++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สมัน (ซากประวัติศาสตร์ไทย)

กุมภา ล่องวารี


เมื่อได้ยินหรือได้อ่านชื่อสมัน หรือ เนื้อสมันแล้ว
ผมมีความรู้สึกสองอย่าง อย่างที่หนึ่งมีความรู้สึกเศร้าและเจ็บแค้นปนกัน
ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ผมอยู่ในวัยรุ่นเรื่อยมา
และอีกความรู้สึก คือ อนาถปนขำ ความรู้สึกแรกเพราะเสียใจ
เสียดายที่สมบัติของไทยและของโลกสูญสิ้นไป บอกตรงๆ คือ
เมื่อก่อนนี้ผมทนไม่ได้ที่จะรับรู้ข้อมูลสมบัติล้ำค่าที่สูญสิ้นไป
ส่วนความรู้สึกในประการหลังเกิดขึ้นเมื่อได้รับทราบถึง การประกาศ
พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

มันสายเกินไปเสียแล้วสำหรับสัตว์ชนิดนี้
สงวนได้ก็แต่ซากหรือเขาเท่านั้น
แต่ก็ยังดีที่จะได้ควบคุมไม่ให้เล็ดลอดออกไปเหมือนสิ่งล้ำค่าอื่นๆ
คนเห็นแก่ได้และขายชาติยังมีอีกมาก
คนรุ่นหลังถ้าจะดูความงามของเขาอันลือเลื่องละก็คงยากนัก
หากบรรพบุรุษของตนหรือคนสนิทไม่มี อย่าหวังว่าจะได้เห็น
ครั้นจะไปดูที่พิพิธภัณฑ์สัตว์ป่าที่เขาดิน ขอบอกเลยครับ
มีแค่เขาเล็กๆแตกไม่กี่กิ่ง ยังไม่มีความสวยงามให้เห็น จุ๊ย์ๆๆ
อย่าเอ็ดไป ผมขอบอกเฉพาะแฟนต่วยตูนเท่านั้น ว่า
บ้านที่ผมเติบโตมามีเขาสมันสวยงามมาก เท่าที่บรรพบุรุษเคยว่ามานั้น
สวยงามเป็นเลิศ แค่เคยมีของคนที่บรรพบุรุษรู้จักสวยงามกว่า
ถ้าคะแนนเต็มร้อยที่บ้านผมได้เก้าสิบทีเดียว ส่วนที่เขาดิน
ผมให้สักยี่สิบก็พอ

ราวสองปีมาแล้ว
ผมให้ไอ้เหล่ถามราคาประเมินของเขาสมันสวยๆกับผู้ใหญ่ที่ได้ชื่อว่า
พ่อพระแห่งสัตว์ป่าท่านหนึ่ง ท่านประเมินว่าคงจะหลายแสนอยู่ เปล่านะครับ
ผมไม่เคยคิดขายสมบัติของบรรพบุรุษกิน ผมจะเก็บไว้อย่างดีที่สุด
ต่อไปภายหน้า ราคาเป็นล้านผมก็ไม่ขาย ผมจะตกอับขนาดไหนก็ไม่มีทางขายแน่ๆ

เอาล่ะครับ
มาถึงประวัติของสัตว์ที่สูญไปจากโลกซึ่งเหลือเพียงซากและความเศร้าใจ
เพื่อให้คนรุ่นที่อยู่นี้
สำนึกถึงคุณค่าและคุณธรรมต่อสัตว์ที่มีอยู่ไม่ให้สูญไปเช่นนี้อีก

สมัยก่อน
คนไทยภาคกลางเรียกสัตว์จำพวกกวางที่ล่ามากินได้ง่ายว่า "เนื้อ" นำหน้า
มีสองชนิด คือเนื้อสมัน และเนื้อทราย นั่นแสดงว่า
เมื่อก่อนกวางสองชนิดนี้มีมากมาย ต่อมาเรียกเพียงสมัน
สัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์พื้นเมืองไทย เพราะพบแห่งเดียวในโลก
คิดแล้วผมก็เจ็บขึ้นมาอีก ทำไมคนไทยเราจึงมีจิตวิญญาณในการล่าสูงนัก
ความรู้สึกอนุรักษ์น้อยเหลือเกิน
ทั้งๆที่เรามีเฉพาะที่ลุ่มภาคกลางเท่านั้น
และปีแห่งความสูญสิ้นก็แค่ชั่วคนมานี้เอง
สมันตัวสุดท้ายของไทยและของโลกเพิ่งตายไปเมื่อปี ๒๔๘๑
ทั้งๆที่อยู่ในวัดแท้ๆ ไม่ใช่แก่ตาย แต่ถูกตีตาย
นรก-นรกเรียกคนีไปใช้กรรมไม่จบสิ้นแน่ๆ

