++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เรื่องของน้ำปานะ

น้ำปานะ คือ เครื่องดื่ม ที่คั้นจากลูกไม้ หรือ น้ำคั้นผลไม้ ท่านจัดเป็น
"ยามกาลิก" คือ ของที่ร้บประเคนไว้แล้ว ฉันได้วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง
ถือเอาใจความง่าย ๆ ก็คือ ของที่ฉันได้หลังเที่ยงไปแล้วนั่นเอง หรือ
ฉันได้ทั้งวันทั้งคืนก่อนรุ่งอรุณ
ในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องน้ำปานะ ก่อความกังวลใจให้แก่ชาวพุทธพอสมควร
เพราะมีเครื่องดื่มเกิดขึ้นมากมายล้วนแต่ไม่มีในสมัยพุทธกาล
แต่เราก็อาศัยเปรียบเทียบเอาจากมหาปเทศฝ่ายพระวินัยได้
แต่ถึงอย่างนั้น ในวงพระเองก็ยังมีการตีความไม่ตรงกัน เช่น นมสด
พระฝ่ายมหานิกายก็ว่าฉันได้ แต่พระฝ่ายธรรมยุติว่าฉันไม่ได้
แต่ก็ฉันเนยแข็งที่ทำจากนมสดได้มันก็ชอบกลอยู่
ผู้ที่เป็นต้นบัญญัติ ให้เกิดมีการดื่มน้ำปานะขึ้นเป็นท่านแรก ก็คือ
เกณยชฎิล ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก พระวินัย เล่มที่ 5 ข้อที่ 86
ในที่นั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงน้ำปานะ หรือน้ำอัฏฐบานไว้ 8 อย่าง ดังนั้น
1. น้ำมะม่วง 2. น้ำลูกหว้า 3. น้ำกล้วยมีเมล็ด 4. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด 5.
น้ำมะทราง 6. น้ำลูกจันทน์หรือน้ำองุ่น 7. น้ำเง่าบัว 8.
น้ำมะปรางหรือน้ำลิ้นจี่

ถ้านับเรียงชนิดก็เป็น 10 ชนิด แต่จริง ๆ แล้วมีมากกว่านี้แยะ
เพราะทรงอนุญาติเพิ่มเติมไว้อีก ดังนี้
ทรงอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก
ทรงอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะทราง
ทรงอนุญาติน้ำอ้อยสด

ถ้าจะพิจารณากันตามพระพุธานุญาตในตอนท้ายนี้แล้ว
ก็น่าจะตีความได้กว้างขวางมาก กล่าวคือ
ถ้าเว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือกและน้ำดอกมะทรางแล้ว อย่างอื่น ๆ
ก็น่าจะฉันได้หมด
ที่มีปัญหามากก็เรื่องนมสดและน้ำเต้าหู้ ที่ทำจากเมล็ดถั่วเหลือง
น้ำถั่วเหลืองนี้ แม้ในฝ่ายพระมหานิกายบางพวกก็ไม่ฉัน
และผู้ที่ตีความค่อนข้างเคร่งก็เป็น พระฝ่ายปฏิบัติ หรือพระกรรมฐาน
ส่วนพระตามวัดทั่วไป ท่านก็ล่อไม่เลือก ขอให้โยมเอามาประเคนเถอะ
แม้แต่นมข้น (มีแป้งผสมอยู่ด้วย) ชงโอวัลตินหรือไมโล ท่านก็ไม่รังเกียจ
ก่อนที่จะคุยกันเกี่ยวกับน้ำปา นะต่อไป ควรจะมาดูหลักฐานกันก่อน
ว่าเรื่องน้ำปานะนี้ มีหลักฐานในที่ใดบ้าง ? ที่ยกมาข้างต้นนี้
เป็นพระพุทธบัญญัติจากพระวินัย แต่ยังมีหลักฐานในพระสูตรอีกแห่งหนึ่ง
คือเล่มที่ 29 ข้อ 7 ดังนี้
1. น้ำผลสะคร้อ 2. น้ำผลเล็บเหยี่ยว 3. น้ำผลพุทรา 4. น้ำมัน (งา) 6.
น้ำข้าวยาคู (รสเปรี้ยว) 7. น้ำนม 8. น้ำปานะที่ทำด้วยรส (ผักหรือผักดอง)

