++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เรื่องของซี โดย ปัญญา ฤกษ์อุไร

เรื่องของซี

โดย ปัญญา ฤกษ์อุไร


            เรื่องของ ซี ใน บทความนี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องของการดู  see  แต่ซีที่จะเขียนต่อไปนี้ หมายถึง ซี ที่มาจากภาษาฝรั่ง ว่า  Class ซึ่งแปลว่า ชั้นหรือระดับ
            ความจริงคำเต็มของมัน คือ  P.C ซึ่งย่อมาจากคำว่า  Positions Classification แปลว่า ระบบการจำแนกตำแหน่ง หรือ แบ่งชั้น แบ่งระดับของตำแหน่งหน้าที่นั่นเอง
           
            เมื่อสมัยนำระบบนี้มาใช้ใหม่ๆ พวกข้าราชการฝ่ายปกครอง คือ พวกผมเรียกระบบนี้ว่า ระบบประวีณ-จินดา เขาว่า P. ย่อมาจากประวีณ ส่วน C. ย่อมาจากจินดา ทั้งนี้เพราะในขณะนั้น เลขาธิการ ก.พ.ชื่อ จินดา  และรองเลขาธิการ ก.พ.ชื่อ ประวีณ ส่วนเลขาธิการคนปัจจุบันตอนนั้นท่านยังเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ที่เขาเรียกระบบ พี ซี ว่าระบบประวีณ-จินดา ก็เพราะทั้งสองท่านนี้เป็นตัวการนำระบบนี้มาใช้แทนระบบเดิม ซึ่งแบ่งข้าราชการออกเป็นชั้น จัตวา ตรี โท เอก และพิเศษ ส่วนเมื่อนำระบบ พี ซี มาใช้แล้วจะมีผลดีผลเสียอย่างไรเดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที
            ในสมัยเมื่อผมยังหนุ่มๆอยู่ (ความจริงตอนนี้ก็ยังไม่แก่เท่าไร เพียงแต่หนุ่มน้อยลงเท่านั้น) การเลื่อนชั้น เลื่อนเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งเป็นเรื่องที่ยากแค้นแสนเข็ญ  กว่าจะได้ขึ้นเงินเดือนแต่ละขั้นแทบเลือดตากระเด็น ขึ้นปีหนึ่งเว้นปีหนึ่ง ทำดีทำชอบเป็นกรณีพิเศษจึงจะได้ ๑ ขั้น ถ้าเช้าก็ชามเย็นก็ชามปีนั้นเป็นอันว่าไม่ได้ขึ้นเงินเดือนอย่างแน่นอน ไม่มีขั้นวิ่งขั้นกระโดดโลดเต้นเหมือนทุกวันนี้ (ขั้นกระโดดเป็นอย่างไรจะได้อธิบายต่อไป)
            สมัยนั้น (พ.ศ.๒๔๙๐- พ.ศ.๒๕๑๘) การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ผมจะเล่าเฉพาะสมัยที่ผมเข้ามารับราชการแล้ว ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นต้นมา  ข้าราชการสมัยนั้นเริ่มต้นจากชั้นจัตวา เงินเดือน ๓๐ บาท และขึ้นขั้นละ ๕ บาท ไปเรื่อยๆ จนถึง ๕๐ บาท จึงได้เลื่อนอันดับเป็นจัตวาอันดับ ๒ ติดขีดสองขีดเล็กๆ บนบ่า ครั้นต่อมาเลื่อนปีละ ๕ บาท ๆจนถึง ๙๐ บาท ก็จะมีการสอบชั้นตรีกัน ผู้ที่มีสิทธิ์สอบเลื่อนเป็นชั้นตรีจะต้องมีอายุราชการเป็นชั้นจัตวามาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี ถ้าได้ปริญญาตรีก็ไม่นับอายุราชการ เพราะใช้สิทธิทางปริญญาสอบได้เหมือนกัน พอเป็นชั้นตรีแล้วก็จะได้บรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นตรี อันดับ ๑ ขั้น ๙๐ บาท (รวมเงินเพิ่มค่าครองชีพด้วย เป็นเงิน ๗๕๐ บาท ต่อเดือน)  ส่วนมากพวกผมเขาก็บรรจุไปเป็นปลัดอำเภอตรีตามอำเภอต่างๆทั่วพระราชอาณาจักร ตอนนี้ถ้าใครทำความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ ก็จะได้เลื่อนขั้นเงินเดือน ๑ ขั้น คือ ๑๐ บาท จาก ๙๐ บาทเป็น ๑๐๐ บาท แต่ถ้าทำงานตามปกติไม่มีความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ ก็ไม่ได้เงินเดือนขึ้นเลย แป๊กไปตามระเบียบ ไม่มีขั้นวิ่งเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ พอขึ้นเงินเดือนไปถึง ๑๒๐ บาท ก็จะต้องเปลี่ยนอันดับเป็นชั้นตรีอันดับ ๑ ขั้น ๑๓๐ บาท แต่ยังติดหนึ่งขีดใหญ่เท่าเดิมเพราะยังเป็นชั้นตรีอยู่ จึงยังไม่ได้สองขีด  ตอนเปลี่ยนอันดับนี้จะต้องติดอยู่ ๑ ปี บางคนติดเงินเดือน ๑๒๐ บาทอยู่ตั้ง ๒-๓ ปี จึงจะได้เลื่อนเป็นชั้นตรีอันดับ ๒ ขั้น ๑๓๐ บาท

