++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หนูรักฟันสวย จิตสำนึกของชุมชนที่ยั่งยืน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            บนที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำตากและแม่น้ำวัง เป็นผืนนากว้างสุดลูกหูลูกตา มีต้นเรียงขนาดน้อยใหญ่ ขึ้นเป็นทิวแถว สลับสูงต่ำคละเคล้ากันไป  แล้วยังมีรังผึ้งซึ่งเป็นผึ้งป่ามากมายหลายร้อยรังมาอาศัยอยู่ และนั่นเป็นที่มาของชื่อตำบลนี้ "ทุ่งผึ้ง" อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอแจ้ห่ม ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน มีประชากรอาศัยอยู่ 4,131 คน ทั้งหมด 1,261 ครัวเรือน ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขามีป่าล้อมรอบ มีที่ลาดเชิงเขา และที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำ

            นายก อบต.ทุ่งผึ้ง มีมุมมองด้านบวกต่อกองทุนฯ ว่า สุขภาพเป็นความสมบูรณ์ของร่างกาย  จิตใจและสังคม สุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของประชาชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นงานรองจากงานด้านสุขภาพ  ถ้าสุขภาพดี การกินดีอยู่ดีก็จะเกิดขึ้น และการส่งเสริมป้องกันปัญหาเรื่องสุขภาพ มีความสำคัญยิ่งกว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ ผู้นำจึงต้องปลุกจิตสำนึกในการดูแลสุขภาพ ให้คนในชุมชน โดนคนในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง

            ชาวทุ่งผึ้งมีเป้าหมายในการดำเนินงานกองทุนฯ ว่า ประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญด้านสุขภาพ แต่สิ่งที่ลำบากที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางาน คือ ชาวบ้านยังลำบากยากจน เห็นความสำคัญของปากท้องมากกว่าเรื่องสุขภาพ เมื่อค้นพบว่า    ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาหลัก จึงมีแนวคิดที่จะปลุกจิตสำนึกของประชาชน โดยให้ป้องกันปัญหามากกว่าแก้ปัญหา และชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเป็นที่มาของการเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย หลายๆโครงการของกองทุนฯ จึงสามารถทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "โครงการหนูน้อยฟันสวย"

            โครงการนี้มีที่มาจากปัญหาสุขภาพปาก และฟันของเด็กก่อนวัยเรียน ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีผลกระทบทั้งตัวเด็กเองและกระทบกับผู้ปกครอง เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อลูกหลานปวดฟัน ยิ่งครอบครัวใดมีความยากจนอยู่แล้ว ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทางกองทุนฯ จึงส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพฟันให้กับชุมชน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีปัญหาเพิ่มขึ้น

            โครงการหนูน้อยฟันสวยนับเป็นโครงการเด่นในพื้นที่ เพราะเป็นปัญหาที่พบมากและต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ส่วนปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ที่พบในพื้นที่ทุ่งผึ้ง เช่นกัน คือ ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งเต้านมและปัญหาผู้สูงอายุขาดการดูแล ปัญหาเหล่านี้ คณะกรรมการได้นำมาทำเป็นแผนงานเพื่อดำเนินการต่อไป

            กองทุนฯ ใช้วิธีจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเริ่มจากการประชาสัมพันธ์โครงการแล้ว ประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีอนามัยทุ่งผึ้ง  สถานีอนามัยทุ่งฮ้าง โรงพยาบาลแจ้ห่ม หรือ สาธารณสุขอำเภอแจ้ห่ม โดยใช้ทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัวและการประสานงานตามระบบราชการ จากนั้น ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับโครงการ นัดหมายกับกลุ่มเป้าหมาย กำหนดวัน เวลา สถานที่ ในการดำเนินโครงการ และจัดการดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้

            เทคนิคในการดำเนินงานกองทุน ของ อบต.ทุ่งผึ้ง จะเน้นการให้บริการเชิงรุก คือ เริ่มการทำงานจากกลุ่มเล็กๆ แล้วขยายการดูแลไปสู่กลุ่มใหญ่ในพื้นที่ เพื่อง่ายต่อการปฏิบัติงานให้ครอบคลุม และง่ายต่อประเมินผลงาน ว่าการแก้ไขปัญหาที่จัดทำขึ้นนั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

            ผลการดำเนินงานในทุกโครงการ จะประเมินจากการสอบถาม  พูดคุยถึงความพึงพอใจ รวมไปถึง ประเมินความรู้ที่ชาวบ้านได้รับ ว่ามีการนำความรู้นั้น ไปสู่การปฏิบัติหรือไม่

            ผลสะท้อนที่เป็นรูปธรรมจากกองทุนฯ คือ พบว่า เด็กก่อนวัยเรียนมีสุขภาพปากและฟันดีขึ้น ชุมชนมีความพอใจในโครงการที่จัดทำและคนในชุมชนก็มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสุดท้าย ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการดำเนินงานไปได้ด้วยดี

            ใครว่าจนแล้วต้องเจ็บ (ไข้ได้ป่วย) ชาวทุ่งผึ้งทำให้เห็นแล้วอย่างไรว่า ถึงด้อยในเรื่องเงินทอง แต่ความมั่นคงทางสุขภาพไม่เคยด้อยตาม

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ปานจันทร์ อิ่มหนำ
ศรีประไพ อินทร์ชัยเทพ
วลัยลักษณ์ ขันทา
วาสนา มั่งคั่ง
ศิริวรรณ ใบตระกูล
ดร.พัฒนา นาคทอง
วพบ.ลำปาง         
           

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น