++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์




คนรุ่นนี้ไม่ใคร่จะรู้จักชื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กันแล้ว ทั้งที่ครั้งหนึ่งเป็นบุคคลที่ได้ชื่อว่าฉลาดปราดเปรื่องและมีอนาคตไกล ในสมัยรัชกาลที่ 5

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นพระโอรสองค์สุดท้องของกรมขุนราชสีหวิกรม ซึ่งเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 3 เมื่อประสูติจึงเป็นแค่หม่อมเจ้าชั้นหลานปู่ของรัชกาลที่ 3 ในราชสกุลชุมสาย ซึ่งเป็นราชสกุลที่มีฝีมือทางช่างและศิลปะ คนในราชสกุลนี้ทำงานด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรมมีชื่อเสียงหลายคน ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา นี่ก็คนหนึ่ง

“ปฤษฎางค์” แปลว่าข้างหลัง เบื้องหลัง หรือจะแปลว่าช้างก็ได้ เมื่อวัยหนุ่มครั้งต้นรัชกาลที่ 5 ท่านได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มสยามหนุ่ม มักคิดอะไรในทางนอกกรอบ ต่อมาได้ไปศึกษาที่คิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นคนไทยรุ่นต้น ๆ ที่ได้ไปเรียนนอก ผลการเรียนดีเด่น กลับมาก็ได้รับราชการเป็นนายช่าง ต่อมาก็ได้กลับไปเรียนต่อที่อังกฤษอีกครั้งทางด้านวิศวกรรมโยธา คราวนี้ได้ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ได้ไปดูงานขุดคลองและการสร้างทำนบกันน้ำท่วมที่เนเธอร์แลนด์ เพราะสายตากว้างไกลว่าต่อไปไทยอาจมีปัญหาเรื่อง “น้องน้ำ” จึงต้องเตรียมคนและแผนไว้

กลับเมืองไทยรอบหลังนี้ได้ทรงเป็นทหารจนได้ยศพันเอก ได้เป็นนายช่างคุมการก่อสร้างตึกกระทรวงกลาโหมและคุก แต่ความสำเร็จยิ่งใหญ่กลับเป็นความเชี่ยวชาญด้านการทูต จนได้รับแต่งตั้งไปเป็นราชทูตอังกฤษแต่ดูแลรับผิดชอบ 11 ประเทศในยุโรปด้วย และแถมสหรัฐอเมริกาอีกประเทศ ได้เจรจาจนแก้ไขสนธิสัญญาหลายฉบับที่เราเสียเปรียบยุโรป ทรงนำไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศด้านไปรษณีย์และด้านโทรเลข รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนท่านขึ้นเป็นพระองค์เจ้า

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นคนฉลาดแต่บางคนก็วิจารณ์ว่าท่านไม่ทรงเฉลียวเพราะคิดอย่างฝรั่งเกินไป รัชกาลที่ 5 มักทรงปรึกษาท่านลับ ๆ อยู่หลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องการเมืองการปกครองเพราะท่านเป็นคนรอบรู้ และพูดอะไรตรงไปตรงมา ครั้งหนึ่งท่านได้ “ล่าลายเซ็น” เจ้านายระดับพระเจ้าน้องยาเธอและข้าราชการผู้ใหญ่ทำหนังสือเข้ามากราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 เพื่อเตือนภัยทางการเมือง ขอให้ทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการปกครองประเทศใหม่ และขอให้มี “คอนสติตูชั่น” หรือรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดร้ายแรงฐานขบถในสมัยนั้น แต่รัชกาลที่ 5 ก็มิได้กริ้ว กลับทรงมีพระราชหัตถเลขายืดยาวตอบหนังสือนั้น

