++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปริศนา “ธรรม” ที่ชาวพุทธควรทราบ

ปริศนา “ธรรม” ที่ชาวพุทธควรทราบ
ธีรพงษ์ อินทร์พันธุ์*
*นักวิชาการศาสนา ๗ว สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสระแก้ว เรียบเรียง
พิธีเกี่ยวกับงานศพ (๑)
การเผาศพ
การนำศพเวียน ๓ รอบก่อนนำขึ้นเมรุ หากตั้งศพสวดบำเพ็ญกุศลที่วัด ในตอนเช้าของกำหนดทำพิธีเผา ลูกหลานก็จะช่วยกันหามโลงศพเวียนรอบเมรุ ๓ รอบ แล้วจึงนำขึ้นไปตั้งไว้บนเมรุ หากตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้าน ครั้นเคลื่อนศพมาถึงวัดแล้วก็ให้ทำการเวียนรอบเมรุก่อน ๓ รอบเช่นกัน จึงจะนำไปตั้งบนเมรุ บางแห่งมีการนำโลงกระแทกเมรุก่อน ๓ ครั้ง จึงนำขึ้นไปตั้ง นิยมหันหัวศพไปทางทิศตะวันตก
การเวียนศพต้องเวียนซ้าย ต่างกับการเวียนเทียนหรือแห่นาค ซึ่งเป็นงานมงคลจะทำการเวียนขวาเรียกว่า ทักษิณาวรรต การเวียนศพ ๓ รอบเป็นการเวียนเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้ตาย และเป็นปริศนาธรรมเกี่ยวกับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ในสามภพ คือ ในโลก นรก และสวรรค์ การทิ้งเบี้ยให้ตากลียายกลา สมัยโบราณ เมื่อนำศพขึ้นตั้งบนเมรุ หรือเชิงตะกอนแล้ว ต้องทิ้งเบี้ย ๓๓ เบี้ยให้ตากลียายกลา ซึ่งเป็นเจ้าของป่าช้า เพื่อซื้อที่ให้ผีอยู่และเป็นค่าจ้างเผา เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครทำกันแล้วแต่จะใช้วิธีโปรยทาน

สาเหตุที่โยน ๓๓ เบี้ยมีคติเป็นหลายนัย บ้างว่าเป็นการแสดงคุณบิดา ๒๐ เบี้ย มารดา ๑๒ เบี้ย (รวมได้ ๓๒ เบี้ย อีก ๑ เบี้ยไม่ทราบว่าหายไปไหน) บางทีก็ว่า ๓๒ เบี้ยนั้นหมายถึงอาการ ๓๒ นั่นเอง การจุดพลุสัญญาณ ในสมัยโบราณ บ้านเรือนแต่ละหลังอยู่ห่างกัน จึงใช้เสียงพลุเป็นสัญญาณ อาจจะจุดเมื่อเริ่มเคลื่อนศพไปวัดลูกหนึ่ง เมื่อถึงวัดแล้วลูกหนึ่ง เมื่อพระสวดมาติกาลูกหนึ่ง และยิงลูกสุดท้ายเมื่อทำพิธีเผา ไม่มีข้อจำกัดอันใดจะให้มีการจุดพลุหรือไม่ก็ได้ แต่ตามต่างจังหวัดยังนิยมจุดกันอยู่ พิธีในวันเผา เมื่อตั้งศพไว้บนเมรุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพจะนิมนต์พระมาเลี้ยงอาหารเพลที่ศาลาสวดอภิธรรม เสร็จแล้วทำการถวายจตุปัจจัย ทอดผ้าบังสุกุล กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ตอนบ่ายมีการเทศนา ๑ กัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่พระท่านจะเทศน์ เกี่ยวกับเรื่องการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความไม่เที่ยงของสังขาร ต่อจากนั้นก็มีการสวดมาติกา กล่าวชีวประวัติของผู้ตาย การทอดผ้าบังสุกุลหน้าศพ และทำการเผาหรือประชุมเพลิง การกล่าวถึง