จากมังคลัตถทีปนี (แปล) เล่ม 3 ข้อ 8 ดังนี้
1. น้ำผลเล็บเหยี่ยว 2. น้ำผลพุทราเล็ก 3. น้ำผลพุทราใหญ่ 4. น้ำเปรียง
5. น้ำมัน6. น้ำนม 7.น้ำยาคู 8. น้ำรส

ข้อที่ควรคิด ก็คือ คำว่า น้ำนม หรือ นมสด จะเป็นนมสดจากเต้า
หรือจากกล่องก็ตาม พระเณรหรือผู้ถืออุโบสถ
ฉันหรือดื่มหลังเที่ยงได้หรือไม่ ?
ผู้เขียนเคยถามอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก และอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ
ท่านว่าฉันได้ ถ้าใครว่าฉันไม่ได้ ให้ลองถามท่านผู้รู้ดูทีหรือว่า คำว่า
ปโยปานัง แปลว่าอะไร ?
ศัพท์ที่ว่า ปย หรือ ปโยปานํ ท่านแปลว่า น้ำนม
ถ้าไม่ใช่นมสดแล้วจะเป็นนมอะไร ? ที่ควรพิจารณาก็คือมีหลักฐานในที่ 2
แห่ง คือ ทั้งในพระไตรปิฎก และในมงคลทีปนี ดังที่บอกไว้แล้ว

เดิมที่ผู้เขียนก็ไม่ฉันนมสด เพราะเหตุว่าไม่พบหลักฐาน
แต่เมื่อเห็นว่ามีหลักฐานบ่งไว้ชัด ๆ ก็เลยฉันมาตลอด
แต่ที่น่ารังเกียจก็คือ นมข้นหรือหางน้ำนม ซึ่งมีแป้งผสมอยู่ด้วย
และไมโลหรือโอวัลติน ซึ่งมีไข่ผสมอยู่ด้วยกับน้ำเต้าหู้
ซึ่งบางท่านว่าฉันไม่ได้
ช่วงหนึ่งไปพักที่วัดสนามใน พระวัดนี้ฉันข้าวไม่ต้องประเคน
นมข้นโอวัลตินและน้ำนมถั่วเหลือง (น้ำเต้าหู้) ท่านฉันกันเป็นประจำ
ครั้นจะไม่ฉันกับเขา ก็เกรงว่าเขาจะรังเกียจ
เพราะเข้าเมืองตาหลิ่วไม่หลิ่วตาตาม ก็เลยต้องฝืนใจเอากับเขาด้วย
เมื่อเกิดกรณีหนังสือ "เอาธรรมะคืนมา" เขาไม่ให้อยู่
ก็เลยสบายใจไปแปดอย่าง
ข้อสำคัญ เมื่อเราอยู่กับเขา อย่าไปทำอวดเคร่งกว่าเขา
ถึงแม้ว่ากิริยาเขาจะไม่รังเกียจเรา แต่ใจเขาก็ต้องนึกรังเกียจแน่
การอยู่ร่วมกันมาก ๆ จึงจะอยู่กับเขาได้อย่างปกติสุข

ใน ปัจจุบันนี้ มีเครื่องดื่มออกมาใหม่ ๆ แปลก ๆ แยะ
ถ้าเราไม่รู้จริงในส่วนผสม หรือในพระวินัย ก็ไม่ควรจะดื่ม
ถ้าเกิดมีการหิวกระหาย ก็ยังมีทางบรรเทาได้ เช่น น้ำตาล เป็นต้น
แก้หิวได้ดีนัก
การอ้างเพียงแต่ว่า องค์โน้นท่านยังฉันได้ สำนักนี้ก็ฉันได้
ไม่ควรนำมาใช้ เพราะจะเกิดค่านิยมทำตาม ๆ กันไป แล้วแก้ภายหลังยาก
เพราะความเคยชิน ควรจะคำนึงถึงพุทธบัญญัติเป็นหลัก
พระพุทธองค์ทรงทราบดี ว่าการทรมานร่างกายเกินไปหรือการบำรุงจนเกินไป
จะเป็นผลเสียทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต การเดินสายกลาง
คือไม่ตึงนักและไม่หย่อนนักย่อมจะสำเร็จประโยชน์ได้เร็วกว่า
ถ้าเกิดว่า มีความสงสัยในข้อใดหรืออะไร ? เราควรจะศึกษา
หรือสอบถามท่านผู้รู้ก่อน ยึดหลักฐานจากพระไตรปิฎกไว้ก่อนเป็นดีที่สุด
จะได้ไม่ก่อปัญหา หรือความขัดแย้งตามมาในภายหลัง

