++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

น้ำท่วม...เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว

น้ำท่วม...เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว

โดย รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธย


ใครว่าคนไทยเป็นคนใจกว้าง มีความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ผมว่า...พูดผิดพูดใหม่ได้นะครับ เพราะกรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกตั้งแต่จังหวัดในภาคเหนือ เช่น จังหวัดอุตรดิตถ์ไล่ลงมาจนถึงจังหวัดในภาคกลาง เช่น สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความมักง่ายและความเห็นแก่ตัวของคนไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้

ตัวอย่างปัญหาน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนจากสังคมของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขไปเป็นสังคมของความเห็นแก่ตัวอย่างสมบูรณ์ คนที่มีเงินหรือมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าก็สามารถเอาเปรียบคนยากคนจนได้ (อย่างหน้าชื่นตาบาน) ลองดูตัวอย่างดังต่อไปนี้นะครับ

ตัวอย่างที่หนึ่ง การปล่อยปะละเลยให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในภาคเหนือเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด แสดงให้เห็นว่านักธุรกิจหรือผู้ที่มีอิทธิพลทั้งหลายไม่เคยสนใจเลยว่าการทำธุรกิจที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบนั้น ได้นำมาสู่การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่ทำหน้าที่เป็นต้นน้ำสำคัญของประเทศ พื้นที่ต้นน้ำเหล่านี้ทำหน้าที่ชะลอการไหลของน้ำในฤดูฝนและคลายน้ำที่อุ้มไว้ในฤดูแล้ง เมื่อนักธุรกิจไทยเลือกที่จะรุกรานพื้นที่ป่าไม้เพื่อปลูกข้าวโพดทั้งที่รู้ว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศ และเป็นต้นตอของปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของประเทศไทย ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมักง่ายและความเห็นแก่ตัวของกลุ่มทุนเหล่านี้ทั้งสิ้น

หลังจากที่นักธุรกิจค้าข้าวโพดได้กอบโกยผลประโยชน์จากการทำลายระบบนิเวศในพื้นที่ต้นน้ำเป็นที่พอใจแล้ว ก็แสดงความใจแคบโดยการทิ้งปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้คนยากคนจนในชนบทในภาคกลาง

ตัวอย่างที่สอง น้ำเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถบริหารจัดการอย่างง่ายๆ ไม่งั้นคนเขาไม่เสียเวลาห้าปีแปดปีเพื่อร่ำเรียนวิชาชลศาสตร์หรือวิศวกรน้ำหรอกครับ แต่การแก้ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันกลับอาศัยความมักง่ายโดยการมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ รับผิดชอบการแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดของตน เช่น การสร้างทำนบกั้นน้ำไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ในจังหวัดของตนเอง แต่เคยคิดหรือไม่ว่าน้ำจำนวนนั้นจะถูกผลักออกไปท่วมจังหวัดอื่นๆ ถัดไปอย่างไรบ้าง ดังนั้น การป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่ดำเนินกันมาแบบว่าพื้นที่ใดมีเงินมากก็สร้างเขื่อนให้สูงกว่าเพื่อผลักน้ำให้ไปท่วมพื้นที่อื่นหรือจังหวัดอื่นแทน ถ้าคนไทยยังแก้ปัญหากันแบบนี้ผมก็คิดว่าเป็นการทำงานที่เห็นแก่ตัวสิ้นดีและเป็นการแก้ปัญหาแบบมักง่าย

ตัวอย่างที่สาม การพัฒนาตัวเมืองต่างๆ ผู้คนหวังแต่จะกอบโกยประโยชน์ใส่ตนเองโดยไม่แยแสต่อส่วนรวม ในการพัฒนาเมืองพบว่าทางไหลของน้ำเดิม เช่น ลำคลอง ลำห้วย ลำธารต่างๆ ที่เป็นทางระบายน้ำในฤดูฝนก็ถูกถมไปหมดเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กอบโกยเงินโดยการถมทางน้ำสาธารณะเพื่อทำหมู่บ้านจัดสรร เจ้าหน้าที่ของรัฐพอได้รับเงินค่าน้ำร้อนน้ำชาแล้วก็ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ สร้างถนนต่างๆ ก็ยกระดับให้สูงซะจนน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ พื้นที่เขตธุรกิจหรือเขตอุตสาหกรรมก็สร้างทำนบกันน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่ของตนโดยให้คนยากคนจนในพื้นที่เกษตรกรรมต้องรับชะตากรรมกับปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากแทน การขยายตัวของพื้นที่เมืองในลักษณะเช่นนี้นอกจากไม่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วช่างสะท้อนความด้อยพัฒนาคนอีกด้วย

