++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ราชาเรื่องสั้น

โดย "ศุภลักษณ์"

            อาจินต์ ปัญจพรรคฺ์ นักเขียนเรื่องสั่นฝีมือฉกาจ ผู้โด่งดังจากเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ จนได้ฉายาว่าเทพบุตรแห่งสวนอักษรไทย ได้เขียนเรื่องสั้นไว้เรื่องหนึ่ง ชื่อ "จุฬาฯ ปฏิเสธข้าพเจ้า" ในเรื่องสั้นเรื่องนี้  อาจินต์ ปัญจพรรค์ ถ่ายทอดความรู้สึกเจ็บปวดของคนที่มีความหลังขมขื่น กับชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างลึกซึ้งถึงแก่น ชนิดที่คนมีประสบการณ์อย่างเดียวกันมาก่อนอ่านแล้วน้ำตาซึม ชะรอยความข่มขื่นอันนั้นจะติดตรึงอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม อาจินต์ ปัญจพรรค์ จึงเขียนไว้ว่า "ข้าพเจ้าฆ่าวิศวกรไปคนหนึ่ง และสร้างกรรมกรเหมืองแร่ขึ้นมาแทนที่ "  ผู้เขียนอาจจะถ่ายทอดข้อความที่อาจินต์เขียนไว้ไม่ตรงนัก แต่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้เขียนเอาไว้ในทำนองนี้ ประสบการณ์ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งนักสำหรับนักเขียน นักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายคนแล้วสร้างชื่อขึ้นมาจากประสบการณ์ในอดีต เหมือนอย่างที่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ประสบความสำเร็จมาแล้วจากเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ของเขา

            เฮนรี่ ลอสัน กวี-นักเขียนเรื่องสั้นผู้มีชื่อเสียงของออสเตรเลียก็เช่นเดียวกัน เขาเป็นนักเขียนเรื่องสั้นอีกคนหนึ่งที่มีประสบการณ์แสนขมขื่นกับมหาวิทยาลัย , สถาบันการศึกษาชั้นสูงที่ใครๆ ถือกันว่าเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคนเราอยู่ที่นั่น เฮ็นรี่ ลอสัน เคยสอบเข้ามหาวิทยาลัยถึงสองครั้ง แต่เขาต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนในที่สุด เฮ็นรี่ ลอสัน ก็ต้องยอมแพ้ ปล่อยชีวิตไปตามทางของมัน เขาผิดหวังและเสียใจมากที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ และคิดอยู่เสมอว่าตัวเองมีความรู้น้อย ไม่เหมาะที่จะเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เฮ็นรี่ ลอสัน บ่ายเบนเข็มชีวิตไปทางอื่น ใครจะรู้บ้างว่า มหาวิทยาลัยที่ เฮ็นรี่ ลอสัน กระโดดลงไปศึกษาอย่างไม่มีทางเลือกนั้น ได้ให้หลายสิ่งหลายอย่างกับเขามากมายเกินคาด เฮ็นรี่ ลอสัน เก็บเกี่ยวสิ่งที่เขาได้จากประสบการณ์ชีวิตถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ เป็นถ้อยคำไพเราะลึกซึ้งด้วยภาษากวี เป็นเรื่องราวมีเสน่ห์ประทับใจ ในรูปลักษณ์ของเรื่องสั้น ผลงานเหล่านี้ทำให้ เฮ็นรี่ ลอสัน ได้กลับกลายเป็นกวีผู้ที่ได้รับยกย่องนับถือ และเป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วไปในออสเตรเลีย ถ้าหากว่าในครั้งกระนั้น เฮ็นรี่ ลอสัน สอบเข้ามหาวิทยาลัยซีดนีย์ได้ ออสเตรเลียก็คงจะไม่มีนักเขียนเรื่องสั้นผู้ยิ่งใหญ่ ชื่อ เฮ็นรี่ ลอสัน อยู่ในบรรณพิภพเป็นแน่

