++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กองทุนสุขภาพบางเจ้าฉ่า งานจักสานของชุมชน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลบางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง

เรียบเรียงโดย วรุณวาร สว่างโสภากุล

            ตำบลบางเจ้าฉ่าจัดว่า เป็น อบต.ขนาดเล็ก เพราะมีประชากร เพียงสามพันกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และทำงานจักสานไม้ไผ่เป็นอาชีพเสริม อาชีพจักสานไม้ไผ่เป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชนที่ถ่ายทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า จนมีพิพิธภัณฑ์จักสานบางเจ้าฉ่าไว้เล่าขานเรื่องราว การจักสานในอดีตให้ลูกหลานได้เรียนรู้
            ด้วยมีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ตำบลบางเจ้าฉ่าจึงถูกน้ำท่วมทุกปี เมื่อปี 2550 ขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ บางเจ้าฉ่า กำลังเร่มต้นด้วยการตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ปรากฏว่าเกิดน้ำท่วมขึ้นพอดี แต่ปีนั้นพิเศษกว่าปีอื่น คือ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จมาเยี่ยมและจัดตั้งโครงการสายใยรักขึ้น และหลังจากน้ำท่วม นิสิตปริญญาโทจากคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มาฝึกงานที่นี่ และทำโครงการดูแลสุขภาพจิตให้กับชาวตำบลบางเจ้าฉ่าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

            อบต. บางเจ้าฉ่า จึงถือว่า ทั้ง 2 โครงการเป็นตัวกระตุ้นการดำเนินการของกองทุนฯ และถือว่าโครงการดูแลสุขภาพจิต เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นโครงการแรกของกองทุนฯ สุขภาพบางเจ้าฉ่า
            แต่หัวใจสำคัญของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการทำโครงการต่อๆมา ชาวบางเจ้าฉ่า ไม่ว่าจะเป็น อบต. สอ. หรือประชาชนตาดำๆ จึงสวมวิญญาณนักจักสาน ร่วมกันจักสานงานกองทุนฯ จนออกมาเป็นรูปเป็นร่าง
            " เราสนับสนุนอยู่แล้วเรื่องการดูแลสุขภาพ เราได้เงินจากกองทุนมา อบต.เราขนาดเล็ก  กองทุนฯ กำหนดให้เราสนับสนุน 10 เปอร์เซ็นต์ แต่เราเพิ่มให้ถึง 50,000 บาท " นายก อบต. มีวิสัยทัศน์และเห็นว่าสุขภาพที่ดีของประชาชน เป็นพื้นฐานในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง จึงทุ่มเงินให้กองทุนฯ มากกว่าเกณฑ์ถึงเกือบ 4 เท่า

            สถานีอนามัยก็เข้าร่วมด้วยเต็มตัว โดยดึงเอาโครงการกิจกรรมผู้สูงอายุที่สถานีอนามัยทำอยู่ก่อนแล้ว เข้ามาต่อยอดภายใต้กองทุนฯ จนโครงการนี้กลายเป็นผลงานเด่นที่คณะทำงานกองทุนฯ ภาคภูมิใจ นอกจากนั้น หัวหน้าสถานีอนามัยยังร่วมกับปลัด อบต. จัดทำโครงการอื่นๆ อีก
            ส่วนประชาชนตาดำๆ ก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่คณะกรรมการกองทุนฯ จัดตั้งขึ้นในหมู่บ้านต่างๆ ทุกวันที่ 16 ของเดือน เวทีนี้มีชื่อเก๋ไก๋ว่า "ชวนพูด ชวนคุย ชวนคิด" ทำให้คณะกรรมการกองทุนฯ ได้โครงการที่มาจากปัญหาและความต้องการของประชาชน 4 โครงการ ไม่เพียงให้ความคิดเห็น ชาวบางเจ้าฉ่ายังนำศักยภาพ ความรู้ความสามารถ  และทุนทรัพย์ของตนเข้ามาช่วยงานโครงการด้วย
            ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ โครงการกิจกรรมผู้สูงอายุ ก่อนที่จะมีกองทุนฯ โครงการนี้อยู่ภายใต้สถานีอนามัย โดยมีครูที่ปลดเกษียณแล้วกับผู้สูงอายุที่มีทุนทรัพย์รวมตัวกันตั้งชมรมผู้สูงอายุเพื่อช่วยเหลือสมาชิกชมรม ในครั้งนั้นมีสมาชิก 50 คน แต่เมื่อโครงการนี้เข้าไปเป็นหนึ่งในโครงการของกองทุนฯ จึงทำงานร่วมกับ อบต. และขยายวงไปเรื่อยๆจากการพูดปากต่อปากและจากการดึงบุคคลที่มีศักยภาพจากแต่ละหมู่บ้านมาเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 100 คน

            สมาชิกชมรมพบปะกันทุกเดือนที่สถานีอนามัย ทำกิจกรรมสันทนาการและรับฟังความรู้ด้านสุขภาพร่วมกัน ใครเดินทางลำบากก็มีรถรับส่ง ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ผู้สูงอายุที่ฐานะดีจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารและสนับสนุนของรางวัล และผู้สูงอายุยังสมทบทุนกันไว้เป็นสวัสดิการเยี่ยมเมื่อมีคนเจ็บป่วยและเสียชีวิต
            จะเห็นได้ว่า กิจกรรมนี้ประชาชนดำเนินงานเองเกือบทั้งหมดโดยไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเดียว เจ้าหน้าที่รัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น ผลที่เกิดขึ้น คือ ผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและร่วมมือร่วมใจกัน

            นายก อบต. มองว่า แม้งานส่งเสริมสุขภาพของกองทุนฯ บางเจ้าฉ่า ยังต้องพัฒนาต่อไป แต่ก็เรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จ โดยดูจากอัตราการไปใช้บริการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
            "คิดว่าการส่งเสริมสุขภาพของเราสำเร็จ เห็นได้จากที่กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เข้ามาให้บริการเรือเวชภัณฑ์ ไม่ค่อยมีคนไปใช้บริการ ทั้งนี้เพราะคนเราสุขภาพดีไม่เจ็บป่วย"

            ความสำเร็จนี้มีที่มาจากหลายปัจจัย
            ปัจจัยหลัก คือ วิสัยทัศน์ของผู้นำที่เห็นประโยชน์ของกองทุนฯ และเห็นว่างานด้านสาธารณสุขเป็นการดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านซึ่งเป็นงานในหน้าที่ของ อบต.
            ทีมงานที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็เป็นปัจจัยหนึ่ง อบต. สถานีอนามัย และคนในพื้นที่ ทำงานร่วมกันโดยไม่คิดว่า อยู่คนละสังกัด ทุกคนทำงานด้วยใจ และมีจิตอาสา ต้องการพัมนาชุมชนของตนเองให้คนมีสุขภาพแข็งแรง
            ส่วนชุมชนก็เข้มแข็ง  เห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพและให้ความร่วมมืออย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยกันทำงาน

            สิ่งที่คณะกรรมการกองทุนฯ เห็นว่า จะต้องพัฒนาต่อไป คือ ต้องมีการวางแผนติดตามประเมินผลและตรวจสอบการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม
            สำหรับข้อเสนอแนะนั้น คณะกรรมการกองทุนฯ อยากให้ สปสช.อธิบายเรื่องการใช้งบประมาณให้เข้าใจชัดเจน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
สุนทรี สิทธิสงคราม
วพบ.พระพุทธบาท สระบุรี

  
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น