ชีวประวัติของผู้ตาย เมื่อผู้ร่วมพิธีเผาและไว้อาลัยแด่ผู้ตายมาพร้อมกันแล้ว ก่อนทำพิธีวางดอกไม้จันทน์ อาจมีการกล่าวถึงชีวประวัติของผู้ตายอย่างย่อๆ ส่วนใหญ่จะบอกถึงวันเดือนปีเกิด ชื่อบิดามารดาบุตรธิดา หน้าที่การงาน และคุณความดีของผู้ตาย สุดท้ายเป็นการกล่าวขอบคุณผู้มาร่วมไว้อาลัย การชักผ้าบังสุกุล เมื่อใกล้เวลาเผา เจ้าภาพจะเชิญแขกผู้มีเกียรติหรือผู้ที่เคารพนับถือร่วมทอดผ้าบังสุกุล โดยเรียกชื่อ
ทีละคน ผู้ที่ได้รับเชิญก็เดินไปที่หน้าเมรุ หยิบผ้าบังสุกุลซึ่งลูกหลานของผู้ตายวางไว้บนพาน หยิบไปเฉพาะผ้าบังสุกุลเท่านั้น นำไปวางไว้ในพานหน้าโลงศพบนเมรุ
เจ้าภาพหรือผู้มีหน้าที่ในการทำพิธี จะเชิญพระสงฆ์องค์หนึ่งให้ขึ้นไปพิจารณาผ้าบังสุกุลหรือซักผ้าบังสุกุล ทำเช่นนี้ไปจนกว่าจะครบแขกที่เชิญหากมีแขกคนสำคัญอาจให้ทอดเป็นคนสุดท้าย เรียกว่า ทอดผ้ามหาบังสุกุล วิธีการนั้นก็เช่นเดียวกัน เมื่อขึ้นบันไดไปบนเมรุเพื่อทอดผ้า ให้เดินลงทางด้านข้างของเมรุ ไม่ควรเดินย้อนกลับตรงทางขึ้น การโปรยทาน การโปรยทาน เป็นการอุทิศส่วนกุศลแทนผู้ตาย คล้ายเป็นการแจก หรืออุทิศทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่มี ให้กับคนที่อยู่เบื้องหลัง เป็นปริศนาธรรมทำนองตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้เช่นเดียวกัน เงินโปรยทานนี้ชาวบ้านนิยมเก็บไว้เป็นขวัญถุง การวางดอกไม้จันทน์ เมื่อชักผ้ามหาบังสุกุลเสร็จแล้ว เจ้าภาพก็จะนำดอกไม้จันทน์มาแจกให้กับผู้มาร่วมไว้อาลัยคนละ ๑ ช่อ หรือนำใส่ถาดไปวางไว้หน้าเมรุ ครั้นได้เวลาเผา พระก็จะสวดพระอภิธรรม ผู้มาร่วมพิธีจึงทยอยขึ้นบันไดเมรุ นำช่อดอกไม้จันทน์ไปวางไว้ในพานหน้าศพ แล้วเดินลงทางบันไดด้านข้าง ไม่ควรย้อนกลับลงไปทางที่ขึ้นมา เพราะจะทำให้ชนหรือเกะกะขวางทางคนอื่นๆ ที่กำลังจะขึ้นการวางดอกไม้จันทน์นี้ หากเป็นสมัยโบราณที่มีการเผาบนเชิงตะกอนกลางแจ้ง ผู้มาร่วมพิธีก็จะถือฟืนติดมือกันมาคนละท่อน นำมาวางรวมกัน ซึ่งถ้าได้ไม้จันทน์ก็จะเป็นการดีเพราะเวลาเผามีกลิ่นหอม เมื่อพร้อมกันแล้วสัปเหร่อจึงทำการจุดไฟ มอญร้องไห้ หากเจ้าภาพมีฐานะดี จัดให้มีวงปี่พาทย์มอญมาบรรเลงในงานตลอดงาน หรือเฉพาะในวันเผาเมื่อเริ่มพิธีเผา คือผู้มาร่วมไว้อาลัยทำการวางดอกไม้จันทน์ ก็จะมีพิธีมอญร้องไห้โดยคนในคณะปี่พาทย์เป็นผู้ร้องคร่ำครวญ พรรณนาถึงคุณงามความดีของผู้ตายด้วยความอาลัยรัก ผู้ร้องจะร้องอย่างโหยหวนเข้ากับบรรยากาศ พลอยทำให้ลูกหลานของผู้ตายเกิดความเศร้าโศกพากันร้องไห้ การขอบคุณผู้มาร่วมพิธีและการมอบของที่ระลึก เมื่อถึงตอนทำพิธีเผาศพ เจ้าภาพและลูกหลานของผู้ตายจะไปยืนอยู่ที่บันไดทางลงของเมรุ ซึ่งมักทำไว้ ๒ ฟาก เมื่อผู้มาร่วมพิธีวางช่อไม้จันทน์เสร็จและเดินลงมา เจ้าภาพก็กล่าวขอบคุณ หากจะมอบของที่ระลึกก็มอบให้ในตอนนี้เลย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ร่วมพิธีก็จะมอบซองใส่เงินช่วยงานให้เจ้าภาพเช่นกัน พร้อมกล่าวขอบคุณและกล่าวคำอำลา การเผาศพในปัจจุบัน เมื่อแขกทยอยกลับกันไปบ้างแล้ว เหลือแต่ผู้ที่สนิทสนมกับเจ้าภาพซึ่งรออยู่รอบๆ เมรุ สัปเหร่อจะทำการเปิดโลงศพ เพื่อให้ลูกหลานได้ดูหน้าผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย แล้วจึงต่อยผลมะพร้าวให้แตก เอาน้ำมะพร้าวซึ่งถือกันว่าเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ล้างหน้าศพ แล้วจึงนำเข้าเตาเผาหากเป็นผู้มีฐานะดี จะจัดสร้างเมรุเผาศพขึ้นมาต่างหาก มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม เวลาเผาก็ใช้วิธีจุดลูกหนู เป็นชนวนให้วิ่งตามเส้นเชือกไปสู่โลงศพการเอาผ้าโยนข้ามศพ ประเพณีบางแห่งจะมีการนำผ้าขาวหรือเสื้อผ้าของผู้ตายตัวหนึ่ง โยนไปมาข้ามกองไฟที่กำลังลุกไหม้ ๓ ครั้ง เป็นปริศนาธรรม หมายถึงว่าผู้ตายได้ข้ามพ้นของร้อนทั้ง ๓ อย่างไปพ้นแล้วของร้อนนั้นได้แก่ โลภะ คือ ความโลภ โทสะ คือ ความโกรธ และ โมหะ คือ ความหลง
ผ้านั้นบางทีก็ใช้ผ้าขาวที่คลุมโลงเมื่อโยนแล้วให้นำไปถวายพระ หรือให้เป็นทานแก่คนยากจน การชักฟืน ๓ ดุ้น ในสมัยโบราณ ทำการเผาศพกันที่เชิงตะกอนเรียกว่าเผาสด คือนำกองฟืนมาสุมกันแล้วนำศพไปวางไว้ข้างบน เมื่อจุดไฟเผาแล้ว ผู้มาร่วมพิธีต้องรอสัปเหร่อชักฟืนออกมา ๓ ดุ้นก่อนจึงจะกลับบ้านได้ เป็นอุบายให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขาร เมื่อตายแล้วร่างย่อมถูกเผามอดไหม้ทิ้งไว้แต่คุณงามความดี หรือเป็นปริศนาธรรมว่า ฟืนติดไฟทั้ง ๓ นั้นคือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นกองไฟที่แผดเผาให้เร่าร้อนอยู่ในวัฏสงสาร เมื่อชักออกหรือหลุดพ้นได้แล้วย่อมพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อกลับจากงานศพ สำหรับผู้ไปร่วมพิธีเผาศพหรือไว้อาลัยผู้ตายก่อนทำการเผา หรือเมื่อไปฟังพระสวดอภิธรรมศพ เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ให้ล้างหน้าล้างตาก่อนเข้าบ้าน