++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทัศนคติเกี่ยวกับหลวงพ่อ ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม และธรรมะของศิษยานุศิษย์

ธรรมะหลวงพ่อเทียน

ทัศนคติเกี่ยวกับหลวงพ่อ
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม
และธรรมะของศิษยานุศิษย์
จากหนังสือ ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้

หลวงพ่อเทียน
ความมหัศจรรย์ในพระธรรมดา
นายแพทย์วัฒนา สุพรหมจักร
ถ้าท่านทั้งหลาย ได้พบกับหลวงพ่อเทียน ก็คงจะมีความเห็นคล้ายกันว่า
ท่านเป็นหลวงตาที่มีความสงบและพูดน้อย เช่นเดียวกับหลวงตาที่พบเห็นทั่ว ๆ
ไป แต่ถ้าได้สังเกตตัวท่านบ้าง ก็จะรู้สึกว่า ท่ามกลางความสงบนั้น
ท่านมีความตื่นตัว รู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา และเมื่อมีโอกาสซักถามปัญหาต่าง
ๆ ก็ได้ประสบกับความมหัศจรรย์ของหลวงตา
ผู้ที่เกือบจะเรียกได้ว่าไม่รู้หนังสือ
ที่เน้นสอนเรื่องสติอย่างเดียวมาตลอด ได้แสดงออกถึงปัญญาอันหลักแหลม
โดดเด่นในการตอบปัญหา แทบจะเรียกได้ว่า"เหลือเชื่อ"
สำหรับผู้ที่ไม่เคยผ่านการศึกษาเล่าเรียนในรูปแบบที่เรายอมรับและยกย่องกัน
จะสามารถตอบชี้แจงด้วยคำพูดที่ง่าย กระชับ
เต็มไปด้วยความหมายเข้าใจได้ชัดเจน หมดข้อสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเรียกขานท่านในชื่อใด สมญานามใดก็ตาม ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แต่สิ่งที่ท่านสอนหรือตอบนั้น แม้ในคำถามพื้น ๆ
ธรรมดาที่เราสงสัยก็เต็มไปด้วยคุณค่า
เปรียบได้ดังกับการจุดไม้ขีดไฟให้ความสว่างในความมืด
ทำให้เห็นหนทางหรือเกิดความสว่างในปัญญา
อันเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องการและแสวงหา ที่อยู่ท่ามกลางความมืด
ความไม่รู้ ความสงสัย ความไม่เข้าใจทั้งหลายไม่มากก็น้อย
คำตอบและข้อคิดเห็นต่อไปนี้ได้จากคำถามที่ข้าพเจ้า
และคณะแพทย์ผู้รักษามีความสงสัยได้ถามท่านในช่วงเวลา 5 ปีสุดท้าย
ขอบันทึกไว้เพื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง ทั้งนี้
ไม่ได้หวังเพื่อจะยกย่องเชิดชู
หรือชักจูงให้เลื่อมใสโดยปราศจากวิจารณญาณไตร่ตรอง
ซึ่งเป็นเอกสิทธิของแต่ละบุคคลที่เราพึงควรเคารพ
1) ศาสนา
หลวงพ่อกล่าวถึงศาสนาว่า "ศาสนาคือ คน"
เมื่อฟังหรืออ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจ จึงได้ถามท่านว่าศาสนา คือ "คน"
จริงหรือไม่ ท่านตอบว่า
"ศาสนาเป็นเพียงคำที่เราเรียก คำสอน คน โดย คน ที่ถือว่าเป็นผู้รู้
มีหลายอย่าง เวลาจะให้พูดเรื่องศาสนา
จะมีแต่ทำให้เกิดข้อสงสัยและโต้เถียงกัน ขอไม่พูด
แต่ถ้าอยากรู้ว่าความจริงของชีวิตเป็นอย่างไร จะเล่าให้ฟัง
เมื่อรู้แล้วจะหมดสงสัยในคำว่า 'ศาสนา'"
2) หลวงพ่อเทียนสอนแบบฉีกตำรา ?