            พอถึงอันดับ ๒ ขั้น ๑๓๐ บาท ก็มีสิทธิ์สอบเลื่อนเป็นชั้นโท ใครที่เงินเดือนต่ำกว่า ๑๓๐ บาท ก็ไม่มีสิทธิ์สอบ การสอบชั้นโทนั้นก็ไม่ได้สอบทุกปี สองปีมีการสอบกันหนหนึ่ง สอบได้แล้วก็ขึ้นบัญชีไว้ เมื่อมีอัตราว่างเช่น นายอำเภอตายด้วยความเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุ หรือออกรับบำเหน็จบำนาญเนื่องจากเกษียณอายุราชการ ก็จะเรียกผู้ที่สอบได้บรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างตามลำดับที่ที่สอบได้ตามลำดับ ปีหนึ่งๆ จะมีตำแหน่งว่างประมาณ ๒๐-๓๐ ตำแหน่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น การเลื่อนชั้นโทจึงเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างแสนสาหัส กว่าจะได้เลื่อนขึ้นมาแต่ละคนล้วนแต่หัวกระเด็นของกรมทั้งนั้น เมื่อได้เลื่อนเป็นชั้นโทแล้วก็มีสิทธิ์แต่งเครื่องแบบติดสองขีด เท่ากับข้าราชการ ซี ๓ ปัจจุบันนี้ สมัยก่อนนายอำเภอชั้นโท สองขีดเท่านั้น ปลัดจังหวัดก็ช้นโทเหมือนกัน ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นข้าราชการชั้นเอก มีขีดบนบ่าสามขีดเท่ากับข้าราชการระดับซี ๕ ในปัจจุบันนี้ และข้าราชการชั้นพิเศษนั้น มีได้เฉพาะตำแหน่งอธิบดีและปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวงเท่านั้น  เห็นบ่าก็บอกตำแหน่งได้เลยว่า ตำแหน่งอะไร เพราะขีดบนบ่าจะสอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับอยู่เสมอ จะเห็นได้ว่า ข้าราชการจะเลื่อนชั้นเลื่อนระดับได้ก็ด้วยเหตุผลเดียวคือ แทนตำแหน่งที่ว่างเท่านั้น ไม่อาจจะประเมินและปรับระดับให้กับตนเองได้โดยไม่ต้องเลื่อนตำแหน่งหรือแทนตำแหน่งที่ว่างเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในระบบ P.C. ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้งบประมาณของประเทศที่เพิ่มขึ้นแต่ละปี ก็เนื่องมาจากการปรับซีของตัวเองให้สูงขึ้น โดยการประเมินกันในแบบฟอร์มที่ ก.พ.กำหนดให้ เมื่อ ก.พ.ใช้ระบบ P.C.  มาตั้งแต่วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ จนถึงปัจจุบัน ไม่เคยปรากฏว่าการประเมินเพื่อเลื่อนระดับซีแล้วไม่ได้สักรายเดียว เว้นแต่ในกรณีสอบเพื่อเลื่อนซี ถ้ากรมไหนเข้มงวดกวดขันกับผู้ใต้บังคับบัญชา และเอาจริงเอาจังในการสอบ เช่น กรมการปกครอง หรือ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ลูกน้องอาจจะมีสอบตกบ้างเป็นบางคน แต่ก็มีส่วนน้อยเต็มที จำนวนที่สอบตกไม่มากนัก กรมไหนจัดสอบพอเป็นพิธี  และมีเจตนาจะช่วยลูกน้องให้เลื่อนชั้นเลื่อนระดับโดยสะดวก ก็จะไม่มีการสอบตกเลย อย่างการประเมินเพื่อเลื่อนระดับบางกรมที่ผ่านตาผมบ่อยๆ และที่ผมต้องเซ็นผ่านในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะมีแบบฟอร์มเพียงว่า ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเห็นว่า มีคุณสมบัติครบถ้วน ควรจะเลื่อนให้ได้ซีสูงขึ้นได้  ผู้บังคับบัญชาคนต่อมาลงชื่อต่อท้ายเห็นชอบด้วย และผู้บังคับบัญชาคนต่อๆมาก็เซ็นชื่อลงไปเป็นหางว่าว จนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนสุดท้าย ผู้ว่าไม่เซ็นต์ก็ไม่ได้ เพราะผู้บังคับบัญชาตามระดับชั้นเขาเห็นชอบกันมาหมดแล้ว ว่า นาย ก. นาย ข. ควรจะเลื่อนระดับชั้นสูงขึ้น  ผู้ว่าจะไปขวางโลกอยู่คนเดียวกก็ดูกระไรอยู่ ก็จำต้องเซ็นตามกันต่อไป

