ท่านอาจารย์คเวสโก ตอบปัญหา 108
ถาม
ตามที่พระอาจารย์สอนว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
อยากทราบว่า เมื่อทำความดีแล้วจะเป็นการลบล้างความผิดที่เคยทำได้หรือไม่
ตอบ
ตามหลักกฎแห่งกรรมแล้วก็ลบล้างกันไม่ได้
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
อย่างไรก็ตาม บางครั้งจากประสบการณ์ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า
กรรมดีลบล้างกรรมชั่วได้
เรื่องนี้อธิบายได้ว่า กรรมชั่วเปรียบเหมือนเกลือ
กรรมดีเปรียบเหมือนน้ำในภาชนะ
เมื่อทำกรรมชั่วแล้ว ทำกรรมดีให้มากๆ
ความดีเปรียบเหมือนน้ำที่เพิ่มขึ้นๆ
เกลือที่มีอยู่เท่าเดิมก็ย่อมถูกน้ำทำให้เจือจางไป
หรือเมื่อทำกรรมดีมากๆ ผลแห่งความดีจะออกผลก่อน
กรรมชั่วที่ยังไม่ได้ออกผลก็อาจจะหมดกำลังไปก่อน
เหมือนกับว่าได้รับอโหสิกรรมไป
หรือหากพิจารณาในทางโลก คดีความต่างๆ ก็มีอายุความ
โดยเฉพาะหากไม่ใช่ความผิดร้ายแรง
ก็ไม่ต้องได้รับโทษมาก
หากถูกลงโทษจำคุก เมื่ออยู่ในเรือนจำแล้ว
มีความประพฤติดีก็ได้รับอภัยโทษ
ได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น
หรือยกตัวอย่าง เช่น สมัยเป็นเด็กเคยทำความผิด เช่น เสพยาเสพติด ทำให้พ่อแม่เสียใจ แต่เมื่อสำนึกได้แล้ว กลับตัวเป็นคนดี พ่อแม่ก็ให้อภัย
เมื่อทำความดีสม่ำเสมอ
พ่อแม่ก็รู้สึกสบายใจขึ้นและสามารถไว้วางใจในตัวลูกได้ เป็นต้น
ดังนั้นแม้เมื่อทำกรรมชั่วแล้ว จะลบล้างด้วยการทำกรรมดีไม่ได้ก็จริง
แต่ก็สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้
จาก ชงโค [๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๙ 12:12:38]
นอกจากนี้ หากเปรียบกรรมชั่วเป็นเกลือ
เกลือในปริมาณเล็กน้อยก็ช่วยปรุงรสน้ำตาล
หรือเปลี่ยนผลไม้รสเปรี้ยวให้มีรสชาติหวานขึ้น
ถือเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน
เช่น บางคนสมัยเป็นวัยรุ่นเคยติดยาเสพติด
เมื่อเห็นโทษสำนึกได้แล้วก็พยายามเลิก
กลับตัวกลับใจหันมาสร้างกรรมดี
และสามารถเอาประสบการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อเตือนสติตนเอง
และสอนผู้อื่นได้
บางครั้งก็สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ให้คำแนะนำแก่ผู้อื่น
ทำตัวเป็นประโยชน์แก่สังคมได้ก็มีมาก
จาก ชงโค [๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๙ 12:13:50]
อย่างไรก็ตาม หากว่ากรรมชั่วที่ทำเป็นกรรมหนักก็ต้องรับวิบากกรรม
ตัวอย่าง เช่น ยกกรณีของพระโมคคัลลานะ มาพิจารณา
ขนาดสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า
ช่วยพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่ประกาศธรรมวินัยมาหลายปี
เป็นเอตทัคคะผู้เป็นเลิศในการแสดงปาฏิหาริย์ก็ตาม
ในอดีตชาติเคยทำกรรมหนัก เรียกว่าอนันตริยกรรม
คือฆ่าพ่อแม่ ทำให้ต้องตกนรกมาหลายชาติ
จนในชาติสุดท้ายแม้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังได้รับผลของกรรมชั่ว
ถูกโจร 500 คน จะทำร้าย
ท่านรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าก็ใช้อิทธิฤทธิ์หนีไป
