สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ป่าไผ่ใกล้เมืองมิถิลาลำต้นนั้น
พระกิมพิละเข้าเฝ้า ถวายบังคมแล้วนิ่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง
และได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน
ในเมื่อพระพุทธตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า
"ดูก่อนกิมพิละ! เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา
ไม่เคารพซึ่งกันและกัน นี้แลเป็นเหตุ
เป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน
ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว"
นี่คือพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสแก่พระภิกษุชื่อ กิมพิละ
ตามที่ปรากฏในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 หน้า 275
โดยนัยแห่งพุทธวจนะดังกล่าว
เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเสื่อม
และไม่สามารถดำรงอยู่ได้
ก็เนื่องมาจากพฤติกรรมอันเป็นอกุศลของพุทธบริษัทสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกา นั่นเอง
ในทางกลับกัน พระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะตั้งมั่นอยู่ได้
ก็ด้วยเหตุที่พุทธบริษัทสี่มีความเคารพยำเกรงในพระพุทธ พระธรรม
และพระสงฆ์ รวมไปถึงเคารพยำเกรงซึ่งกันและกัน
พร้อมกับหมั่นศึกษาหาความรู้ในคำสอน
และนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และสังคมโดยรวม
จากพุทธวจนะดังกล่าวแล้ว
จะเห็นได้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งในส่วนของศีลและธรรมมิได้เสื่อมสลายไป
จากโลก แต่คำสอนที่ว่านี้มิได้เป็นเครื่องชำระจิตใจของคนได้ดังก่อนก็ด้วยเหตุว่าคน
นั่นแหละหันหลังให้คำสอน ดังนั้น ถ้าจะมีการฟื้นฟูให้ผู้คนมีศีลธรรม
ก็จะต้องจัดโครงการฟื้นฟูจิตใจคนโดยใช้คำสอนเป็นเครื่องชำระจิตใจ
วันนี้ และเวลานี้ดูเหมือนว่าได้มีองค์กรต่างๆ
ทั้งที่เป็นของรัฐและเป็นของเอกชน
ได้มองเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูจิตใจคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งถือได้ว่าเป็นการริเริ่มที่ดีในส่วนของเจตนา
แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ที่เรื่องของวิธีการ
ดังที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือที่เรียกย่อๆ ว่า
สพฐ.กำลังตกเป็นจำเลยของสังคมในกรณีที่จัดทำโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
โดยใช้งบประมาณพันกว่าล้านบาท โดยร่วมกับชมรมพุทธศาสตร์สากล
ในอุปถัมภ์ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดของวัดพระธรรมกาย
แต่ยังไม่ทันที่จะเริ่มโครงการ
เพียงแต่จะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่าง 2
องค์กรเท่านั้นก็มีเสียงคัดค้านท้วงติงจากพุทธศาสนิกชนรอบด้านว่า
เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และมีข้อกังขาที่รัฐบาลควรจะได้ทำการตรวจสอบ
ทั้งในแง่ของความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ
และพฤติกรรมอันไม่ค่อยเหมาะสมของวัดพระธรรมกายที่เป็นองค์กรที่จะทำการร่วม
มือกับ สพฐ.และสาเหตุที่ทำให้มีการทักท้วงส่วนใหญ่มุ่งประเด็นไปที่พฤติกรรมองค์กร
ของวัดพระธรรมกายเป็นหลัก