ข้อน่าสังเกต ก่อนจบบทความนี้
ผู้เขียนใคร่ขอฝากความเห็นเกี่ยวกับพระวินัย
และการตีความไว้สักเล็กน้อยว่า
เป้าหมายหลักในการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธองค์นั้น
ผู้เขียนจับพระพุทธประสงค์ได้ว่า ทรงมุ่งเป้าไว้ 3 จุดใหญ่ คือ
1. เพื่อมิให้ชาวบ้านรังเกียจ หรือติเตียนพระเป็นใหญ่
2. เพื่อให้พระเป็นที่เลื่อมใสของขาวบ้าน
3. เพื่อมิให้เกิดการขัดแย้งกันเองภายในหมู่สงฆ์

ในข้อหนึ่ง เราจะเห็นตัวอย่างในสมัยพุทธกาลมากมาย
ที่พระทำอะไรแล้วชาวบ้านไม่รังเกียจ
พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงบัญญัติเป็นข้อห้าม
แต่ถ้าสิ่งใดชาวบ้านตำหนิแล้วก็จะทรงบัญญัติห้ามในทันที
ในข้อสอง พระต้องพึ่งชาวบ้าน ต้องฝากปากท้องเขาอยู่
ถ้าเขาไม่เลื่อมใสในสิ่งใด ? พระไปทำเข้าก็เกิดปัญหา เขาไม่ศรัทธา
พระก็อดตายแน่
ในข้อสาม ความสามัคคีในหมู่สงฆ์ เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงปรารถนายิ่งนัก
เพราะถ้าภายในสงฆ์แตกกันเสียแล้ว ศาสนาก็อยู่ไม่ได้

ในอดีตที่ผ่านมา ความแตกสามัคคีในหมู่สงฆ์ ส่วนมากจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ
แล้วกลายมาเป็นการแยกพวกแยกหมู่กัน
เป็นเรื่องที่ไม่ควรให้เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก
ทางที่ดีและถูกต้องนั้น ถ้าเรายังไม่แน่ใจว่า
สิ่งที่เราทำแล้วหรือยังไม่ทำก็ตาม ถ้าไม่แน่ใจ่ว่าจะถูก
ก็ควรค้นดูหลักฐานพระพุทธบัญญัติก่อน ถ้าหาไม่พบหรือไม่แน่ใจ
ก็ควรที่จะสอบถามท่านผู้รู้

การที่เราไม่รู้ และขืนทำไปก่อนนั้น ย่อมจะเกิดผลเสียอย่างน้อย 2 ประการ คือ
1. ทำให้ท่านผู้รู้รังเกียจ และดูหมิ่นเอาได้ ว่าเราไม่มีความรู้
เมื่อไม่รู้แล้ว ก็ไม่ยอมศึกษาหรือสอบถามอีกด้วย
เป็นเหตุให้บัณฑิตไม่อยากคบหาเรา
2. มักจะเกิดการเคยตัว และเคยชินจนติดเป็นนิสัย
แม้จะรู้ว่าผิดในภายหลังก็แก้ยาก เพราะการตามใจกิเลสตัณหานั้น
มีแต่จะพอกพูนยิ่งขึ้น ได้ที่จะเบาบาง หรือหมดไปนั้น อย่าคิดเลย