คิดแล้วแค้นใจไม่หาย แถมเขาก็เหลืออยู่ในบ้านเราน้อยมาก
ต่างชาติที่รู้คุณค่ากว้านซื้อไปสะสมในพิพิธภัณฑ์
อนิจจา-สมบัติของโลกที่มีกำเนิดจากไทยโดยแท้
ไม่ใช่แค่ขายนะครับที่ทำร้ายความรู้สึกของคนไทยด้วยกัน
แต่การทำลายโดยไม่รู้ถึงคุณค่าหรือที่บางคนว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์
นั่นก็คือ การเอาเขาสมันมาทำ "ด้ามมีด"
ผมว่าคงมีต่างชาติที่รู้เรื่องนี้บ้างแหละ ถึงแม้ไม่ใช่สมบัติของชาติเขา
แต่เขาก็รักและหวงแหนเห็นค่า ผมว่าบางคนคงด่า บางคนคงเศร้าใจอย่างมาก
นอกจากนี้ บางคนยังเอาไปบดต้มเคี่ยวกับเครื่องยาจีน
อนิจจา-ความเชื่ออันงดงามทำลายสมบัติของโลกไปไม่รู้เท่าไหร่

สมัยก่อน พบสมันชุกชุมในเขตบางกอกเมื่อยังมีป่าดงอยู่
แต่ไมมีคนไทยสนใจ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในปี ๒๔๐๖
เมื่อเซอร์โรเบิร์ต โชมเบิร์ก กงสุลเยเนราลของอังกฤษ
ประจำราชสำนักแห่งพระเจ้ากรุงสยาม ได้นำเอาเขาสมัน ๒
ข้างไปถวายพระนางเจ้าวิกตอเรีย
และได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เซาธ์เคนซิงตัน กรุงลอนดอน
โดยมีศาสตราจารย์ E.Blyth
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกวางของเอเชียเป็นผู้ทำการศึกษา เพราะเห็นว่า
เป็นเขากวางลักษณะแปลกประหลาดไม่เคยเห็นมาก่อน
จึงได้ตั้งชื่อกวางที่ค้นพบใหม่ในสยาม
ลงตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือสมาคมสัตวศาสตร์ของอังกฤษ ปี ค.ศ. ๑๘๖๓ ว่า
Recervus schomburgki Blyth 1863 เพื่อเป็นเกียรติแก่ Sir Schomburgk
คิดดูแล้วน่าเจ็บใจ กวางของไทยดันมีชื่อเป็นที่ระลึกแก่ฝรั่ง
นี่ถ้าคุณกิตติ ทองลงยา เกิดในสมัยนั้นคงได้ชื่อไทยไปแล้ว

การจำแนกและตั้งชื่อสมัน ตั้งตามนามสกุล Rucervus
ของกวางพรุ (Swamp Deer) ของอินเดีย ซึ่งมีชื่อตามภาษาพื้นเมืองว่า
"บาราซิงห์" ซึ่งคล้ายกันมาก แต่สมันลำตัวสั้นกว่า เขาแตกแขนงกิ่งมากกว่า
กิ่งเขาหน้าที่เรียกว่า กิ่งรับหมายาวกว่า หลายท่านอาจสงสัยอะไรกันวะ
"กิ่งรับหมา" ในพจนานุกรมหาไม่เจอหรอกครับ
แต่คนในวงการสัตว์ป่ารู้ดีว่ากวางที่มีการแตกกิ่งเขาหลายกิ่ง
คู่หน้าสุดจะเรียกว่ากิ่งรับหมา เพราะกวางจะใช้รับการโจมตีของหมาป่าหมาใน
เป็นการเสยป้องกันตัว อีกนิดครับ กระดูกดั้งสมูกสมันกว้างและยาวกว่า
และมีอีกหลายส่วนที่ต่างกัน เป็นอันว่า ที่เคยมีคนคิดว่า
เป็นชนิดเดียวกันจึงไม่ใช่ อีกอย่างในไทยมีแต่ภาคกลาง
จึงไม่มีทางที่กวางจากอินเดียจะแพร่กระจายพันธุ์มา

