++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

นวังคสัตถุศาสน์

นวังคสัตถุศาสน์


หลักธรรมอันเป็นคำสอนของพุทธศาสนาที่รวมเรียกว่า “พระธรรมวินัย” นั้นหากนำมาจัดเป็นประเภทแล้ว ท่านแยกไว้ถึง 9 ประเภท เรียกว่า“นวังคสัตถุศาสตร์” ซึ่งแปลตามรูปศัพท์ว่า คำสอนของพระศาสดา คือ พระพุทธเจ้ามีองค์ 9 ประการ ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้


1. สุตตะ คือ พระสูตร แปลว่า ด้าย หมายความว่า เรื่องที่นำมาผูกร้อยกรองเข้าด้วยกัน ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิเทส ขันธกะ ปริวาร และสูตรต่าง ๆ


ในสมัยพุทธกาล คำว่า “สุตตะ” นี้ พระพุทธเจ้าทรงหมายถึง กฎ หลัก หรือหัวข้อธรรมสั้น ๆ มีตอนเดียวจบ และมีความสมบูรณ์ในตัว ซึ่งมักจะเอาเฉพาะตัวกฎปาติโมกข์ในพระวินัยปิฎก มีข้อความปรากฏในจุลลวรรคว่า หลักธรรมของพระพุทธเจ้าได้รวมอยู่ในรูปสุตตะอันภิกษุทั้งหลายต้องสวดทุก ๆ กึ่งเดือน และมีหัวข้อหนึ่งในพระวินัยปิฎก คือ “สุตตวิภังค์” เป็นหัวข้อที่แสดงและวิเคราะห์ความหมายของคำและเนื้อหาในตัวหลักพระปาติโมกข์อย่างละเอียดซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับอรรถกถา เมื่อคำว่า “วิภังค์” แปลว่า การวิเคราะห์ แยกแยะ ดังนั้น คำว่า “สุตตะ” ในที่นั้นก็จะต้องหมายถึง ตัวหลักปาติโมกข์นั่นเอง


คำว่า “สุตตะ” ในนวังคสัตถุศาสตร์นี้ ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับคำว่า “สุตตันตะ” กล่าวคือ คำว่า “สุตตันตะ” มาจากคำว่า สุตตะ+อันตะ แปลว่า ที่สุดหรือตอนปลายของสุตตะ คือ ส่วนที่อธิบายขยายความในสุตตะให้ละเอียดยิ่งขึ้น


2. คาถา คือ คำสอนประเภทที่อยู่ในรูปของบทประพันธ์ที่เป็นร้อยกรอง เช่น บทประพันธ์ในเถรคาถา เถรีคาถา ธรรมบท และคาถาที่ไม่เรียกว่า สูตรในสุตตนิบาต


บทประพันธ์ประเภทร้อยกรองที่เรียกว่า “คาถา” นี้ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงสนับสนุนงานการประพันธ์ประเภทนี้อย่างมาก เช่น พระองค์ทรงยกย่องพระวังคีสเถระว่าเป็นเลิศในด้านการกวีนิพนธ์ และพระพุทธองค์ทรงให้มีการกล่าวคาถาขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าสามารถกล่าวคาถาได้ดี มีเสียงไพเราะ มีอยู่ 2 ท่าน คือ พระโสณกุฏิกัณณะ และอุบาสิกา นันทมาตา


อนึ่งคำว่า “คาถา” นี้ นอกจากจะหมายถึงบทประพันธ์ประเภทร้อยกรองแล้ว ยังมีความหมายเป็นทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองได้อีกด้วย เช่น ในคัมภีร์มีคำว่า


(1.) สุทธิคาถา หมายถึง เรื่องบริสุทธิ์ คือ คำสอนที่เกี่ยวกับสัจจะแห่งการดับทุกข์ จะอยู่ในรูปของร้อยแก้วและร้อยกรองก็ได้


(2) เสทโมจนคาถา คือ คาถาเหงื่อแตก เป็นการซักถามเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับธรรมวินัย โดยใช้วิธีการถามแบบร้อยแก้วธรรมดา ซึ่งปรากฏอยู่ตอนท้ายของคัมภีร์ปริวารในพระวินัยปิฎก คำถามดังกล่าวถามอย่างลุ่มลึกจนยากที่จะขบคิด จนทำให้เหงื่อกาฬไหล