            พ่อของ เฮ็นรี่ ลอสัน เป็นชาวนอร์เวย์ ชื่อ นีล ลาร์เสน ก่อนที่จะมีตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลีย นีล ลาร์เสน เป็นกลาสีเรือ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเรือสินค้าที่ร่อนเร่พเนจรไปในมหาสมุทร กลาสีเรือหนุ่มน้อยคนนี้ชอบอ่านโคลงกลอนเป็นชีวิตจิตใจ นานวันเข้า นีล ลาร์เสน ก็มีความรู้สึกว่า เขาคุยกับเพื่อนกลาลีเรือด้วยกันไม่สนุก เขาจึงเลี่ยงไปหามุมสงบ นั่งมองฟ้ามองน้ำอยู่คนเดียว เป็นเวลาครั้งละนานๆ นีล ลาร์เสน ดื่มด่ำกับความงาทของทะเลยามเช้าพอๆกับที่เขารู้สึกอาลัยอาวรณ์ลำแสงสุดท้ายของอาทิตย์ยามอัศดงทุกวัน ในขณะที่เพื่อนกลาสีด้วยกัน เบื่อหน่ายทะเลเวิ้งว้างกับแผ่นฟ้าอันไพศาลเต็มที่แล้ว ต่างก็คอยวันที่เรือจะเข้าไปเทียบท่าเมืองหนึ่งเมืองใดบนแผ่นดินใหญ่ด้วยความกระหายที่จะขึ้นฝั่ง

            วันหนึ่ง เรือแล่นไปถึงเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ทวีปออสเตรเลีย เรือเข้าจอดที่ซีดนีย์ เมืองหลวงของรัฐ นิว เซ้าท์ เวลล์ เสียงเล่าลือเรื่องเหมืองทองดังไปเข้าหูกลาสีเรือหนุ่มชาวนอร์เวย์ นีล ลาร์เสน สนใจมาก ชีวิตนักขุดทองเป็นชีวิตที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้การเป็นกลาสีเรือ เขาตัดสินใจเลิกชีวิตกลาสีโดดขึ่นฝั่งไปเป็นนักเผชิญโชคกับเขาด้วย

            ผู้คนหลั่งไหลไปออสเตรเลียในยุคตื่นทอง นักแสวงโชคพากันมุ่งหน้าไปยังเหมืองทอง ที่ซัดนีย์ นีล ลาร์เสน พบรักกับสาวออสซี่คนหนึ่ง เธอเป็นคนมีการศึกษาและมีความคิดรุนแรง ที่จะปฏิรูปสังคมไปในแนวทางที่เธอศรัทธา ทั้งสองแต่งงานกันแล้ว นีล ลาร์เสน  ก็พาเมียไปขุดทองที่เหมืองขุดทองเกร็นเฟล

            ผัวหนุ่มเมียสาวเคียงบ่าเคียงไหล่กันเผชิญโชคชะตาอย่างทรหด นีล เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นปีเตอร์ เวลาผ่านไป ชีวิตคับแค้นมากขึ้นทุกที เพราะทองที่ขุดได้ไม่มากอย่างที่คิดเอาไว้ และแล้วลูกคนแรกก็ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้หลังคาเต็นท์ผ้าใบ กระโจมข้างเหมืองขุดทองที่ทั้งสองเรียกว่าบ้านนั่นเอง ปีเตอร์ ตั้งชื่อลูกชายว่า เฮ็นรี่ แล้วก็จดทะเบียนนามสกุลใหม่ว่า ลอสัน

            ผู้คนเฮโลมาปักหลักแสวงโชคจากการขุดทองมากขึ้นๆ ทองก็ขุดได้เพียงน้อยนิด แทบจะไม่พอซื้ออาหารเลี้ยงครอบครัวด้วยซ้ำไป ชีวิตของผัวหนุ่มเมียสาวกับลูกเล็กดำเนินไปอย่างแร้นแค้นยิ่งขึ้นทุกที ปีเตอร์ ลอลัน จึงตัดสินใจพาเมียกับลูก อพยพไปทำไร่ที่ยูรันดีรี แต่โชคไม่เข้าข้างเขาเลย ความวิปริตของอากาศกับความกันดารของพื้นที่ ทำให้พืชไร่ของปีเตอร์ไม่ได้ผลดังหวัง ชีวิตจีงต้องพบกับความลำบากยากแค้นไม่สิ้นสุด

            เมื่อ เฮ็นรี่น้อย อายุได้เก้าขวบ  เขาก็ได้ไปโรงเรียนซึ่งเพิ่งมาเปิดสอนเป็นโรงเรียนแรกในแถบนั้น เฮ็นรี่ ไปโรงเรียนอยู่นานกว่าครูจะรู้ว่าเด็กน้อยขี้อาย แต่นัยน์ตาฉลาดคนนี้หูตึง พ่อหนูน้อยจับคำที่ครูสอนทุกวันได้ไม่หมด แต่เขาก็เรียนอ่านได้ดี เฮ็นรี่ชอบอ่านหนังสือมาก เขาขอยืมหนังสือต่างๆจากโรงเรียนไปอ่าน หนังสือดีๆที่เป็นวรรณกรรมของอังกฤษพ่อหนูเฮ็นรี่ อ่านได้อ่านดีอย่างมีความสุข

