++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รายได้มากช่วยแก้ปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมได้จริงหรือ? โดย ประสาท มีแต้ม

รายได้มากช่วยแก้ปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมได้จริงหรือ?

โดย ประสาท มีแต้ม


นักการเมืองบางคนเคยกล่าวว่า “ภายในอายุของรัฐบาลนี้เงินในกระเป๋าของพี่น้องคนไทยจะมากขึ้นกว่าเดิม” พี่น้องจำนวนมากรู้สึกดีใจกับคำพูดนี้ มาถึงรัฐบาลชุดนี้ก็มีนโยบายเพิ่มรายได้มากมาย แต่คำถามที่เราไม่ค่อยได้คิดกันต่อไปก็คือ “ถ้าเรามีเงินมากขึ้นจริงตามที่นักการเมืองว่าแล้ว ชีวิตเราจะดีขึ้นจริงหรือแย่ลงกว่าเดิม?”

ผมพบผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งกำลังเป็นหนังสือขายดีในตลาดโลกมาตอบคำถามนี้ครับ ผมได้รับการแนะนำให้รู้จักหนังสือเล่มนี้โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ (เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ในวงเสวนาแห่งหนึ่งซึ่งคุณหมอบอกว่า ท่านอาจารย์ประเวศ วะสีแนะนำมาอีกทีหนึ่ง หนังสือชื่อ “The Spirit Level: Why Greater Equality Makes Societies Stronger” เขียนโดย Richard Wilkinson and Kate Pickett (ทั้งคู่เป็นศาสตราจารย์ทางระบาดวิทยาและสาธารณสุข) โดยสำนักพิมพ์ Bloomsbury Press เมื่อพฤศจิกายน 2553 (กำลังดำเนินการแปลในอีก 20 ประเทศ แต่ไม่มีประเทศไทยไชโย!)

ผมขอยืมหนังสือเล่มนี้มาพลิกดูประมาณ 10 นาที ผมรู้สึกชอบมาก จึงมาค้นหาจากอินเทอร์เน็ต ตามดูคำสัมภาษณ์ของผู้เขียน คำวิจารณ์ ตามดูคำบรรยายในยูทูป ฯลฯ แต่ยังไม่ได้อ่านฉบับเต็มซึ่งผมเชื่อว่าถึงมีการแปลเป็นภาษาไทยแล้วก็คงจะขายได้ยาก เพราะคนไทยไม่ชอบอ่านเรื่องที่ต้องคิดมาก ไม่ชอบมีกราฟเยอะแยะ ผมจึงถือโอกาสนี้นำบางส่วนบางประเด็นมาย่อยดังต่อไปนี้ครับ

ผู้วิจัยใช้ข้อมูลต่างๆ ของประเทศพัฒนาหรือประเทศร่ำรวยแล้ว 22 ประเทศ (มีญี่ปุ่น ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย อังกฤษ โปรตุเกส …สหรัฐอเมริกา) มาวิเคราะห์ แล้วก็พบความจริงที่น่าแปลกใจมาก ในที่นี้ผมขอนำเสนอเพียง 2 กราฟพร้อมคำอธิบายดังต่อไปนี้

ผู้วิจัยได้นำรายได้หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นพี) ต่อหัว มาเขียนกราฟกับดัชนีปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นคะแนน ถ้ามีปัญหาน้อยหรือคะแนนน้อยหมายความว่า “สภาพสังคมดี” ในขณะที่ปัญหามากหรือคะแนนมากหมายถึง “สภาพสังคมแย่”

ดัชนีปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมที่ว่านี้ได้แบ่งออกเป็น 10 ข้อ คือ (1) ความมีอายุยืน (2) ความรู้ทางคณิตศาสตร์และการอ่านออกเขียนได้ (3) การตายของทารกแรกเกิด (4) การฆ่ากันตาย (5) จำนวนนักโทษในคุกต่อประชากรแสนคน (6) การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น (7) ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (8) จำนวนผู้เป็นโรคอ้วน (9) อาการป่วยทางจิตซึ่งรวมถึงการติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์ และ (10) ความสามารถในการเลื่อนสถานะทางสังคม (social mobility) ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะหมายถึง เช่น ลูกชาวนาคนหนึ่งกลายเป็นนายแพทย์ เป็นต้น

สิ่งที่งานวิจัยนี้ค้นพบก็คือ คะแนนรวมของปัญหาทั้ง 10 ข้อของชุดข้อมูลใน 22 ประเทศ ไม่มีความสัมพันธ์กับรายได้ต่อหัวของประชากร กล่าวคือ เราไม่สามารถสรุปได้ว่า ประเทศที่มีรายได้มากหรือร่ำรวยกว่าแล้วปัญหาสุขภาพและสังคมจะน้อยกว่า

ผมขออนุญาตกล่าวนำถึงกราฟสักนิด จากกราฟพบว่าสหรัฐอเมริกามีรายได้ต่อหัวสูงที่สุด (ประมาณ 3.7หมื่นเหรียญ) แต่มีปัญหาสังคมมากที่สุดหรือ “แย่ที่สุด”

แต่ประเทศนอร์เวย์ซึ่งมีรายได้พอๆ กับอเมริกากลับมีปัญหาไม่ถึงครึ่งของอเมริกา (ข้อมูลนี้ทำก่อนเหตุการณ์ฆ่ากันตายอย่างน่าสลดใจหลายสิบศพเมื่อไม่นานมานี้) นักวิจัยเรียกลักษณะนี้ว่า “ไม่มีความสัมพันธ์หรือไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน”









ความเหลื่อมล้ำของรายได้วัดจากสัดส่วนระหว่างรายได้ของกลุ่มคนบนสุดกับกลุ่มคนล่างสุด ผลการศึกษาพบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีค่าความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด (คือ 3.4) สวีเดน (4.0) โปรตุเกส (8.0) สหรัฐอเมริกาสูงที่สุด (8.5) ในขณะที่สิงคโปร์ 9.5 และไทยประมาณ 13-15 เท่า (ไม่อยู่ในการศึกษานี้)

จากกราฟพบว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่า จะมีปัญหาสุขภาพและสังคมน้อยกว่า (หมายถึงสังคมดี) โดยที่ความสัมพันธ์มีลักษณะอย่างเดียวกันนี้ทุกประเทศจนถึงสหรัฐอเมริกาที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดและมีปัญหาสังคมมากที่สุดด้วย

ผู้วิจัยได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าคิดเกี่ยวกับญี่ปุ่นกับสวีเดน โดยสวีเดนเป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการใหญ่โตมาก มีจุดยืนเรื่องสิทธิสตรีสูงมาก ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าว แต่ทั้งสองประเทศมีปัญหาสังคมน้อยกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างชัดเจนทำไม?

สรุป การมีเงินมากขึ้นกว่าเดิมไม่สามารถแก้ปัญหา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น