เรื่องนี้ภายหลังพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทรงสำนึกได้ ทรงเขียนไว้เองว่า “ภายหลังจึงได้คิดรู้สึกว่าได้คิดผิดไป เพราะเป็นเรื่องที่ทรงหารือข้าพเจ้าแต่เฉพาะเพียงผู้เดียว แลหาใช่การเปิดเผยเป็นกิจการอันผู้อื่นจะเกี่ยวข้องด้วยไม่ แต่มารู้สึกโทษต่อเมื่อพ้นเวลาที่จะยั้งตัวได้เสียแล้ว” ข้อนี้เป็นบทเรียนอยู่นะครับว่า ข้อเสนอบางอย่างโดยเนื้อหาแล้วอาจจะไม่ผิด แต่ถ้านำเสนอผิดกาละและเทศะก็กลายเป็นผิดได้ พระพุทธเจ้าถึงได้สอนสัปปุริสธรรมว่าทำอะไรต้องรู้จักเหตุ ผล ตน ประมาณ กาลเวลา กระแสสังคม และบุคคล

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ทรงเป็นกรรมการร่วมจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช เป็นองคมนตรีและเป็นผู้วางรูปแบบก่อตั้งกรมโยธาธิการ แต่คราวหนึ่งทรงน้อยพระทัยบางอย่างจนถึงขั้นจะปลงประชนม์พระองค์เอง แล้วตัดสินพระทัยลาออกจากราชการ โดยไม่ขอพระบรมราชานุญาต ข่าวของท่านหายเงียบไปหลายปีจนมาโด่งดังอีกครั้งเมื่อทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ลังกา มีฉายาว่าพระชินวรวงศ์ ทางลังกานับถือมากจนตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดทิปทุตตมาราม และเจ้าคณะจังหวัดโคลัมโบฝ่ายสยามวงศ์

ระหว่างนั้นได้เสด็จไปนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดียจนทรงทราบว่า อังกฤษขุดพบพระบรมธาตุแถวกุสินารา ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นของแท้จริง จึงทรงประสานให้แบ่งถวายพระเจ้าอยู่หัวของไทย บัดนี้ประดิษฐานอยู่ที่พระเจดีย์บนภูเขาทอง วัดสระเกศ เรื่องนี้ก็มีเหตุให้ทรงน้อยพระทัยอีกเหมือนกันว่า ไม่ได้ทรงเป็นผู้แทนเชิญพระบรมธาตุมาไทย

เมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคตท่านได้กลับมางานถวายพระเพลิงและลาผนวชแล้วทำงานอยู่เงียบ ๆ เช่น รับสอนภาษาอังกฤษบ้าง เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษบ้าง แต่ต่อมาถูกให้ออก พอกลับไปทำราชการเป็นพนักงานแปลในกระทรวงการต่างประเทศ ทางการก็ยุบตำแหน่งเสียอีกจึงไม่ทรงทำอะไรต่อ บางวันทรงพิมพ์ข้อความวิจารณ์รัฐบาล ไปแปะไว้หน้าบ้าน ผู้คนชอบไปอ่านเพราะสนุกดี เสด็จไปไหนก็จะทรงวิจารณ์การเมืองอย่างเผ็ดร้อน แต่ไม่มีใครถือ ไม่มีใครจับ ทั้งที่แต่ละเรื่องเข้าข่าย “ล้มเจ้า” ทั้งนั้น เพราะรัฐบาลและผู้คนมองว่ามีพระสติฟั่นเฟือน ไปไหนจะทรงชุดสากลสีครีม สวมหมวกปานามา หนวดเครายาวรุงรังขึ้นรถราง ที่หน้าบ้านทรงปักป้ายไว้ว่า “ห้ามหมาห้ามคนเข้า”

อดีตเอ็นจิเนียร์ใหญ่ ราชทูต คนหัวนำสมัย ผู้นำการกราบบังคมทูลขอให้มีรัฐธรรมนูญ เจ้าคณะจังหวัดโคลัมโบมีชีวิต 5 แผ่นดินมาจนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2477 พระชันษา 83 ปี

เรื่องของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์น่าสนใจ และเป็นคติสอนใจคนรุ่นนี้หลายอย่าง ท่านเคราะห์ร้ายจับงานอะไรก็มีเรื่องสะดุดกลายเป็นผิดกาละและเทศะไปหมด คนอย่างนี้วันนี้ก็มีอยู่มาก แม้กระนั้นต้องถือว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญแห่งยุค มีความกล้าหาญและมีความรู้ความสามารถมากในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง.

ดร.วิษณุ เครืองาม wis.k@hotmail.com
เดลินิวส์ออนไลน์, จันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น