++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สุขภาพดีเริ่มต้นที่ตัวเรา แล้วขยายสู่ชุมชน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

เรียบเรียงโดย นพรัตน์ จิตรครบุรี

            "องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ มีโอกาสเป็นตัวแทนของ อบต.ของจังหวัดศรีสะเกษที่เป็นคณะกรรมการชุดเขตพื้นที่อุบลราชธานี พวกเราสมัครใจเข้าร่วมโครงการในช่วงปลายปีงบประมาณ 2549 และถือเป็นเกียรติแก่ อบต. ที่ได้มีส่วนร่วมในการดูแลป้องกันสุขภาพ ของชาวบ้านซึ่งในบทบาทหน้าที่แล้ว อบต.ต้องดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขถ้วนหน้า " นายประกาศิต สุพรหมธีรกูร นายก อบต.หนองไฮ

            การดำเนินการกองทุนสุขภาพของ อบต.หนองไฮ เริ่มด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ โดยเน้นการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม กรรมการจึงมาจากหลายส่วนด้วยกัน ได้แก่ นายก อบต. ปลัด อบต. หัวหน้าสถานีอนามัย, สอบต. และ อสม.ประจำหมู่บ้าน
            เมื่อทีมงานพร้อม การทำงานต้องมีการเตรียมตัว มีการวางแผนในการดำเนินกิจกรรม เมื่อดำเนินการไปแล้วก็ต้องร่วมกันทบทวนถึงปัญหา อุปสรรค และหาทางแก้ไข ชาวหนองไฮได้ช่วยกันคิดระบบการทำงานอย่างเป็นขั้นตอนดังนี้
            เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านเวทีประชาคม/สื่อต่างๆ เนื่องจากการทำงานของคณะกรรมการกองทุนฯ มุ่งเน้นถึงการทำความเข้าใจกับคนในชุมชน โดยจัดการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การทำประชาคม การบอกข่าวผ่านหอกระจายข่าว ผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน กำนัน กรรมการกองทุนฯ และการทำป้ายประชาสัมพันธ์

            จัดให้ อสม.และตัวแทนทุกหมู่บ้าน ทำประชาคมในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อค้นหาปัญหาสุขภาพของชาวบ้านแล้วนำเสนอโครงการ ต่อ อบต. โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เน้นการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรค
            มีการเสนอแผนงาน/ กิจกรรมผ่านคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ โดยจัดประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ให้ช่วยกันพิจารณางบประมาณและดูความเหมาะสมของโครงการบนพื้นฐานความเป็นไปได้

            การดำเนินกิจกรรมโครงการที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุนสุขภาพฯ เป็นหลัก
            มีการสรุปโครงการ/ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินกิจกรรม หาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ มีหลักในการจะพิจารณาผลการบริหารกองทุนฯ ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ นั้นขึ้นอยู่กับ ความพึงพอใจของผู้ที่ได้รับการบริการ , ชาวบ้านมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง มีความสุข และชาวบ้านเห็นว่า เรื่องสุขภาพเป็นส่วนที่ตนเองต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยใช้วิธีการสังเกตและการสะท้อนกลับจากประชาชน แต่ยังขาดการประเมินที่เป็นระบบ

            สำหรับงบประมาณดำเนินการ กองทุนฯ ตำบลหนองไฮ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักและส่วนเพิ่มเติม จากการบริจาคของประชาชน โดย สปสช.โอนเงินสมทบ 37.50 บาท ต่อคน ต่อปี ร่วมกับท้องถิ่น โอนเงินสมทบ 40%  ของเงิน สปสช. และได้รับบริจาคจากชาวบ้านอีก 500 บาทต่อปี
        กระบวนการมีส่วนร่วมโดยยึดชุมชนเป็นศูนย์กลางของชาวตำบลหนองไฮ ทำให้การดำเนินการกองทุนฯของ อบต.หนองไฮ มีความสำเร็จอยู่ในระดับหนึ่ง จากการเรียนรู้ของคนทำงานสามารถสรุปได้ว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการบริหารกองทุนฯนั้น ขึ้นอยู่กับ
            โอกาสของผู้นำชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการ สปสช.เขต มุมมองของผู้นำที่เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพชุมชน แบะตระหนักว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกองทุนฯ
            ทีมงานเข้มแข็งและทำงานด้วยใจ ด้วยจิตอาสาเพื่อที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองและเพื่อต้องการให้คนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง
            การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประชาชน มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการตัดสินใจเลือกประเด็นปัญหาสุขภาพและนำมาแก้ไขร่วมกัน

            การดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม เริ่มจากการได้พูดคุย ปรึกษาหารือด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง ก่อให้เกิดทีมงานที่เข้มแข็ง ทำงานเป็นขั้น เป็นตอน มีการวางแผนในการดำเนินกิจกรรม ร่วมกันทบทวนถึงปัญหาและอุปสรรค และหาทางแก้ไข เกิดความเอื้ออาทรระหว่างกัน หน่วยงานกับชุมชนทำให้เกิดการประสานงานที่ดี
            การทำงานโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในการดำเนินกิจกรรม ทำให้ชุมชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของกองทุนฯ ตระหนักว่าเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องใส่ใจดูแล เกิดการเอื้ออาทรซึ่งกันและกันในหมู่บ้าน
            ทั้งหมดนี้คือ การเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องใหม่ๆ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการดำเนินกิจกรรม เพราะทุกคนเมื่อเกิดข้อสงสัยก็ได้มีโอกาสพูดคุยซักถามหรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นอิสระ ผ่านกระบวนการประชาคม การร่วมคิด ร่วมทำ

            นำมาซึ่งวิธีคิดที่เปลี่ยนไปของคนในชุมชน เกิดการตระหนักรู้ว่า การสร้างหลักประกันสุขภาพต้องเริ่มต้นที่ตัวเองก่อนจะขยายออกไปสู่ชุมชน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ดร.กฤษณา วุฒิสินธ์
รุ่งอรุณ กระมุทกาญจน์
นัจรินทร์ เนืองเฉลิม
กิ่งแก้ว สุระแสน
นิธิ ปรัสรา
วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร อุบลราชธานี


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น