++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ศรีฐาน - สุขภาพคือฐานสำคัญของชีวิตที่ต้องคิดใส่ใจและดูแล กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

เรียบเรียงโดย นพรัตน์ จิตรครบุรี


            องค์การบริหารส่วนตำบลศรีฐาน อยากเห็นชาวบ้านมีสุขภาพดี และได้รับบริการที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาลป่าติ้ว เพราะการเดินทางไปในแต่ละครั้งต้องใช้เวลา ใช้เงินมาก ชาวบ้านจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างโรงพยาบาลตำบลขึ้น เพื่อทำให้การรับบริการด้านสุขภาพดีขึ้น เร็วขึ้นโดยการจัดหาเงินด้วยการทอดผ้าป่า และได้รับบริจาคสมทบจากหลวงพ่อพวง หลวงพ่อสรวง และหลวงพ่อเพียรเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ตำบลศรีฐานสามารถจัดตั้งโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในตำบลได้เป็นแห่งแรกของจังหวัดยโสธร ตามความต้องการของชาวบ้าน

            และโชคดีเมื่อปลายปี 2549 อบต.ศรีฐานได้เข้าร่วมโครงการของ สปสช. ทำให้มีเงินทุนสมทบในการดำเนินงานด้านสุขภาพมากขึ้น
            นายสุพิศ ป้องกัน นายก อบต.ศรีฐาน มองว่า การที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดตั้งกองทุนฯ มีประโยชน์มาก เพราะเป็นการช่วยให้การดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนตำบลศรีฐานเกิดผลมากขึ้น และชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าสุขภาพดีไม่ใช่เรื่องของคนอื่น แต่สุขภาพดีต้องเริ่มต้นลงมือที่ตัวเองและชาวบ้านก็เต็มใจที่จะสมทบทุนในการสร้างสุขภาพของตนเอง

            เพื่อให้การดำเนินการกองทุนฯ เกิดการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมให้มากที่สุด การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จึงมาจากหลายภาคส่วนด้วยกัน ได้แก่ นายก อบต. ,รองนายก อบต., เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตำบล ตัวแทนชุมชนและ อสม.ประจำหมู่บ้าน

            ด้วยการคำนึงถึงหลักการที่ว่า "สิทธิประโยชน์ส่วนรวม" การบริหารงานของคณะกรรมการกองทุนฯ จึงเน้นไปที่กระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ละเลยเรื่องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนฯ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ด้วยการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่

            การทำประชาคม ซึ่งทำกันในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ คณะกรรมการทุกคนต้องเข้าร่วม เพื่อตอบคำถามและให้ข้อมูล เปิดโอกาสให้ชาวบ้านซักถามประเด็นต่างๆ  เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ คืออะไร ทำไมต้องมีกองทุนฯ เอาไว้ทำอะไร กลุ่มเป้าหมายคือใคร เป็นต้น

            นอกจากนี้ ยังมีการบอกข่าวผ่านหอกระจายข่าว ผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน, กำนัน, กรรมการกองทุนฯ , การส่งหนังสือเชิญ (จดหมายข่าว) และทำป้ายประชาสัมพันธ์
            การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ที่เริ่มจากการได้พูดคุย ปรึกษาหารือด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง ช่วยทำให้ทีมงานเกิดความเข้มแข็ง ทำงานกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการวางแผนในการดำเนินกิจกรรม ร่วมกันทบทวนถึงปัญหา อุปสรรค และหาทางแก้ไข ซึ่งลำดับขั้นตอนในการทำงานของ อบต.ศรีฐาน มีดังนี้

            วางระบบการทำงานด้วยการแบ่งหน้าที่กันปฏิบัติ คือ ให้คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ร่วมมือกันวางแผนการทำประชาคมในแต่ละหมู่บ้าน, ให้ผู้ใหญ่บ้านหรือสมาชิก อบต. เป็นผู้ประสานงานกับคณะกรรมการกองทุนระดับตำบล และกำหนดวันประชุมประชาคมเพื่อเสนอวันเวลา สถานที่มายังองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้เพื่อเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องกองทุนสุขภาพระดับตำบล

            เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกองทุนฯ ลงมือ ลงแรง ร่วมใจ ร่วมทุน ร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจ โดยการเสนอความต้องการผ่านทางคณะกรรมการแต่ละหมู่บ้านจากการทำประชาคม จากนั้นรวบรวมเป็นความต้องการของคนในตำบลเสนอเป็นแผนงานและกิจกรรม ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ช่วยกันพิจารณางบประมาณและดูความเหมาะสมของโครงการ

            ในปีงบประมาณ 2550 ได้ประเด็นความต้องการของสมาชิก 26 ประเด็นครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ผู้สูงอายุ เด็ก และผลการดำเนินงานที่ปี 2550 โครงการที่คิดว่าเป็นโครงการดีเด่นของ อบต.ศรีฐาน คือ โครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ได้แก่ โครงการจัดพาผู้สูงอายุ ไป  X-ray  ปอด ที่โรงพยาบาลป่าติ้ว และโครงการตรวจไขมันสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากว่าชุมชนตำบลศรีฐาน ผู้สูงอายุได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น กลุ่มทำหมอนขิด, กลุ่มจักสาน,  กลุ่มผญาและกลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน จึงทำให้การทำกิจกรรมเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและได้รับความร่วมมือดี

            สรุปโครงการ / ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน
            งบประมาณดำเนินการ กองทุนฯ ตำบลศรีฐาน ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก โดย สปสช. โอนเงินสมทบ 37.50 บาท/คน/ปี (ประมาณเดือนธันวาคม 2549) ร่วมกับท้องถิ่นโอนเงินสมทบ 20% ของเงิน สปสช. และเงินสมทบของสมาชิกเดือนละ 2 บาท นอกจากนี้ กองทุนฯ อบต.ศรีฐาน ยังได้เงินสมทบจากเกจิอาจารย์ของตำบลอีกจำนวนหนึ่งด้วย
            การดำเนินการกองทุนฯ ของ อบต.ศรีฐาน จากการเรียนรู้ของทีมทำงาน ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการบริหารกองทุนฯ อยู่ที่ วิสัยทัศน์ของผู้นำ ในการตัดสินใจเข้าร่วมกองทุนฯ และมองเห็นความสำคัญว่า กองทุนฯนี้มีประโยชน์ต่อประชาชน

            มีทีมงานเข้มแข็ง และทำงานด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนฯ และทำงานด้วยใจ ด้วยจิตอาสาเพื่อที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองและเพื่อต้องการให้คนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง
            การที่ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมคิดท ได้ออกความเห็น แสดงความต้องการ และได้ร่วมลงทุนทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตนเองเป็นเจ้าของกองทุนฯ ที่ตนได้รับประโยชน์ และได้แบ่งปัน ที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้มุมมองของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ และผู้นำชุมชนเปลี่ยนไปเป็นมองในเรื่องเดียวกันว่า สำหรับชาวศรีฐานแล้ว การสร้างหลักประกันสุขภาพ คือ ฐานสำคัญของชีวิตและชุมชน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ดร.กฤษณา วุฒิสินธ์
รุ่งอรุณ กระมุทกาญจน์
นัจรินทร์ เนืองเฉลิม
กิ่งแก้ว สุระแสน
นิธิ ปรัสรา
วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร อุบลราชธานี



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น