(3) วัตถุคาถา หมายถึง เรื่องเล่าถึงเหตุการณ์ อันเป็นที่มาของคำสอน ลักษณะการเล่ามีทั้งแบบร้อย แก้วและร้อยกรอง ซึ่งช่วยให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดีขึ้น เช่น
ปารายนวรรค สุตตนิบาต เป็นบทสนทนาโต้ตอบเกี่ยวกับปัญหาธรรมระหว่างพระพุทธเจ้า กับพราหมณ์ 16 คน ก่อนจะมีการสนทนานั้น มีวัตถุคาถาเล่าถึงสาเหตุที่พราหมณ์ทั้ง 16 คน จะเดินทางมาทูลถามปัญหากับพระพุทธองค์อย่างละเอียด


(4) วยากรณคาถา หมายถึง เรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ของการตรัสรู้ของพระปัจเจกพุทธเจ้าหลายองค์ พระพุทธเจ้าเล่าให้ฟังที่ภูเขาคันธมาทนะ การเล่านี้เป็นแบบร้อยแก้วกล่าวกันว่า วยากรณคาถานี้ มีขึ้นหลัง สมัยพุทธกาล คือ ปรากฏครั้งแรกในอรรถกถาบาลีรจนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 10

3. เคยยะ คำว่า “เคยยะ” แปลว่า ขับ ร้อง สวด เป็นการขับร้องเป็นทำนองคล้ายกับคาถา แต่หมายเอาคำสอนที่มีอยู่ในรูปของร้อยแก้วและร้อยกรองในเรื่องเดียวกัน ลักษณะของเคยยะ คือ บทร้อยกรองมักจะแทรกอยู่ตอนกลางหรือตอนท้ายของส่วนที่เป็นร้อยแก้วเป็นส่วนใหญ่


4. เวยยากรณะ หมายถึง คำสอนที่มีลักษณะเป็นคำตอบ ท่านหมายเอาคำสอนในพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด สูตรที่ไม่มีคาถาปน และพุทธพจน์ในลักษณะอื่นที่ไม่สงเคราะห์เข้าในองค์อีก 8 อย่าง จัดเข้าในเวยยากรณะทั้งสิ้น


เวยยากรณะนี้เป็นประเภทคำตอบปัญหาที่มีความสำคัญและมีลักษณะเด่นเป็นพิเศษด้วยเหตุนี้ จึงถูกจัดไว้เป็นคำสอนอีกประเภทหนึ่ง ในสมัยพุทธกาลนั้น ผู้คนจำนวนมากได้เข้าไปถามปัญหากับพระพุทธเจ้าและพระสาวก วัตถุประสงค์ในการถามก็มีต่าง ๆ กันไป


บางคนถามต้องการทราบความจริงแห่งชีวิต เพื่อนำไปแก้ปัญหาชีวิตจริง ๆ

บางคนสนใจต้องการถามเพื่อเอาความรู้ เพราะเป็นคนอยากรู้อยากเห็น

แต่บางคนต้องการถามเพื่อจับผิดและหาช่องที่จะโจมตี คัดค้านคำสอนของพระพุทธเจ้า


ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มีข้อความกล่าวถึงสาวกกลุ่มหนึ่ง ได้พากันไปทูลลาพระพุทธเจ้า เพื่อเดินทางไปสอนธรรมในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และผู้คนในหมู่บ้านนี้มีความเฉลียวฉลาดมาก และเป็นผู้ที่มีความสนใจที่จะถามปัญหา พระพุทธองค์ทรงแนะสาวกเหล่านั้นให้ไปศึกษาวิธีการตอบคำถามจากพระสารีบุตรก่อน


ในอังคุตตรนิกาย วิธีการตอบคำถามนั้น พระพุทธเจ้าทรงแยกไว้ 4 ประเภท คือ


4.1 วิภัชชวยากรณ์ คือ การตอบปัญหาด้วยวิธีวิเคราะห์หลักธรรมอย่างละเอียดจะนำไปตอบปัญหาโดยไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ แต่จำต้องวิเคราะห์แยกแยะประเด็นเหตุการณ์ เช่น คำถามว่า อะไร คือผลของการกระทำด้วยกาย วาจา ใจ การตอบปัญหาเช่นนี้ เราจะตอบว่า สุข ทุกข์ หรือ อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องวิเคราะห์ก่อนว่า การทำด้วยกาย วาจา ใจนั้นเป็นการกระทำอย่างไร ดีหรือชั่ว เป็นต้น