            พอ เฮ็นรี่ ลอสัน อายุได้สิบสี่ปีก็เลิกเรียนไปช่วยพ่อทำงานรับเหมาก่อสร้าง ปีเตอร์ เลิกอาชีพทำไร่หันไปรับจ้างรับเหมาก่อสร้างแทน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จดังหวัง ครอบครัวที่น่าสงสารนี้ไม่เคยมีความสุขเลย ชีวิตเผชิญแต่ความลำเค็ญมาตลอดเวลา หลุยส์ แม่ของเฮ็นรี่ก้าวราวมากขึ้น พ่อแม่ทะเลาะกันเป็นประจำ จนในที่สุดทั้งสองก็ตัดสินใจเลิกกัน เฮ็นรี่ตามแม่ไปซีดนีย์ ได้งานทำเป็นช่างทาสีรับจ้างทาสีบ้านกับรถม้า

            เมื่อเข้ามาอยู่ที่ซีดนีย์ เฮ็นรี่มีโอกาสได้เรียนต่อเพราะในรักการศึกษาของเขา ถึงแม้ว่ากลางวันจะต้องทำงานหนักทั้งวัน แต่เฮ็นรี่ก็ไปโรงเรยนตอนกลางคืน เฮ็นรี่ใฝ่ฝันอยากจะได้ปริญญาเหลือเกิน เขามุมานะพยายามที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยซีดนีย์ให้ได้ ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรก เฮ็นรี่ สอบไม่ได้ เขาหวนกลับไปเรียนตอนกลางคืนอีก ทุ่มเทความพยายามอย่างมากที่จะเพิ่มพูนความรู้ของตนเพือที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ หนึ่งปีของการพยายามอย่างหนักผ่านไป เฮ็นรี่ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง แต่เขาก็สอบไม่ได้อีก เป็นความผิดหวังที่ขมขื่นที่สุดในชีวิตของเฮ็นรี่

            หนุ่มน้อยถ่ายทอดความรุ้สึกของเขาออกมาเป็นร้อยกรองที่ไพเราะ เขาเขียนโคลงบทแล้วบทเล่า เขียนถึงความรู้สึกดื่มด่ำลึกซึ้งในทุกสิ่งที่เขาสัมผัส พระเจ้าไม่ได้โหดร้ายกับเฮ็นรี่นักหรอก  เพราะในที่สุด สิ่งที่เขารจนาออกมาจากใจก็ได้ปรากฏสู่สายตาของสาธารณชน หนังสือพิมพ์รายวันซีดนีย์ตีพิมพ์บทร้อยกรองของเฮ็นรี่ เมื่อเขาอายุได้ยี่สิบพอดี นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีทีเดียว สำหรับเด็กหนุ่มผู้เกิดมาใต้หลังคาเต็นท์เก่าๆ ข้างเหมืองทองคนนี้

            อีกเก้าเดือนต่อมา เรื่องสั้นเรื่องแรกของ เฮ็นรี่ ลอสัน ได้รับการตีพิมพ์ หลังจากนั้นก็มีบทความ โคลงกลอน และ เรื่องสั้นที่เป็นผลงานของเขาทะยอยออกมาสู่บรรณพิภพ อย่างสม่ำเสมอ

            ปี ค.ศ. 1892 เฮ็นรี่ ลอสัน อายุยี่สิบห้าปี เขาเกิดความพิสมัยชีวิตของคนพเนจรที่เรียกกันว่า "สแว็กแมน" ในออสเตรเลีย จงตัดสินใจทิ้งเมืองออกไปลิ้มรสชีวิตเช่นนั้นในป่า ผู้เขียนเคยเล่าถึงตำนานของเพลง "ว้อท์ลซิ่ง มาทิลด้า" เอาไว้ในหนังสือ ต่วยตูน ฉบับประจำเดือนตุลาคม พ.ศ.2527 ในเรื่องนั้นเล่าถึงคนพเนจร ซึ่งเป็นภาพสัญลักษณ์ของครออสเตรเลีย ที่เขาเรียกกันว่า สแว็กแมน  ผู้เขียนขออนุญาตฉายหนังซ้ำอีกนิดหนึ่งสำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้อ่านเรื่อง ว้อท์ลซิ่ง มาทินด้า จะได้เข้าใจว่าการใช้ชีวิตแบบคนพเนจรในออสเตรเลียนั้น เป็นอย่างไร

