++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ทัวร์ยะลา

โดย โอภาส เพ็งเจริญ

            วันก่อนไปอุดรธานีมา ????
            อ้าว - ก็ต้องตกใจ  ต้องสงสัยกันเป็นธรรมดาละ เพราะชื่อเรื่องมัน "ทัวร์ยะลา" แต่พอเริ่มต้นบอกว่า ไปอุดรธานีมา มันชักยังไงๆอยู่ แต่อย่าคิดให้มากจนเลยเถิดไปว่าผมตัดสินใจทัวร์ยะลาด้วยการจับรถไฟ, รถทัวร์ หรือ เครื่องบิน เดินทางออกจากกรุงเทพโดยผ่านอุดรธานีเพื่อไปยะลา เพราะมันอยู่กันคนละทิศคนละภาคเลยทีเดียว

            แต่ไปอุดรธานีมาจริงๆ ไปถึงอุดรธานีนั่งฟังเขาพูดคุยกันเรื่องค้าขายชายแดนไทยกับลาว ฝ่ายพ่อค้าพ่อขายพยายามเรียกร้องเอากับทางราชการที่เข้าร่วมวงพูดคุยกันในวันสัมมนาที่อุดรธานีว่า  ขอให้ผ่อนผันเปิดจุดค้าขายให้มากๆ เพราะว่า ประชาชนทางฝั่งลาวนั้นดูเหมือนจะต้องการสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคแทบทุกชนิดจากฝั่งไทย เรียกว่า ขนอะไรไปจ่อไว้ตรงชายแดนแล้ว ถ้าช่องทางผ่านสะดวกก็ขายได้ทันที ตั้งแต่สากกระเบือไปแต่ไม่ถึงยันเรือรบเพราะลาวไม่มีทะเลให้เรือรบแล่นได้ จะมีก็แต่ลำน้ำโขงที่ใช้เรือเล็กๆก็พอ

            ถึงจุดนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาอีกรายบอกว่า เห็นด้วยที่จะต้องเปิดจุดค้าขายชายแดนให้มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เรามัวแต่คิดกันอยู่ว่าลาวไม่มีทางออกทะเล ไม่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล ไม่มีทางที่จะได้ประโยชน์ใดๆ จากทะเลเป็นอันขาด แต่ว่าเวลานี้ในขณะที่เรา (หมายถึงพื้นที่ของเรา ดินแดนของเรา และคนของเรา) ปิดกั้นทางออกทะเลของลาวเอาไว้ ปรากฏว่ามีกุ้งทะเลสดๆเป็นๆ ดิ้นพราดๆขายกันในลาวแล้วข้ามมาขายทางฝั่งไทยกันแล้ว มีปลาสดๆอยู่จากทะเลเดินทางมาถึงฝั่งลาว บางคราวข้ามมาฝั่งไทยด้วยซ้ำ  ที่ทางเราไม่ได้ลำเลียงไปเลย เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเวลานี้ลาวได้รับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศของลาว ศัตรูของประเทศไทยในเรื่องการตัดถนนลำเลียงสินค้าจากเวียดนามมาอย่างสะดวกสบาย นั้นเป็นเพราะเรามัวแต่ห่วงเรื่องความมั่นคงและไม่มั่นคงกันอยู่จนเกิดความไม่ได้สตางค์จากลาวเท่าที่ควร

