ส. บุญเสนอ
เสด็จในกรม ฯ ทรงมีวิธีเขียนตำหนิคนทำอะไรผิด
ด้วยอารมณ์ขัน ซึ่งทำให้ผู้ถูกตำหนิโกรธไม่ลง
หรือไม่ก็ว่ากันเป็นกลอนเสียเลย
เสด็จในกรมหมื่นพิทยาลงกรณทรงศึกษษสันสกฤตและบาลีจากขั้นพื้นฐานจนรอบรู้วรรณคดีของภาษาเหล่านั้น และทำให้วรรณคดีไทยได้บทร้อยกรองไพเราะ งดงามทั้งโวหารและลีลาการแต่ง สมกับที่ทรงได้รับคำยกย่องเป็นรัตนกวีของรัตนโกสินทร์ คือ "พระนลคำฉันท์" และ "กนกนคร"
เมื่อเสด็จในกรม ฯ ทรงเข้าสู่งานหนังสือพิมพ์ โดยทรงรับหน้าที่เขียน "หน้า ๕ " ประจำใน "ประมวญวัน" และ "ประมวญสาร" ดังนั้นพระองค์ต้องทรงแต่งหนังสือทุกวัน ส่วนมากพระองค์มิได้ทรงพระอักษรด้วยพระองค์เอง มีเจ้าหน้าที่ไปเขียนตามคำบอกของพระองค์ที่ ตำหนักใหญ่เป็นประจำ สำหรับผู้มีหน้าที่เขียนตามคำบอกนี้เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นผู้เลือกหามาเอง และมีข้อแม้ประการหนึ่งว่าผู้ที่ได้รับเลือกต้องมีความรู้เคยเป็นมหาเปรียญ ๙ ประโยคมาแล้ว ที่ทรงกำหนดไว้ดังนี้ก็เพราะบางครั้ง พระองค์ทรงมีปัญหาข้องพระทัยด้วยเรื่องศัพท์แสงต่างๆที่มีรากเดิมมาจากบาลีหรือสันสกฤต ก็จะทรงสอบถามได้บางประการ ถ้าน้อยประโยคนักทรงเกรงว่า พระองค์ท่านจะทรงเป็นฝ่ายถูกถามเสียก่อนกระมัง
นับตั้งแต่แรกออกหนังสือ "ประมวญวัน" จนกระทั่งยุติลงด้วยถูกลูกระเบิดเพลิงเผาผลาญหมดสิ้น เสด็จในกรมฯ ใช้เจ้าหน้าที่ในการนี้สามคน
คนแรก คือ คุณแย้ม ประพัฒน์ทอง เปรียญ ๙ ประโยค จากสำนักใดผมจำไม่ได้ ภายหลังออกไปรับราชการที่กองทัพอากาศประจำกองอนุศาสนาจารย์ ผู้ชอบฟังนิยายอิงพระพุทธศาสนา คงจะได้เคยฟังนิทานชาดกเรื่องแปลกๆ ทางวิทยุกระจายเสียง ผมเคยหมุนหาคลื่นไปพบบ่อยๆ และคุ้นเสียงคุณแย้มดี จำไม่ได้เป็นสถานีใด แม่นแต่ว่าเป็นภาคกลางวัน ทราบว่า ตำแหน่งสุดท้ายคุณแย้มเป็นหัวหน้าอนุศาสนาจารย์ และได้รับพระราชทานยศนาวาอากาศเอกพิเศษ ได้ข่าวว่า ถึงแก่กรรมแล้ว
คนที่สองคือ คุณแปลก สนธิรักษ์ เปรียญ ๙ ประโยค จากสำนักวัดมหาธาตุ ภายหลังออกไปรับราชการเป็นหัวหน้ากองวัฒนธรรมกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ มหาแปลกมีรายการบรรยายประจำทางวิทยุเหมือนกัน เป็นเรื่องหนักทางศีลธรรมจรรยาและความรู้ศาสนาตามแนวถนัด