ข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านว่า
คนทั่วไปย่อมยึดถือพระไตรปิฎกเป็นตำราในการศึกษาพุทธศาสนา
แต่เวลาหลวงพ่อสอนไม่ค่อยเห็นพูดถึงเลย ท่านให้ความเห็นว่า
"พระไตรปิฎกนั้นจารึกหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานหลายร้อยปีและคัดลอกต่อกันมานับพันปี
คนเขียนคงเขียนดีแล้ว แต่คนอ่านจะเข้าใจเหมือนคนเขียนหรือไม่ ยังสงสัย
ถ้าจะเอาแต่อ้างตำรา
ก็เหมือนกับว่าเราต้องรับรองคำพูดของคนอื่นซึ่งหลวงพ่อไม่แน่ใจ
แต่สิ่งที่เล่าให้ฟังนั้นขอรับรองคำพูดของตัวเองเพราะจากประสบการณ์จริง
ๆ"
"ตำราเปรียบเสมือนแผนที่
เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ทางไปหรือยังไปไม่ถึงจุดหมาย
ผู้ที่ไปถึงแล้วแผนที่ก็หมดความหมาย"
"พระไตรปิฎกเขียนด้วยภาษาอินเดีย
เหมาะสำหรับคนอินเดียหรือคนเรียนภาษาอินเดียอ่าน
แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เรื่องผูกขาดของคนใดคนหนึ่ง
เป็นเรื่องอยู่เหนือภาษา เชื้อชาติ เพศและเวลา
ถ้าเรารู้ธรรมะที่แท้จริงแล้วจะต้องรู้ และเข้าใจในภาษาของเราได้"
"การศึกษาพระไตรปิฎกนั้นดี แต่อย่าให้ติดและเมาในตัวหนังสือ
มะม่วงมีชื่อเรียกหลายอย่างหลายภาษา อย่ามัวแต่ถกเถียง ตีความ
หรือยึดถือว่าจะต้องเรียกอย่างไร แล้วปล่อยให้มันเน่า
ใครที่ได้กินมะม่วงก็ย่อมรู้ว่ารสมะม่วงเป็นอย่างนั้นเอง
ไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไรหรือไม่มีชื่อเลยก็ตาม"
3) เรื่องของพระอานนท์
ข้าพเจ้ามีความสงสัยตลอดมาว่า ทำไมพระอานนท์จึงไม่ได้เป็นพระอรหันต์ทั้ง
ๆ ที่ได้ยิน ได้ฟัง รู้คำสอนของพระพุทธเจ้ายิ่งกว่าใคร ๆ หลวงพ่อตอบว่า
"พระอานนท์รู้เรื่องพระพุทธเจ้ามากก็จริง แต่ยังไม่รู้จักตนเอง
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วได้เรียนรู้ตนเอง
จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์
4) ธรรมะไม่ใช่เสื้อผ้า
หลวงพ่อเคยกล่าวว่า ท่านเคยมีความเข้าใจผิด คิดว่าธรรมะเป็นสิ่งนอกกาย
เหมือนกับเสื้อผ้าที่จะต้องเสาะแสวงหามาห่อหุ้มสวมใส่
แท้ที่จริงแล้วธรรมะนั้นมีอยู่ในตัวเรานี่เอง
5) จริง สมมติ
ท่านกล่าวว่า คนมีอายุยืน มีความจำและความคิดมากกว่าสัตว์
ครั้นอยู่กันเป็นหมู่มาก จำเป็นต้องตั้งหรือสมมติกฎเกณฑ์ขึ้นมา
เพื่อให้มีความสงบสุขในสังคม เมื่อเวลาผ่านไป คนรุ่นหลังย่อมหลง
ยึดว่าสิ่งสมมตินั้นเป็นความจริง เมื่อมีคนบอกว่าสิ่งที่เขาว่าจริงนั้น
แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งสมมติ คนส่วนใหญ่จะไม่ยอมเชื่อ ซึ่งก็เป็นธรรมดา
"ที่เรียกว่าเงินนั้น ที่จริงแล้วเป็นกระดาษ
เมื่อใช้แล้วมีคนยอมรับจึงมีค่า เวลาไม่ยอมรับก็เป็นเพียงกระดาษ
ในสังคมปัจจุบัน เราใช้เงินเป็นตัวกลางเพื่อแลกเปลี่ยน ชีวิตใด
ครอบครัวใดไม่มีเงิน จะอยู่ได้ด้วยความเดือดร้อน
เงินซื้อความสะดวกและความพอใจได้ แต่ซื้อความหมดทุกข์ไม่ได้
6) คนรักษาศีล หรือ ศีลรักษาคน
ทำไมจึงต้องคอยรักษาศีล เหมือนรักษาแก้วไม่ให้มันแตก
ทำไมเราจึงไม่ประพฤติปฏิบัติตัวให้มีศีลเล่า
ศีลจะได้รักษาเราแล้วจะได้ไม่ห่วงคอยรักษาศีล
7) การปฏิบัติธรรม
เคยถามท่านว่าทำไมการสอนและการปฏิบัติธรรมจึงมีความแตกต่างกันไปตามสำนักต่าง
ๆ ทั้ง ๆ ที่มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน ท่านตอบว่าเรื่องนี้เป็นธรรมดา
แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีคนกล่าวว่ามีตั้ง 108 สำนัก
