++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“สอนน้องร้องไทย” ส่งต่อความรักถึงดอยตุง

“เพลงที่เธอกำลังได้ยินอยู่ โปรดฟังดูให้ดี แล้วเมื่อไรที่พบใครเศร้าใจอยู่ ฝากเพลงนี้ให้เขาฟัง...สักที” เสียงเพลง Pass the love forward (ส่งต่อความรัก) แต่งโดยบอย โกสิยพงษ์ ดังกระหึ่มก้องโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี บนดอยตุง ด้วยน้ำเสียงของหนุ่มน้อยและสาวน้อย ที่เข้าร่วม โครงการ “สอนน้องร้องไทย” จากการริเริ่มของ สุวรรณา อัครพงศ์พิศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เบอร์แทรมเคมิคอล (1982) จำกัด และทีมงานจากกรุงเทพฯ ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญคือให้เด็กๆ บนดอยตุง มีความมั่นใจในการพูดภาษาไทยมากขึ้น โดยมีเพลงอันไพเราะทำหน้าที่ดุจสื่อการสอน ช่วยให้เขามั่นใจได้ว่า เขาก็คือเด็กไทยคนหนึ่งที่สามารถพูดภาษาไทยได้ชัดเจนและเป็นหนึ่งเดียวกับเด็กไทยคนอื่นๆ ในประเทศ

เพลง Pass the love forward จึงเป็นเสมือนสื่อแทนใจ ส่งต่อความรักจากคนเมืองถึงเด็กๆ ในดินแดนอันแสนไกล เด็กที่จะต้องเป็นกำลังสำคัญในการสืบสาน โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่อไป...

โครงการพัฒนาดอยตุง ถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่จะทรง “ปลูกป่า” และ “ปลูกคน” ไปพร้อมๆ กัน นั่นคือการแก้ไขปัญหาปากท้องของราษฎรบนเขา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติไทยและทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงินมายังชีพ พร้อมกับการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคง เพื่อให้คนและป่าอยู่ร่วมกันได้ ปัจจุบันโครงการพัฒนาดอยตุงได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ ว่าเป็นโครงการพัฒนาทางเลือกแบบยั่งยืน ที่ประสบผลสำเร็จ มีองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และศึกษาการแก้ปัญหารากเหง้าตามพระราชดำริตลอดมา จากนี้จนถึงสิ้นสุดโครงการในปี พ.ศ.2560 โครงการพัฒนาดอยตุงมีภาระอันยิ่งใหญ่ที่จะต้องทำให้โครงการนี้ดำเนินต่อไป โดยผู้ที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จย่าต้องเป็นคนไทยในพื้นที่ เป็นผู้ที่จะอยู่บนเทือกเขานี้ และดูแลรักษาพื้นที่ที่พระองค์ทรงเริ่มต้นพัฒนาให้กับบรรพบุรุษของพวกเขา ดังนั้นการศึกษาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ในปี พ.ศ.2547 โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงขอความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้ 8 โรงเรียนในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็น “ห้องทดลองปฏิบัติการ” ของการปฏิรูปการศึกษา ทั้งด้านหลักสูตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ภาษา ขนบธรรมเนียมและความต้องการของผู้เรียน ทั้งนี้โดยมี Mr.Antony Herring อาสาสมัครชาวอังกฤษ เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาดอยตุงและภรรยาคือ คุณเกิดแก้ว เจริญยิ่ง เป็นหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาการศึกษา ด้วยการนำระบบการเรียนการสอนที่เรียกว่ามอนเตสเซอรี่ (Montessori) เข้ามาปรับใช้ในโรงเรียนทั้ง 8 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนรวม 1,560 คนและเป็นชาวเขาทั้งหมด

Mr.Antony Herring ได้เล่าให้ฟังว่า เขาและภรรยาได้มาที่ดอยตุงเมื่อ 8 ปีที่แล้วเพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาของเด็กๆ บนดอย ตามคำเชิญของคุณชาย (ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ) ซึ่งให้ความสนใจการสอนแบบมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center Education) เป็นพิเศษ

“ระบบการเรียนการสอนแบบมอนเตสเซอรี่ที่นำมาใช้นั้น เป็นการสอนให้ผู้เรียนให้สามารถช่วยตัวเองได้ ท่านเห็นว่าแนวคิดนี้สอดคล้องกับพระราชดำริของสมเด็จย่า จึงเชิญผมมาทำโครงการ โดยเริ่มที่โรงเรียนบ้านขาแหย่งเป็นแห่งแรก ต่อมาจึงได้งบประมาณจากรัฐบาลเป็นจำนวน 18 ล้านบาท เพื่อทำโครงการนี้ให้ครบทั้ง 8 โรงเรียนบนดอยตุง หลังจากนั้นผลปรากฏว่า เด็กเริ่มมีทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียนมากขึ้นและมีความสุขในการเรียนมากขึ้น เพราะแต่เดิมเด็กอาจจะรู้สึกกดดันที่พูดภาษาไทยไม่ได้อยู่โดยตลอด เมื่อ 8 ปีก่อนผมกับภรรยาพบว่า เด็กๆ ไม่สามารถพูดและเขียนภาษาไทยได้ดีเลยเมื่อจบชั้นประถมศึกษา แต่ขณะนี้ดีขึ้น” Mr.Antony กล่าว