คนสุดท้าย คุณวัน นวลยง เปรียญ ๙ ประโยคจากสำนักวัดมหาธาตุ ภายหลังออกไปรับราชการเป็นหัวหน้าแผนกวรรณคดีกรมศิลปากร และมีตำแหน่งเป็นบรรณาธิการหนังสือ "วรรณคดี" ของกรมด้วย สำหรับรายนี้ผมมีโอกาสได้พบกันบ่อย เพราะที่ทำงานในระยะต่อมาอยู่ใกล้กัน ถึงแก่กรรมหลายปีมาแล้ว
หลังจากโรงพิมพ์ประมวญวันถูกลูกระเบิดเพลิงเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ ราบเรียบหมดแล้ว เสด็จในกรมฯ มิได้ทรงเลือกมหา ป.๙ มารับเขียนคำบอกอีกจนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘
เสด็จในกรมฯ ทรงเริ่มทำงานประจำวันของพระองค์ท่านประมาณเก้านาฬิกาเศษ ข้อความที่จะรับสั่งเป็นคำบอกนั้น ทรงเตรียมคิดไว้พร้อมแล้วว่าวันนี้จะทรงเรื่องอะไร เมื่อทรงบอกให้ท่านมหาเขียนเสร็จ ทรงนำมาอ่านตรวจด้วยพระองค์เอง และทรงแก้ไขบ้างจนถูกพระทัยแล้วก็ส่งไปเรียงพิมพ์ หัวหน้าช่างเรียงต้องจัดคนเรียงฝีมือดีไว้เฉพาะ ทั้งนี้เพื่อมิให้มีตัวผิดมาก และต้องแก้แล้วแก้อีกจนหาตัวผิดไม่ได้ จากนั้นก็ส่งแผ่นปรู๊ฟไปถวายเสด็จฯ ในกรมทรงตรวจอีกครั้ง แม้กระนั้นนานๆครั้ง ยังมีตัวหลงตาอวดให้ดูเล่นจนได้
สำหรับข้อความใต้ภาพนิยายเรื่องต่างๆที่ เหม เวชกร เป็นผู้เขียนภาพ และเสด็จในกรมฯ ทรงแต่งบรรยายภาพเป็นร้อยกรอง ไม่ใช่วิธีเรียงพิมพ์เพราะตัวตะกั่วมันเปราะ ตัวสระทั้งบนและล่างพาลหักเอาง่ายๆ ถ้าเป็นความเรียงก็พอเดาออก หากเป็นร้อยกรองก็ค่อนข้างจะยุ่ง บางทีอ่านไม่ได้ความเอาเลย ดังนั้น จึงใช้วิธีเขียนอักษรลงบนแผ่นกระดาษอาร์ทแล้ว เอาไปทำแม่พิมพ์ จึงต้องมีช่างสำหรับเขียนตัวอักษรเหล่านี้ โดยเฉพาะ ผมจึงมีเรื่องอยากจะเล่า คราวหนึ่งเสด็จในกรมฯ ทรงเขียนกลอนใต้ภาพวรรคหนึ่งว่า "ศาตราวุธดังทัพยก" แต่คนเขียนตาลายหรือใจนึกถึงทัพบกมากไป เลยเขียนตัว "ย" กลายเป็นตัว "บ" เสียนี่ "ทัพยก" จึงกลายเป็น "ทัพบก" เสด็จในกรม ฯ ทรงตรวจพบเข้าผลคือ ทรงลงโทษตัดเงินเดือนช่างเขียนจำนวนสองบาท ผมกับช่างเขียนผู้นั้นยังพบปะกันบ่อยๆ เมื่อคุยความหลังถึงเรื่องนี้ได้หัวร่อกัน ว่าสมัยนั้นตัดเงินเดือนกันถึงสองบาททีเดียว
(อ่านต่อตอนที่ ๒ ตอนจบ)
ที่มา ต่วยตูน ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น