++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คือสายรักผูกใจไม่รู้สิ้น

"รหัส ๑๖"

            บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งหนึ่งบอกว่า นักเรียนไทยนั้น อ่านน้อยเลยรู้น้อย และพาลทำให้กลายเป็นคนคิดน้อยไปโดยปริยาย เพราะพอไม่อ่านหนังสือ ซึ่งหมายรวมไปทั้งหนังสืออ่านเล่น อ่านจริง อ่านเอาเรื่อง อ่านหาเรื่อง และอ่านเพื่อสอบแล้ว หนังสืออื่นๆก็ไม่อ่านทั้งนั้นเพราะไม่ชอบอ่าน ชอบดูโทรทัศน์ ดูหนังหรือดูเกมโชว์ดีกว่า เพราะสนุกกว่า และไม่ต้องคิดอะไรมากมาย ทีนี้ พอไม่อ่านหนังสือ ผลที่ตามมาก็คือ รู้น้อย ซึ่งก็แสนจะเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน พอรู้น้อยเลยคิดอะไรไม่ค่อยออก เพราะไม่มีข้อมูลอะไรจะให้คิด วันๆเลยนั่งเม้าท์กันแต่เรื่องดารานักร้อง ว่าคนนั้นเป็นแฟนตานั่นและกำลังจะเลิกกัน ดี สมน้ำหน้า อะไรทำนองนี้แหละ

            แต่ถ้าคุณเกิดมาเป็นนักเรียนอักษรศาสตร์ละก้อ ไม่มีวันเสียละที่จะไม่ชอบอ่านหนังสือ เพราะถ้าไม่ชอบอ่านหนังสือคงไม่มาเรียนอักษรศาสตร์อย่างแน่นอน  พวกเราเลยเป็นคนอ่านมาก อ่านกันจริงๆจังๆ ในที่สุดกลายเป็นคนรู้ไปหมดเพราะอ่านมาแล้ว ไอ้เรื่องความชอบอ่านนี่มันแปลกเหมือนกัน ถุงกล้วยแขกหรืออะไรที่เผอิญผ่านเข้ามาก็อ่านทั้งนั้น ยิ่งนักเรียนอักษรศาสตร์นั้น ความที่ภาษาดียิ่งได้เปรียบใหญ่ ทำให้อ่านได้แบบโลกาภิวัฒน์ กล่าวคือ อ่านได้หลายภาษา เลยทำให้กลายเป็นคนรู้กว้างเข้าไปอีก เพราะมีของดีๆและเรื่องดีๆอีกมากที่ยังไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยนั่นเอง

            สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรฯ ก็ทรงเป็นนักเรียนอักษรศาสตร์แบบดั้งเดิมพระองค์หนึ่งเช่นกัน เพราะทรงอ่านหนังสือมามาก และเวลาเสด็จไปไหนก็จะทรงนำหนังสือติดพระองค์ไปตลอด ใครที่รักการอ่านย่อมจะเข้าใจได้ทันทีว่า อ้อ...พวกเดียวกัน อาการพวกเดียวกันที่ว่านี่คือ เวลาไปไหนๆที่ไม่ได้เป็นการออกงานออกการใหญ่โต หรือกาล่าดินเนอร์ เราจะต้องพกหนังสือติดตัวไปด้วยเสมอ เผื่อเวลานั่งรถลงเรือไม่มีอะไรทำ  หรือไม่มีใครคุยด้วยจะได้ไม่เสียเวลา หรือบางทีเกิดผิดคิว ต้องไปนั่งรออะไรนานๆก็จะได้ไม่รู้สึกว่า กำลังทำให้ชีวิตหล่นหายไปเฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง คนที่รักการอ่านจะเป็นโรคเสียดายเวลาที่ผ่านไป เพราะถ้าเอาหนังสือมาอ่านเราก็ได้กำไรชีวิตไปแล้ว โดยไม่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยซ้ำไป พวกนักเรียนอักษรฯทั้งหลายนั้น ถ้าไม่รักการอ่านก็ไม่รู้จะเรียนเข้าไปได้ยังไงเหมือนกัน

