนั้นผู้ปกครองก็แต่งตั้งคณะกรรมการมานั่งสุมหัวกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ใหม่หรือไม่ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เหตุแห่งปัญหาที่แท้จริงคือ ความเห็นผิดเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างระบอบฯ รัฐ ธรรมนูญกลายเป็นเหตุของระบอบฯ ดุจดังดาวเคราะห์เกิดก่อนดวงอาทิตย์ หรือดาวเคราะห์เป็นเหตุของดวงอาทิตย์ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นมิจฉาทิฐิทางการเมืองอย่างร้ายแรงของชาติสร้างความหายนะ ให้ชาติมาแล้วนานกว่า 78 ปี

ในทางที่ถูกต้องปวงชนในชาติทุกสาขาอาชีพร่วมมือร่วมใจกันผลักดันการ สถาปนาระบอบฯ หรือหลักการปกครองโดยธรรมโดยพระเจ้าแผ่นดิน ระบอบฯ หรือ หลักการปกครองโดยธรรมย่อมเป็นเหตุของรัฐธรรมนูญ ดุจดังดวงอาทิตย์เกิดก่อนดาวเคราะห์ หรือดวงอาทิตย์เป็นเหตุของดาวเคราะห์ นี่คือแนวคิดที่ถูกต้อง แต่ผู้ปกครองไม่สนใจไม่เอาแนวทางนี้ เพราะแนวทางนี้ย่อมเป็นแนวทางที่จะให้ปวงชนในชาติฉลาดและเข้มแข็งทางการ เมือง

หลังจากขบวนการก่อการร้ายเสื้อแดงได้ก่อจลาจลเผาบ้านเผาเมือง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ ได้รื้อฟื้นและหยิบยกการแก้รัฐธรรมนูญออกมาอีกครั้ง นัยว่า เพื่อต้องการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศ กระทั่งมีการแต่งตั้งให้ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาปฏิรูปทางการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่น่าเสียดายว่า ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รวม ทั้งคณะกรรมการศึกษาปฏิรูปทางการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวม 19 ท่าน ล้วนมีแนวคิดไปในทางลัทธิรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ไม่ได้มีแนวคิดใหม่ๆ ยังจมปลักในแนวคิดเดิม เป็นแนวคิดของนักวิชาการที่ปราศจากการลงมือปฏิบัติการต่อสู้ทางการเมือง ท่านนักวิชาการทั้ง 19 คน ส่วนใหญ่เป็นศาสตราจารย์ทางวิชาการ ที่ท่านไม่รู้อย่างลึกซึ้งว่า การสร้างระบอบทางการเมืองนั้นเขาทำกันอย่างไร พวกท่านทั้งหลายคิดได้แค่ร่างรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราเพียง เท่านี้เองหรือ

ท่านไม่รู้หรอกหรือว่าในประเทศที่เข้าเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ นั้น เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย ประชาชน ขอเรียกร้องต่อสู้การสร้างระบอบประชาธิปไตย เขาสร้างระบอบฯ หรือหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมาก่อนทั้งสิ้น จากนั้นจึงร่างรัฐธรรมนูญรักษาระบอบนั้นไว้

อังกฤษมีการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา อเมริกามีการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี ฝรั่งเศสมีการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบกึ่ง-ประธานาธิบดี สามประเทศนี้เป็นแม่แบบประชาธิปไตย

นักวิชาการไทยส่วนมากศึกษาจากต่างประเทศอย่างมากก็ได้แค่อ่านหนังสือ อ่านรัฐธรรมนูญ ก็รู้เห็นได้เพียงเท่านี้ แต่ท่านหาได้เห็นทะลุไปถึงการสร้างระบอบฯ หรือการสร้างหลักการปกครองไม่ ท่านจะอ่านพบในรัฐธรรมนูญ เมื่อท่านเห็นอย่างนั้น พอกลับมาเมืองไทยก็เริ่มแนวคิดที่จะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างระบอบฯ ประเทศไทยจึงกลายเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก

ลองคิดง่ายๆ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ จึงสอนธรรม และบัญญัติวินัยในภายหลัง จึงเห็นได้ว่า ธรรมะมาก่อนวินัย นั่นก็หมายความว่า ระบอบหรือหลักการปกครองย่อมมาก่อนเกิดก่อนรัฐธรรมนูญ นั่นเอง

สภาพการณ์ตามความเป็นจริงประเทศไทยเป็นเผด็จการ เมื่อมาร่างรัฐธรรมนูญถึงจะร่างให้สวยหรูอย่างไรร้อยพันฉบับ มันก็ยังเป็นเผด็จการอยู่นั่นเอง เมื่อเป็นเผด็จการมันก็มีความขัดแย้ง เมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง มันก็ต้องมีรัฐประหารอย่างเป็นไปเองตามเห็นตามผล หรือไม่ก็เกิดกบฏ เกิดจลาจลทางการเมือง รัฐธรรมนูญย่อมสะท้อนความเป็นระบอบนั้นๆ หรือรัฐธรรมนูญดุจดังกระจก ส่องพยามารเป็นเช่นไรก็เป็นเช่นนั้น มันจะเป็นเทพบุตรไปไม่ได้ ถึงรัฐบาลไหนๆ ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่นโฆษณาชวนเชื่อว่านี่คือระบอบประชาธิปไตยๆๆๆ แต่มันก็ยังเป็นเผด็จการอยู่นั่นเอง อย่าเข้าใจว่า เป็น ศาสตราจารย์แล้วจะโง่ไม่เป็นนะ ย่อมโง่ได้เสมอหากไม่มีประสบการณ์ หรือการหยั่งรู้ลึกถึงการจัดความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างหลักการปกครองฯ (ระบอบ) กับรัฐธรรมนูญ หรือระหว่างหลักการปกครอง (ระบอบ) กับวิธีการปกครอง (รัฐธรรมนูญ)

อันที่จริง ณ วันนี้ใช่ว่าประเทศของเราจะอับจนทางปัญญาในการแก้ไขเหตุวิกฤตชาติ แต่เพราะปัญญา แนวทางอันถูกต้องยิ่งใหญ่ยังไม่ได้รับเผยแผ่และเผยแพร่ออกไปเท่าที่ควร อีกทั้งความเห็นผิดที่ครอบงำและความยึดติดอันแน่นหนาในลัทธิรัฐธรรมนูญของ นักวิชาการและผู้ปกครองไทย

ความเชื่อของพวกแนวทางลัทธิรัฐธรรมนูญ (ลัทธิเผด็จการโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ) กล่าวโดยย่อพวกเขาเชื่อคือ หนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญ คือการสร้างระบอบประชาธิปไตย สอง แก้ไขรัฐธรรมนูญคือการทำให้เกิดประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

ความ เชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อที่เป็นมรดกตกทอดมายาวนานกว่า 78 ปีแล้ว ความเชื่อเช่นนี้คือเหตุที่ทำให้ไทยเราต้องตกอยู่ในวังวนแห่งความหายนะทาง การเมืองมานานแสนนานในหลายๆ ลักษณะ กล่าวโดยย่อ ได้แก่

1. ทำให้ประชาชนอ่อนแอทางการเมือง ไม่รู้การเมืองและไปยึดถือตัวบุคคล

2. การเมืองและสังคมตกอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่รู้จบ รัฐบาลไร้เสถียรภาพ

3. ทุกรัฐบาลมีการคอร์รัปชันมากขึ้นๆ ทั้งจากนักการเมือง ข้าราชการ และหน่วยงานภาคเอกชน

4. ตกอยู่วงจรอุบาทว์ (ร่างรัฐธรรมนูญ-เลือกตั้ง-รัฐประหาร)

5. ทำให้ประชาชนเกิดความแตกแยก หลงไปตามความเชื่อของนักการเมืองคนละทิศคนละทาง เพราะไม่มีหลักการปกครองเป็นศูนย์กลางของปวงชนในชาติ และประชาชนไม่สามารถเข้าใจการเมืองที่ถูกต้องได้