สำหรับเด็กๆ ชาวดอยตุงนั้น อุปสรรคสำคัญก็คือ การพูดภาษาไทยไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้เขาเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกับเด็กไทยคนอื่นๆ และจากการสำรวจก็พบว่า ผู้ปกครองของเด็กๆ เหล่านี้คาดหวังอย่างยิ่งที่จะให้บุตรหลานของตนพูดภาษาไทยได้ชัด เพื่อจะได้ไม่ถูกดูหมิ่นจากคนอื่นๆ และหางานทำเลี้ยงชีวิตได้เมื่อจบการศึกษาแล้ว

ความต้องการนี้ส่งผลให้ คุณสุวรรณา อัครพงศ์พิศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เบอร์แทรมเคมิคอล (1982) จำกัด ซึ่งได้เริ่มเข้าไปทำโครงการช่วยเหลือชาวดอยตุงบางส่วนแล้ว คือการสร้างบ้านพักครูให้แก่โรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน ตลอดจนสร้างฝายกั้นน้ำ เพื่อให้ชาวบ้านในหมู่บ้านป่าซางนาเงินได้มีน้ำสะอาดดื่มและใช้ ทำการริเริ่มโครงการ “สอนน้องร้องไทย” ขึ้น ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

สุวรรณา อัครพงศ์พิศักดิ์ ในฐานะประธานโครงการ “สอนน้องร้องไทย” กล่าวว่า “เราอยากสานเจตนารมณ์ของสมเด็จย่าที่ท่านยอมสละความสุขส่วนตัวเพื่อคนไทย ทั้งที่เมื่อพระองค์เสด็จฯ มาทรงงานที่ดอยตุงนั้น ทรงมีพระชนมายุมากแล้ว และเราเชื่อว่าชีวิตคนเรานั้นในสังคมนั้นมีความเกี่ยวพันกันหมด เป็น Bundle of lives เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีความสุข ในขณะที่ผู้อื่นมีความทุกข์ ดังนั้นคนเราจึงต้องมีความรับผิดชอบในกันและกัน โดยให้การช่วยเหลือกัน ตามกำลังและศักยภาพที่เรามี

เมื่อได้ทราบจาก คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยาว่าเด็กๆ ที่ดอยตุงอยากพูดไทยชัด ก็คิดว่ามันไม่ยากเลยที่จะตอบสนองความต้องการตรงนี้ พอดี ดร.ธนาภรณ์ ธนโรจน์ประดิษฐ์ ซึ่งทำหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการและเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ได้มาเสนอแนวคิดว่า ภาษาอังกฤษที่พูดในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์จะไม่เหมือนกัน แต่เวลาร้องออกมาเป็นเพลงแล้วจะเหมือนกันหมด เราก็เลยคิดว่า น่าจะใช้เพลงเป็นสื่อทำให้พวกเขาพูดภาษาไทยได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้รู้จักกับน้องๆ ที่เขาเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์อยู่ด้วย โครงการสอนน้องร้องไทยก็เลยเกิดขึ้น

หลังจากที่ได้เสนอแนวความคิดโครงการแก่คุณหญิงพวงร้อยแล้ว ท่านก็เห็นด้วย จึงติดต่อมายังโครงการพัฒนาดอยตุง ว่าจะทำโครงการนี้ ก็ได้รับการตอบรับด้วยดี โดยให้เริ่มที่โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีก่อน ซึ่งเมื่อมาแล้ว ก็พบว่า เด็กๆ เหล่านี้มีความสามารถ เพียงแต่ขาดโอกาสเท่านั้น เราเองก็รู้สึกมีความสุขที่ได้มอบโอกาสให้เขา และมีโอกาสได้สร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างสังคม ให้เขารู้ว่า เขาก็เป็นคนไทยคนหนึ่งเช่นเดียวกับคนไทยคนอื่นๆ และพูดไทยได้ แม้อยู่ในท้องถิ่นของตนเอง ไม่ต้องเป็นคนไทยโดยการเข้าไปอยู่ในเมืองแต่อย่างใดเลย”

ทีมงานที่เข้าไปทำหน้าที่ครู เติมเต็มความฝันให้แก่น้องๆ มีอยู่หลายชีวิต นำทีมโดย แป้ง-บูโดกัน รัชดาภา รัชตะวรรณ และ อุ๋ย-สุภาภิญ ณ นคร ผู้ทำงานเบื้องหลังในวงการดนตรี ตลอดจนอาสาสมัครจากบริษัทเบอร์แทรมฯ อีกจำนวนหนึ่ง เข้ามาช่วยกันวางโปรแกรมการสอนและทำการสอนด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน ตลอดช่วงเวลา 5 วันของการดำเนินงานโครงการ ที่มีทั้งการออกเสียงภาษาไทย การใช้รูปปากในการออกเสียงและการร้องเพลงไทยอันไพเราะ