            เรื่องเรียนน่ะสนุกอยู่แล้วเพราะครูสอนสนุกทุกท่านเลย เรื่องที่เรียนก็สนุกทั้งนั้น แต่มาหนักตรงหนังสือนี่แหละ หนักจริงๆ กว่าจะเรียนจบมีสมบัติกันคนละหลายลังผงซักฟอก เป็นหนังสือทั้งนั้น ก็คิดดูแล้วกันว่า แต่ละวิชานั้นต้องอ่านกันกี่เล่ม อย่างวิชาเกี่ยวกับภาษาทั้งหลาย เช่น ภาษาอังกฤษนั้นแน่อยู่แล้ว ว่าต้องเรียนทั้งไวยกรณ์อังกฤษ การอ่าน การเขียน แต่มันไม่ใช่แค่นั้นน่ะซี เรายังต้องไปเรียนรู้วรรณคดีอังกฤษด้วย เพราะจะเรียนอังกฤษก็ต้องรู้จักวรรณคดีของเขา อย่างน้อยที่สุดก็ต้องรู้จักเรื่องเอกๆดังๆไว้บ้าง ทีนี้ นอกจากวรรณคดีที่ว่าแล้ว เราก็ควรจะรู้และเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของเขาบ้าง ขั้นต่อมาก็ต้องรู้ประวัติศาสตร์ของเขาด้วย แล้วจะไปรู้ได้ยังไงล่ะ ง่ายมาก ถ้าไม่มีเป็นวิชาที่สอนอยู่ในคณะก็ต้องหาอ่านเอาเองซีคุณ โอ้โฮ ..ทีนี้ล่ะสนุกสุดเดชเลย เพราะจะมีหนังสืออ่านอีกหลายลังผงซักฟอก ผลก็คือ เราจะได้รู้จักอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับภาษาอังกฤษอีกมากมาย จนฝรั่งเองบางคนอาจยังไม่รู้ก้ได้

            ทางฝ่ายฝรั่งเศสก็ใช่ย่อย มาทำนองเดียวกับภาาษอังกฤษนั่นแหละ ต้องเรียนทั้งอ่าน ทั้งเขียน วรรณคดีของเขา รวมทั้งประวัติศาสตร์ แล้วยังหนังสืออ่านนอกเวลาอีกเป็นตั้ง พวกหนังสืออ่านนอกเวลานี่แหละเป็นอะไรที่สาหัสมาก ตอนนั้นจำได้ว่าต้องอ่านเรื่อง Rossignols Cage ของ Madeleine Treherne  ซึ่งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาภาษาฝรั่งเศส ความรู้สึกตอนนั้นมันแสนจะยากเย็น มิไยอาจารย์บอกว่าสนุกจะตาย แต่พวกเราไม่ค่อยมีใครเห็นเช่นนั้นหรอก ตอนหลังทูลกระหม่อมทรงแปลเป็นไทย ใช้ชื่อเรื่องว่า "ขบวนการนกกางเขน" ทรงใช้นามปากกาว่า "แว่นแก้ว" อ่านแล้วสนุกอย่างที่ว่า แหม... เสียดายถ้าทรงแปลแจกพระสหายเสียตั้งแต่ตอนนั้น คงได้ "เอ" กันถ้วนหน้า เรื่องที่ว่านี้เป็นเรื่องความซนและมิตรภาพของเด็กๆที่ไม่ได้คิดถึงชั้นวรรณะอะไร เพราะในโลกของเด็กนั้น ทุกคนเป็นเพื่อนกันได้ เหมาะสำหรับจะซื้อให้เด็กๆได้อ่านกัน ทูลกระหม่อมทรงพระนิพนธ์คำนำไว้ชัดเจนว่า

            "เมื่อเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ปีที่ ๑ แว่นแก้วได้เรียนหนังสือภาษาฝรั่งเศสเล่มหนึ่ง พวกเราทุกคนในชั้นชอบเรื่องนี้มาก เพราะอ่านแล้วคิดถึงตัวเอง บางทีก็เกิดจินตนาการว่าตัวเองเป็นบุคคลในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นจอง หลุยส์ ริโก้ ฝาแฝด (ในชั้นของเรามีฝาแฝดด้วย) ริวี่ หรือ นิโคลาส เจ้าชายน้อย เรารู้สึกประทับใจและรู้ซึ้งถึงความผูกพัน ความรักของเพื่อนต่อเพื่อน มิตรภาพนั้นเป็นความรู้สึกที่งดงาม เป็นสากล มิได้ขึ้นกับเชื้อชาติภาษา หรือแม้แต่วิถีชีวิตของแต่ละคน แว่นแก้วจึงพยายามถ่ายทอดชีวิต การผจญภัยของเด็กฝรั่งเสศกลุ่มนี้ ให้ทุกคนได้สนุกสนานทั่วกัน ในเรื่อง "ขบวนการนกกางเขน"