บางทีนำใบทับทิมใส่ในขันแล้ววักน้ำในขันนั้นล้างหน้า เพื่อความเป็นสิริมงคล บางทีมีคติความเชื่อว่า เมื่อกลับจากงานศพต้องเดินวกวนอ้อมไปอ้อมมา เพื่อไม่ให้ผีตามมาถึงบ้านได้ สำหรับเจ้าภาพและลูกหลาน หลังจากทำพิธีเผาแล้ว เมื่อจะเดินทางกลับบ้านต้องกลับลวดเดียวให้ถึงบ้านเลย ห้ามไปแวะที่อื่น ผู้ที่ถือรูปของผู้ตายก็เช่นเดียวกัน ให้นำรูปกลับมารวดเดียวให้ถึงบ้านอย่าแวะกลางทาง แล้วนำรูปไปติดไว้ในที่อันสมควร การบวชหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) ลูกหลานผู้ชายของผู้ตายที่อายุน้อยยังไม่ได้อุปสมบท ก็จะทำการบวชเณรหน้าศพ ส่วนใหญ่นิยมบวชก่อนวันเผา ๑ วัน หรือ ๓ วัน เมื่อทำพิธีเผาเสร็จแล้วจึงลาสึก การบวชก็เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย และเพื่อให้ผู้ตายได้เห็นชายผ้าเหลืองของลุกหลาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นธงชัยสามารถช่วยฉุดดึงให้พ้นจากขุมนรกได้ ดังนั้นผู้ใดมีลูกชายหลานชายก็อยากจะได้บวชให้ แต่มาจบชีวิตลงเสียก่อนลูกหลานจึงบวชหน้าศพหรือบวชหน้าไฟให้ และเมื่ออายุครบอุปสมบท หรือบวชพระ ก่อนบวชลูกหลานก็จะทำการจุดธูปบอกกล่าวให้ญาติผู้ล่วงลับร่วมอนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง วันห้ามเผาศพ มีคติความเชื่อเกี่ยวกับการเผาศพอยู่หลายนัย คือ ห้ามเผาวันคี่ วันข้ามแรม ต้องเผาวันคู่ และยังห้ามเผาในวันพระและศุกร์
ส่วนใหญ่ยังคงนิยมถือกันแก่ในเรื่องห้ามเผาวันศุกร์ เพราะถือกันว่าวันนี้เป็นวันดี เหมาะแก่การทำงานมงคล อันเนื่องมาจากคำว่าศุกร์ไปคล้ายกับคำว่าสุข และคำว่าศุกร์นี้ ยังมีความหมายคล้ายกับคำว่าสุก คือ เผาไม่ไหม้ อะไรทำนองนี้
สำหรับวันห้ามเผาวันพระนั้น เพราะในวันนี้พระท่านอาจมีกิจธุระมาก ถ้าในช่วงเข้าพรรษาอาจต้องเข้าโบสถ์ฟังสวดปาฎิโมกข์ หรือมีคนมาทำบุญกันที่วัดมาก แต่ในปัจจุบันการเผาวันพระก็ค่อนข้างสะดวก เพราะวัดส่วนใหญ่อยู่ใกล้ชุมชน การเก็บกระดูก เมื่อทำการเผาเสร็จแล้ว สัปเหร่อจะทำการแยกธาตุเก็บกระดูกใส่โกศที่ญาตินำไปให้ไว้ส่วนเถ้าก็ใช้ผ้าขาวห่อ ในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันเผา ญาติจะมารับโกศเพื่อนำไปไว้ที่บ้าน หรือมีการทำบุญเลี้ยงอาหารพระที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย
โกศใส่กระดูกผู้ตายนั้นบางทีก็เอาไปไว้บนหิ้งบูชาที่บ้าน บางคนก็นำไปใส่ไว้ในเจดีย์ประจำตระกูล ซึ่งส่วนใหญ่สร้างไว้ที่วัดหรือบรรจุตามช่องซุ้มของประตูกำแพงวัด
