++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ตามรอยลายสือไทย : พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (๒-ตอนจบ)

ส. บุญเสนอ


            เสด็จในกรม ฯ ทรงมีเรื่องลงพิมพ์ใน "ประมวญวัน" เป็นประจำ ไม่เคยพลาด เมื่อหนังสือพิมพ์หยุดออกวันใด พระองค์ท่านทรงพลอยได้หยุดด้วย หนังสือพิมพ์สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมีวันหยุดออกจะมากสักหน่อย  เรียกว่าหยุดตามราชการ เป็นธรรมเนียมอย่างนั้นประพฤติตามๆกันมาทุกฉบับ

            คณะผู้จัดทำ "ประมวญวัน"  รวบรวมมาจากสำนักหนังสือหลายแห่ง มีความถนัดในหน้าที่ของแต่ละคนสำหรับงานหนังสือพิมพ์มาก่อน  ทุกคนอยู่ในวัยหนุ่มมีไฟแรงในการทำงานก็จริง แต่เรื่องภูมิปัญญานับว่ายังอ่อนกันทั้งนั้น จึงปิติยินดีที่ได้มาอยู่ร่วมสำนักของพระองค์ผู้ทรงปราดเปรื่องหนังสือ เพื่อจะได้ตักตวงวิชาเอาไว้ตามอัธยาศัย มีหลายคนที่แต่งร้อยกรองเป็นและหลงคิดว่า ตัวเองเป็นกวี แต่พอใกล้ชิดพระองค์ท่านก็ล้มความคิดนั้น ด้วยสำนึกตัวว่า ยังเอื้อมไม่ถึงดอกที่จะเป็นกวีได้

            เรื่องการเขียนหนังสืออีกอย่าง เสด็จในกรม ฯ ทรงเขียนเป็นอุทาหรณ์ว่า....

            "ถ้าใครเขาอ่านแล้วเข้าใจแจ่มแจ้ง เหมือนดังเดิมไปในที่เตียนราบ ไม่ต้องบุกหญ้ารก ไม่สะดุดขอนไม้ที่นอนขวางทาง ไม่ต้องปีนข้ามรั้ว ไม่ต้องโจนข้ามคู ไม่ต้องอัดลมหายใจ เพื่อที่จะเบ่งปัญญาให้รู้ความหมายของหนังสือ ไม่ต้องเดินทางคดเคี้ยวเป็นงูเลื้อย อันมากด้วยความตะกุกตะกักต่างๆ ไม่คิดประดิษบ์ประดอยแต่ละประโยคให้เป็นประโยคทรงเครื่อง เปรียบเหมือนแต่งตัวธรรมดาเดินไปตามสบาย ไม่นุ่งกางเกงหงส์ คาดเจียรบาท สวมชฎา เดินท่ายี่เกออกฉาก...."

            มีเรื่องที่อยากจะเล่าอีกอย่าง เสด็จในกรม ฯทรงพิถีพิถันภาษาที่ใช้ในการเขียนเนื้อข่าวมาก เช่นคำ "เตะ" นั้นไม่ทรงชอบ จะให้ใช้ "ตีน" เข้าประกอบในประโยคนั้นด้วย เช่น "เขาใช้ตีนเตะฟุตบอล" ทรงปรารภว่า "อวัยวะอย่างอื่นใช้เตะไม่ได้..." คราวหนึ่งนักข่าวเขียนข่าวเรื่องไฟไหม้ แขกยามผู้เห็นแสงไฟคนแรกร้องตะโกนว่า เพลิงไหม้ ...เพลิงไหม้ พอเสด็จในกรม ฯมาทรงอ่านพบเข้า ทรงท้วงว่าทำไมไม่ใช่ภาษาปากธรรมดาๆ แทนใช้คำที่ต้องแปลให้ยุ่งยาก นักข่าวผู้นี้ทำงานด้วยเรียนไปด้วย เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองรุ่นแรก ต่อมาเป็นผู้แทนราษฎรหลายสมัย และเป็นคนคล่องหนังสือผู้หนึ่ง
           
            จำได้ว่า สมัยผมเรียนหนังสือตอนต้นๆ คำกล้ำสำคัญยิ่ง ในการออกเสียงภาษาไทย ครูกวดขันมาก หากพูดคำกล้ำผิดต้องออกไปยืนหน้าชั้นแล้วออกเสียงคำกล้ำที่พูดผิดซ้ำกันจนกว่าออกเสียงได้ถูกต้อง ไม่ยอมละเลยผ่านไป ปัจจุบันการออกเสียงอักษรกล้ำไม่ได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกที ดังจะได้ยินคำประเภท "ปับปุง....เปี่ยนแปง...ปุกป้ำ...กินปา...." บ่อยเป็นประจำ ทั้งที่ผู้พูดได้รับการศึกษาดี และเมื่อเขียนเป็นตัวอักษรก็เขียนได้ถูกต้อง ครั้นพอออกเสียงพูดตัวกล้ำกลับหายไปเฉยๆ ไมทราบว่ามันหลุดหายไปได้อย่างไร และเป็นกันมากเสียด้วย สมัยโน้นผู้พูดคำกล้ำไม่เป็นมักได้แก่ผู้ถือใบต่างด้าว บัดนี้เนื้อแท้ก็มาเป็นเสียเอง แต่ที่น่าประหลาดคือ ปาท่องโก๋กลับเรียกปลาเสียนี่

            ครั้งนั้นในสำนักประมวญวัน ใครพูดกล้ำไม่ได้จะถูกล้อเลียนเป็นลูกเจ๊กลูกจีนทีเดียว ถือว่าเป็นคนเสีย แต่ไม่ถึงเสียคน
           
            เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๘๑ มีคำใหม่เกิดขึ้นในวงการหนังสือคำหนึ่ง คือ "ทำการ" เป็นคำกิริยา แต่นำมาใช้นำหน้าคำกิริยาด้วยกัน เช่น ทำการปล้น, ทำการพูด, ทำการกิน ฯลฯ ซึ่งเป็นการใช้คำฟุ่มเฟือยเกินไปโดยได้ความหมายเท่าเดิม หากนำมาใช้บ่อยนักทำให้รกรุงรัง ขาดความสละสลวย เห็นทีเสด็จในกรม ฯ น.ม.ส. ทรงรำคาญพระทัยกระมัง จึงทรงนิพนธ์กระแนะกระแหนล้อเลียนเป็นคำกลอนลงในหนังสือ "ประมวญวัน" ดังนี้

                    สงสารคำ "ทำการ" มานานแล้ว
                    ดูไม่แคล้ว ตาไป ในหนังสือ
                    มันถูกใช้ หลายอย่าง ไม่ว่างมือ
                    แต่ละมื้อ ตรำตราก ยากเต็มที
                    ตำรวจเห็น  โจรหาญ  "ทำการจับ"
                    โจรมันกลับ  ทะยาน "ทำการหนี"
                    "ทำการป่วย" เป็นลม ล้มพอดี
                    "ทำการซี้" จีนหมาย ว่าตายเอย


            ปัญหามีว่า เมื่อจำกัดใช้คำ "ทำการ" เสียแล้ว คำ "ทำการ" จะมีที่ใช้ที่ไหนอย่างไรเล่า?

            มีครับ, มีที่ใช้ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เช่น
            นักเรียนทำการบ้านหลายวิชา,คนร้ายทำการลำพังผู้เดียว,  เลี้ยงวัวเลี้ยงควายไว้ทำการเกษตร, เขาจะทำการอะไรสักอย่าง, ปลัดอาวุโสทำการตำแหน่งนายอำเภอ, เขาทำการสำคัญที่ต่างประเทศ, ข้าศึกทำการไม่สำเร็จ ฯลฯ

           
            เมื่อคำกลอน "สงสารคำ ทำการ" ของเสด็จในกรมฯ แพร่สู่ประชาชนแล้ว จะมีผู้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในข้อเขียนของพระองค์ท่านอย่างไร ผลยังไม่ทันสะท้อนกลับมา พอดีสงครามโลกครั้งที่สองที่คุกร่นในยุโรปมานาน ก็ระเบิดขึ้นจนได้ ฮิตเลอร์สั่งกรีฑาทัพบุกโปแลนด์แบบสายฟ้าแลบ ความสนใจเรื่องหนังสือหนังหาเพลาลงทุกวงการ คนหนังสือพิมพ์ทั้งหลายหันไปสนใจข่าวสงคราม พอข่าวรบกันทางยุโรปอยู่ตัว ทางบ้านเมืองเราก็เริ่มโหมข่าวเรียกร้องขอดินแดนที่เสียไปคืนจากฝรั่งเศส จนเกิดกรณีพิพาทชายแดนถึงขั้นทำสงครามกัน แต่ไม่ยืดเยื้อเพราะญี่ปุ่นยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย สงบสุขอยู่ไม่นานสงครามมหาเอเซียบูรพาเกิดขึ้นอีก คราวนี้ร้ายแรงสุดจะหลีกเลี่ยงภัยได้ ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความทุกข์ยากและภัยสงครามต่อมาอีกหลายปี ตอนนี้คำทำการก็เสมือนสูญพันธุ์ไปแล้ว