            ผมฟังแล้วเออออห่อหมกไปด้วย เนื่องจากเคยไปเดินท่อมๆอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตตัวจังหวัดหนองคาย สิ่งที่ได้พบเห็นคือ ปลาหมึกแห้งตัวขนาดมหึมาที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในจังหวัดชายทะเลของไทย ทั้งๆที่ตัวเองเกิดและใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดชายทะเลอ่าวไทย และบางครั้งยังออกทะเลไปกับเรือประมงทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ไปดูเขาจับปลา ปลาหมึก แต่ยังไม่เคยเห็นปลาหมึกตัวขนาดที่วางขายกันอยู่ในร้านชำร้านค้าในจังหวัดหนองคาย สอบถามได้ความว่าปลาหมึกเหล่านั้น เดินทางจากทะเลเวียดนามขึ้นมาตากแห้งเสร็จแล้วเดินทางต่อมาโดยรถยนต์ จนถึงลาวแล้วข้ามลำน้ำโขงมาขึ้นที่ฝั่งไทยเพื่อวางขายให้กับคนไทยจากกรุงเทพบ้าง จากปักษ์ใต้บ้าง ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคายได้ซื้อไปฝากญาติพี่น้อง ฝากพรรคพวกในกรุงเทพที่มีเขตแดนติดต่อกับทะเล ฝากญาติพี่น้องในต่างจังหวัดแถบภาคกลางภาคใต้ทีมีชายแดนเขตแดนติดทะเลให้ได้บริโภคปลาหมึกแห้งเวียดนามกันให้เมื่อยกรามเล็กน้อย เพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกเสียเปรียบคนญี่ปุ่นไต้หวันที่เขารู้จักรสชาติปลาหมึกตัวโตๆ ที่ไปจากไทย (จะจับมาจากไหนน่านน้ำใดก็ไม่รู้ อย่าไปรู้เขาเลย ) จากอุดรธานีวันนั้นและหนองคายวันก่อนโน้น ทำให้นึกไปถึง ยะลา จังหวัดทางภาคใต้ของเราที่ผมไปนั่งๆนอนๆ เดินๆอยู่หลายวัน
           
            ยะลา จังหวัดเดียวของภาคใต้ของไทยที่ไม่มีดินแดนติดทะเลเลย จังหวัดอื่นๆอีก 14 จังหวัดของภาคใต้เขาล้วนมีอาณาเขตจรดทะเลกันทั้งนั้น อย่างภูเก็ตนั่นยิ่งกว่าติดเสียอีกเพราะลอยอยู่ในทะเลเลยทีเดียว

            มีภารกิจ (แน่ะ พุดเสียโห้หรู  ความจริงมันอีแค่มีธุระแค่นั้นล่ะ) ทำให้ต้องไปเยือนยะลา ก่อนถึงยะลาแวะปัตตานีเสียพักหนึ่งเยี่ยมท่านรองโอภาส (ไม่ใช่ผมหรอก ท่าน พล.ต.โอภาส โพธิแพทย์ รองแม่ทัพภาคที่ ๔ ซึ่งท่านรับผิดชอบกองทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้าที่จังหวัดปัตตานีน่ะ) ปะหน้าท่านรองโอภาส ท่านพูดคุยเล่าให้ฟังถึงภารกิจ (นี่ - ตรงนี้พอจะเรียกภารกิจได้สมภาคภูมิหน่อย) ที่ปฏิบัติเพื่อ กดดัน-ผลักดัน-ดึงดูด กลุ่ม จคม.ให้ออกมารายงานตัวกับทางราชการของไทย

             ท่านบอกว่า จริงๆแล้ว จคม.นั้น ไม่ค่อยอยากรบกัย ทหาร-ตำรวจของไทยเพราะเป้าหมายของกลุ่ม จคม. นั้นอยู่ที่ ประเทศมาเลเซียโน่น แต่ได้มาตั้งฐานที่มั่นอยู่ในเขตไทยตั้งนมนานแล้วและไม่มีทีท่าว่าจะข้ามไปปฏิวัติปฏิรูปอะไรในมาเลเซียได้สักที  จึงชักชวนกันเข้ามารายงานตัวกับทางการไทยจะดีกว่า