แต่ละแห่งก็ต้องว่าของตัวถูกต้อง อีก 107 แห่งเป็นมิจฉาทิฐิ
ตัวเราเองจะต้องเป็นคนไตร่ตรองพิจารณาเอง การที่เป็นคนเชื่อง่าย
หรือเป็นคนเชื่อยากไม่ฟังคนอื่น ต่างก็ไม่ดีทั้งนั้น
ถ้าการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ทุกข์หมดไป ถือว่าได้ สำหรับเรื่องธรรมะนั้น
คนที่รู้ธรรมะที่แท้จริงจะต้องรู้อย่างเดียวกัน"
เมื่อมีคนถามถึงการปฏิบัติธรรมะในรูปแบบอื่น ๆ ว่าดีหรือไม่ท่านกล่าวว่า
"ดีของเขา ไม่ใช่ดีของเรา"
8) ทำดี ทำชั่ว
เคยถามท่านว่า มีคนสงสัย ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่ ท่านให้ความเห็นว่า
"ดีชั่วเป็นเรื่องของสังคมกำหนด ดีในที่หนึ่ง อาจจะเป็นชั่วอีกที่หนึ่ง
เราควรจะพูดให้เข้าใจใหม่ว่า ทำดีมันดี ทำชั่วมันชั่ว"
9) การศึกษาธรรมะ
ท่านเคยกล่าวถึงการศึกษาธรรมะว่า"การศึกษาธรรมะเพียงเพื่อเอาไว้พูดคุย
ถกเถียงกันนั้น ได้ประโยชน์น้อย เราต้องนำมาใช้และปฏิบัติให้ถึงที่สุด
จะได้ประโยชน์มากกว่า"
10) เรื่องของพระพุทธเจ้า
เคยมีการกล่าวถึงปัญหาพระบรมสารีริกธาตุ
ว่าเป็นแก้วผลึกหรือเป็นเพียงกระดูกที่ไฟเผา เมื่อได้ขอความเห็น
ท่านกลับตอบว่า
เรื่องของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เรื่องของเรา
เรื่องของเราไม่ใช่เรื่องของพระพุทธเจ้า
แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้จักเรื่องของเรา
เมื่อรู้เรื่องตัวเองดีแล้ว ถึงพระพุทธเจ้าจะเสด็จมาหรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหา"
11) การเชื่อ
หลวงพ่อได้กล่าวอยู่เสมอว่า
เราไม่ควรด่วนเชื่อทันทีและไม่ควรปฏิเสธทันทีเช่นกัน
ควรพิจารณาไตร่ตรองให้ดีหรือทดลองเสียก่อน จึงจะเชื่อหรือไม่เชื่อ
ในพุทธประวัติก็มีตัวอย่าง เช่น องคุลีมาลเป็นคนที่เชื่อง่าย
อาจารย์สั่งให้ฆ่าคนตั้งมากมายก็ยังทำ หรือเมื่อปริพาชกพบพระพุทธเจ้า
ทั้ง ๆ ที่พระองค์มีลักษณะน่าเลื่อมใส
แต่ก็ไม่เชื่อว่าพระองค์ตรัสรู้ได้ด้วยตัวเองจึงหลีกไป
ไม่มีโอกาสได้ศึกษาจากพระพุทธเจ้า
12) การศึกษาทำให้คนดี ชั่วจริงหรือไม่ ?
เคยถามว่า ทำไมผู้ที่เคยบวชเรียนมามาก
บางคนเมื่อสึกไปแล้วกลับประพฤติตัวเหลวไหลยิ่งกว่าชาวบ้านที่ไม่เคยบวชเรียนเลย
หลวงพ่อตอบว่า
"คนเหล่านั้นเรียนแต่ตัวหนังสือ ไม่เคยเรียนรู้ตัวเอง"
13) ปัญหาปลีกย่อย
หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า
คนจำนวนไม่น้อยที่มาหาท่านแล้วถามแต่ปัญหาปลีกย่อย เช่น
ทำบุญเช่นนี้ได้บุญแค่ไหน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ฯลฯ
มีน้อยครั้งที่จะมีคนถามว่า พุทธศาสนาสอนอย่างไร จะเอาไปใช้ได้อย่างไร
หรือ ที่จะทำให้ทุกข์น้อยลงควรทำอย่างไร
ครั้นจะให้หลวงพ่อถามเองตอบเองก็ดูกระไรอยู่
14) หนา
ข้าพเจ้าเคยนิมนต์ท่านให้ไปสอนผู้ที่เคารพนับถือคนหนึ่ง
ที่ติดและเลื่อมใสในการทำบุญตามประเพณีมาก
เมื่อได้ถามท่านหลังจากที่ท่านกลับมาแล้ว ท่านตอบว่า
"โยมคนนี้เป็นคนหนา เราเคยอ่านพุทธประวัติหรือไม่
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ ก่อนที่จะไปโปรดปัญจวัคคีย์
พระองค์ได้ระลึกถึงอุทกดาบสและอาฬารดาบส
แต่แล้วก็ทราบว่าท่านทั้งสองได้ตายเสียแล้ว หลวงพ่อสงสัย
ว่าพึ่งจากกันไม่นานจะตายทางร่างกายหรือไม่นั้นยังสงสัย แต่ที่ตายแน่ ๆ
คือ ความคิด"
15) หลงในความคิด
หลวงพ่อเคยกล่าวว่า คนเรานั้นคิดอยู่เสมอเหมือนกระแสน้ำ