เมื่อถึงวันสงกรานต์ญาติและลูกหลานของผู้ตายก็จะนำผ้าบังสุกุลมาทอด เพื่อให้พระมาชัก หรือพิจารณาผ้า เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ส่วนใหญ่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลเช่น วันตรุษ วันสารท หรือวันสงกรานต์และหากคิดถึงผู้ตายที่ล่วงลับไปแล้ว จะทำวันไหนอีกก็ได้ตามแต่สะดวก หรือทำบุญตักบาตรกรวดน้ำไปให้ผู้ตาย
สำหรับเถ้านั้น บางทีก็นำไปบรรจุรวมกับโกศในเจดีย์ หรือนำเฉพาะเถ้าไปลอยน้ำ ส่วนเสื้อผ้ามุ้งหมอนข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตาย ส่วนใหญ่นิยมถวายวัดหรือมอบเป็นทานให้แก่คนยากจน ผู้ที่รับก็จะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตาย การทำบุญร้อยวัน หลังจากเก็บกระดูกแล้ว เมื่อครบวันตาย ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน จะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย แต่มักนิยมรวมไปทำ ๑๐๐ วันเลยทีเดียว ในวันนี้ญาติพี่น้องและลูกหลานของผู้ตายจะมาพร้อมกันที่วัด ไม่ต้องใส่ชุดไว้ทุกข์หรือขาวดำอีก หากแต่งชุดขาวดำไว้ทุกข์ให้ผู้ตายร้อยวัน ในวันนี้ก็สามารถออกทุกข์ คือ กลับไปนุ่งห่มเสื้อผ้ามีสีสันได้เหมือนเดิม
สิ่งของที่ต้องเตรียมก็คือ รูปภาพของผู้ตาย ส่วนใหญ่จะใช้ภาพที่ตั้งหน้าโลง ในช่วงที่ทำพิธีสวดพระอภิธรรรมนั่นเอง พร้อมโกศใส่กระดูก นำมาใส่พาน พันสายสิญจน์ที่โกศและรูป ไปวางไว้ในพานข้างพระสงฆ์ รูปที่เป็นประธาน
เมื่อได้เวลาซึ่งส่วนใหญ่จะก่อนเพล พระที่นิมนต์ไว้ ๙ รูปจะมาสวดพุทธมนต์ เสร็จแล้วเจ้าภาพจึงถวายจตุปัจจัย พระสวดอนุโมทนา และให้พร เจ้าภาพกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายต่อจากนั้นจึงเลี้ยงอาหารเพลพระ ซึ่งมักนิยมเลี้ยงหมดวัด เสร็จแล้วจึงมีการสวดอนุโมทนาและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล อีกครั้งหนึ่ง ขั้นตอนเหล่านี้ไม่มีกำหนดตายตัว บางแห่งอาจผิดแผกแตกต่างกันไป แล้วแต่ประเพณีท้องถิ่นนิยม

ปริศนาธรรม (http://www.dmc.com)
1.มัดตราสังข์สามเปราะ
มัดที่คอ หมายถึง บ่วงรักลูก มัดที่มือ หมายถึงบ่วงรักสามี – ภรรยา มัดตรงข้อเท้า หมายถึง บ่วงรักทรัพย์สมบัติ ใครติดอยู่สามบ่วงนี้ ไปนิพพานไม่ได้ ต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ
ดังสุภาษิต
ปุตโต คีเว มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ
ธนัง ปาเท ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
ภริยา หัตเถ ภรรยา(สามี)เยี่ยงอย่างปอ รึงรัด มือนา