ซึ่งอนุมานได้ว่าน่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. วัดพระธรรมกายอันมีจุดเริ่มต้นมาจากวัดปากน้ำ
ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งที่มีแนวทางปฏิบัติ
ของตนเองอันเป็นเอกลักษณ์ คือเพ่งเพื่อเกิดกายทิพย์ หรือที่เรียกว่า
ธรรมกาย
แต่เมื่อมีการแยกตัวออกจากวัดปากน้ำไปตั้งเป็นวัดพระธรรมกายอย่าง
เต็มรูปแบบแล้ว วัดแห่งนี้ภายใต้การปกครองดูแล และบริหารวัดของพระธรรมชโย
เจ้าอาวาส ก็มุ่งเน้นการทำบุญเพื่อก่อสร้างสถานที่ใหญ่โต
และนำกลยุทธ์ทางด้านการตลาดมาใช้เพื่อเป็นจุดขายในการดึงคนเข้าวัดในรูปแบบ
ต่างๆ ที่เห็นว่าหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดศีล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมัชฌิมศีลดังที่ปรากฏในพรหมชาลสูตร
อันเป็นการไม่เหมาะแก่เพศและภาวะของนักบวชในพุทธศาสนาที่ออกบวชเพื่อปฏิบัติ
มุ่งละกิเลสไม่สะสม และไม่ยึดติดในวัตถุอันเป็นเหตุให้ฟุ่มเฟือย
แต่แนวทางของวัดพระธรรมกายมิได้เป็นเช่นนี้
2. ในแง่ของการตีความในส่วนของพระธรรม
ก็มีข้อผิดเพี้ยนให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่าผิดไปจากพระสัทธรรมคำสอนของพระ
ศาสดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ว่านิพพานเป็นอัตตาคือมีภาวะดำรงอยู่
ไม่ดับสูญ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็ขัดต่อหลักอนัตตา
และเป็นการยืนยันว่าภาวะแห่งนิพพานเป็นของเที่ยง
ในทำนองเดียวกับคำสอนของพราหมณ์ในเรื่องอาตมันและปรมาตมัน
ซึ่งเป็นภาวะเที่ยงแท้ถาวร ไม่ดับสูญนั่นเอง
จากนัยนี้ก็เท่ากับว่าเข้าข่ายเป็นสัสสตทิฏฐิ
คือความเห็นว่าเที่ยง ซึ่งเป็นหนึ่งในมิจฉาทิฏฐิ 62 ประการ
และผู้ใดก็ตามที่มีทิฏฐิเยี่ยงนี้
ไม่อยู่ในฐานะที่เป็นอริยบุคคลแม้เพียงเบื้องต้นคือพระโสดาบัน
แต่ไยจึงมีการอ้างคุณวิเศษต่างๆ เช่น มองเห็นสวรรค์ เป็นต้น
รวมไปถึงการมองเห็นเบื้องหน้าของตนหลังจากโลกนี้ไปแล้ว
ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ได้จุตูปปาตญาณ
เมื่อเป็นเช่นนี้
ข้ออ้างที่แสดงออกทำนองนี้มิเข้าข่ายอวดอุตริมนุษยธรรมหรือ?
จากพฤติกรรม 2 ประการดังกล่าวแล้ว
รวมไปถึงการตกเป็นจำเลยในทางกฎหมาย
และมีการวิ่งเต้นเพื่อล้มคดีในชั้นอัยการไปแล้ว
นั่นก็บ่งบอกถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่พุทธศาสนิกชนผู้เคร่งครัดในธรรมวินัย
ไม่เห็นด้วยที่ สพฐ.จะไปร่วมมือจัดทำโครงการฟื้นฟูศีลธรรม
ดังที่ตกเป็นข่าวไปแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม
ในขณะนี้ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการสอบสวนและทบทวนเรื่องนี้
และให้ชะลอโครงการไว้ก่อนแล้ว จึงเป็นอันว่าการทักท้วงของหลายๆ ท่าน
รวมทั้ง ส.ศิวรักษ์ก็ได้ผลในระดับหนึ่ง
แต่เพื่อให้โครงการที่ว่านี้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น ทาง
สพฐ.ก็น่าที่จะได้ศึกษา
ทบทวนโครงการทำความร่วมมือกับสถาบันในระดับอุดมศึกษาของสงฆ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งเพื่อทำโครงการนี้ร่วมกัน
ถ้าทำได้เชื่อว่าจะประหยัดงบประมาณลง และได้งานที่มีคุณภาพมากกว่านี้
ทั้งไม่ต้องระแวงว่าจะปลูกฝังเด็กให้หลงเชื่อ
และยึดติดในคำสอนที่ผิดเพี้ยน และแปลกปลอมไปจากพระพุทธศาสนาด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น