การหลงติดกับความคิดก็เหมือนการตักน้ำมาเก็บไว้ แต่ถ้ามีสติรู้เท่าทัน
ความคิดนั้น ๆ ก็เหมือนกับน้ำที่ไหลมา แล้วก็ผ่านไป
การหลงติดในความคิดทำให้เกิดทุกข์
16) ทำตามใจคนอื่น
เคยถามหลวงพ่อว่า คนเดี๋ยวนี้มีการศึกษาก็มาก
แต่ทำไมจึงยังแก้ทุกข์ไม่ได้ ท่านตอบว่า
"คนส่วนใหญ่ทำตามใจคนอื่น ไม่ทำตามใจตัวเองจึงเป็นเช่นนี้"
17) สมณศักดิ์
เคยถามท่านว่าสมัยพระพุทธเจ้าไม่มีสมณศักดิ์
แต่ทำไมปัจจุบันในเมืองไทยจึงมีมากนัก ดีหรือไม่ ท่านตอบว่า
"สมณศักดิ์เป็นเรื่องของสังคม จะเรียกว่าดีก็ได้
หรือไม่ดีก็ได้แต่เราอยู่ในสังคมของเขา"
18) อดีต ปัจจุบัน อนาคต
ท่านกล่าวอยู่เสมอว่า อดีตผ่านไปแล้วแก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง
มีแต่ปัจจุบันนี้ที่เรายังทำอะไรได้ ถ้าทำดีวันนี้
วันนี้ก็จะเป็นอดีตที่ดีของวันพรุ่งนี้
และในวันพรุ่งนี้ก็จะเป็นอนาคตที่ดีของวันนี้ที่ทำดีแล้ว
จะไปห่วงอะไรกับสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ และสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
ที่แก้ทุกข์ในปัจจุบันนี้ไม่ได้
19) พระเวสสันดร
เคยเรียนถามว่าเรื่องพระเวสสันดร ซึ่งเป็นตัวอย่างทานบารมี
แต่ดูคล้ายกับว่าเป็นคนไม่รับผิดชอบต่อ บุตร ภรรยา
การให้ทานเช่นนี้ทำให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าจริงหรือ ท่านตอบว่า
เรื่องพระเวสสันดรเป็นเรื่องเล่าต่อกันมา ถ้าเราคิดว่าจริง
เราควรบริจาคทานภรรยาและลูกของเราเอง ให้แก่กรรมกรหรือชาวนา
ไปช่วยเขาทำงาน แล้วเราก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้า
ถ้าจะเปรียบเทียบใหม่ว่าสิ่งที่ติดตัวเรา ผูกพันเหมือนบุตร ภรรยา ก็คือ
ความโลภ ความโกรธและความหลง เราบริจาคหรือท่านสิ่งนี้ไปเสีย
จะพอเข้าใจได้ไหม"
20) อริยบุคคล
หลวงพ่อกล่าวว่า
"ในทางร่างกาย อริยบุคคลกับคนธรรมดานั้นไม่ต่างกัน
มีแต่เรื่องจิตใจเท่านั้นที่อริยบุคคลดีกว่า เหนือกว่าบุคคลธรรมดา"
21) บุญ
เมื่อข้าพเจ้าถามท่านว่า "ทำบุญได้บุญจริงหรือ"
ท่านได้ถามว่า "เข้าใจว่าบุญเป็นอย่างไร"
เมื่อเรียนให้ท่านทราบว่า บุญนั้นเข้าใจว่าเป็นผลดี ตอบแทนเมื่อเราตายไปแล้ว
ท่านถามว่า" เคยฟังพระสวดอานิสงส์การทอดกฐินหรือไม่
ที่ว่าจะได้ฌานและนางฟ้าเป็นบริวารห้าร้อยองค์ หรือพันองค์
จงคิดดูว่าวัดในเมืองไทยมีกี่วัด ถ้ามีการทอดกฐินทุกวัด
ทุกปีจะไปหานางฟ้าที่ไหนมาให้จึงจะพอ
เราคิดว่าพระเป็นเสมือนพนักงานธนาคาร ที่คอยคิดดอกเบี้ยให้
เวลาเราตายอย่างนั้นหรือ"
ข้าพเจ้าได้ถามท่านต่อว่า"
ถ้าเช่นนั้นการทำบุญด้วยวัตถุอย่างที่เป็นอยู่ทั่วไปนั้น
ท่านเห็นเป็นอย่างไร"
ท่านตอบว่า
"การทำบุญด้วยวัตถุก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เป็นเพียงข้าวเปลือก เอาไว้ทำพันธ์
เวลาเราจะกินให้ได้ประโยชน์ ต้องกินข้าวหุงหรือข้าวนึ่งสุก
ไม่ใช่ข้าวสารหรือข้าวเปลือก
การหลงติดอยู่กับการทำบุญด้วยวัตถุอย่างงมงาย
เป็นความหลงที่อยู่ในความมืด ที่เป็นสีขาว"บุญเหนือบุญก็คือ
การรู้จักตัวเอง ไม่มีทุกข์นี้แหละ
22) บังสุกุล
เคยถามท่านว่า" เวลาเราบังสุกุลให้ผู้ตาย เขาได้หรือไม่ ท่านตอบ ว่า
"การบังสุกุลเป็นเพียงประเพณีที่คนอยู่ทำขึ้น
เนื่องจากยังห่วงใยในคนที่ตายไปแล้ว ที่ว่าคนตายจะได้หรือไม่ ยังสงสัย
แต่ผู้ที่ได้แน่ ๆ คือพระ เราคิดว่าพระทำหน้าที่แทนบุรุษไปรษณีย์ได้หรือ
?"