หนีอยู่หลายครั้งประมาณ 3 เดือน
ท่านก็พิจารณาถึงเหตุ
จึงทราบว่าเป็นวิบากกรรมของท่าน
เป็นกฎแห่งกรรมที่หนีไม่พ้น
และท่านก็หมดอายุขัยแล้ว
ท่านจึงปล่อยให้โจรทำร้ายทุบจนกระดูกแตกไปทั้งร่าง
ฝ่ายโจรเข้าใจว่าท่านตายแล้วก็นำร่างของท่านไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้
จาก ชงโค [๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๙ 12:15:19]
พระโมคคัลลานะเถระคิดว่า “เราควรไปกราบทูลลาพระพุทธเจ้าก่อนจึงปรินิพพาน”
คิดดังนี้แล้วก็เยียวยารักษาอัตภาพร่างกายประสานกระดูกด้วยกำลังฌาณ
เหาะมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้วกราบทูลลาปรินิพพาน
พระพุทธองค์ตรัสถามว่า
“โมคคัลลานะ เธอจะปรินิพพานที่ไหน เมื่อไร?”
“ข้าพระองค์ จะนิพพานที่กาฬศิลาในวันนี้พระเจ้าข้า”
“โมคคัลลานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสดงธรรมแก่ตถาคตก่อน ด้วยว่าการได้เห็นพระเถระเช่นเธอนี้ จะไม่มีอีกแล้ว”
พระเถระได้รับพระพุทธบัญชาเช่นนั้น
จึงทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบนอากาศแสดงพระธรรมเทศนา
แล้วลงมาถวายอภิวาทกราบทูลลาไปยังกาฬศิลา และปรินิพพาน ณ ที่นั้น
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย
ทรงเป็นองค์ประธานจุดเพลิงฌาปนกิจศพให้ท่าน
และโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ ที่ใกล้ซุ้มประตูแห่งพระเชตวันมหาวิหารนั้น
จาก ชงโค [๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๙ 12:17:06]
มนุษย์เราเมื่อหมดอายุแล้วก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น
แต่พระโมคคัลลานะท่านตายแบบไม่ดี
ถ้าไม่มีวิบากกรรมนี้ก็คงจะตายอย่างสงบ
แต่สำหรับจิตใจของพระโมคคัลลานะก็พ้นจากกฏแห่งกรรม ตั้งแต่สำเร็จเป็นพระอรหันต์
จิตใจเป็นวิมุติหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง รับกรรมก็เพียงทางกายเท่านั้น
จาก ชงโค [๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๙ 12:18:04]
นอกจากนี้แล้ว เมื่อศึกษาพุทธประวัติ
เราก็จะทราบว่าแม้พระพุทธองค์ก็ทรงได้รับวิบากกรรมเหมือนกัน
ตัวอย่าง เช่น กรรมที่ทำให้ห้อพระโลหิต ก็มีเหตุมาจากในอดีตชาติ
สมัยที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์
กล่าวคือพระโพธิสัตว์และพระเทวทัตเกิดเป็นพี่น้องร่วมบิดา แต่ต่างมารดากัน
ครั้นบิดาล่วงลับไปแล้ว เกิดทะเลาะกันด้วยเหตุแห่งทรัพย์
พระโพธิสัตว์มีกำลังมากกว่า
จึงกดน้องชายลงกับพื้นดิน แล้วกลิ้งศิลาก้อนใหญ่ทับไว้ ประสงค์จะให้ตาย
ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระโพธิสัตว์ต้องเสวยทุกข์ในอบายภูมิเป็นเวลานาน
แม้เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
ด้วยเศษกรรมยังเหลืออยู่
พระองค์จึงต้องถูกสะเก็ดศิลา
ที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาหมายจะให้ทับพระองค์
กระเด็นมากระทบนิ้วพระบาทจนห้อพระโลหิต
ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นบนเขาคิชฌกูฎ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น