6. เป็นอันตรายต่อสถาบันหลักของชาติ ระบอบเผด็จการทุกชนิดย่อมทำลายสถาบันหลักของชาติให้อ่อนแอลงๆ และในยุคนายกฯ ทักษิณ จนถึงนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นยุคที่สถาบันหลักของชาติถูกโจมตีให้ร้ายมากที่สุด อย่างน่ากังวลที่สุดทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง “สถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหลายที่สูญสิ้นล้วนสาเหตุมาจากระบอบเผด็จการทั้งสิ้น และสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหลายเข้มแข็งล้วนเกิดจากระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงทั้งสิ้นเช่นเดียวกัน”

ขอให้ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และคณะทราบว่า

1. รัฐธรรมนูญ ย่อมเกิดหลังการสถาปนาระบอบฯ หรือหลักการปกครอง

2. รัฐธรรมนูญเป็นผลของระบอบหรือหลักการปกครอง

3. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลัก ไม่ใช่กฎหมายสูงสุด กฎหมายสูงสุดคือ (Supreme law) ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปราศจากระบอบฯ หรือหลักการปกครองโดยธรรม ย่อมเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติและเป็นการกระชับระบอบเผด็จการยิ่งขึ้น

4. การเลือกตั้งเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง ไม่ใช่หลักการ โดยมีวิธีการคือ วันแมนวันโหวต และต้องฟรีโหวต แต่แนวคิดการเลือกตั้งของไทยเป็นเผด็จการจะบังคับให้ไปเลือกตั้ง ขนาดบังคับให้ไปเลือกตั้ง ประชาชนยังไปเลือกแค่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่าประชาชนเบื่อหน่ายต่อการเลือกตั้งแบบเผด็จการ และหากว่าไม่บังคับประชาชนไปเลือกตั้งอาจจะไม่ถึง 20%

ขอให้ท่านและคณะทราบว่า การมีผู้แทนโดยธรรมชาติ บุคคลคนหนึ่งคนจะมีผู้แทนโดยธรรมอยู่ 2 ประเภทหรือ 2 ลักษณะ คือ

1) บุคคลย่อมมีที่เกิด จึงย่อมมีผู้แทนในพื้นที่ที่เราเกิดหรือเขตเลือกตั้งอาจเรียกว่า ส.ส.

2) บุคคลย่อมต้องมีอาชีพ จึงต้องมีผู้แทนสาขาอาชีพ เรียกว่า ส.ว.

นี่คือผู้แทนของบุคคลโดยธรรมชาติ หากว่าผู้แทนอาชีพมาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้ผู้แทนที่มีความรู้ความสามารถมาจริงๆ ดังนั้น ส.ว. จึงควรมาจากการสรรหา

5. ประเด็นการเลือกตั้ง ส.ว. กับการสรรหา ส.ว. ก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบฯ จะต้องมาก่อน เกิดก่อนการเลือกตั้งหรือสรรหา ดังการเลือกตั้งหรือสรรหาในระบอบเผด็จการก็เป็นได้และเป็นอยู่แล้ว

6. ประเด็นการยุบพรรค ไม่ยุบพรรค เป็นวิธีการไม่ใช่หลักการปกครอง การยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค เกิดในระบอบเผด็การก็ได้หรือระบอบประชาธิปไตยก็ได้ เพราะการยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรคเป็นเรื่องของวิธีการที่จะกำหนดกันขึ้น อย่านำสิ่งเหล่านี้มาบดบังเรื่องระบอบฯ หรือเรื่องหลักการปกครองโดยธรรมเลย

สิ่งที่ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และคณะควรคิดใหม่ เสนอใหม่ และแนะนำท่านนายกฯ คือ การผลักดันนโยบายสถาปนาหลักการปกครองโดยธรรม ก่อนการคิดปฏิรูปใดๆ ทั้งสิ้น นี่คือการแก้เหตุวิกฤตทางความคิดแล้วเหตุวิกฤตชาติไปพร้อมกัน เมื่อ มีการสถาปนาหลักการปกครองโดยธรรมเกิดขึ้นแล้ว เป็นศูนย์กลางของการปกครองของประชาชนแล้ว จึงค่อยมาแก้ไขรัฐธรรมนูญนี่คือแนวทางที่ถูกต้องยิ่งใหญ่ ท่านจะเข้าใจไหมหนอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น