23) นักศึกษา
หลวงพ่อเคยเปรียบเทียบว่า คนที่ได้รับการศึกษานั้นมี 2 จำพวก
พวกแรก เป็นผู้ที่รู้แจ้ง หรือรู้จริง เป็นบัณฑิต พูดแล้ว เข้าใจได้เลย
อีกพวกหนึ่ง เป็นเพียงผู้รู้จักและรู้จำ ซึ่งเวลาพูดจะพูดมาก
คำพูดอ้อมค้อมฟุ่มเฟือย หรือไม่ก็อ้างตำรามากมาย
เพื่อชักจูงให้คนเชื่อทั้งนี้ เพราะตัวเองไม่รู้จริง
24) แสงตะเกียง
ในระยะหลัง ๆ ที่หลวงพ่อสุขภาพไม่ค่อยดี
ภรรยาของข้าพเจ้าได้ปรารภกับท่านด้วยความเป็นห่วงเรื่องการสอนธรรมะ
หลังจากที่ท่านจากไปแล้ว ว่าจะเป็นอย่างไรนั้น ท่านตอบว่า
เรื่องนี้อย่าเป็นห่วงเลย
ตราบใดที่ยังมีคนอยู่ก็จะมีคนรู้ธรรมะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
เพราะธรรมะไม่ใช่เรื่องผูกขาดเป็นของส่วนตัว ธรรมะมีมาก่อนสมัยพุทธกาล
แต่พระพุทธเจ้าเป็นคนแรกที่ทรงนำมาสอนและเผยแพร่
คนที่รู้ธรรมะนั้นเปรียบได้เหมือนกับตะเกียงที่จุดสว่างขึ้นในความมืด
คนที่อยู่ใกล้จะเห็นชัด คนที่อยู่ไกลก็เห็นชัดน้อยลง
สักพักหนึ่งตะเกียงจะดับไปและจะมีการจุดตะเกียงให้สว่างขึ้นอีกเป็นครั้งคราว
25) ลูกศิษย์หลวงพ่อ
เมื่อได้เรียนถามท่านว่า มีลูกศิษย์ท่านใดบ้างที่คิดว่าเป็นอย่างหลวงพ่อ
ท่านตอบว่า
เรื่องนี้เป็นเรื่องของจิตใจ เราหยั่งถึงจิตใจคนอื่นได้ยาก
แต่คำพูดที่พูดออกมานั้น เราเข้าใจกัน
26) เรียนกับใคร
ในการเข้ารักษาตัวครั้งสุดท้ายที่โรงพยาบาลสมิติเวช ท่านปรารภว่า
การเจ็บป่วยคราวนี้เป็นเรื่องที่หนัก
ท่านเองก็ได้แต่เฝ้าดูลมหายใจของตนเองว่า จะหยุดเมื่อใด
ข้าพเจ้าจึงได้ถามตรง ๆ ว่า
เมื่อสิ้นหลวงพ่อแล้วจะแนะนำให้ศึกษาธรรมะกับใคร จึงจะได้ผลดีที่สุด
ท่านตอบว่าจงศึกษาธรรมะจากตัวเอง ดูจิตใจตัวเองดีที่สุด
27) เชือกขาดเป็นอย่างไร
เมื่อได้อ่านประสบการณ์ของท่านที่กล่าวว่า
ในช่วงสุดท้ายมีความรู้สึกเหมือนเชือกขาดจากกันนั้น เข้าใจได้ยาก
ท่านได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
"คำพูดเป็นเพียงการสมมุติว่าเสียงนั้น ๆ หมายถึงอะไร
มันไม่มีคำพูดที่จะอธิบายภาวะดังกล่าว
ถ้าเราเอาสีขาวกับสีดำซึ่งห่างกันเพียง 1 เซนติเมตร ค่อย ๆ ผสมให้กลืนกัน
ตรงกลางเราเรียกสีเทาใช่ไหม แต่ถ้าหากสองสีนี้ห่างกัน 10 เมตร
แล้วให้สีทั้งสองค่อย ๆ กลืนกัน จะให้อธิบายว่า จุด ๆ
หนึ่งระหว่างนั้นเรียกว่าสีอะไร มันไม่มีคำพูดจะกล่าวให้เข้าใจ
ต้องรู้เห็นเอง
"เคยเห็นเมฆหน้าฝนไหม เนื่องดูคล้ายเป็นรูปเงาต่าง ๆ
แต่ถ้าเรานั่งเครื่องบินเข้าไปอยู่ในก้อนเมฆนั้น ๆ
เราไม่เห็นอย่างที่เห็นก่อนเข้ามาดอก ภาวะดังกล่าวไม่มีคำพูดที่จะอธิบาย
มันอยู่เหนือตัวหนังสือ
การประมาณคาดคะเนหรือความเข้าใจไปเองว่าจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้
ต้องรู้เองเห็นเอง"
28) ผู้ที่เข้าใจท่านพูด
เคยถามท่านถึงจำนวนผู้ที่เข้าใจหลังจากที่ได้แสดงธรรมะ
หรืออบรมว่ามีสักเท่าใด ท่านตอบว่า
"คงจะได้สัก 10-15% เรื่องนี้เป็นธรรมดา คนที่พร้อมจึงจะเข้าใจได้
คนส่วนใหญ่ยังติดทางทำบุญ"
29) พระกราบโยม
