++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ลิลิตพระลอ - วรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยา

            ผู้แต่ง - ยังไม่ยุติลงได้ว่าใครเป็นผู้แต่ง และแต่งในสมัยใด คือ อาจเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือ สมเด็จพระบรมราชชาหน่อพุทธางกูร  ตามสันนิษฐานนี้ก็คงแต่งภายหลังชนะศึกเชียงใหม่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตามความเห็นอีกประการหนึ่งว่า พระยาแสนหลวงมหาราชเชียงใหม่ แต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
            ทำนองแต่ง - เป็นคำประพันธ์ประเภทลิลิตสุภาพ ประกอบด้วยร่ายสุภาพและโคลงสุภาพเป็นส่วนใหญ่ บางร่ายเป็นร่ายโบราณและร่ายดั้น

            ข้อคิดเห็น - วรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ ๖ ได้ลงมติว่าลิลิตพระลอเป็นยอดแห่งวรรณคดีพระเภทลิลิต ถึงแม้จะมีลิลิตอื่นๆอีก ๒ เรื่อง คือ ยวนพ่ายและตะเลงพ่าย ซึ่งพอจัดอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน การที่ลิลิตพระลอได้รับยกย่องเป็นเอก ก๋เพราะมีเนื้อเรื่องเหนือกว่าลิลิตทั้งสองนั้น ลิลิตพระลอมีเค้าเรื่องซึ่งผูกขึ้นใหม่ ทำนองนวนิยายและเป็นเรื่องพื้นเมืองเรื่องแรกในวรรณคดีไทย เหตุการณ์ในเรื่องทุกตอนเป็นที่ตื่นเต้นสะเทือนใจ บทบาทของตัวละครทุกตัวเข้มข้น และน่าได้รับความเห็นใจจากผู้อ่านเท่าเทียมกัน  การที่พระลอทรงจากพระนางลักษณวดี พระมเหสี และพระนางบุญเหลือพระมารดาไปหาพระเพื่อนพระแพง ไม่ใช่ความผิดของพระลอ ไม่ใช่ความบกพร่องของพระนางลักษณวดีและพระนางบุญเหลือ ตลอดจนไม่ใช่ความไม่ดีของพระเพื่อนพระแพง นางรื่นนางโรย และปู่เจ้าสมิงพราย และการที่พระลอ พระเพื่อนพระแพง นายแก้ว นายขวัญ นางรื่น นางโรย ต้องเสียชีวิตลงอย่างอเนจอนาถ ก็ไม่ใช่เพราะความเลวร้ายของพระเจ้าย่า ทุกคนแสดงบทบาทของตนไปตามความเรียกร้องของจิตใจ หนังสือเรื่องนี้ประกอบด้วยคติโลกคติธรรมมากมาย เช่น ในด้านความรัก ความซื่อสัตย์กตัญญู ความกล้าหาญ ความพยาบาท ความให้อภัย และได้แสดงความรักไว้หลายประเภท เช่น ระหว่างแม่กับลูก นายกับบ่าว สามีกับภรรยา และระหว่างชู้รัก การใช้ถ้อยคำและโวหารต่างๆ ในลิลิตพระลอนับว่า เพริศพริ้งยิ่งนัก ไม่ว่าจะพรรณาเรื่องอะไรช่างวิเศษสุดจริงๆ ทำให้ผู้อ่านผู้ฟังตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเหมือนต้องมนต์สะกด ตอนที่เป็นบทโศก  ก็โศกถึงใจ บทรักก็เป็นรักอย่างหวานชื่น ตอนสยดสยอง ก็หวาดเสียวถึงที่สุด นอกจากนี้นักวิจารณ์วรรณคดีบางท่านยังยกย่อง ลิลิตพระลอไว้ว่า มีเรื่องคล้ายคลึงกับบทละครเรื่อง โรเมโอกับจูเลียต ของ เชกสเปียร์อย่างมหัศจรรย์ ลิลิตพระลอเป็นที่ติดอกติดใจคนไทยมาแล้วช้านาน เช่น พระโหราธิบดีสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้ยกโคลงที่แต่งถูกแผนบังคับ ซึ่งเป็นคำของพระเพื่อน  พระแพงตรัสแก่ พระพี่เลี้ยงไปไว้เป็นแบบอย่างในหนังสือ จินดามณี โคลงบทนี้ คือ

            เสียงลือเล่าอ้าง        อันใด  พี่เอย
        เสียงย่อมยอยศใคร        ทั่วหล้า
        สองเชือพี่หลับใหล        ลืมตื่น ฤาพี่
        สองพี่คิดเองอ้า            อย่าได้ถามเผือ

            เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนชมม่านนางวันทอง ได้เท้าความถึงเรื่องพระลอไว้ว่า ม่านนั้นปักเป็นเรื่องราวในลิลิตพระลอ และเจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงแต่งโคลงชมธรรมชาติไว้ในกาพย์ห่อโคลง ประพาสธารทองแดง เลียนแบบลิลิตพระลอ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น