           
ต่อมาภายหลัง ทูลกระหม่อมทรงศึกษาภาษาจีนเข้าไปอีกหนึ่งภาษา และทรงสามารถถึงขั้นแปลหนังสือได้ทีเดียว อย่างหนังสือชื่อ "เมฆเหินน้ำไหล" ซึ่งทรงแปลมาจากวรรณกรรมจีนร่วมสมัยของ ฟัง ฟัง และอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่อง "ผีเสื้อ" ซึ่งทรงแปลมาเช่นกัน  ใครที่ได้อ่านแล้วคงเห็นด้วยว่าพระองค์ท่านนั้นจะว่าไปแล้วก็ทรง "หัวก้าวหน้า" เหมือนกัน ทรงสนพระทัยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของความคิดและสังคม และทรงเข้าพระทัยถึงเรื่องชนชั้นทางสังคม รวมถึงความยากลำบากที่มากับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมไม่แพ้พวกที่เคยเรียกตัวเองว่า "เอียงซ้าย" เหมือนกัน

            ขบวนเรื่องอ่านหนังสือและรู้มากแล้วละก็ สมัยรุ่นพวกเรานั้นมีที่น่ากลัวอยู่หลายคนที่อ่านมาก และเข้าใจสรรหามาอ่าน รวมทั้งมีความสามารถจะอ่านได้ ทูลกระหม่อมก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น พวกภาษาบาลีท่านก็ทรงเข้าพระทัยได้มากกว่านิสิตอื่นๆ เพราะทรงสนพระทัยนั่นเอง จะว่าไป ภาษาพวกนี้ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรหรอก อยู่ที่ว่าต้องใจรักเท่านั้นแหละ นี่แหละที่สำคัญล่ะ รวมทั้งมีจุดมุ่งหมายว่าจะเรียนไปเพื่ออะไรด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะไม่เห็นความสำคัญของภาษาพวกนี้ เพื่อนๆของเราในรุ่นนั้นหลายคนคงได้รับแรงบันดาลใจจากทูลกระหม่อมมากอยู่ เพราะมีคนสนใจทางด้านภาษาเก่าๆอยู่มาก รวมทั้งภาษาไทยด้วย และเพื่อนๆที่ว่านี้ก็ทำได้ดีมากๆอย่างน่าทึ่ง มีบางคนที่เก่งภาษาจีนด้วย แหม...เขียนไปเขียนมาคล้ายๆว่าพรรคพวกอักษรฯ รุ่นรหัส ๑๖ นี่จะเก่งไปซะหมด ตั้งกะองค์ประธานรุ่นมาทีเดียว ก้ไม่รู้จะเขียนเป็นอื่นได้ไงนี่นา เพราะเรื่องมันจริง

            เรื่องความสามารถทางภาษาของทูลกระหม่อมนั้น เผอิญได้ไปอ่านหนังสือเรื่อง "สมเด็จแม่กับการศึกษา" ซึ่งทูลกระหม่อมทรงนิพนธ์ไว้เอง เลยทำให้เข้าใจว่า ทำไมจึงทรงแตกฉานได้ขนาดนั้น ทรงเล่าไว้ว่า
            " วิชาที่พระราชทานให้เรียนเพิ่มเติมก็มักอยู่นอกตารางเวลาเรียนในโรงเรียน ไม่ใช่เป็นการหาครูมาช่วยทำการบ้านหรือมาติวสอบ
            วิชาที่ข้าพเจ้าได้เรียนพิเศษหลังกลับจากโรงเรียน ก่อนเวลาออกกำลังกายหรือในวันหยุดและช่วงหยุดเทอมได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาเขมร ภาษาลาติน ภาษาฝรั่งเศส เปียโน วาดเขียน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ฯลฯ"  
           