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านไปประเทศลาว
ได้รับนิมนต์ไปสวดต่ออายุให้แม่ของชาวบ้าน หลวงพ่อไม่สวด
เขาภาพเขาจึงไม่ถวายจตุปัจจัย
แต่หลวงพ่อได้ชี้แจงเรื่องการต่ออายุพ่อแม่ว่า ต้องพระทำดีต่อพ่อแม่
ไม่ใช่เพียงแต่มีการสวดมนต์แล้วหวังจะให้พ่อแม่มีอายุยืน และได้พาลูก ๆ
กราบพ่อแม่เป็นครั้งแรกตามท่าน
ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ฮือฮากันว่าผิดประเพณี ไม่เคยเห็นพระกราบโยม
ซึ่งหลวงพ่อกล่าวว่า
"ที่อาตมาพาลูกกราบแม่ตามอาตมานั้น อาตมาไม่ได้กราบโยม
แต่อาตมากราบตัวเอง ที่สามารถสั่งสอนคนให้เข้าใจได้ว่า
การต่ออายุที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร"
30) วิปัสสนาแล้วเป็นบ้า?
ได้เรียนถามท่านว่า การนั่งวิปัสสนาทำให้คนเป็นบ้า
ตามที่มีจิตแพทย์บางคนกล่าว จริงหรือ ท่านตอบว่า
"คนที่ไม่รู้จักจิตใจตัวเองนั่นแหละคือคนบ้า
การนั่งวิปัสสนาเป็นการศึกษาให้รู้จักจิตใจตัวเอง
ถ้านั่งแล้วเป็นบ้าไม่ใช่วิปัสสนา"
31) นิพพาน
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เคยถามโยมผู้ที่เคยอธิษฐานหลังการทำบุญว่า
ขอให้อานิสงส์ การทำบุญทำให้เขาเข้าถึงนิพพานในอนาคตกาลด้วยนั้น ว่า
"โยมเข้าใจว่าจะไปถึงนิพพานเมื่อใด"
ชาวบ้านตอบว่า" เมื่อตายไปแล้ว"
ท่านถามต่อว่า" อยากไปถึงนิพพานจริง ๆ หรือ"
ชาวบ้านก็ตอบว่า" อยากไปถึงจริง ๆ"
ท่านจึงพูดว่า "ถ้าเช่นนั้นโยมควรตายเร็ว ๆ จะได้ไปถึงนิพพานไว ๆ"
ชาวบ้านตอบด้วยความงงว่า" ยังไม่อยากตาย
ท่านจึงชี้แจงให้ฟังวา" นิพพานก็อยากไป แต่ทำไมไม่อยากตายเร็ว นี่โยมเข้าใจผิดแล้ว
พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้คนไปนิพพานเมื่อตายแล้ว แต่สอนคนเป็น ๆ
ให้ไปถึงนิพพานขณะที่มีชีวิตอยู่
32) อธิษฐาน
ข้าพเจ้าเคยถามท่านว่า ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ
หลังจากได้ฉันอาหารของนางสุชาดา แล้วได้ลอยถาด ปรากฏว่าลอยทวนกระแสน้ำ
ซึ่งดูผิดธรรมชาติ ท่านมีความเห็นอย่างไร ท่านชี้แจงว่า
"ของทุกอย่างย่อมลอยตามกระแสน้ำ
เรื่องนี้เป็นการทวนกระแสความคิดที่มีอยู่เป็นอยู่
เวลาเราคิดย้อนกลับขึ้นไปบ้าง ก็จะรู้ความจริงว่าเป็นอย่างไร"
33) ทุกข์
เคยมีคนถามท่านว่า ทุกข์คืออะไร
ท่านได้เอาของใส่มือให้กำไว้แล้วคว่ำมือลงและแบมือ
ท่านได้ชี้ไปที่ของซึ่งหล่นจากมือไปสู่พื้นว่า
"นี่คือทุกข์"
ผู้ถามก็เข้าใจทันทีว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่เราสร้างสมมติขึ้นและยึดถือไว้
ปล่อยวางได้ ท่านไว้กล่าวถึงผู้ที่เข้าใจโดยเร็วนี้ว่า
"เป็นผู้มีปัญญา"
34) บวช-สึก
เมื่อข้าพเจ้าได้ผ่าตัดกระเพาะอาหารท่านออกเกือบหมด
และได้แนะนำให้ท่านฉันอาหารจำนวนน้อย แต่บ่อย ๆ ท่านเคยปรารภว่า
ท่านปฏิบัติเช่นนี้ วินัยหย่อน จะมีคำครหาได้ อยากไปขอสึก
เพราะท่านจะเป็นพระหรือไม่ ก็ไม่ต่างกัน จิตใจของท่านไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว
35) รู้จักหลวงพ่อเทียนไหม ?