            คนออสเตรเลียถือเอาเพลง วอท์ลซิ่ง มาทิลด้า เป้นเพลงประจำชาติ คนทั่วโลกรู้จักเพลง วอท์ลซิ่ง มาทิลด้า มากกว่าเพลงชาติออสเตรเลียเสียอีก ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เวลาที่นักกีฬาออสเตรเลียได้เหรียญทอง เขาก็ใช้เพลง วอท์ลซิ่ง มาทิลด้า บรรเลงให้เกียรตินักกีฬาในพิธีมอบเหรียญทอง ความสำคัญและความแพร่หลายของเพลงนี้มาจากคนพเนจรที่ใช่ชีวิตอยู่กับป่าเขาในชนบทที่ห่างไกลความเจริญของออสเตรเลีย คนพเนจรเหล่านี่ไม่ใช่คนจรจัดอย่างที่พบเห็นกันริมถนนในแหล่งสลัมของอังกฤษ  ไม่ใช่พวกโฮโบ้ที่เที่ยวรับจ้างทำงานในไร่นาและรับงานจรเป็นครั้งคราวในอเมริกา คนพเนจรในออสเตรเลียเป็นคนที่หลงไหลชีวิตอิสระภายใต้ฟ้ากว้างและดวงดาว ร่อนเร่พเนจรเรื่อยไป ไม่ยอมปักหลักตั้งถิ่นฐานเป้นที่แน่นอน พอใจอยู่ที่ไหนก็อยู่ที่นั่น พอเบื่อก็ผละไปง่ายๆ ไม่อาลัยอาวรณ์ คนพเนจรบางคนได้รับการศึกษาดีเยี่ยม แต่ชอบออกไปอยู่ป่าเพราะเบื่อสังคมในเมืองเต็มทีแล้ว ผัวเมียบางคู่ที่มีความคิดตรงกันชวนกันหันหลังให้แสงสีของเมืองกรุง ออกไปใช้ชีวิตนอนกลางดินกินกลางทราย สัมผัสชีวิตภายใต้ฟ้ากว้าง และกลุ่มดาวอย่างไม่คิดจะหวนกลับมาสู่ความศิวิไลซ์อีกเลย เหมือนอย่างชีวิตของโจกับ มาทิลด้า ซึ่งจบลงด้วยความตายของมาทิลด้า เมียคู่ทุกข์คู่ยากของโจ ทิ้งให้โจ ร่อนเร่อยู่อย่างเดียวดายในโลกกว้าง แต่โจไม่เคยคิดเลยว่า มาทิลด้า ได้จากเขาไปแล้ว โจชอบพูดคนเดียวและถือว่าผ้าห่มคู่ใจที่เขาม้วนๆ ผูกติดหลังไปไหนๆด้วยตลอดเวลานั้น คือ มาทิลด้าของเขา ยามค่ำคืนโจจะคลี่ผ้าห่มที่คนพเนจรเรียกกันว่า "บลูอี้" ออกมารองนอนบนพื้นดินใต้ร่มไม้ แล้วโจก็จะหลับตาลงอย่างเป็นสุข เสมือนหนึ่งว่าเขายังมีมาทิลด้านอนแอบไออุ่นอยู่ข้างๆ วอท์ลซิ่ง มาทิลด้า เป็นเพลงป็อปปูล่าที่คนออสซี่ร้องกันได้ทุกคน เพราะฉะนั้นตำนานของเพลงซึ่งเกี่ยวข้องกับคนพเนจร จึงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในออสเตรเลีย แม้แต่เด็กเล็กๆก็ร้องเพลงนี้ได้ เนื้อเพลงสนุก จำง่าย ขึ้นต้นว่า

            "ครั้งหนึ่ง ชายคนพเนจรคนหนึ่งไปพักแรมอยู่ข้างหนองน้ำ ขณะที่คอยน้ำต้มกาแฟเดือด เขาก็ร้องเพลง....
            มาซิ-มา-มาเริงระบำมาทิลด้ากับฉัน...."