            ผลจากการที่ข้าราชการสามารถปรับซีในตำแหน่งของตนเองให้สูงขึ้นได้ ก็เป็นช่องทางให่เกิดการก้าวกระโดด เช่น พอเงินเดือนขึ้นสองขั้นเป็นกรณีพิเศษแล้ว ในปีนั้นเองก็มีการสอบเลื่อนระดับซีสูงขึ้น ถ้าข้าราชการผู้นั้นสอบเลื่อนระดับได้อีกก็จะได้รับการแต่งตั้งให้ไปอยู่ในระดับที่สูงขึ้น ถ้าข้าราชการผู้นั้นเงินเดือนยังไม่ถึงขั้นต่ำของระดับ ก็จะได้เลื่อนขึ้นอีก ๒-๓ ขั้น รวมแล้วในปีเดียวข้าราชการผู้นั้นก็ได้เลื่อนเงินเดือนถึง ๕ ขั้น ตามสำนวนของข้าราชการสมัยปัจจุบัน เขาเรียกว่า "ได้พอกเงินเดือน" ฟรีๆอีกสามขั้น

            จากการก้าวกระโดดที่ ก.พ. เปิดช่องว่างไว้ให้ก็ดี จากการประเมินผลตามแบบพอเป็นพิธีก็ดี ทำให้งบประมาณเงินเดือนข้าราชการในปีหนึ่งๆ เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เพราะการเลื่อนระดับนั้นหมายถึงสวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวโยงต่อเนื่องย่อมติดตามมา เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่าบ้านและอื่นๆ ตามมาเป็นอันมาก ยากที่จะควบคุมได้ ข้อนี้ต่างกับในสมัยก่นที่เราใช้ระบบชั้น จัตวา ตรี โท เอก อยู่

