มองว่าเช๊ยเชย แต่ความเป็นจริงแล้ว
ภาพรวมในสังคมไทยของเพลงลูกทุ่งไม่มีคำว่าล้าสมัย
เพราะบทเพลงต่างๆล้วนมีเสน่ห์แง่งามในอัตลักษณ์ของภาษา
พร้อมทั้งถ่ายทอดบันทึกเรื่องราวแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี
และที่สำคัญเพลงลูกทุ่งยังอยู่คู่กับชีวิตวัยรุ่นไทยเสมอ
เพียงแต่เราอาจจะไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง
ครูแดน บุรีรัมย์ (ซ้ายสุด)
"แดน บุรีรัมย์" ครูเพลง และนักจัดรายการเพลงลูกทุ่ง
ให้ความเห็นเกี่ยวกับวัยรุ่นยุคปัจจุบันกับเพลงลูกทุ่งว่า
ในฐานะที่ตนเป็นคณะกรรมการตัดสินเพลงลูกทุ่งผ่านมาระยะหนึ่ง
ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีเด็กรุ่นใหม่สนใจเพลงลูกทุ่งกันมากขึ้น
"สมัยนี้เด็ก 8-9 ขวบ ก็ร้องเพลงลูกทุ่งกันได้คล่องแล้ว
ซึ่งผมมองว่าหากเยาวชนรุ่นใหม่ช่วยกันสืบทอดต่อไปเรื่อยๆ
เพลงลุกทุ่งกับเยาวชนก็อยู่ร่วมกันต่อไปได้
ซึมซับกลายเป็นวัฒนธรรมได้อีกทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กรุ่นนี้
หากใครอยากหัดร้องเพลงลูกทุ่งก็ทำได้ง่าย เช่น คาราโอเกะก็ช่วยได้
ไปฝึกร้อง และพยายามฟังคำร้อง ทำนองให้ชัดเจนตามนักร้องต้นแบบ
ก็ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก"
ส่วนใครที่อยากเรียนร้อง-แต่งเพลงลุกทุ่งอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ครูเพลงคนดัง แนะว่ายังพอมีครูเปิดสอนโดยเฉพาะ เช่น หมอธงชัย เล็กกำพล
หรือ ธีรพันธุ์ ชูพินิจ ให้ลองไปสืบค้นดูเอาเอง พร้อมบอกว่า
เด็กรุ่นใหม่สมองดี เทคโนโลยีก็พร้อมอยู่แล้ว หากมุ่งมั่นจะเป็นนักร้อง
หรือนักแต่งเพลงลูกทุ่งจริง ก็พยายามใช้ภาษาให้คนจำได้ง่าย
เรื่องราวไม่ต้องสับสน เพลงนั้นก็ประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก ขณะเดียวกัน
ครูแดน ยังเผยถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อเพลงลูกทุ่งเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม
"ในสมัยก่อนเนื้อเพลงมักบอกเล่าบรรยากาศของธรรมชาติ ดอกไม้ ป่าเขา
ร้องจบไปท่อนหนึ่งยังไม่ไปไหน ยังอยู่กับการบรรยายธรรมชาติ
ซึ่งคนสมัยก่อนก็ยอมรับ เพราะยังมีให้เห็น และเอื้อกับความรู้สึก
แต่ปัจจุบันนักแต่งเพลง ก็ต้องเปลี่ยนไปตามยุคบ้าง
พอจั่วหัวเนื้อเรื่องปุ๊ป ก็ต้องได้เลย ต้องรู้ว่าพูดเรื่องอะไร
อย่างไรก็ตาม เสน่ห์ของเพลงลูกทุ่งอยู่ที่ภาษา ภาษาไทยของเรามีความไพเราะ
สละสลวย ถ้าเรารอบรู้เก่งภาษา พูดจาชัดเจน ถูกอักขระ
ก็กลายเป็นเรื่องง่าย"
ทางด้าน อาจารย์อานันท์ นาคคง ประจำคณะดุริยางคศิลป์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
เสริมความเห็นเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งในแง่มุมมานุษยวิทยาว่า