หลังข่าวกวางชนิดใหม่แพร่หลาย
ประเทศมหาอำนาจต่างๆก็พยายามเสาะหานำไปเลี้ยง ทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส
แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะคนไทยสมัยนั้นไม่สนใจ
ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า
ผู้ติดตามชาวต่างชาติจึงสับสนแหล่งที่อยู่และชื่อพื้นเมืองของสมันและละมั่ง
จึงได้ไปน้อยตัว และอายุสั้น
ไอ้ที่หวังจะเลี้ยงไว้ดูเขางามลือลั่นนั่นก็แห้ว ที่ปรากฏคือ
มีลูกสมันจับได้ที่แก่งคอย ในปี ๒๔๔๐ แล้วถูกนำไปเลี้ยงที่เยอรมัน
ในสวนสัตว์เบอร์ลิน และได้เสียชีวิต ๑๔ ปีต่อมา
ได้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับนิสัยและรูปขณะมีชีวิตอยู่
น่ายินดีแบบเพลียใจที่ภาพสมันชุดนี้เป็นชุดเดียวในโลกที่ทำให้คนไทยและคนทั่วโลกได้รู้จักรูปร่างหน้าตาของสมันจากตัวจริง

ขอบอกคร่าวๆทั้งๆที่ผมมีรายละเอียดลักษณะของสมันอยู่
บอกไปก็เท่านั้น หาศึกษาบ่ได้ ประวัติบันทึกไว้ว่า
สมันเป็นกวางกีบเท้าคู่ กระเพาะอาหารพัฒนาไปมี ๔ ตอน
รวมกระเพาะพักเพื่อย่อยพืช มีเขาเฉพาะตัวผู้ เขาสมันตันมี ๒
ข้างขนาดเท่าๆกัน ผลัดเขาทุกปีจึงมี "เขาอ่อน"
ซึ่งเป็นช่วงที่เขามีชีวิตนุ่มคล้ายกำมะหยี่ที่หนังหุ้ม
เขามีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาเลี้ยง
เมื่อโตและแก่เต็มที่หนังหุ้มเขาจะแห้งหลุดไป เส้นเลือดเส้นประสาทตายหมด
อ้อ...ส่วนที่งอกใหม่นี่ค่อส่วนที่เป็นวงแหวนเขานะครับ กิ่งเขาสวยงามมาก
กิ่งเขาหน้าหรือกิ่งรับหมายาวและโค้งงอน กิ่งรับหมานี้ยาวประมาณ ๓๐ ซม.
ปลายกิ่งรับหมามักแตกเป็น ๒ แขนง ซึ่งไม่ค่อยพบในกวางชนิดอื่น
โดยเฉลี่ยเขาสมันขนาดใหญ่จะมีกิ่งแขนงเขาข้างละ ๘-๙ กิ่ง
ลำเขาแต่ละลำสั้นราว ๑๒ ซม.

การแตกแขนงเขาแต่ละครั้งจะเป็นกิ่งหน้าและหลัง
แขนงสองข้างทำมุมแยกออกไปเท่าลำกิ่งเดิม
ทำให้เขาบานออกคล้ายสุ่มหรือตะกร้าสาน ชาวบ้านสมัยก่อนจึงมีบางคนที่เรียก
"กวางเขาสุ่ม" ขนาดเขาวัดตามโค้งนอกเฉลี่ยประมาณ ๖๕ ซม. นี่คือ
ความยาวนะครับ ส่วนขนาดลำตัว ศาสตราจารย์ Lydekker
ได้บันทึกจากสมันที่นำไปเลี้ยงที่สวนพฤกษศาสตร์ กรุงปารีส ปี ๒๔๓๑ ว่า
มีความสูงวัดจากไหล่ประมาณ ๑ เมตร ขนยาวหยาบและสีน้ำตาลในฤดูหนาว
ไม่มีจุดลายตามตัว ขนบริเวณจมูกและส่วนบนของหางค่อนข้างดำ ส่วนแก้ม
ท้องและใต้หางสีจางกว่า รูปร่างตัวเมียคล้ายละมั่งตัวเมียมาก
จนชาวบ้านคิดว่าสมันมีแต่ตัวผู้ ตลกนะครับ
ชาวบ้านเชื่ออย่างนั้นเหมือนที่เชื่อว่าชะนีมีแต่ตัวเมีย
และที่ตลกกว่านั้นคือ
เชื่อว่าละมั่งกับสมันผสมแล้วจะมีลูกเป็นสมันบ้างละมั่งบ้าง