            บางคนอาจจะแย้งว่า บ้านเมืองมันเจริญขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทุกอย่างจะต้องหมุนเวียนไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นข้าราชการก็จะต้องขึ้นเงินเดือนเร็วๆ เลื่อนขั้นเร็วๆ และได้ขีดบนบ่าเร็วๆ จะให้อืดอาดล่าช้าเหมือนสมัยก่อนย่อมไม่ได้ เพราะไม่สอดคล้องต้องกันกับความเจริญของบ้านเมือง ข้อนี้ผมไม่เถียง เพราะเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น ข้าวของแพงขึ้นทุกวัน เงินเดือนข้าราชการต่ำลง  เพราะอำนาจการซื้อต่ำลงไปประมาณปีละ ๕-๖%  แต่เงินเดือนข้าราชการคงเท่าเดิม รัฐบาลที่ไม่คิดจะปรับปรุงให้ข้าราชการก็ต้องช่วยตัวเองด้วยการปรับซีของตัวเองให้สูงขึ้นเพื่อจะได้มีเงินเดือน และค่าใช้จ่ายเพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจข้าราชการอยู่เป็นอันมาก แต่ปัญหาที่จะตามมา และจะต้องขบคิดกันอยู่ต่อไปก็เช่นว่า ข้าราชการเลื่อนขั้นเลื่อนระดับตามระบบ P.C.  รวดเร็วและว่องไวปานกามนิตหนุ่มเช่นนี้แล้ว ในอนาคตอันใกล้ งบประมาณแผ่นดินของเราก็จะกลายเป็นเงินเดือนของข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน จนหมดไม่มีเหลือพอทีจะพัฒนาประเทศอีกต่อไป เป็นเรื่องที่น่าจะต้องใคร่ครวญเสียแต่บัดนี้

            ความจริงเรื่องระบบจำแนกตำแหน่งนั้น ส่วนที่ดีก็มี ส่วนที่ไม่ดีก็มาก ส่วนที่เป็นช่องโหว่ให้ช้างลอดได้ก็มีแยะ  ส่วนที่เป็นช่องให้ข้าราชการบางพวกบางกลุ่มฉวยโอกาสเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งได้สะดวกสบายก็มีอยู่ไม่น้อย จะว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมต่อข้าราชการโดยทั่วไปก็คงจะพูดยาก เพราะมาตรฐานในการกำหนดตำแหน่งก็ดี ในการปรับระดับซีให้สูงขึ้นก็ดี มิได้ดำเนินการให้เป็นไปในมาตรการอันเดียวกัน แต่ละกรมแต่ละกระทรวง ต่างคนก็ต่างทำไป แล้วแต่ว่ากรมไหนกระทรวงไหนจะเอาจริงเอาจัง หรือจะช่วยลูกน้องให้ได้ซีสูงขึ้น ระบบ P.C.  จึงกลายเป็นระบบ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" หรือ "น้ำขึ้นต้องรีบตัก" จังหวะที่จะปรับซีได้สูงขึ้นก็ต้องปรับ จังหวะใดที่จะกระโดดค่ำถ่อได้ก็ต้องกระโดด ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ช่องว่างต่างๆ ที่ช้างลอดได้นี้ บางครั้ง กระทรวง ทบวง กรม ก็คิดขึ้นเอง ทำขึ้นเอง แล้วไปหลอก ก.พ. ให้ ก.พ.หลงเชื่อ  ก.พ. ทั้งๆที่รู้ว่าเขาหลอกแต่ก็เต็มใจให้หลอก เหมือนเพลงที่เขาร้องกัน บางครั้ง ก.พ.เองก็ช่วยหาช่องให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยแนะนำว่า ถ้าเขียนมาแบบนี้รับรองว่าจะไม่ได้ซีสูงขึ้นแน่นอน เจ้าหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม นั้น ก็ถามว่า

            "แล้วพี่จะให้ผมเขียนอย่างไง"
            " เขียนอย่างนี้ซิน้อง คือ ..."
            เท่านี้ก็รู้เรื่องกัน ความจริงถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร  เป็นเรื่องลักษณะนิสัยคนไทยเราซึ่งอดจะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกันมิได้ ก.พ.ก็เป็นคนเหมือนอย่างเราๆ ท่านๆนี่แหละ มีหัวใจเหมือนกัน ย่อมมีรักมีเกลียดเป็นธรรมดา กรมไหนมีอัธยาศัยไมตรีดี โอภาปราศรัยดี  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ดี ก็ย่อมจะได้รับผลตอบแทนดี กรมใด กระทรวงใด มาติดต่อกับ ก.พ.ในลักษณะของผู้มีอำนาจบาตรใหญ่  ก.พ.ก็อาจจะไม่ชอบใจ ซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนโดยทั่วไป ไม่แปลกประหลาดอะไรเลย