            ถึงแม้ว่าจะได้มีโอกาสเรียนภาษามากมาย แต่พูดกันจริงๆแล้ว ถ้าเป็นคนไม่มีหัวทางภาษาอย่างที่พูดๆกัน ก็คงเรียนไม่ได้เหมือนกัน ใครที่เคยหัดเรียนภาษาฝรั่งเพื่อจะไปเมืองนอกคงเข้าใจได้ดี แต่นี่ทูลกระหม่อมทรงจัดอยู่ประเภท "มีหัว" ทางภาษานั่นเอง

            การที่เรารักการอ่านนี่เอง ทำให้รู้กว้างขวางไปทุกๆศาสตร์ คือ สงสัยอะไรอ่านเอาเองก็ได้ เท่านี้ก้รู้แล้วไม่ต้องง้อใคร เหตุนี้แหละทำให้เวลาพวกเราเรียนจบไปจากคณะแล้ว สามารถจะไปเรียนต่ออะไรก้ได้มากมาย ทั้งทางเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เดี๋ยวนี้ก้หันมาทางเทคโนโลยีทันสมัยหลายอย่างเหมือนกัน ระยะหลังมีนักเรียนอักษรฯ มาเอาดีทางบริหารหน่วยงานใหญ่ๆก็มาก มาจับงานทางด้านธนาคาร งานด้านคอมพิวเตอร์ งานทางสถาปัตย์ก็มีมากเหมือนกัน เรื่องของเรื่องคือถ้ามีความสามารถทางภาษาแล้วละก็ อ่านหนังสืออะไรได้สบายๆจะเรียนต่อได้หลายทางอย่างที่ว่ามานี้แหละ

            เวลาเรียนพวกเราต่างแข่งกันจะเป็นจะตาย ด้วยเรื่องความเก่งอย่างฉกาจฉกรรจ์นี่แหละ เลยกลัวจะเพลี่ยงพล้ำกัน แต่พอจบออกมาแล้วก็รักกันดี ไอ้ที่เคยเขม่นกันเรื่องเรียนก็ลืมไปหมดแล้ว เรื่องเธออยู่ภาคสมทบฉันอยู่ภาคปกติก็ลืมกันไปหมดแล้ว ออกจะจำไม่ได้เสียด้วยซ้ำว่าเพื่อนคนนี้อยู่ภาคไหนกันแน่

            สมัยที่เราอยู่ที่คณะจะมีภาคสมทบด้วย เช้าจะเป็นเวลาของภาคปกติเรียนกัน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีจำนวนมากกว่า พอบ่ายๆพวกสมทบก็เริ่มโผล่กันมาที่คณะ ช่วงปีหนึ่งนี่ยังห่างกันอยู่ เพราะเรียนแยกกันโดดเด็ดขาด นอกจากเวลามีงานมีการอะไรเท่านั้น เช่น งานรับน้องหรืองานกีฬา จึงจะมารวมพลกัน ครั้นพอถึงปีสองก็เริ่มจะมานั่งคุยรวมๆ กันมั่งแล้ว แต่ยังไม่มากมายอะไร แต่ถึงยังงั้นก็ชักจะสนุกเพราะคนเต็มไปหมด พวกสมทบนี่จะมีโอกาสไปเดินเล่นแถวสยามและดูหนังได้มากกว่าพวกภาคปกติ กล่าวคือ ก่อนมาเรียนมีเวลาว่างมากกว่านั้นเอง และภาคสมทบนั้นออกจะเหนียวแน่นรักกันมากกว่าภาคปกติซึ่งมีนักเรียนมากกว่า แต่พวกปกติเองก็ไม่ได้น้อยหน้าหรอกนะเรื่องดูหนังเดินเล่นเช้าเธอดู บ่ายฉันดูมั่ง สลับกันไปอุดหนุนโรงหนังจนสยามสแควร์เจริญรุ่งเรืองมาจนป่านนี้