วัฒนธรรมดนตรีของมนุษย์ในแต่ละสังคม ไม่ว่าจะต่างความเชื่อ การเมือง
หรือชาติพันธุ์ แต่ก็ล้วนมีสิ่งที่เป็นดนตรีในแต่ละรูปลักษณ์
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่แลกเปลี่ยนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี
หรืออะไรก็ตาม เพลงลุกทุ่งจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเพลง
ภาษา รวมถึงการนำเสนอบนเวที ตั้งแต่ประวัติศาสตร์เก่าๆอย่างเพลงรำวง
จนถึงแดนเซอร์หางเครื่องในปัจจุบัน
"แม้กระทั่งการเสพชมเพลงลูกทุ่ง เปลี่ยนแปลงจากสื่อวิทยุ
มาเป็นโทรทัศน์ จนกระทั่งล่าสุดมีลูกทุ่งบนเว็บไซต์
ทุกอย่างล้วนสะท้อนวัฒนธรรมที่น่าสนใจ และเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ
เป็นตัวเชื่อมของคนให้รู้สึกร่วมกัน ไม่ได้เป็นแค่ภาคใดภาคหนึ่ง
เพลงลูกทุ่งเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่เนื้อหาเพลง
แต่รวมถึงท่าทางการเต้น เสื้อผ้าอาภรณ์
ที่สามารถเก็บมุมประวัติศาสตร์ได้ทั้งหมด" อ.อานันท์ กล่าว
อ.อานันท์ นาคคง
เมื่อมองสังคมวัยรุ่นปัจจุบันที่นิยมชมชอบกับวัฒนธรรม
ศิลปินเพลงต่างชาติ อาจารย์นักดนตรีท่านนี้มองว่า
ความจริงก่อนที่เด็กจะเข้ามาเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
ต่างเก็บสะสมอะไรมากมาย ตั้งอายุ 16-17 ปี
แต่ละคนต่างจึงมีประสบการณ์พื้นฐานแตกต่างกัน บางคนมาจากเมืองหลวง
บางคนมาจากต่างจังหวัด ทุกคนไม่ได้มาจากเกาหลีญี่ปุ่นทั้งหมด
"ผมไม่ได้กลัวว่า เด็กเสพเพลงเกาหลีแล้วจะกลายเป็นเกาหลีนะ
เด็กก็ลองไปเรื่อยว่าอะไรเหมาะสมกับชีวิต ต้องรอเวลาที่เหมาะสม
โดยเสน่ห์เพลงลูกทุ่งนั้นจะดึงดูดวัยรุ่นได้ด้วยตัวของมันเอง
เพราะเป็นเรื่องของความสนุกที่เป็นมุมกว้าง
สามารถร่วมกับสังคมขนาดใหญ่ได้
ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่วัยรุ่นในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว
แต่หมายถึงวัยรุ่นทั่วประเทศที่จะมีอารมณ์ร่วมกับเพลง เรียกว่า
เรามีเพื่อนมีมิตรสหายมากมายที่พร้อมจะสนุกไปกับเราด้วยเพลงลูกทุ่ง
คุณอาจจะเอ่ยชื่อดงบังชินกิ กับคนภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสานในต่างจังหวัด
แล้วเค้าอาจจะไม่รู้จักเลยก็ได้ แต่หากเอ่ยชื่อนักร้องลุกทุ่งไทย
ใครๆเค้าก็รู้จัก และมันก็เชื่อมกันได้
เหมือนเป็นกาวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน"
อ.อานันท์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า
"ดูกิจกรรมต่างๆในรั้วมหาวิทยาลัยก็ได้ครับ เด็กๆสมัยนี้
ยังใช้เพลงลูกทุ่งกันไม่น้อยไปกว่าเพลงอื่นๆเลย"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น