            หลังสงครามเมื่อบ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติ กิจการเกี่ยวกับหนังสือที่ซบเซาถึงขีดสุดระหว่างสงครามค่อยๆคืนชีพที่ละเล็กน้อยจนสู่ระดับรุ่งโรจน์พอสมควร ขณะเดียวกันนี้คำ "ทำการ" ก็พลอยคืนชีพตามมาด้วย ผมไม่ทันสังเกตว่าเริ่มนิยมกันใหม่คราวนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

            สมัยที่เสด็จในกรมฯ ทรงติติงคำ "ทำการ" นั้น บ้านเรายังไม่รู้จักใช้คำสื่อสารมวลชน การแพร่ข่าวสารมีเพียงหนังสือพิมพ์ ลแะวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการสถานีเดียว สำหรับกิจการโทรทัศน์ยังห่างไกลจนนอกสายตา แล้วเดี๋ยวนี้ล่ะ? วิทยุกระจายเสียงร้อยกว่าสถานี โทรทัศน์อีกห้าสถานี ช่วยกันแพร่คำ "ืทำการ" ได้อย่างวิเศษ

            อันที่จริงผู้สนับสนุน "สงสาร คำทำการ ของ เสด็จในกรมฯ ก็มีมากเหมือนกัน เท่าที่ผมเคยอ่านพบ คือในหนังสือ "สามทหาร" ขององค์การเชื้อเพลิง สมัยคุณฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เป็นบรรณาธิการ ชื่อเรือง "สงสารคำ ทำการ" เหมือนกัน ผู้เขียนชื่อ ระพินทร์ พันธุโรทัย ได้ออกความเห็นและแสดงตัวอย่างคำที่ใช้กันเกร่อด้วยเหตุผลที่น่าฟัง พร้อมทั้งกรณีที่ควรใช้คำ "ทำการ" ที่เหมาะสมไว้มากประโยค

            ผู้เขียนหยดไว้ในข้อเขียนตอนหนึ่งว่า...

            "...การใช้คำ "ทำการ" ในความหมายกิริยาซ้อนกิริยา จะชอบด้วยหลักภาษาไทยหรือไม่ ผมไม่มีหน้าที่เป็นตุลาการ แต่ในฐานะที่สนใจภาษาไทยคนหนึ่ง  รู้สึกว่าเป็นภาษาที่ขาดความไพเราะ ขาดความสละสลวย และขาดความกระทัดรัด...."

            อีกรายหนึงผมพบในหนังสือพิมพ์ "เดลิมิเร่อร์" เมื่อไม่นานมานี้ ในคอลัมน์ "อ่าน-เขียน ให้ถูก" โดย ประสงค์ พวงแก้ว ซึ่งเป็นคอลัมน์ให้ความรู้ภาษาไทยที่ถูกต้องทั้งอ่านและเขียนมาเป็นเวลานาน


            ผู้เขียนปรจำคอลัมน์ที่กล่าวนี้มีความเห็นคล้อยตามเสด็จในกรมฯ และแสดงตัวอย่างที่คำ "ทำการ" เข้าไปแทรกอยู่ในที่หลายแห่ง ซึ่งถ้าเด็กๆนำไปใช้ประเดี๋ยวจะไปกันใหญ่ และตบท้ายว่า
            " คำฟุ่มเฟือยต้องระมัดระวังอย่าให้พร่ำเพรื่อนัก เพราะใช้คำมาก แต่ได้ความน้อย โดยเฉพาะเด็กนักเรียนต้องระมัดระวัง ถ้าเขียน "คำทำการ" ติดเป็นนิสัยแล้ว จะแก้ไขยาก"

            ทั้งสองรายที่ผมเล่าถึงนี้ คิดคำกลอน "สงสารคำทำการ" ของเสด็จในกรมฯมาลงประกอบข้อเขียนของเขาไว้ด้วย

            ปัจจุบันคำ "ทำการ" กลายเป็นของติดปากบุคคลทุกระดับชั้น ได้ยินทั้งวันทั้งคืนจากวิทยุ และได้เห็นผู้พูดด้วยจากโทรทัศน์
            อันที่จริงผู้ใช้คำ "ทำการ" จนติดปากก็มิใช่เรื่องเสียหาย หรือผิดกติกาใดๆ ถือเสียว่าเก๋อีกแบบหนึ่ง แต่ถ้านึกถึงการอนุรักษ์ภาษาไทยไว้บ้างคงจะไม่โก้แน่

            "สงสารคำทำการ" มีประวัติยิดเยื้อยาวนานมิใช่เล่น


ที่มา ต่วยตูน ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น