แค่ไหนถึงได้ไปสวรรค์แน่?
พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้เที่ยงที่จะถึงสวรรค์
คืออริยบุคคลนับแต่โสดาบันขึ้นไป
เมื่อเป็นโสดาบันบุคคลแล้วเป็นอันปิดอบายถาวร
แม้ปรารถนาจะมาบำเพ็ญบารมีต่อในโลกมนุษย์
อย่างน้อยตายไปก็ได้พักบนสวรรค์ก่อน
จิตของโสดาบันบุคคลมีดีอย่างไรจึงปิดอบายได้?
ก็เพราะธรรมดำอันจะนำไปสู่นรกขาดสิ้นแล้ว
ไม่เป็นผู้ละเมิดศีล ๕ ด้วยใจแล้ว
จึงมีความผ่องแผ้วอยู่ หมดความผูกพันกับอบายแล้ว
แล้วถ้ายังเจริญสติไม่ได้ถึงความเป็นโสดาบันบุคคลล่ะ?
กัลป์ยาณชนทั้งหลายควรมีดีแค่ไหน
จึงเป็นอันตัดสินได้ว่าจะปิดอบายอย่างน้อยสักชาติ
มีโอกาสขึ้นสวรรค์ เป็นพยานว่าชั้นฟ้ามีจริงยามตาย
พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้มีที่พึ่งให้ตนเองได้
คือผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้วในศรัทธา ในทาน และในศีล
ถ้าศรัทธาตั้งมั่น ทานตั้งมั่น และศีลตั้งมั่น
ก็เปรียบเหมือนผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในสุคติภูมิหรือนิพพานเท่านั้น
เพื่อย่นย่อให้เห็นภาพง่าย
เราดูแค่ "จิตมีปกติเป็นดีหรือเป็นร้าย" ก็ได้
เพราะปกติของจิตเป็นอย่างไร
ภาวะที่รอรับเราอยู่แน่ๆก็เป็นอย่างนั้น
เอาจุดที่ยั่วโมโหได้ที่สุด เราหลุดหรือเรายังอยู่กับสติได้?
ถ้าใจดีตอนหิว ถ้าไม่แอบด่าตอนโกรธ
ก็พยากรณ์ได้ว่าคุณจะไม่ฝันร้าย ตายไปไม่มีทางเจอนรก!
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
สิ่งที่คงเป็นคำถามขึ้นมาในใจทันทีคือ "มันยากนะ"
จะให้ใจดีตอนหิว จะให้ไม่แอบด่าตอนโกรธ
ก็ยากน่ะสิครับ! ถ้าง่ายก็คงไปสวรรค์กันหมด
เอาของยากมาเป็นเครื่องหมายของความดีให้พยายามไปให้ถึง
อย่างน้อยมีเป้าสูงๆไว้ให้เล็ง
ไม่งั้นไม่รู้จะเอาอะไรเป็นจุดหมายปลายทางในการใช้ชีวิตดี จริงไหม?
ถ้าจิตเป็นเมตตาตั้งมั่น และขณะถูกกระทบมีสติอยู่
ก็จะเกิดความ "ขี้เกียจด่า"
คร้านที่จะเอาจิตไปจมอยู่กับความสกปรกทางภาษาในหัว
ถ้าใครขี้เกียจด่าแม้ในใจได้เรื่อยๆทุกครั้ง
ก็แปลได้สถานเดียวว่าเรา "ฝึกจิต"
จนกระทั่งจิตตั้งมั่นบนทางสวรรค์นิพพานแน่แล้ว
และเพื่อที่จะฝึก
ช่วงแรกๆต้องฝึกเปลี่ยนเสียงด่าให้เป็น "เสียงแห่งความเห็นใจ"
เช่น เขาโตมาอย่างนั้น ถ้าจะเปลี่ยนเขา ต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตทั้งหมด
และเปลี่ยนตั้งแต่ก่อนเกิดมาอยู่กับพ่อแม่คู่นี้ทีเดียว
เนื่องจากกรรมเก่าเป็นตัวการผูกมัดเขาไว้กับความเป็นอย่างนี้ ฯลฯ
ถ้าไม่เปลี่ยนเสียงด่าให้เป็นอื่น เราก็จะเคยชินไปเรื่อย
แต่หากฝึกเปลี่ยนดูบ้าง
ก็จะพบว่าความเคยชินใหม่จะค่อยๆเกิดขึ้นแทนที่ทีละน้อย
โดยที่เราไม่ต้องรู้สึกฝืน แล้วก็ไม่รู้สึกยากเย็นอะไรเลย
ขอเพียงมีเวลามากพอให้กับการฝึกเอาจากแบบทดสอบในชีวิตจริงนี้เถอะ
ถ้ายังไม่มีแก่ใจฝึก และพบว่าทำยังไงก็ไม่ทัน เสียงด่ามันกึกก้องอยู่ข้างใน
อันนี้ก่อนอื่นก็ต้องยอมรับครับว่า "เรายังมีเสียงจากอบายในหัวอยู่"
บอกตัวเองอย่างนี้บ่อยๆ รับรองจะมีแก่ใจอยากฝึกขึ้นเยอะ
และทำความเข้าใจไว้เป็นภาพรวมด้วยนะครับ
ถ้าตอนโกรธ แค่คิดอกุศล ไม่ได้ด่าหยาบคาย ยังไม่ถือว่า "แอบด่า"
เพราะถ้าไม่ด่า ก็สะท้อนว่าไม่มีจิตคิดประทุษร้าย
การคิดอกุศลเป็นสิ่งที่ห้ามยาก หรือห้ามไม่ได้เลย
เราควรจะมีท่าทีกับมันคือ ยอมรับอย่างมีสติรู้ว่ามันเกิดขึ้นในใจ
ไม่คิดต่อ และเห็นมันแสดงความไม่เที่ยงไปเอง
เห็นอย่างนี้ได้ นอกจากจะไม่เป็นโทษ
ยังกลับจะเป็นคุณที่ให้ปัญญากับเราอย่างใหญ่หลวงอีกด้วย!
ดังตฤณ
สิงหาคม ๕๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น