++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อบต.เหนือ สถานบริการใกล้บ้านใกล้ใจ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลเหนือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

เรียบเรียงโดย นพรัตน์ จิตรครบุรี

            วิถีการดำรงชีวิตและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย, ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการจัดระบบบริการสุขภาพ งบประมาณที่ได้รับจัดสรรมีน้อยไม่เพียงพอ , สถานีอนามัยขาดวัสดุ-ครุภัณฑ์ทางการแพทยฺที่จำเป็น สภาพอาคารเก่าชำรุด และมีพื้นที่น้อยไม่เพียงพอต่อการบริการ
            จากสภาพปัญหาดังกล่าว องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในตำบลเหนือ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานราชการ กลุ่มผู้นำชุมชน อสม. และ อบต. ได้ตระหนักถึงปัญหาร่วมกันและชวยกันหาทางออกโดยการจัดทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อสำรวจความต้องการและความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ของชุมชน ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นดีด้วย เพราะคิดว่ามีประโยชน์ระยะยาว จึงลงมติเห็นชอบจัดตั้งกองทุนฯระดับตำบลขึ้น ชื่อว่า กองทุนฯ ตำบลเหนือ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดระบบสุขภาพของตำบลเหนือ โดยการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมดำเนินการวางแผนแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ ตามความต้องการของประชาชน
            เมื่อเห็นชอบร่วมกันก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมและการวางแผนโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น และบรรลุตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ทีมงานกองทุนฯ อบต.โพนทอง มีการเตรียมความพร้อมและวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบดังนี้
        เริ่มจาก การศึกษาดูงานของคณะกรรมการหมู่บ้านและ อสม. ที่ อ.ป่าติ้ว  จ.สกลนคร และ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
            จัดทำเอกสารแจกจ่ายสมาชิกทุกคนเพื่อศึกษาทำความเข้าใจและมีการประชุมปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง
           
            จัดทำแผนสุขภาพชุมชนโดยใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ด้วยการทำเวทีประชาคมในหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อหาปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของคนในชุมชน  หลังเวทีประชาคมจะมีการรวบรวมข้อมูลเขียนโครงการโดยชาวบ้านในพื้นที่ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ความช่วยเหลือ
            โครงการและกิจกรรมของกองทุนฯ ตำบลเหนือ เน้นไปที่การจัดระบบบริการให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานครอบคลุมทั้งเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการจัดระบบบริการ ตามแนวคิด "สถานบริการ ใกล้บ้านใกล้ใจ"

            ด้านงบประมาณการทำงานที่นี่เขามีวิธีการที่น่าสนใจ คือ การระดมทุนเก็บเงินจากประชาชนในหมู่บ้านทุกคนตั้งแต่แรกเกิดเดือนละ 2 บาท คิดเป็น 24 บาท/ปี/คน และ อบต. สมทบเงินเพิ่มเติมอีก 200,000 บาท ซึ่งงบประมาณส่วนนี้นำไปจัดซื้อ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนให้แก่สถานีอนามัย และจัดจ้างบุคลากรทางการแพทย์ เช่น จัดซื้อ เครื่องฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ อุปกรณ์ในการทำฟัน และจัดจ้างแพทย์ เพื่อออกตรวจรักษาโรคที่สถานีอนามัยทุกวันจันทร์
            ปัจจุบันมีงบประมาณคงเหลือประมาณ 105,000 บาท และได้ยกเลิกวิธีเก็บเงินเข้ากองทุนฯ แต่ใช่วิธีทอดผ้าป่าปีละครั้งแทนซึ่งสามารถเก็บเป็นรายปีจากครอบครัวได้ และไม่ต้องการเสียเวลามาเก็บเงินทุกเดือน
            โดยรวมกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ต.เหนือ มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของคน โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งนับเป็นกำลังสำคัญในการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของคนในชุมชน และมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
            โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จึงเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพ อสม. และการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ภายใต้หลักการและเหตุผลที่ว่า อสม.  เป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งในการดำเนินงานสาธารณสุขระดับหมู่บ้าน โดยเฉพาะการดำเนินงานด้านสาธารณสุขมูลฐาน การควบคุม ป้องกันโรค การสร้างเสริมสุขภาพและการรักษาพยาบาลเบื้องต้น
            ด้วยการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่ อสม. ทั้งตำบล จำนวน 163 คน เกี่ยวกับทักษะการดำเนินงานของ อสม.ในการดูแลสุขภาพชุมชน โดยมีวิทยากรจากโรงพยาบาลและสถานีอนามัย มาให้ความรู้และพัฒนาทักษะในการปกิบัติงานส่งเสริมสุขภาพของ อสม. เช่น ในเรื่องการวัดความดันโลหิต การเจาะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยใช้เครื่องตรวจวัด การรับประทานอาหารเฉพาะโรค โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงโรคความดันโลหิต
           
            การอบรมให้ความรู้ช่วยทำให้ อสม. มีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ มีการบันทึกผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจนขึ้น และได้ดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น การค้นหาภาวะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังในชุมชน โดยเฉพาะโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง สนับสนุนให้ออกกำลังกายทั้งวัยแรงงานและวัยสูงอายุ จัดตั้งชมรมออกกำลังกายที่บริเวณสถานีอนามัยบ้านต้อน ซึ่งเน้นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงและเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
            ผลปรากฏว่า ชาวบ้านให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการมาก โดยเฉพาะกิจกรรมใดก็ตามที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ มักพบว่า ผู้สูงอายุจะให้ความร่วมมือมาก เช่น การออกกำลังกาย  นั่นเป็นเพราะว่าผู้สูงอายุจะค่อนข้างเหงา  ต้องการเข้าสังคม พบกลุ่มเพื่อน ซึ่งมีผลต่อสุขภาพทางกายและจิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
            การทำงานโดยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรนั้นก่อให้เกิดการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะในการดูแลสุขภาพของทั้งกลุ่มผู้รับบริการ คือ ประชาชน และผู้ที่ให้บริการคือ อสม. และอสม.เองก็ได้มีการพัฒนาตนเองในการบริหารจัดการการดูแลสุขภาพของประชาชน  โดยแบ่งพื้นที่กันรับผิดชอบ ทำให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้เข้าถึงการบริการได้ง่าย

            สำคัญที่สุด ของการดำเนินงานโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อประชาชน จะก่อให้เกิดความยั่งยืนของการดูแลสุขภาพ และเป็นการเสริมสร้างพลังอำนาจของประชาชนทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้เป็นอย่างดี และการดำเนินการใดๆที่ทำให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้เห็นว่า สิ่งนั้นดีก่อประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม จะกลายเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วม เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานนั้นๆได้ในที่สุด

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
เกศินี สราญฤทธิชัย
กันนิษฐา มาเห็ม
พัชรินทร์ เพิ่มยินดี
ณรงค์ คำอ่อน
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น




ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น