++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เขื่อน.......ไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วม

เขื่อน.......ไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วม

โดย ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต


น้ำท่วมครั้งใดก็มักจะมีการพูดถึงเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการทุกครั้งไป ผมเคยร่วมประชุมกับคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี และทำงานวิจัยให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จำนวน 15 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการวิจัย ผลออกมาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนเองและต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ นอกจากนั้นยังทำงานวิจัยให้กับสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง บทบาทแก่เหมืองแก่ฝายในการจัดการความขัดแย้ง ร่วมงานวิจัยกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เรื่องการจัดการชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ประชุมและให้ความเห็นร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (M.R.C.) เป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เขื่อนราษีไศล เขื่อนน้ำอูน ฯลฯ

ปัญหาทั้งหมดไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและจริงใจจากทั้งข้าราชการและนักการเมือง ปัญหาจึงคาราคาซังและหมักหมมพอกพูนมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เป็นพ่อค้า นายทุน และหากินอยู่กับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมาก่อนทั้งสิ้น การบูรณาการทั้งหลายจึงอยู่แค่ปาก และตัวหนังสือในกระดาษ การแก้ปัญหาทุกวันนี้จึงกลายเป็นการแก้แบบลิงพันแห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

ความรู้เรื่องการจัดการน้ำแบบดั้งเดิม และการมีส่วนร่วมของชุมชนถูกทำลายลงไปเพราะวิทยาการจากตะวันตก ภาคเหนือมีภูมิปัญญาในการดูแลและจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายมานานนับพันปี เท่าที่มีบันทึกไว้ในมังรายศาสตร์ก็กว่า 700 ปีมาแล้ว มีระบบเหมืองฝายที่ทำหน้าที่ในการผันน้ำจากแม่น้ำสายหลักเข้าไปสู่พื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลโดยอาศัยระบบการไหลของน้ำจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ ไม่ต้องใช้เครื่องจักรกลใดๆ มีแก่เหมืองแก่ฝายที่เป็นผู้ดูแลและแบ่งปันน้ำอย่างเป็นธรรม พ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านดูแลด้านการปกครองไม่สามารถใช้อำนาจ หรืออิทธิพลมาก้าวก่ายการจัดการทรัพยากรน้ำ

ปัจจุบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.และเจ้าหน้าที่ชลประทาน กลับกลายเป็นผู้รู้ดี และมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมไปทุกเรื่อง แต่ความรู้แทบไม่มีเลย เมื่อวานนี้ยังไถนาอยู่ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง นายทุนเงินกู้ พอมีเงินซื้อเสียงวันนี้จึงเป็นนายก อบต.นายกเทศมนตรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนใหญ่ล้วนมาด้วยเงิน ใช้อำนาจอิทธิพลในการปกครอง ระบบการจัดการทรัพยากรน้ำแบบดั้งเดิมจึงหายไปเกือบหมดสิ้น

เหมืองฝายที่ชาวบ้านช่วยกันทำด้วยไม้ด้วยหินกลับกลายเป็นคอนกรีต ความเป็นเจ้าของร่วมกันของชุมชนหายไป ผีฝายล้มหายตายจากไปด้วย น้ำท่วมฝายพังไม่มีคนซ่อม ต้องรอตั้งงบประมาณส่งเรื่องไปตามลำดับชั้น ในอดีตทันทีที่ฝายพังวันรุ่งขึ้นทุกคนในหมู่บ้านและชุมชนนั้นๆ รีบเข้าไปช่วยกันทันที ทุกปีจะมีการนัดหมายกันไปซ่อมแซมดูแลเหมืองฝาย มีพิธีเลี้ยงผีฝาย เสร็จแล้วก็ร่วมกันทานอาหาร ลูกหลานตามพ่อแม่ไปร่วมงาน ได้สืบทอดความรู้ภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น การทำลายเหมืองฝายหรือลักขโมยน้ำมีโทษตั้งแต่เบาไปหาหนัก ตักเตือน ปรับไหม เฆี่ยนตี จนถึงประหารชีวิต คนโบราณเขาอยู่กับน้ำด้วยความเคารพ และเขาถือว่าไม่มีน้ำไม่มีชีวิต

ในโลกแถบตะวันออกเราให้ความเคารพต่อสายน้ำ และพระแม่คงคา โดยมีความเชื่อเรื่องพญานาคซึ่งเป็นผู้ปกปักษ์ดูแลสายน้ำ เราลอยประทีปเพื่อบูชาพระแม่คงคา ขอบคุณและขอขมาต่อสายน้ำ แต่ทุกวันเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