            ตอนขึ้นปีสาม เราต้องเลือกวิชาเอกโทกัน ตอนนั้นทางคณะให้เลือกวิชาเอกวิชาหนึ่ง วิชาโทสองวิชา และเสรีอีกในแต่ละเทอม เช่น อาจเลือกเอกวิชาภาษาอังกฤษ และโทประวัติศาสตร์กับภาษาฝรั่งเศส ส่วนวิชาเสรี ก็อาจลงพวกการละครมั่งพอให้มีจริตติดตัว หรือข้ามห้วยไปเรียนเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน หรือบางคนเอาแบบเผื่อเหนียวเลยไปลงว่ายน้ำ เต้นรำมันซะเลย ซึ่งก็หวังว่าจะได้ เอ  เด็ดๆแต่บางทีการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปตามคาดหรอก  เพราะครูว่ายน้ำเกิดหินขึ้นมา ต้องว่ายให้ได้ร้อยเมตรสองร้อยเมตร และแถมท่าที่มหาโหดก็มี ส่วนพวกที่ตั้งใจไว้แน่วแน่ว่าจะไปสมัครเป็นแอร์หรือที่เรียกว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินนั้น มักจะมาลงเสรีวิชาว่ายน้ำเอาไว้ เพราะการจะเข้าไปเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินนั้น เขาต้องการเอาคุณสมบัติว่ายน้ำด้วย ก็เป็นการเรียนที่สนุกไปอีกแบบ ส่วนเต้นรำนั้น หลายคนให้เหตุผลว่า เรียนเพื่อลดความอ้วนก็มี

            แต่จะอย่างไรก็ตาม การเลือกลงวิชาเอกโทนั้น เราต้องลงให้เกื้อกูลกัน เล่น เรียนเอกภาษาญี่ปุ่นก็น่าจะลงวิชาโทประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกไกลเอาไว้ด้วย  และตามด้วยประวัติศาสตร์ไทยหรือ อุษาคเนย์ และอะไรอีกหลายๆอย่างที่เกี่ยวๆกัน รวมทั้งเวลาที่สอดคล้องกันหน่อย บางคนเล่นลงสะเปะสะปะ มาเรียนเช้าแล้วต้องนั่งรอไปเรียนอีกทีเย็นเลย  อย่างนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม พอขึ้นปีสามแล้วห้องเรียนไม่ได้ใหญ่โตมีร้อยชีวิตอย่างตอนปีหนึ่งปีสอง คราวนี้พวกภาคสมทบและภาคปกติก็เลยรวมกันเป็นปกติไปหมด ไม่รู้ใครเป็นใคร เอาเวลาเรียนของวิชาเป็นหลักมากกว่า เพราะห้องเรียนเล็กลงครูเลยสอนรอบเดียวพอแล้ว จะว่าไปจริงๆ ถ้าพูดอย่างไม่ปิดบังมันก็มีกันบ้าง เรื่องแบ่งชั้นวรรณะว่าใครอยู่สมทบ ใครอยู่ปกติ  และคำถามที่เพื่อนๆมักถามกันบ่อยก็คือ เอ๊ะ.. ยัยคนนี้อยู่ภาคไหนกัน ภาคสมทบหรือภาคปกติ ฟังดูก็เป็นการแบ่งชนชั้นพิลึก แต่นี่ก็เป็นความรู้สึกที่แท้จริงของพวกเราตอนนั้น แต่พอจบออกมาเราก็จะไม่ค่อยได้สนใจเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ นอกจากว่า พวกสมทบก็จะสนิทสนมกับพวกสมทบกันเป็นธรรมดา ส่วนภาคปกตินั้น เนื่องจากนิสิตมากเลยแบ่งออกเป็นหลายๆกลุ่ม ตามความสนใจร่วมกันนั่นเอง

            จากหนังสือรุ่น ทำให้ได้ทราบว่า มีหลายคนที่ไม่ได้จบพร้อมกับพวกเราส่วนใหญ่ สาเหตุสำคัญตอนนั้นไม่ใช่ว่าคนที่ไม่จบไม่มีความสามารถสอบผ่านได้ แต่อย่างที่เคยเล่าว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่  ที่เรียกว่า เหตุการณ์ ๑๔ ตุลานี่แหละ ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการศึกษาขึ้นกับเพื่อนเราหลายคน บางคนต้องย้ายที่อยู่ที่เรียนไปเป็นการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถโผล่ออกมาสอบได้บางคนก้หนีหายไปเฉยๆ  เพื่อจะทำงานตามอุดมการณ์ของตัวเอง มีบ้างที่ไม่เห็นว่าเรียนแล้วจะได้อะไร สู้ออกไปทำงานเพื่อบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า จะได้ประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่า แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าในที่สุด เพื่อนๆเหล่านี้ได้ตัดสินใจ กลับมาเรียนหนังสืออีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่ว่าอย่างน้อยก็ได้รับปริญญาแม้จะเป็นรุ่นหลังเพื่อนๆไปบ้างก็ตาม แต่พวกเราเองไม่ค่อยรู้เรื่องนี้กันในวงกว้าง  เห็นหน้าก็พูดคุยกัน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอจบหรือไม่จบ และจบปีไหนเมื่อไหร่ จนป่านนี้ยังไม่รู้กันเลยก็มี