การกระจายพันธุ์อย่างที่ผมเล่ามาแล้ว คือ
มีแถบที่ลุ่มภาคกลาง มีการกระจายในบางกอกและหัวเมืองโดยรอบ
มีตั้งแต่สมุทรปราการขึ้นเหนือไปถึงสุโขทัย
ตะวันออกถึงนครนายกและฉะเชิงเทรา ตะวันตกถึงสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
ปกตินิสัยที่ชอบอยู่ตามป่าทุ่ง ไม่ชอบป่ารกทึบ
เพราะเกะกะเขาบนหัวซึ่งจะทำให้มุดที่รกไม่ได้
และอาจจะพันกับเถาวัลย์หรือขัดกับกิ่งไม่ได้
แต่กวางป่าและละมั่งอยู่ป่ารกทึบได้ สมันอยู่เป็นครอบครัวคือ ตัวผู้ ๑
ตัว และตัวเมียกับลูกอีก ๒-๓ ตัว
หากินหญ้าตามทุ่งโล่งริมน้ำตอนค่ำหรือจนถึงเช้า
กลางวันหลบแดดตามป่าละเมาะหรือพงหญ้าสูงๆ มักอาศัยปนกับเนื้อทรายได้เสมอ
นิสัยคุ้นเคยคนง่าย นี่ต่างประเทศศึกษานะครับ การยกหัว
ท่วงทีการเดินดูสง่า คึกคะนอง ชอบประลองท้าทายกับกวางชิดอื่นที่โตกว่า
ร้องเสียงแหลมสั้นๆคล้ายเด็กหวีดร้อง
ฤดูผลัดเขาอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

รายงานเท่าที่มีบันทึกไว้เชื่อว่า
สมันตัวสุดท้ายในธรรมชาติถูกคนใจร้ายฆ่าที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
ในปี ๒๔๗๔ แต่ตัวสุดท้ายของไทยและของโลกเชื่อว่า
เป็นสมันตัวผู้ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระอยู่ในวัดมหาชัย สมุทรสาคร
แต่ตายอย่างไม่น่าตายดังที่ผมว่ามาตั้งแต่ต้นในปี ๒๔๘๑
ต่อจากนั้นไม่มีรายงานการพบเห็นหรือล่าได้อีกเลย
ผมเคยคิดไปว่าตัวสุดท้ายจริงๆนั้นตายตามอายุขัยในธรรมชาติ
นี่คือความคิดที่หลอกตัวเองเพื่อจะลบความรู้สึกร้ายๆออกไป หลายสิบปีก่อน
ผมยังจินตนาการว่าจะมีผู้พบสมันหลงเหลืออยู่อย่างไม่คาดฝัน

การล่าที่ไม่มีการควบคุมประกอบกับการอาศัยแต่ทุ่งโล่งตามที่ราบลุ่ม
ในฤดูน้ำหลากก็มักติดตามที่ดอนหรือเกาะเล็กๆกลางน้ำ ดังนั้น
การถูกล่าทีละหลายๆตัวทำให้สูญพันธ์ง่าย อีกประการหนึ่งตั้งแต่ต้นปี ๒๓๙๓
เป็นต้นมา ไทยติดต่อการค้ากับต่างประเทศ และสินค้าออกสำคัญคือ ข้าว
จึงมีการตื่นตัว บุกเบิกที่ทำนามาก โดยเฉพาะที่ลุ่มภาคกลาง ดังนั้น
สมันจึงเสียที่อาศัย และถูกฆ่าจนหมดในเวลาต่อมา
แม้ว่าในระยะก่อนที่สมันใกล้จะสูญพันธุ์
จะมีนักวิทยาศาสตร์ชาวต่างชาติเห็นคุณค่า
เขาเหล่านั้นได้พยายามเสาะแสวงหาเพื่อนำไปเลี้ยงที่ศูนย์ขยายพันธุ์ในประเทศของเขา
จุดประสงค์ก็เพื่อไม่ให้มันสูญพันธุ์ไปจากโลก
แต่โชคไม่ดีที่ความพยายามไม่สำเร็จผล

อนิจจา...คนไทยไม่รู้ค่า
ไม่สนใจและไม่ร่วมมือช่วยเหลืออย่างจริงจัง สมันจึงเหลือเพียงภาพวาด
และเขาให้คนไทยเราดูต่างหน้าเท่านั้นเอง

ทำไมหนอ คนบาปที่ล่าสัตว์ป่า
คนที่ไม่มีคุณค่าต่อสังคมจึงไม่สูญพันธุ์เสียที
โลกนี้จะสวยงามและน่าอยู่ขึ้นเยอะ


ที่มา ต่วยตูน ปักษ์แรก ธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ เล่มที่ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น