            ท่านบอกว่า เมื่อกำลังของไทยบุกเข้าใกล้ที่มั่น พวกนี้จะทิ้งค่ายปล่อยให้ทหาร-ตำรวจยึดไว้ ถ้าทหารตำรวจ ถอยออกมา พวกนี้จะกลับเข้าค่าย ถ้าทางการไทยยึดค่ายไว้ตลอดไป พวก จคม.จะไปสร้างค่ายใหม่ เจ้าหน้าที่ต้องเสียเวลาควานหาค่ายเพื่อจะยึดกันอีกวุ่นวายพอดู ดังนั้น ท่านเปลี่ยนวิธีการใหม่เมื่อยึดค่ายได้จะส่งกำลังแกะรอยไปห่างๆ ให้พวกนี้หนีไปเรื่อยๆ เพื่อไม่มีเวลาสร้างค่ายถาวรใหม่ แต่จะไม่เดินหน้าเข้าชนแหลกเพราะจะทำให้สูญเสียโดยใช่เหตุ จากนั้นพยายามพูดจาให้ออกมารายงานตัวเสีย

            "โบราณบอกว่า อย่าต้อนหมาให้จนตรอก " ท่านว่า ผมพยักหน้ารับว่า ครับๆ ท่านถึงว่าต่อว่า "หมาจนตรอกหนึ่ง  หมูถูกน้ำร้อนลวกอีกหนึ่ง " ตอนที่ท่านว่าหมาจนตรอกนั้นผมกับเพื่อนที่ไปด้วยกันพยักหน้ารับอีกนั่นล่ะ แต่พอท่านบอกว่า "หมูถูกน้ำร้อนลวกอีกหนึ่ง " เจ้าเพื่อนผมสะกิดสีข้างเบาๆว่า "แล้วเป็นอย่างไร หมูถุกน้ำร้อนลวกแล้วจะเป็นอย่างไร" ผมไม่ได้ตอบตอนนั้น แต่มาถูกถามต่อหลังจากลาท่านรองโอภาสมาแล้วว่า ผลจากการที่หมูถูกน้ำร้อนนั้นเป็นประการใดกันแน่   พยายามคิดหาคำตอบให้สอดคล้องกับ "หมาจนตรอก" แต่จนแล้วจนรอดหาไม่ได้ คำตอบที่ได้มามีเพียง "สุกแน่, ขูดขนได้เลย"

            รบกวนเวลาท่านรองแม่ทัพนักเขียนนักรบพอสมควรแก่เวลาแล้วจึงลาท่าน บึ่งจากปัตตานีเข้าสู่ตัวจังหวัดยะลา เพียงเริ่มเข้าเขตตัวเมืองยะลาก็ให้รู้สึกสบายตาสบายใจเป็นอันมาก บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน เคยไปยะลาเมื่อหลายปีก่อน ไปคราวนี้ ปีนี้ยะลายังสงบสะอาดอยู่อย่างเดิม

            ผังเมืองยะลาถูกจัดเป็นระเบียบเรียบร้อย สิ่งที่พบเห็นค่อนข้างมากในจังหวัดยะลา คือ ถังขยะของเทศบาลเมืองยะลา แต่ละถังมีขนาดมหึมาเพียงพอที่จะรับขยะในย่านใกล้ๆนั้น ได้หมด ถนนสายหนึ่งๆมีถังขยะสองฟากมากมาย ช่องทางเดินรถจักรยานสองล้อปรากฏให้เห็นยืนยันว่า ไอ้ที่ใครมาโฆษณากันว่าได้จัดสร้างช่องทางรถจักรยานในถนนบางสายที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ เพราะเห็นว่ามีประโยชน์อย่างนี้อย่างนั้น ฟังดูคล้ายจะบอกว่า เป็นความคิดใหม่ไม่เคยมีใครทำกันมาก่อนนั้น  ข้อเท็จจริงของช่องทางรถจักรยานในถนนของตัวเมืองยะลายืนยันได้อย่างดีว่า เขามีมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว

            "ไฟเหลืองบอกว่าให้รีบไป" คุณพี่มาศว่าพลางเหยียบคันเร่งนำรถพุ่งออกจากสี่แยกขณะที่ข้างหน้านั้นสัญญาณไฟเพิ่งจะเปลี่ยนจากเขียวเป็นเหลือง ผมนั่งอยู่ตอนหน้าของรถคู่กับคุณพี่ที่กุมพวงมาลัยอยู่ แตได้ยินไม่ถนัดนัก ถามย้อนไปว่า "อะไรนะ" พี่ท่านย้ำว่า "ไฟเหลืองไง เตือนให้รีบไป ไม่งั้นจะต้องติดไฟแดงอยู่นาน"    ผมเห็นด้วยว่าดี (คือ เห็นดีด้วย) ดังนั้นเมื่อรถเคลื่อนเข้าสี่แยกสามแยกที่มีสัญญาณไฟคราวใด ผมที่นั่งจ้องสัญญาณไฟอยู่แล้ว ครั้นรถเราแล่นมาถึงจุดทางแยกเป็นคันแรก มาถึงเห็นเขียวอยู่ดีๆ กลับเปลี่ยนเป็นเหลือง ผมรีบร้องบอกว่า "เหลืองแล้วพี่ เร็วๆ รีบไป" พี่มาศท่านปลดเกียร์ลงต่ำ ถอนคลัชท์แล้วเหยียบคันเร่งนำรถพุ่งออกไปด้วยความรวดเร็ว โชคดีที่ไม่มีใครที่กำลังขับอยู่ในทางแยกที่ตัดผ่านแล้วพุ่งออกมาด้วยเหตุผลว่า "เหลือง บอกให้รีบไป คันหลังจะคอยนาน" ไม่งั้น ไม่ใครก็ใครในหมู่พวกเราคงจะต้องเจ็บตัวกันบ้าง

            เรานั่งรถวนอยู่ในตัวเมืองยะลาพักหนึ่ง ตระเวณดูความสะอาดสะอ้านของบ้านเมืองด้วยความสบายใจ ผ่านไปเห็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในตัวเมืองยังก่อสร้างไม่เสร็จ  ที่ว่าขนาดใหญ่นั้นคะเนดูคร่าวๆ น่าจะพอๆกับสวนจตุจักรที่กรุงเทพมหานครสร้างไว้ทีเดียว แม้จะเล็กกว่าก็คงจะไม่เล็กว่ามากนัก ขณะที่ยังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยนั้น เห็นมีประชาชนทั้งที่โตแล้วและกำลังจะโตมาวิ่งเล่น นั่งเล่น เดินเล่นกันเป็นที่น่าสนุก

            ในสวนสาธารณะที่ว่ามีสระน้ำสวยงามขนาดใหญ่สุดลูกตา มีสะพานข้ามสระตรงช่วงที่ตกแต่งไว้ให้แคบสวยเช่นกัน รับรองไม่แพ้สะพานในสวนจตุจักร เพียงแต่ไม่มีใครอุตริเอารถยนต์ขึ้นไปวิ่งไล่ชนคนที่เดินข้ามสะพานไปมาเหมือนอย่างที่เขาทำกันที่สวนจตุจักรเท่านั้น

            "เอ๊ะ มีหาดทรายด้วย มีหินริมหาดทรายเพียบเลย" เพือนผมว่า ผมมองดูเห็นเป็นอย่างนั้นจริงๆ สวนสาธารณะบางมุมถูกตกแต่งดัดแปลงเป็นหาดทรายสะอาด มีหินขนาดใหญ่ขนาดเล็กวางไว้เหมือนอย่างกับที่หาดูได้ริมชายหาดริมชายทะเล ทั่วๆไป ความกว้างใหญ่ของสระน้ำส่งผลให้ยามเมื่อลมพัดต้องผิวบังเกิดระลอกคลื่นน้อยๆ สาดเข้าหาฝั่ง ในสระมีจักรยานน้ำสีสันสวยงามประดับ ยามเย็นๆ บรรยากาศและทิวทัศน์ไม่แพ้ทะเลจริงๆ