4.2 ปฏิปุจฉาวยากรณ์ คือ วิธีตอบปัญหาด้วยการย้อนคำถาม เพื่อให้ผู้ถามได้พิจารณาปัญหานั้นด้วยตนเอง เช่น ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิ ตรัสถามปัญหากับเขมาภิกษุณีว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิเสธ ที่จะตอบปัญหาเกี่ยวกับการดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่ของคถาคตหลังจากความตายมาถึง นางเขมาภิกษุไม่ตอบปัญหานี้โดยตรง แต่จะย้อนถามพระเจ้าปเสนทิว่า เป็นไปได้หรือไม่ได้ที่คนเราจะสามารถนับจำนวนเม็ดทรายตามฝั่งแม่น้ำคงคาหรือวัดจำนวนน้ำในมหาสมุทร


4.3 เอกังสวยากรณ์ คือ วิธีการตอบปัญหาโดยตรง กล่าวคือ เป็นวิธีที่ตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ การตอบรับหรือตอบปฏิเสธอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คำถามว่า รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ตอบว่า ไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ตอบว่า เป็นทุกข์ เมื่อสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอัตตาหรืออนัตตา ตอบว่า เป็นอนัตตา เป็นต้น


4.4 ฐปนียวยากรณ์ คือ วิธีการตอบปัญหาด้วยการวางคำถามไปเสียข้างหนึ่ง หมายถึง การไม่ตอบคำถาม เพราะคำถามและคำตอบไม่เป็นประโยชน์ต่อการดับทุกข์ หรือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหยั่งรู้มีประสบการณ์ได้ด้วยตนเอง แม้จะตอบไปผู้ถามก็ไม่อาจพิสูจน์ด้วยคำพูดได้ เช่นถามว่า ชีวะกับสรีระเป็นสิ่งเดียวกันใช่หรือไม่ พึงยับยั้งเสียไม่ต้องตอบ หรือคำถาม 10 ข้อ เรียกว่า “อวยากตะ” ที่เป็นคำถามที่พระพุทธองค์ไม่ทรงพยากรณ์ เช่น โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น

5. อุทาน หมายถึง คำพูดที่เปล่งออกมาจากลำคอ อันมาจากความประทับใจในบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือมาจากได้เห็นสัจธรรมบางอย่างอันเป็นภาวะที่น่าอัศจรรย์ หรือที่ทำให้เกิดการประจักษ์ชัดในความจริงของชีวิต คำอุทานนี้ออกมาทั้งในรูปของร้อยแก้วและร้อยกรอง ทั้งที่เป็นคำอุทานของพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก เช่น ตอนที่พระพุทธเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ ครั้นธรรมเทศนาจบลง พระพุทธองค์ทรงหยั่งรู้ว่าพราหมณ์โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว พระพุทธองค์ทรงปีติเปล่งอุทานออกมาว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เป็นต้น

6. อิติวุตตกะ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระสาวกหรือบุคคลบางคนได้ยกขึ้นมาอ้าง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นหรือเป็นหลักฐาน เช่น ในมหาหัตถิปโทปมสูตร พระสารีบุตร แสดงเรื่องปฏิจจสมุปบาท ในตอนท้ายท่านได้ยกเอาพระพุทธพจน์ขึ้นมาอ้าง เพื่อสนับสนุนความเชื่อมั่นและให้เห็นจริงในหลักปฏิจจสมุปบาทว่า “วุตฺตํ โข ปเนตํ ภควา โย ปฏิจฺจสมุปฺปบาทํ ปสฺสติ โส ธมฺมํ ปสฺสติ โส ปฏิจฺจสมุปฺบาทํ ปสฺสตีติ.” แปลว่า ก็ถ้อยคำนี้ อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วแลว่า ผู้ใดเห็นหลักปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้น (ได้ชื่อว่า) เห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น (ได้ชื่อว่า) เห็นหลักปฏิจจสมุปบาท

