++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

» Q&A กับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ...เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา



Q : แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มมาจากอะไร ?

A : เริ่มมาจากปัญหาที่เรา...ไปเจอนั่นแหละ โลกเวลานี้ก็บริโภคเสียจนกระทั่งเกินเหตุ แล้วก็เกิดวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าพูดไปแล้วมีตัวเลขน่ากลัวมาก คือว่า...ชาวโลกบริโภคทรัพยากรธรรมชาติไปในอัตรา ๓ ต่อ ๑ คือบริโภคไป ๓ ส่วน แต่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติชดเชยกลับมาได้เพียง ๑ ส่วน

ถ้าเราบริโภคในอัตราความเร็วอย่างนี้ก็หมด น้ำมันก็เริ่มมีสงครามแย่งน้ำมันกันแล้วใช่ไหม อีกหน่อยก็มีสงครามแย่งน้ำ สงครามแย่งทรัพยากรกัน แล้วก็มันไม่เพียงพอกับประชากรที่เพิ่มขึ้น ๆ ในขณะนี้ ก็คูณไปสิ มากขึ้น ๆ

เพราะฉะนั้นพอมันเป็นอย่างนี้ หันมาดูประเทศไทยมันก็แบบเดียวกันอีก โลกาภิวัตน์...เราก็ตามโลก มุ่งหาความร่ำรวย มุ่งหาความเจริญเติบโต

แล้วถ้าตัวเองไม่สร้างฐานรากทางเศรษฐกิจและสังคมเอาไว้อย่างมั่นคง พอเศรษฐกิจโตแล้วมันก็แตกเป็นฟองสบู่แบบที่เห็นกันมาหลายครั้งแล้ว โตแล้วก็แตก คือไม่ได้สร้างฐานราก

ก็เลยพระราชทานแนวหลักมาว่า ให้ใช้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ชีวิตหลักเช่นทางสายกลาง โดยพระราชทานหลัก ๓ ประการมาให้

◌◌◌◌◌◌◌◌


หลัก ๓ ประการนั่นก็คือว่า...

● ประการที่ ๑ : ทำอะไรต่าง ๆ นั้นใช้เหตุใช้ผลเป็นเครื่องนำทางได้ไหม ?...อย่าเปลี่ยนตามกระแส

คือตามกระแสโลกเราก็รู้อยู่แล้ว โลกทุกวันนี้มันนำไปสู่ความหายนะซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็ไม่ควรจะตาม เราควรจะมีแนวทางของเรา

เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีเหตุมีผล อย่าไปตามกระแส อย่าไปทำอะไรให้มันล้นไปจนกระทั่งเกิดทุกข์ เพราะคำว่าแตกเนี่ย เศรษฐกิจแตกเพราะเราเป่าให้มันแตก มันต้องโตเสียก่อนแล้วมันถึงจะแตก ลูกโป่งมันต้องเป่าก่อนแล้วมันถึงจะแตก

ฉันใดฉันนั้น ถ้าคิดมันก็เป็นสติเตือนใจ แต่เราไม่ชินกับการทำอะไรด้วยเหตุด้วยผล

◌◌◌◌◌◌◌◌


● ประการที่ ๒ : ทำอะไรพอประมาณได้ไหม ?

คือต้องตรวจดูสภาพก่อนว่าสภาพตัวเราแข็งแรงแค่ไหนอย่างไร ศักยภาพของเราอยู่ตรงไหน เราแข็งจุดไหนบ้าง เราอ่อนจุดไหนบ้าง ตรวจสอบศักยภาพของเราเสียก่อน แล้วทำตามพอประมาณของเราในขณะนั้น ในระดับใดระดับหนึ่งที่มันเหมาะสมกับขนาดของเรา

ผมมักจะชอบเปรียบเทียบกับมวย เราจะไปถึงแชมป์โลกได้ต้องบอกว่ารุ่นไหน ถ้ารุ่นเล็กนี่มาเลย อันนั้นคือความพอประมาณ ศักยภาพเต็มประมาณของเราอยู่ตรงนี้เราสู้ได้ แต่ถ้าชกรุ่นใหญ่ขึ้นไป เราไปไม่ไหว มันเกินจากเราแล้ว

อันนี้คือความพอประมาณ ต้องตรวจสอบสภาพแวดล้อมของเรา มันควรจะเอาเรื่องอะไรมาเป็นที่ตั้งหรือเป็นฐาน

◌◌◌◌◌◌◌◌


● ประการที่ ๓ : จะทำอะไรก็ตามนั้นต้องมี...ภูมิคุ้มกัน !!