ท่านเคยเล่าให้ฟังเมื่อตอนที่ท่านกำลังคอยรับการฉายรังสีที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
มีคนถามท่านว่า "หลวงพ่อรู้จักหลวงพ่อเทียนไหม"
ท่านตอบว่า "พอรู้จักบ้าง"
หลังจากที่ได้พูดคุยเรื่องธรรมะกับท่านแล้ว คนนั้นก็สงสัยจึงถามอีกว่า
"ท่านคือหลวงพ่อเทียนใช่ไหม"
"หลวงพ่อจึงตอบว่า "ใช่"
36) คนตายทำประโยชน์ได้น้อย
ท่านได้พูดถึงการศึกษาปฏิบัติธรรมะว่า ควรทำตอนชาตินี้ ไม่ควรคอยตอนตายแล้ว
"คนตายแล้วทำประโยชน์ได้น้อย คนเป็นทำประโยชน์ได้มากกว่า
37) หินกับหญ้า
ข้าพเจ้าเคยถามเรื่องการนั่งสมาธิหรือกรรมฐานว่าเป็นอย่างไร ท่านตอบว่า
"การนั่งสมาธิมีมาก่อนสมัยพุทธกาล ทำให้เกิดความสงบชั่วคราว
เมื่อออกมาจากสมาธิก็ยังมีความโลภ โกรธ หลงอยู่ จิตใจไม่เปลี่ยน
เปรียบเหมือนกับหินกับหญ้า แม้หญ้าจะฝ่อลง เมื่อหญ้าต้องแสงอาทิตย์
หญ้าก็งอกขึ้นมาอีก ต่างกับวิปัสสนาที่ทำให้เกิดปัญญา
จิตใจเปลี่ยนแปลงดีขึ้น"
38) พระเครื่อง
ก่อนที่จะทราบว่าท่านเป็นใคร
ข้าพเจ้าได้พบท่านในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังสนใจพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง
ได้เอาพระนางพญาพิษณุโลกมาอวด
เพื่อที่จะได้ถือโอกาสขอพระเครื่องจากท่านโดยอวดว่า
พระนางพญาพิษณุโลกนี้เป็นพระเครื่องที่เก่าแก่สร้างมาตั้ง 700 ปีแล้ว
ท่านถามว่า
"พระองค์นี้ทำจากอะไร"
เมื่อข้าพเจ้าตอบว่า ทำจากเนื้อดินเผา แกร่งสีเนื้อมะขามเปียกมีแร่ต่าง ๆ
ปรากฏอยู่เต็ม ท่านตอบด้วยความสงบว่า
"ดินนั้นเกิดมาพร้อมกันตั้งแต่สร้างโลก
พระองค์นี้ไม่ได้เก่าแกไปกว่าดินที่เราเหยียบก่อนเข้ามาในบ้านนี้หรอก"
เพียงประโยคเดียวที่ทำให้ข้าพเจ้าถอดพระเครื่องออกจากคอได้อย่างมั่นใจที่สุด
มีคนถามท่านว่าแขวนพระดีหรือไม่ ท่านตอบว่า
ดี แต่มีสิ่งที่ดีกว่าแขวนพระจะเอาไหม"
ในโอกาสหนึ่งมีคนถามเรื่องเครื่องรางของขลังของเขาว่ามีอานุภาพตามที่เล่าลือหรือไม่
ท่านถามว่า "คนทำตายหรือยัง"
เมื่อตอบว่าคนที่ทำได้ตายแล้วเพราะเป็นของมรดกตกทอดกันมา ท่านจึงตอบว่า
"คนที่ทำยังตายเลย แล้วเราจะหวังสิ่งนี้ ช่วยไม่ให้เราตายได้อย่างไร"
39) มงคล
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยถูกนิมนต์ไปเพื่อสวดมงคลในบ้านหลังหนึ่ง
ท่านขอร้องให้เอากาละมังขนาดใหญ่ใส่น้ำ เพื่อจะทำน้ำมนต์แทนบาตร
หลังจากท่านได้ทำให้แล้ว แทนที่จะพรมน้ำมนต์ให้
ท่านกลับเอาน้ำมนต์ในกาละมังสาดไปทั่วบ้านแล้วบอกว่า