สามบ่วงนี้ใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร
2. เคาะโลงรับศีล ไม่ใช่ให้คนตายมารับศีล
แต่เพื่อเป็นการบอกคนที่มาร่วมงานว่า อย่าเอาแต่มัว ประมาทขาดสติ ไม่สนใจในหลักธรรมคำสอน
เมื่อตายไปหมดโอกาสทำความดี จะเคาะจนโลงแตก ก็ลุกขึ้นมาไม่ได้
3. สวดอภิธรรม มักสวดเป็นภาษาบาลี คนเป็นฟังไม่รู้เรื่อง จึงนึกว่าสวดให้คนตายแต่จริงๆแล้ว เป็นการสวดเพื่อสอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อที่จะได้นำหลักธรรมไปปฏิบัติให้เกิดผลดีในชีวิตประจำวัน ดังนั้น แม้จะฟังไม่เข้าใจ แต่เพื่อให้การฟังสวดอภิธรรมเกิดผล ควรสำรวมส่งจิตไปอยู่กับเสียงพระสวด ให้จิตสงบนิ่งอยู่กับเสียงพระสวดก็จะเกิดสมาธิจิตได้
4. บวชหน้าไฟ มักเข้าใจกันว่า เป็นการบวชจูงผู้ตายขึ้นสวรรค์ ความจริงนั้นไม่ใช่ เพราะการบวช หน้าไฟเป็นการปลงธรรมสังเวชต่อการเกิด แก่ เจ็บและตายในที่สุด มนุษย์ก็มีเท่านี้ ทำ ให้เกิดการ เบื่อหน่ายต่อชีวิตในโลกียวิสัย ไม่ประสงค์จะอยู่ในเพศฆราวาสแล้ว พอใจในสมณะเพศ มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น เข้าสู่มรรคผลนิพพาน
5. การนิมนต์พระจูงออกหน้าศพ เพื่อจะสอนคนที่ยังอยู่ให้ได้สำนึกว่า ตอนที่ยังอยู่ต้องเดินตามหลัง
พระ หมายความว่า ให้ดำเนินชีวิตตามพระธรรมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้านั่นเอง จึงจะอยู่ดีมีสุข มีความเจริญก้าวหน้า
6. การเวียนซ้าย 3 รอบ หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้งสาม อันมี กามภพ รูปภพ อรูปภพ ด้วยอำนาจกิเลสตัณหาอุปทานก็จะเป็นทุกข์ไม่จบสิ้น ฉะนั้นต้องทวนกระแสกิเลส เป็นการสอน ธรรมชั้นสูง จึงได้พาศพเวียนซ้าย
7. การใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ เพื่อชี้ให้เห็นว่า น้ำมะพร้าวเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ ผู้เข้าสู่มรรคผล นิพพานต้องชำระ จิตให้สะอาดด้วยน้ำทิพย์จากพระธรรม
8. การแปรรูปหลังจากเผาแล้ว มีการเก็บอัฐิและมีการเขี่ยขี้เถ้า ผู้ตายให้เป็นรูปร่างกลับไปกลับมา เพื่อจะบอกว่าได้กลับชาติใหม่แล้วตามวิบากของกรรมต่อไป
“สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไป”
"สี่คนหาม"คนโบราณไขขานว่า คือชีวามนุษย์นี้ไม่มีขาด
เป็นรูปร่างตัวตนคนพิลาส รวมสี่ธาตุมารวมกันแบ่งสรรเป็น
ธาตุที่หนึ่งคือ"ธาตุดิน"ใช่สินทรัพย์ ผมดำขลับเนื้อหนังยังมองเห็น
กระดูก เล็บ สุดเจ็บเล็บก็เป็น ทุกสิ่งเช่นเป็นธาตุดินชีวินเรา