คือทำอย่างไรให้นึกถึงวันพรุ่งนี้ว่าพรุ่งนี้มันไม่แน่ ต้องมีหลักประกันอยู่ตลอดเวลา ต้องมีเงินออมไว้หน่อยได้ไหม

สำหรับระดับบุคคลเนี่ยพรุ่งนี้อาจจะไม่สบายก็ได้ เพราะฉะนั้นมีเท่าไหร่ใช้หมด เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยจะทำอย่างไร

อย่างเรื่องพลังงาน ดีเซลมันแพงขึ้น ๆ เราจะแสวงหาน้ำมันดีเซลจากพืชหรืออะไรต่ออะไรมาเป็นหลักประกันเรา เราจะได้ไม่ต้องพึ่งภายนอก

ชีวิตเราไม่ต้องขึ้นอยู่กับคนอื่นเขามากเกินไปจนกระทั่งมันขาดอิสรภาพไป อันนี้คือภูมิคุ้มกันที่เราต้องมีตลอดเวลา เพราะว่าอะไรกระทบมาเราจะได้ไม่เดือดร้อน อย่างน้อยเรามีเกราะกำบังของเราไว้

◌◌◌◌◌◌◌◌


อันนั้นคือคำหลัก ๓ ประการ มีเหตุมีผล ต้องยึดความพอประมาณ รู้ศักยภาพของเรา และก็มีภูมิคุ้มกัน

แต่ทรงเน้นว่า...ทั้งหลายทั้งปวงนี้ต้องตั้งอยู่บนฐานจริยธรรมคุณธรรม

คือคนเราต้องมีคุณธรรมต้องมีจริยธรรม ถ้าปราศจากข้อนี้แล้วไม่มีประโยชน์ ร่ำรวยไปถ้าสังคมมันเต็มไปด้วยความทุจริต หรือไม่ซื่อตรง หรือคดโกงกัน หรือเอาเปรียบกัน เบียดเบียนกัน มันก็ไม่มีประโยชน์

เพราะฉะนั้นสังคมทั้งสังคมจะต้องมีจริยธรรมคุณธรรม คือคนต้องดี แล้วเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ทรงวางไว้จะได้นำเราไปสู่ "ความร่ำรวยที่ยั่งยืน" ...ไม่ใช่จนลงหรือให้รัดเข็มขัด

ตรงกันข้าม ให้ร่ำรวยแล้วยั่งยืน !!

พระองค์ท่านตรัสว่า เราต้องสร้างรากหรือลงเสาเข็มให้แข็งแรงเสียก่อน แล้วค่อยสร้างบ้าน เพราะฉะนั้นพอบ้านเสร็จแล้วก็จะแข็งแรง

ฉันใดฉันนั้น นี่คือเศรษฐกิจง่าย ๆ เศรษฐกิจพอเพียง แล้วบางคนบอกจะทำเมื่อไหร่ ทำวันนี้พรุ่งนี้ได้เลย ตัวเราเองมีงบเท่านี้ รายได้เท่านี้ ก็อยู่แค่นี้

ไม่ใช่รายได้เท่านี้แต่ไปซื้ออะไรที่มันแพงมาประดับบารมีตามกระแสสังคม ไม่ใช้เหตุใช้ผล มีเงินแค่ซื้อรถคันเล็ก ๆ แต่กลับไปผ่อนรถคันโต ก็แบกไม่ไหว

อาหารการกินก็กินให้มันพอดี กินแพงเกินไป กินมากเกินไปมันก็จุก ไขมันก็เพิ่ม อยู่อย่างเรียบง่ายอยู่อย่างธรรมดาอยู่กับสติอย่างถาวร

◌◌◌◌◌◌◌◌


» บทเสริมท้ายเรื่อง :

ตลอดเวลากว่า ๓๐ ปีที่ ดร. สุเมธได้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ท่านได้รับข้อคิดและบทเรียนอันมีค่ามากมายไม่ว่าในแง่การงานหรือการใช้ชีวิต

ทั้งจากพระบรมราโชวาทในวาระต่าง ๆ และจากการที่ได้ทรงกระทำพระองค์เป็นเยี่ยงอย่าง อาทิ

● การทำงานทั้งหลายต้องทำด้วยใจ ทำด้วยความสนุก

● ทำงานด้วยความรู้ ความรู้จะหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องขวนขวายเก็บบันทึกไว้ ความรู้จะต้องพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ

● ให้สนุกกับการแก้ปัญหา เห็นปัญหากระโดดเข้าใส่

● ตั้งตนอยู่บนพื้นฐานของความเมตตาและสร้างความสุขให้ผู้อื่น

● หัวสมองต้องทำงานอยู่ตลอด ต้องช่างสังเกต ดูสถานการณ์รอบข้าง อย่าปล่อยให้จิตใจเลื่อนลอย ต้องมี-สติติดตัวตลอด เมื่อมีสติก็มีปัญญา ปัญญาทำให้หูตาสว่าง ไม่หลง

● อย่าฉวยโอกาส ต้องซื่อสัตย์สุจริตระหว่างปฏิบัติงานเป็นที่ตั้ง ฯลฯ


หากเหนืออื่นใด การถวายงานรับใช้ใกล้ชิด ยังทำให้ท่านได้เห็นอย่างชัดเจนถึงพระวิริยะอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความสุข” ในการ “ทรงงาน” เพื่อพสกนิกรของพระองค์


◌◌◌◌◌◌◌◌


Credit : นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 256

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น