            ในการสัมมนาว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ที่โรงแรมอิมพีเรียล กรุงเทพมหานคร เมื่อ ๒-๓ เดือนก่อน ผมนั่งใกล้กับ ดร.สมชัย วุฒิปรีชา   เลขาธิการคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งควบคุมและรับผิดชอบการบริหารงานโรงเรียน และครูบาอาจารย์ถึง สี่แสนคน ท่านสงสัยว่า ทำไมท่านถึงได้แค่ซี ๑๐ ส่วนเลขาธิการที่สังกัดนายกรัฐมนตรีหลายท่าน เช่น เลขาธิการ ก.พ. เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เป็นต้น ตำแหน่งเหล่านี้ถ้าจะเทียบกับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติแล้ว  ก็ถือว่า จิ๊บจ๊อย เพราะควบคุมบริหารข้าราชการและลูกจ้างไม่เกินห้าพันคน แต่ตำแหน่งเหล่านี้ ก.พ.กำหนดให้เป็นซี ๑๑ ในขณะที่ตำแหน่ง ซึ่งควบคุมรับผิดชอบบริหารครูทั่วประเทศถึงสี่แสนคนกลับได้แค่ซี ๑๐ เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าปริมาณงานเป็นเครื่องกำหนดระดับ ในกรณีนี้ก็น่าจะไม่ถูกต้องและเป็นธรรมเท่าใดนัก

            ช่วงบ่ายพอถึงตอนที่จะแก้ปัญหาก็หาทางออกไม่ได้ ผมเลยเสนอให้ ก.พ.เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเสียใหม่ คือ ถ้าเลขาธิการธรรมดาก็ให้ได้แค่ซี ๑๐ ส่วนซี ๑๑ นั้นควรจะเรียกชื่อตำแหน่งเสียใหม่ว่า

            "มหาเลขาธิการ...."
            ที่ประชุมก็ตบมือกันเกรียวกราว ชอบอกชอบใจว่าเป็นความคิดเข้าท่าดี น่าจะนำไปปฏิบัติ ไม่ทราบว่าตอนนี้ทาง ก.พ.ได้เสนอเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเหล่านี้หรือยัง อย่าง เลขาธิการ ก.พ. ก็ควรจะเรียกว่า มหาเลขาธิการ ก.พ. ก็จะสมกับระดับ ๑๑ (ผมจะบ้าหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน)
            คุณประกายพฤกษฺ์ ท่านก็นั่งอยู่ใกล้ผม ท่านพูดกับผมว่า
            "ไอ้น้องเอ๋ย อย่าคิดมากไปเลย ในโลกนี้มันไม่มีอะไรที่เป็นธรรมหรอก ล้วนเป็นเรื่องสมมติทั้งสิ้น ตอนที่พี่เป็นอธิบดีกรมชลประทาน พี่ควบคุมคนเป็นจำนวนแสนคน ทั้งข้าราชการและลูกจ้าง บริหารการเงินและงบประมาณ ปีละเก้าพันล้านบาท พี่ได้แค่ซี ๑๐ เท่านั้น ตอนนี้เขาย้ายพี่มาอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี เหลือลูกน้องเพียงคนเดียว คือ คนขับรถ ไม่ต้องบริหารงานการเงินและงบประมาณแม้แต่บาทเดียว แต่ ก.พ.เขาเลื่อนระดับให้พี่เป็นซี ๑๑ นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกลำดับที่เท่าไหร่พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน

            พูดจบท่านก็หัวเราะเอิ๊กอ๊าก ผมได้แต่คิดในใจว่า ระบบ P.C. นี้ ถ้าจะให้ดีจริงคงจะต้องปรับปรุงแก้ไขกันอีกมาก ไม่ควรให้สิ่งที่ไม่เป็นธรรมปรากฎแก่สายตาของข้าราชการโดยทั่วไปอย่างโจ่งแจ้งนัก ส่วนใครจะแก้ ผมเองก็จนปัญญาที่จะตอบได้ทั้งๆที่ชื่อปัญญา

            เรื่องนี้ บางที ก.พ.อาจจะช่วยแก้ไขได้ ถ้าจะเอาจริงเอาจังกันเสียที

ที่มา ต่วย ตูน เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๖ เล่มที่ ๑๑       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น