ธาตุที่สองคือ"ธาตุน้ำ"ช้ำเลือดหนอง ไม่หมายปองคือน้ำลายคายออกเข้า
อีกน้ำมันในข้อต่อพอบรรเทา เว้นน้ำเหล้าไม่เกี่ยวข้องเพียงลองใจ
ธาตุที่สามคือ"ธาตุลม"ไม่ตรมจิต ขาดเพียงนิดชีวิตสิ้นดิ้นไฉน
ลมที่ว่าแสนสุขสมลมหายใจ หากขาดไปชีวิตสิ้นดิ้นแดยัน
ธาตุที่สี่คือ"ธาตุไฟ"อยู่ในร่าง ไม่เหินห่างแสนใกล้ชิดติดตัวท่าน
คอยบอกร้อนบอกเย็นเป็นชีวัน ร้อนนอกนั้นไม่ข้องเกี่ยวแท้เทียวจริง
สี่ธาตุนี้จึงเปรียบมี"สี่คนหาม" เป็นรูปธรรมตามแน่ที่แท้ยิ่ง
จะอ้วนผอมสูงใหญ่ในความจริง สี่ธาตุสิ่งรวมกันพลันเป็นคน
“สามคนแห่"ความหมายแท้แก้ให้รู้ เปรียบคนอยู่ในไตรลักษณ์ภักดีผล
ธรรมชาติสรรพสิ่งไปในสกล ล้วนดิ้นรนในสามสิ่งอย่างจริงจัง
หนึ่ง"อนิจจัง"นั้นไม่เที่ยงเลี่ยงไม่ได้ ชีวิตไหนก็ไม่แน่แปรหน้าหลัง
จากเด็กเล็กโตเป็นหนุ่มรุ่มพลัง แต่ภายหลังกลายเป็นแก่เปลี่ยนแปรไป
คนเคยรวยกลับมาจนยลให้เห็น จนกลายเป็นกลับรวยถูกหวยได้
ความแน่นอนไม่เที่ยงแท้เปลี่ยนแปรไป ไม่ว่าใครต้องผูกติด"อนิจจัง"
สอง"ทุกขัง"แปรตรงตัวมัวเมาทุกข์ จะกี่ยุคกี่ชาติเกิดประเสริฐสังค์ (สังค์=การยึดเหนี่ยว)
จะเกิดแก่เจ็บตายไข้ประดัง ย่อมทุกข์ทั้งสิ้นหมดรันทดใจ
สาม"อนัตตา"ชีวิตตนที่ทนอยู่ ก็ไม่รู้จะเปลี่ยนแปรแน่นอนได้
เหมือนกับคนที่แดดิ้นสิ้นหายใจ ยังถูกไฟผลาญเผาเป็นเถ้าธุลี
ชีวิตตนใช่ตัวตนคนแน่แท้ ย่อมเปลี่ยนแปรไม่แน่นอนตอนสุขศรี
ดังอดึตคนกำเนิดเกิดร้อยปี แต่บัดนี้กลับไร้ตนเป็นคนไป
"อนิจจังทุกขังอนัตตา" ทั้งสามมาเป็นสัจจธรรม"สามคนแห่"
ชีวิตเราย่อมเปลี่ยนไปไม่แน่แท้ ทุกข์เหตุแห่แปรไปไร้ตัวตน
“หนึ่งคนนั่งแคร่"นั้นที่แท้แปรความหมาย ดั่งจิตใจจิตวิญญานประมาณผล
เมื่อคนเกิดวิญญานเข้าสถิตย์ชีวิตคน เป็นจิตตนจิตวิญญานชีวันเรา
จิตใจนั้นคอยบงการบันดาลชีวิต สิงสถิตย์ในร่างกายใจคอยเฝ้า
โบราณท่านจึงเปรียบไว้จิตใจเรา เทียบไว้เอา"คนนั่งแคร่"แค่ใจคน
"สองคนพาไป"มีความหมายเปรียบไว้ว่า เราเกิดมามีบาปบุญหนุนกุศล
หากทำบาปย่อมลำบากยากทุกข์ทน หากบุญล้นย่อมเกิดดีศรีสุขกัน
ชีวิตที่คงอยู่สู่ชาตินี้ กับชีวิตที่เกิดมาชาติหน้านั้น
เกิดมาแล้วจะทุกข์หรือสุขสันต์ บาปบุญนั้นจะกำหนดตามกฏกรรม
เพราะบาปบุญหนุนนำทำทุกข์สุข จึงต้องถูกนำมาเทียบและเปรียบย้ำ
"สองคนพาไป"คือบาปบุญที่หนุนนำ สู่ภพกรรมที่กระทำตามชั่วดี
ปริศนาธรรมทั้งสี่ตามที่กล่าว แปลเรื่องราวโบราณความตามวิถี
เป็นคำสอนให้คนเราเฝ้าทำดี เพื่อได้มีบุญเป็นทุนหนุนตนเอง.......

นพกรณ์ กุลตวนิชผู้ประพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น