น้ำเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการเอาชนะ สร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บมันไว้ด้วยความโลภและข้ออ้างที่ว่าถ้าไม่เก็บไว้ น้ำก็ไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ ในธรรมชาติไม่มีอะไรสูญเปล่าในโลกใบนี้ ทุกอย่างถูกสร้างให้สมดุลและเกื้อกูลกัน สิ่งแปลกปลอมของธรรมชาติคือมนุษย์ที่ไม่รู้จักปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกับมัน ความอวดเก่งอวดดีที่จะเอาชนะธรรมชาติจึงกลับมาทำลายมนุษย์และโลกในอนาคต

แผ่นดินบนโลกใบนี้มีอยู่เพียง 1 ส่วน อีก 3 ส่วนเป็นมหาสมุทรซึ่งเป็นที่ของน้ำ แต่มนุษย์กักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนด้วยข้ออ้างสารพัดอย่าง ป้องกันน้ำท่วม แก้ความแห้งแล้ง ผลิตไฟฟ้าราคาถูก จะทำให้ผลผลิตต่างๆ ดีขึ้น ความยากจนจะลดลง วันนี้บนแผ่นดินถูกกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนต่างๆ มีปริมาณพื้นดินที่สูญเสียไปเท่ากับพื้นที่ของทวีปขนาดเล็ก 1 ทวีป น้ำหนักของน้ำปริมาณน้ำล้านๆ ตันถูกกดทับอยู่บนที่ที่มันไม่เคยอยู่ เปลือกโลกต้องขยับตัวเพื่อรองรับน้ำหนักของน้ำบนแผ่นดิน การสูบน้ำบาดาลมาใช้ แก๊ส น้ำมันจากใต้ดินถูกสูบขึ้นมาให้มนุษย์บริโภคทุกวันในปริมาณมหาศาล ชั้นใต้ดินจึงเกิดช่องว่างแผ่นดินทรุดตัว อาการแผ่นดินไหวรุนแรงเพิ่มขึ้น คลื่นยักษ์สึนามิใหญ่โตกว่าเก่า อะไรที่มนุษย์เอาชนะได้บ้าง?

วันนี้ประเทศไทยมีเขื่อนกั้นสายน้ำเกือบทุกลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมอะไรได้บ้าง ฝนตกหนักหน้าเขื่อนในเขื่อนก็น้ำเต็มต้องรีบปล่อยออกมา ลุ่มเจ้าพระยาเจิ่งนองไปด้วยน้ำและน้ำตา นาล่มจมน้ำครั้งแล้วครั้งเล่าจะเอาเงินที่ไหนไปชดเชย ขณะที่นโยบายประชานิยมรถคันแรก บ้านหลังแรกก็ต้องเอาภาษีนับหมื่นล้านไปแลกเสียง ถนนหนทางที่สร้างโดยไม่ดูตาม้าตาเรือขวางทางน้ำเต็มไปหมด หยุดสร้างถนนหันมาขุดคลองและแก้มลิงขึ้นมาใหม่ทั่วทั้งประเทศ สองฝั่งคลองมีถนนสำหรับจักรยานและปลูกต้นไม้ ประชาชนจะมีน้ำกระจายอยู่ทั่วประเทศ จะเป็นแหล่งโปรตีนธรรมชาติจากปลา เราต้องหันกลับมาพัฒนาการอยู่ร่วมกับน้ำเฉกเช่นบรรพบุรุษเราอยู่กันมา เพียงแต่ปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย

การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งไม่ใช่แก้ด้วยน้ำสายนักการเมือง และข้าราชการที่ดีแต่เอาหน้า เอางบประมาณไปล้างผลาญกันเป็นหมื่นล้านแสนล้านอ้างป้องกันน้ำท่วม ปัองกันภัยพิบัติ สร้างศูนย์เตือนภัย อุตรดิตถ์ก็ยังคงถูกดินถล่มทับตายโดยไม่มีใครเตือน ไหนว่ามีระบบเตือนภัยพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศแล้ว หรือเป็นระบบเตือนภัยหลอกแบบที่คน กทม. โดยต้มกับกล้องวงจรปิด ฤๅนักการเมืองประเทศนี้มีแต่แก๊งต้มตุ๋นประชาชน หน้าตาดีๆ ชาติตระกูลดีอย่าคิดว่าหลอกคนไม่เป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น