++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พยาบาลน้อยใส่ใจสุขภาพชุมชนหนองแซง กรณีศึกษา เทศบาลตำบลหนองแซง อ.หันคา จ.ชัยนาท

เรียบเรียงโดย ฑีฆายุวัฒก์ สวัสดิ์ลออ


            หนองแซง... เป็นชื่อของหนองน้ำ ในอดีตมีคนขโมยควายจากสุพรรณบุรีเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปขายที่อุทัยธานี เจ้าของควายมักตามมาทันที่บริเวณหนองน้ำนี้ จึงเรียกว่า หนองแซง เมือตั้งเป็นชุมชนนี้ขึ้นเป็นตำบล จึงใช้ชื่อว่า "ตำบลหนองแซง"
            ตามคนขโมยควายทันที่หนองแซง แล้วสุขภาพที่ดีล่ะ จะไล่ทันได้ที่ไหน?

            การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเป็นเป้าหมายสำคัญ ประการหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองแซง จึงได้รับการยกระดับเป็นเทศบาลตำบลในปี 2550 ทางเทศบาลตำบลหนองแซงจึงตอบรับร่วมกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ด้วยความเข้าใจว่า สุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันสร้าง ดังคำกล่าวที่ว่า "สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องร่วมสร้าง"
            และในปีเดียวกันนี้ โครงการ "พยาบาลน้อยใส่ใจ...ห่วงใยสุขภาพชุมชน"  เกิดขึ้นภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ของตำบลหนองแซง แนวคิดของโครงการนี้ คือ กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนในอนาคต จึงสมควรได้รับความรู้ ทักษะ  และทัศนคติที่ดีด้านการพยาบาลและรักษาสุขภาพ จนกระทั่งสามารถทำการพยาบาลขั้นพื้นฐานเพื่อดุแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้  ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรักความผูกพันในครอบครัวและชุมชน อีกทั้ง เนื่องจากอาสาสมัครสาธารณสุขมีเวลาไม่เพียงพอในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน จึงจำเป็นต้องผลิตบุคลากรให้เป็นอีกแรงหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพในระดับชุมชน

            กิจกรรมในโครงการนี้เริ่มจากการประชาสัมพันธ์ จากนั้น องค์การบริหารส่วนตำบล สถานีอนามัยและโรงเรียนในเขตพื้นที่ ประสานความร่วมมือกันเพื่อผลิตพยาบาลน้อย โดยสถานีอนามัยสนับสนุนการจัดทำหลักสูตรและดำเนินการฝึกอบรมพยาบาลน้อยภายในสถานีอนามัย ให้เรียนรู้ทักษะทั้งในด้านการปฐมพยาบาล การรักษาโรคเบื้องต้น การป้องกันและควบคุมโรคในชุมชน และการส่งเสริมสุขภาพด้วยวิธีการต่างๆ จนกระทั่งผ่านการทดสอบ เมื่อลงไปปฏิบัติงานจริงในชุมชน ก็อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย , ครุประจำโรงเรียนและอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน
            นายกิตติ กิตติวัฒนากูล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองแซง เล่าถึงผลการดำเนินโครงการนี้ว่า "... โครงการพยาบาลน้อย ... เป็นโครงการที่กองทุนฯเห็นว่า ดำเนินการแล้วคุ้มค่าที่สุด เพราะนอกจากจะได้พัฒนาเด็ก เยาวชนในชุมชนให้มีความรู้ ทักษะในการดูแลสุขภาพตนเองแล้ว ยังสามารถไปดูแลคนในครอบครัว เพื่อนที่โรงเรียนและผู้สูงอายุในชุมชนได้ด้วย ที่สำคัญเด็กเหล่านั้นมีทัศนคติที่ดีต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นแบบอย่างของการดูแลสุขภาพตนเองในโรงเรียนและชุมชน..เพียงแค่เด็กเหล่านี้ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า รู้จักการออกกำลังกาย ไม่มั่วสุมทางเพศหรือในทางที่เสื่อมเสีย ..ลงทุนในโครงการแค่ประมาณ 20,000 บาท ก็ถือว่าคุ้มมากแล้ว"

            นอกจากนี้ พยาบาลน้อยยังเป็นต้นแบบของเยาวชนในชุมชนที่ใส่ใจต่อสุขภาพและทำประโยชน์แก่ชุมชน
            ความสำเร็จในการจัดทำโครงการนี้ ปัจจัยหนึ่งมาจากการบริหารงานอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งทุกคนในชุมชนสามารถร่วมคิดร่วมทำได้  พร้อมกันนั้น ยังมีการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นๆในจังหวัดชัยนาทด้วย และอีกปัจจัยหนึ่งคือ การทำงานเป็นทีม
            คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ คนหนึ่งเล่าว่า "...คณะกรรมการทำงานภายใต้ความเชื่อมั่นต่อกัน เราทำงานด้วยกันมานาน... แม้กองทุนฯ จะมีงบประมาณค่อนข้างจำกัด แต่เราก็สามารถชี้แจงให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจได้ ก็พยายามประชาสัมพันธ์กองทุนและดึงชาวบ้านให้เข้ามามีส่วนร่วม..."

            นอกจากนั้น การมีระบบบริหารจัดการ มีกลไกตรวจสอบที่ดียังช่วยให้โครงการพยาบาลน้อยบรรลุผลตามเป้าหมาย นายกิตติ กิตติวัฒนากูล นายกเทศมนตรีกล่าวว่า "อบต.ของเราจะเน้นการวางแผนพัฒนาตำบลล่วงหน้า การมีแผนไว้รอทำให้เราทำงานง่าย เวลาที่หน่วยงานใดแจ้งการสนับสนุนมา เราสามารถนำแผนฯ ที่วางไว้มาปรับและส่งเสนอขอรับการสนับสนุนได้ทันที ... เมื่อได้รับการสนับสนุนแล้ว เราไม่อยากให้หน่วยงานที่สนับสนุนมองเราว่า ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า อบต.จึงมีการวางระบบบริหารงบประมาณและการตรวจสอบที่ชัดเจน มีหลักฐาน มีการรายงานผลให้หน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณรับทราบตลอดมา..."

        แม้จะมีผลงานเป็นที่น่าภูมิใจ แต่คณะทำงานกองทุนฯ หนองแซง ยังเสนอเพิ่มเติมว่า
        ในปี 2551 ได้เตรียมงบประมาณสมทบเพื่อสานต่อโครงการไว้แล้ว หากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติยังให้การสนับสนุนกองทุนต่อไป  เทศบาลตำบลหนองแซงมีแนวคิดที่จะระดมทุนจากกลุ่มอาชีพต่างๆในชุมชนที่เทศบาลให้การสนับสนุน เพื่อนำงบประมาณมาสมทบเข้ากองทุนฯนี้เพิ่มเติม

            ทั้งนี้จะไม่ระดมทุนจากประชาชนโดยตรง เนื่องจากรายได้ของแต่ละครัวเรือนของประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างต่ำ แต่จะระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างหลักประกันสุขภาพที่ดีตามวิถีชาวหนองแซงต่อไป

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
พรเจริญ บัวพุ่ม
ดวงใจ เกริกชัยวัน
วงเดือน เล็กสง่า
ปารวีร์ กุลรัตนาวิโรจน์
อุไรวรรณ บุญสาลีพิทักษ์
เพ็ญศรี รอดพรม
วพบ.ชัยนาท       




ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น