ดังนั้น ทางที่ดีและถูกต้องในการบวช
ควรจะตั้งเป้าไว้ที่การศึกษาก่อนอื่นใด คือก่อนที่จะลงมือปฏิบัติทางจิต
เพราะถ้าบวชแล้วไปปฏิบัติในทันที
มันจะเบื่อการเรียนหรือบางทีก็นึกรังเกียจพวกที่เรียนปริยัติ
หาว่าเป็นพวกในลานเปล่า
แน่นอน, ถ้าเรียนรู้แล้วไม่ปฏิบัติ มันก็เป็นพวกใบลานเปล่าแน่
และในทำนองเดียวกัน การปฏิบัติโดยไม่เรียน มันก็มีผลเสียอย่างน้อย 2
อย่าง คือ อาจทำให้หลงผิด หรือปฏิบัติผิด เมื่อปฏิบัติผิดมรรคผลก็ไม่เกิด
และอาจทำให้ล่าช้า หรือติดอาจารย์ได้ง่าย คือติดในทางผิดๆ
แต่ถ้าเรายึดพระพุทธพจน์ พระไตรปิฎกไว้ก่อน โอกาสที่จะเสี่ยงหรือผิด
ก็เป็นไปได้ยาก หรือไม่มีเลย เพราะพระไตรปิฎกผ่านการกลั่นกรองมามาก
และเป็นที่รับรองกันทั่วโลก.

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

น้ำปานะ ได้แก่ เครื่องดื่ม หรือ น้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้
ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาติแก่พระภิกษุให้รับ

ประเคนแล้วสามารถเก็บไว้ฉันได้ตลอด ๑ วัน ๑ คืน เรียกว่า ยามกาลิก
ทรงอนุญาติไว้ ๘ อย่าง

๑. อัมพะปานะ น้ำมะม่วง ๒. ชัมพุปานะ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
๓. โจจะปานะ น้ำกล้วยมีเมล็ด

๔. โมจะปานะ น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด ๕. มะธุกะปานะ น้ำมะทรางต้องเจือด้วยน้ำจึงควร

๖. มุททิกะปานะ น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น 7. สาลุกะปานะ น้ำเหง้าบัว ๘.
ผารุสะกะปานะ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

นอกจากน้ำปานะ ๘ อย่างแล้ว
ท่านยังอนุญาตน้ำที่จะอนุโลมตามน้ำปานะไว้อีก เรียกว่า กัปปิยปานะอนุโลม

คือน้ำปานะที่สมควร ซึ่งฉันได้โดยไม่เป็นอาบัติในเวลาวิกาล ได้แก่
น้ำปานะแห่งผลไม้เล็ก เช่น ลูกหวาย

มะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ และเล็บเหยี่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ยังอนุญาติให้ฉันน้ำปานะเหล่านั้นผสมกับน้ำตาล
แล้วเคี่ยวไฟจนเข้มข้น (ยกเว้นที่ทำจากถั่วและนม)

สามารถฉันได้ จัดเป็น อัพโพหาริก เช่น น้ำอัดลมในสมัยนี้
แม้นน้ำผลไม้สำเร็จรูป เช่น น้ำองุ่นที่กรองเนื้อออกดีแล้ว

ก็ดื่มได้

น้ำที่ไม่ทรงอนุญาต ดื่มแล้วองค์อุโบสถต้องแตกทำลาย

อกัปปิยปานะอนุโลม หรือ เครื่องดื่มที่ไม่พึงดื่ม คือ
น้ำปานะที่ไม่สมควร ภิกษุดื่มในเวลาวิกาลไม่ได้ ถ้าดื่ม

ต้องอาบัติปาจิตตย์ ได้แก่ น้ำแห่งธัญชาติ (ข้าว) ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี
ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง

ลูกเดือย และหญ้ากับแก้

น้ำแห่งมหาผล (ผลไม้ใหญ่ ) ๙ ชนิด คือ ผลตาล มะพร้าว ขนุน สาเก
น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท แตงโม และ

ฟักทอง

น้ำแห่งอปรัณณชาติ ได้แก่ ถั่วชนิดต่าง ๆ มีถั่วเหลือ ถั่วเขียว
ถั่วดำ และงา เป็นต้น แม้นจะต้มจะกรอง ทำเป็น

เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ก็ย่อมเป็นอาบัติปาจิตตีย์

นม ท่านจัดเป็นอาหารอันประณีต ภิกษุสามเณรไม่พึงฉันยามวิกาล
แม้นจะผสมกับเครื่องดื่มต่าง ๆ ก็ไม่ควร

หากฉัน ก็ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์

ดังนั้น ผู้หวังความบริสุทธิ์ของอุโบสถมีองค์ ๘
พึงงดเว้นเครื่องดื่มที่ทรงห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายในยามวิกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น