ตัวอย่างที่สี่ เกิดเป็นคนกรุงเทพฯ นี้ช่างวิเศษเสียจริงๆ กี่ปีต่อกี่ปีที่ประเทศไทยมีปัญหาน้ำท่วมสูงถึงหลังคาบ้าน ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายมากมาย ทรัพย์สมบัติของชาวบ้านที่ซื้อหามาด้วยเงินทองที่แสนจะหายากก็ถูกน้ำพัดพาอันตรธานไปหมด แต่คนกรุงเทพฯ ยังคงใช้ชีวิตปกติ ว่างจากงานก็ชอปปิ้ง ดูหนัง ฟังเพลง ทำสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาน้ำท่วมเลย การที่คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเป็นเพราะคนกรุงเทพฯ มีเอกสิทธิ์และมีสตางค์มากพอที่จะสร้างแนวกันน้ำสองริมฝั่งแม่น้ำและปิดประตูกันน้ำทุกจุดเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าเขตกรุงเทพฯ

เมื่อน้ำจำนวนนี้ไม่สามารถไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ มันก็ต้องไหลไปท่วมพื้นที่ข้างเคียงแทน อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างเห็นแก่ตัวก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรแล้วครับ ถามว่า...คนรวยในกรุงเทพฯ เคยมีจิตใจที่คิดจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพื่อนำเงินรายได้ของชาวกรุงเทพฯ ไปชดเชยประชาชนในพื้นที่ข้างเคียงที่ต้องอยู่ใต้น้ำแทนคนกรุงเทพฯ หรือไม่...ไม่เคยและไม่คิดจะทำด้วย อย่างนี้ไม่เรียกว่าเอาเปรียบ ใจแคบ เห็นแก่ตัวก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว

นอกจากจะมีเล่ห์เหลี่ยมในการเอาเปรียบพื้นที่รอบๆ แล้ว คนกรุงเทพฯ ก็ยังยกภาระการจ่ายค่าชดเชยทั้งหมดไปให้รัฐบาลกลางแทน อย่าลืมนะครับว่าเงินของรัฐบาลที่นำมาจ่ายเป็นค่าชดเชยน้ำท่วมก็คือเงินของประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง เมื่อรัฐบาลนำเงินจำนวนนี้มาจ่ายเป็นค่าชดเชยน้ำท่วมเสียแล้ว เงินที่จะนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้กับประชาชนในชนบทในอนาคต ก็ต้องถูกตัดทอนลงไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คนกรุงเทพฯ ไม่ยอมรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่โยนภาระทั้งหมดให้คนจนในชนบทที่ต้องใช้เงินของตัวเองมาชดเชยให้ตัวเองจากปัญหาน้ำท่วม การทำแบบนี้เป็นวิธีการทางการคลังสาธารณะที่แยบยลมาก ผมเองไม่คิดเลยว่าคนไทยด้วยกันจะกล้าทำกันขนาดนี้

สรุปความได้ว่า การบริหารจัดการน้ำท่วมของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบตัวใครตัวมัน ใครมีเงินมากกว่า มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่า เช่น ชาวกรุงเทพมหานคร หรือคนในเขตเมืองใหญ่ๆ ก็ใช้อิทธิพลของตัวเองสร้างสิ่งปลูกสร้างที่แข็งแรงกว่าเพื่อผลักน้ำให้ไปท่วมพื้นที่รอบนอกแทน ทำให้พื้นที่อื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้วต้องอยู่ใต้น้ำนานขึ้นและ/หรือเผชิญกับระดับน้ำที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น การกระทำอย่างนี้ไม่เรียกว่าเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว มักง่ายก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรแล้วครับ.

adis@nida.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น