7. ชาดก แปลตามรูปศัพท์ว่า เรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เป็นเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้อื่นบ้าง แต่ก็จะมีพระโพธิสัตว์อยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วยในการแสดงพระธรรมเทศนา พระพุทธเจ้าจะทรงยกขึ้นมาอธิบายประกอบ ในกรณีที่มีผู้ทูลถามหรือเป็นเรื่องเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ชาดกมีทั้งหมด 547 เรื่อง แต่ชาวไทยมักเรียกกันว่าเรื่องพระเจ้า 500 ชาติ ตัวอย่างของชาดก เช่น ในกูฏทันตสูตร พระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องที่พระองค์เคยเกิดเป็นปุโรหิตชื่อมหาวิชิต ในมหาโควินทสูตร พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องว่าพระองค์เกิดเป็นพราหมณ์ มหาโควินทะ เป็นต้น

8. อัพภูตธรรม คือ คำสอนหรือเรื่องน่าอัศจรรย์ใจ แยกได้ 3 ประเภท คือ

8.1 ธรรมที่เป็นสัจจะ คือ ความจริงเกี่ยวกับธรรมดาของชีวิต ซึ่งยังไม่มีผู้ใดเข้าใจและเข้าถึงสัจจะอันนี้อย่างถูกต้องและลึกซึ้ง จนกระทั่งพระพุทธเจ้าค้นพบความจริงเหล่านี้แล้วนำมาประกาศแก่ชาวโลก ผู้มีปัญญาฟังแล้ว ย่อมเห็นจริงตามคำสอนเหล่านั้น เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ใจ จึงมักจะเปล่งวาจาสรรเสริญว่า “อจฺฉริยํ อพฺภุตํ ภนฺเต ยาว สุภาสิตํ อิทํ.....” แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทศนานี้เป็นสุภาษิต เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ.......

8.2 เรื่องของพระโพธิสัตว์หรือเรื่องของพระพุทธเจ้า หมายถึง เรื่องที่น่าอัศจรรย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ ย้อนกลับไปตั้งแต่ครั้งที่เสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิตหยั่งลงสู่ครรภ์ของพระมารดา ระหว่างที่อยู่ในครรภ์นั้น จะประทับนั่งขัดสมาธิด้วยอาการสงบเวลาคลอดออกมาจากครรภ์ก็มิได้เอาศีรษะออกก่อนเหมือนทารกทั่ว ๆ ไป ตอนที่พระมารดาประสูติพระองค์ประทับยืน มิได้นอนคลอดเหมือนหญิงทั่ว ๆ ไป ตอนประสูติก็มีเทวดามาคอยรับพระวรกายด้วยน้ำร้อนและน้ำเย็นที่ไหลเป็นสายมาจากท้องฟ้า และหลังจากประสูติแล้วก็สามารถดำเนินไปได้ 7 ก้าว พร้อมกับมีดอกบัวรองรับ ขณะเดียวกันก็เปล่งพระสุรสีหนาทว่าพระองค์ทรงบันเกิดมาเพื่อประโยชน์ของมหาชน เป็นต้น

8.3 เรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติพิเศษของอริยบุคคลบางองค์ เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ เช่น ในอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสถึงธรรมที่น่าอัศจรรย์ใจ 4 ประการของพระอานนท์เถระ กล่าวคือ ไม่ว่าภิกษุหรือบุคคลทั่วไปต่างก็ชื่นชมเมื่อได้เห็นพระอานนท์ และรู้สึกยินดีเมื่อได้ฟังธรรมที่พระอานนท์สอน และรู้สึกพอใจในธรรมนั้น ในทางตรงกันข้าม แม้ภิกษุและคนทั่วไปไม่พอใจ พระอานนท์ก็เฉย ๆ ไม่หวั่นไหว เป็นต้น

9. เวทัลละ คือ คำสอนประเภทที่แจกแจงความหมายอย่างละเอียด ซึ่งอาจทำโดยการอธิบายขยายความ หรือโดยการวิเคราะห์ความหมายทางไวยากรณ์ เช่น อธิบายว่า เวทนามาจากกิริยาศัพท์ เวทิตา แปลว่า รู้สึก ซึ่งปรากฏอยู่ในมหาเวทัลลสูตร เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น