            โดยเฉพาะตรงสร้อยเพลงนั้น ใครๆก็ร้องได้ เวลาคนออสซี่รวมกลุ่มกันร้องเพลงนี้เมื่อไร พอถึงสร้อยเพลงก็จะช่วยกันตะเบ็งเสียงร้องประสานเสียงกันจนคนอยู่ใกล้ๆแก้วหูแทบจะแตกเชียว บ้างก็เคาะกระป๋องกระแป๋งกะโหลกกะลา เอาด้ามไม้กวาดกระทุ้งพื้นเข้าจังหวะเพลงกันเป็นที่สนุกสนาน

            เฮ็นรี่ ลอสัน ตัดสินใจจากนครซีดนีย์ไปใช้ชีวิตเยี่ยงคนพเนจรในป่าละเมาะอันแห้งแล้งกันดารของประเทศ เขามีอุปกรณ์การใช้ชีวิตคนพเนจรเหมือนคนอื่นๆ คือ มีผ้าใบปูนอนผืนหนึ่งที่เรียกกันว่า บลูอี้ ตอนกลางคืนใช้ปูนอน พอรุ่งขึ้นเช้าก็ใช้ห่อสัมภาระแล้วม้วนเก็บสะพายไว้ข้างหลัง มี "บิลลี่" หม้อหูหิ้วเปื้อนเขม่าควันไฟใบหนึ่งเอาไว้ต้มน้ำชงกาแฟกิน ใส่หมวกบุบบิบบู้บี้ มีไม้ก๊อกชิ้นเล็กๆ ห้อยลวดอ่อนแขวนไว้ตรงหน้าหมวกปล่อยให้ตุ๊กติ๊กๆ เวลาเดินไปไหนๆ ไล่แมลงวันที่ชอบมาตอมหน้าตา เฮ็นรี่ ลอสัน ออกไปร่อนเร่อยู่แถวๆกัลก็องมัดจี ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ห่างจากฝั่งทะเลมากนัก เขาใช้ชีวิตค่ำไหนนอนนั่นเช่นคนพเนจรทั่วไปอยู่คนเดียวเป็นเวลานานถึง 6 เดือน สิ่งที่เขาได้พบได้สัมผัสในละเมาะไม้ ทั้งจากการใช้ชีวิตสันโดษเดียวดาย และบางครั้งก็รับจ้างทำงานพื้นๆ เช่น ซ่อมรั้วคอกปศุสัตว์ หรือ เก็บเกี่ยวพืชผลในไร่นาแลกกับแป้งดิบและน้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารจำเป็นในการยังชีพ ทำให้เฮ็นรี่ ลอสัน ได้รับประสบการณ์ชีวิตที่มีค่ายิ่ง เขาเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับคนและสิ่งต่างๆที่เขาพบหลายเรื่อง เรื่องสั้นของเฮ็นรี่ ลอสัน มากกว่า 50 เรื่องใช้ฉากที่เขาเคยร่อนเร่พเนจรอยู่ในแถบกัลก็อง-มัดจี นั่นเอง

            งานเขียนของเฮ็นรี่ ลอสัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงความน่าเวทนาของผู้คนที่เขาเคยพบ ความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของคนป่าคนดง ยิ่งเป็นการเขียนถึงคนที่อับโชคในชีวิตด้วยแล้ว  เฮ็นรี่โปรดปรานนัก และไม่เคยเว้นที่จะเขียนถึงอย่างใส่ใจ เข้าใจและเห็นใจ เรื่องสั้นแทบทุกเรื่องสั้นของ เฮ็นรี่ ลอสัน เฉียบคม ประทับใจ แต่ไม่ลืมที่จะแทรกอารมณ์ขันไว้อย่างลึกซึ้งทุกเรื่อง

            เฮ็นรี่ ลอสัน ก้าวเข้าสู่บรรณพิภพด้วยบทร้อยกรองกันไพเราะ ละเมียดละไมด้วยภาษาของกวี สำหรับคนบางกลุ่ม เฮ็นรี่ ลอสัน ได้รับการยกย่องให้เป็นกวีผู้ยิ่งใหญ่ของออสเตรเลีย แต่คนบางกลุ่มอาจจะไม่คิดเช่นนั้น

            หากก็ไม่เคยมีใครปฏิเสธเลยว่า เด็กหนุ่มคนที่พลาดหวัจากการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยถึงสองครั้งสองหนคนนี้ คือ นักเขียนเรื่องสั้นผู้ยิ่งยงของออสเตรเลีย
           

ที่มา ต่วย ตูน เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๖ เล่มที่ ๑๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น