            เวลามีงานเลี้ยงรุ่น พวกเราก็รวมพลกันเหนียวแน่น พวกที่จบช้าก็มาร่วมด้วยโดยไม่มีใครไปห้ามไปหวงอะไร องค์ประธานรุ่นทรงมีน้ำพระทัยยิ่งใหญ่ พระสหายมากันมากๆ ยิ่งทรงพอพระทัย ยิ่งอุ้มลูกเล็กเด็กแดงมายิ่งทรงพระสำราญ บางครั้งทรงเอาลูกของพระสหายไปอุ้มอย่างชำนาญมาก และหลายครั้งที่ทรงมีพระเมตตาโปรดตั้งชื่อให้กับลูกของพระสหาย ทั้งที่ทูลขอและไม่ได้ทูลขอพระราชทาน  ใครที่ได้ไปเห็นงานเลี้ยงรุ่นของพวกเราแล้วจะไม่เชื่อเลยว่า นี่หรืองานเลี้ยงรุ่นที่มีองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงประทับอยู่ในงานด้วย เพราะเต็มไปด้วยลูกเล็กเด็กแดงวิ่งกันเอิกเกริกสนุกสนาน บางครั้งก็มีอาม้าและอีแจ๋วตามาเต็มไปหมดอย่างที่เคยเขียนแล้ว แถมเวลาเล่นเกมยังวิ่งกันเจี๊ยวจ๊าวไปหมด และเมื่องานเลิกต่างก้ได้ของขวัญของรางวัลติดไม้ติดมือกันไป เรียกได้ว่า คนละหอบใหญ่ๆทีเดียว

            พระจริยาวัตรที่ใครเห็นก็ทึ่งในความ "กันเอง" ของทูลกระหม่อมนั้น ถ้าจะให้เข้าใจได้คงต้องอ่านเอาจากที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ด้วยพระองค์เองในหนังสือ "สมเด็จแม่กับการศึกษา" ว่า

            "สังคมโรงเรียนนั้น นอกจากจะมีครูแล้วยังมีพวกเพื่อนๆทั้งรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่ รุ่นน้อง พนักงานต่างๆของโรงเรียน ข้าพเจ้ามีอุปนิสัยชอบเฮโลไปกับเพื่อนๆ"
            " การอยู่กับเพื่อนๆที่มีลักษณะต่างๆไป ทำให้เรารู้ความจริงของชีวิตที่เราจะต้องพบคนหลายๆประเภท เพื่อนเหล่านี้สอนอะไรหลายอย่างแก่ข้าพเจ้า  มีเพื่อนร่วมเรียนด้วย การเรียนก็ไม่น่าเบื่อ ได้ไต่ถาม พยายามปรับปรุงตัวให้เก่งเหมือนเพื่อนที่เก่ง รู้จักเอื้อเฟื้ออดทนต่อเพื่อนที่ช้ากว่าเรา ถ้าไปเล่าถวายว่า เพื่อนบางคนทำอะไรที่ข้าพเจ้าไม่ชอบ ถ้าทำได้ก็ให้ช่วยแนะนำชี้แจงเหตุผลของเราให้แก่เขา ที่สำคัญคือ เพื่อนๆเหล่านี้จะเป็นเพื่อนที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันต่อไป"

           
และเป็นความจริงที่ว่า พระองค์ท่านนั้นทรงพระเมตตากับพระสหายมากเหลือเกิน น้ำพระทัยนั้นทำให้พวกเราแทบไม่กล้าไปรบกวนให้ระคายพระทัยเลย แต่พระองค์เองกลับทรงโปรดช่วยเหลือทุกครั้งที่ทราบข่าวคราวของเพื่อนฝูง ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนๆก็ตามที




ที่มา  ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น