"ช่วยกันเก็บช่วยกันถู อันนี้แหละเป็นมงคล
การที่เราใช้น้ำมนต์ประพรมตัวเรา อาจจะแพ้ลูกไม้ใบหญ้าที่ใส่ไว้ในน้ำมนต์
มีอาการผื่นคันขึ้นมา ต้องเปลืองเงินทองซื้อหยูกยารักษาอีก
แล้วมันจะเป็นมงคลได้อย่างไร"
40) ทำไมจึงแสวงหาธรรมะ
ข้าพเจ้าเคยเรียนถามท่านว่า ท่านมีความบันดาลใจอย่างไรจึงแสวงหาธรรมะ
ท่านตอบว่า ท่านเคยทำบุญทำทานมาตลอด ทอดกฐินอยู่เสมอ
ครั้งสุดท้ายในงานทอดกฐิน ท่านได้มีปัญหาในเรื่องที่จะทำบุญกับคนในบ้าน
ท่านจึงคิดว่า ทั้ง ๆ ที่ท่านทำบุญให้ทานก็มากแล้ว
ทำไมจึงยังมีความทุกข์เกิดขึ้นได้อีก
ท่านจึงตัดสินใจที่จะแสวงหาธรรมะที่จะพ้นทุกข์ได้ตั้งแต่บัดนั้น
41) ทำไมจึงบวช
ตามที่ทราบ ท่านได้รู้ธรรมะตั้งแต่เป็นฆราวาส ทำไมท่านจึงบวชท่านตอบว่า
"พระภิกษุ เป็นสมมุติสงฆ์ การบวชทำให้สอนคนได้ง่ายขึ้น
42) กราบผ้าเหลือง
ข้าพเจ้าเคยกล่าวกับท่านว่า เราเองไม่ทราบว่าพระองค์ไหนจะเป็นพระแท้ หรือ
เป็นเพียงกาฝากของศาสนา เพียงเห็นผู้ที่โกนศีรษะ ห่มผ้าเหลืองก็กราบแล้ว
ท่านให้ความเห็นว่า
"ถ้าหากจะกราบเพียงผ้าเหลือง เวลาผ่านไปแถวเสาชิงช้า
มิต้องกราบตามสถานที่ขายเครื่องพระ ตั้งแต่หัวถนนจดท้ายถนนหรือ"
43) การไม่กินเนื้อสัตว์
เคยเรียนถามท่านว่า
การไม่กินเนื้อสัตว์ทำให้การปฏิบัติธรรมะดีขึ้นหรือไม่ ท่านตอบว่า
"การที่จะรู้ หรือปฏิบัติธรรมะ ไม่ได้ขึ้นกับการกินอะไรหรือไม่กินอะไร
ดูอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งอย่าว่าแค่เนื้อเลย
แม้กระทั่งอดข้าวอดน้ำจนเกือบตาย ก็ยังไม่รู้ธรรมะ
เรื่องนี้เป็นเรื่องของปัญญา"
44) ศาลพระภูมิ
เมื่อข้าพเจ้าได้ถามถึงเรื่องเจ้าที่ ศาลพระภูมิว่ามีอิทธิฤทธิ์
ให้คุณให้โทษแก่เจ้าของบ้าน จริงหรือไม่ ท่านตอบว่า
"จงคิดดู ถ้าเจ้าที่นั้นมีอิทธิฤทธิ์จริงแล้ว
ทำไมจึงไม่เนรมิตบ้านอยู่เอง เนรมิตอาหารกินเอง
ทำไมจึงต้องคอยให้คนสร้างให้ หรือคอยอาหารเซ่นไหว้ซึ่งน้อยนิดเดียว
จะกินอิ่มหรือ"
45) ทำงานอย่างมีสติ
หลวงพ่อกล่าวอยู่เสมอว่า
"คนเรามีหน้าที่ ที่จะต้องทำในสังคมที่ตนอยู่ เป็นธรรมดา
การปฏิบัติหน้าที่โดยมีสติ จะได้ผลงานที่สมบูรณ์"
46) ติดสมาธิ
ท่านเคยกล่าวเตือนว่า
"การที่ติดอยู่กับรูปแบบของสมาธิ จะเป็นวิธีใดก็ตาม
เหมือนกับการนั่งเรือข้ามฟาก แล้วไม่ยอมขึ้นจากเรือ ทั้ง ๆ
ที่เรือถึงฝั่งตรงกันข้ามแล้ว เพราะยังหลงสนใจในตัวเรือ เครื่องเรืออยู่"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น