            มานึกได้เอาภายหลังจากผ่านตรงนั้นมาแล้วว่า เป็นเพราะจังหวัดยะลาไม่มีพื้นที่ทะเลนี่เอง เทศบาลเมืองยะลาถึงต้องสร้างสวนสาธารณะสร้างทะเลเทียมขึ้นมา อาจเป็นว่า ไหนๆจะสร้างสวนสาธารณะขึ้นมาแล้ว น่าจะหยิบเอาบรรยากาศทะเลมาเติมแต่งไว้ให้ชาวเมืองยะลาได้สัมผัสเสียหน่อย จัดหาทรายงามๆ หินงามๆ มาวางเรียงประดับไว้ให้เหมือนกับชายหาดของทะเลอื่นๆเขา นับว่า เป็นความคิดที่ดีทีเดียว

            กลับจากยะลาเข้ากรุงเทพ ทำอะไรๆอยู่ตั้งหลายวัน เกือบจะลืมเรื่องยะลาไปแล้ว ต่อเมื่อขึ้นปสัมมนาที่อุดรธานี มีคนหยิบเอาเรื่องลาว ไม่มีทางออกทะเลขึ้นมาพุดนั่นล่ะถึงได้คิดถึงเรื่องยะลามาอีกที


            หยิบแผนที่ภาคใต้ขึ้นมาดู พบว่า จังหวัดยะลานั้นถูกขนาบไว้ด้วยบางส่วนของจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส ตอนเหนือเป็นส่วนของอำเภอสายบุรี จังหัดปัตตานี ขยับมาด้านขวาเป็นอำเภอบาเจาะ ของจังหวัดนราธิวาส ทั้งสองอำเภอของสองจังหวัดนั้นช่วยกันโอบล้อมอำเภอรามันของจังหวัดยะลา ที่พยายามดิ้นรนออกทะเลอ่าวไทยเอาไว้ หรือระยะทางดูตามแผนที่แล้ว ไม่ไกลนักที่พื้นที่ของจังหวัดยะลาจะมีโอกาสสัมผัสทะเลกับเขาบ้าง แต่มันคงทำได้เพียงจ่อเอาไว้อย่างนั้น ใครอยากเห็นภาพชัด เปิดแผนที่ดูเอานะครับ

            เห็นภาพอย่างนั้นแล้วคิดไปว่า นี่ถ้าจังหวัดปัตตานีกับจังหวัดนราธิวาสและกระทรวงมหาดไทยจะใจกว้างเห็นใจพี่น้องชาวจังหวัดยะลา แล้วตกลงช่วยกันเฉือนพื้นที่บางส่วนของสองอำเภอคือ อำเภอสายบุรี และอำเภอบาเจาะ ยกให้เป็นพื้นที่ของจังหวัดยะลา โดยให้เอาไปรวมกับอำเภอรามันแล้ว จังหวัดยะลาจะได้ชื่อว่า มีทางออกทะเลมีเขตติดต่อกับทะเลทัดเทียมกับจังหวัดอื่นๆในภาคใต้บ้าง

            ถ้าห่วงว่ายะลานั้นมีพื้นที่กว้างขวางมากกว่าปัตตานีและนราธิวาสอยู่แล้ว จะได้เปรียบมีพื้นที่มากขึ้นไปอีก เพราะการทำอย่างนั้น ก็จัดการเฉือนพื้นที่บางส่วนของยะลาในส่วนที่ใกล้ๆกับปัตตานีใกล้ๆกับนราธิวาสที่ตรงอื่นยกให้ไปเป้นสิ่งแลกเปลี่ยนกันเสีย

            ผมไม่ได้ชักชวนให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนอะไรนาครับ ผมชวนให้แลกดินแดนกันเท่านั้นเอง
           




ที่มา ต่วย ตูน เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๖ เล่มที่ ๑๑

2 ความคิดเห็น:

  1. อ่านจนเหนื่อยเลย ชอบคุณมากนะครับ สำหรับประสบการณ์ดีๆ ถ้าผมมีประสบการณ์ดีๆบ้าง ไว้มาแลกเปลี่ยนกันนะครับ

    ตอบลบ