แป้ง-บูโดกัน เปิดใจถึงประสบการณ์ครั้งนี้ว่า “ในการเตรียมแผนการสอน รู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะเรายังไม่เคยสัมผัสว่าจริงๆ แล้ว น้องเขาเป็นอย่างไร มีความสามารถแค่ไหน แต่เมื่อสอนแล้ว ก็ได้รู้ว่าน้องๆ เขาเก่งมาก โดยส่วนตัวก็รู้สึกดีใจค่ะ เพราะเราตั้งใจที่จะช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประเทศชาติอยู่แล้ว โครงการนี้เปิดโอกาสให้เราได้ช่วยเหลือสังคมตามความสามารถที่เรามี เพราะเราเป็นครูสอนร้องเพลง สอนดนตรีอยู่แล้วค่ะ”

อุ๋ย-สุภาภิญ ณ นคร ก็กล่าวว่า “เมื่อเราได้เห็นน้องๆ เขามีความสุข และเราสามารถดึงศักยภาพเขาออกมาได้ เราก็มีกำลังใจ จึงเป็นเหมือนต่างคนต่างให้ และต่างคนต่างได้ เราให้ความรู้แก่เขา ขณะเดียวกันเราก็ได้ความสุขจากการให้กลับคืนมา อีกอย่างหนึ่งคือ เหมือนเราก็เห็นคุณค่าเขา เขาก็เห็นคุณค่าเรา เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้สึกเหนื่อยเลย แม้บางครั้งร่างกายจะหมดสภาพไปแล้วก็ตาม”

บรรยากาศการเรียนการสอนของครูจากแดนไกล เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอันแจ่มใสตลอดเวลา ไม่ปรากฏร่องรอยแห่งความเครียดแต่อย่างใด โดย น.ส. วิยะดา อภิสุนทรกุล ชั้น ม.5 โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี หนึ่งในผู้ร่วมโครงการเปิดใจว่า “รู้สึกสนุก แล้วก็ได้เรียนรู้ทักษะการร้องเพลงที่ถูกต้องมากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อน” ขณะที่ น.ส.สีฟ้า สกุลชีวกิจ ชั้น ม.6 กล่าวว่า “สนใจเข้าร่วมโครงการเพราะอยู่ชมรมดนตรีอยู่แล้ว เดิมออกเสียงไม่ชัด ได้เรียนแล้วก็รู้สึกว่าสามารถออกเสียงได้ดีขึ้น”

นายนิรันดร์ นามแสง ชั้น ม.5 ก็กล่าวว่า “ผมเองจะต้องไปประกวดร้องเพลงชาติอยู่พอดี เมื่อมีโครงการนี้ อาจารย์จึงให้เข้ามา เพื่อเรียนรู้ว่า จะร้องเพลงชาติให้ถูกต้องได้อย่างไร ซึ่งก็ได้ประโยชน์มาก” ขณะที่นายอานนท์ แลเชอ กล่าวว่า “โอกาสหน้า ถ้ามีโครงการนี้อีก ก็จะมาร่วม เพราะพี่ๆ เขาดูแลเราดีทุกคน” และนายพินิจ มาเยอะ กล่าวว่า “วันแรกก็ตื่นเต้น ทำอะไรไม่ถูก แต่พี่ๆ เขาเป็นกันเองมาก จึงหายตื่นเต้น ผมเองไม่ได้อยู่ชมรมดนตรี แต่เป็นคนหนึ่งที่ต้องไปประกวดร้องเพลงชาติ จึงขอสมัครเข้าร่วมโครงการ”

นี่คือภาพสะท้อนของโครงการ “สอนน้องร้องไทย” ซึ่งขณะนี้ยังเป็นโครงการนำร่อง หากประสบความสำเร็จด้วยดี ก็จะมีการขยายให้ครอบคลุมถึงโรงเรียนอื่นๆ ในเขตดอยตุงด้วย และเป็นภาพหนึ่งของการแบ่งปันน้ำใจ แบ่งปันความสามารถที่ตนเองมีให้แก่เพื่อนร่วมสังคม ตามกำลังและศักยภาพเท่าที่แต่ละคน แต่ละองค์กรจะสามารถกระทำได้ โดยเฉพาะบนดอยตุง ซึ่งขณะนี้ยังต้องการกำลังคน กำลังทรัพย์และกำลังน้ำใจจากเพื่อนร่วมสังคมอีกมาก เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามพระราชดำริของสมเด็จย่า ดังที่ Mr.Antony Herring ได้กล่าวไว้ว่า

“โครงการจากบริษัทเอกชนต่างๆ คือการมอบโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ จากผู้มีความรู้และประสบการณ์ ซึ่งก็ได้ผลดี ทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการมากขึ้น เมื่อทุกฝ่ายเห็นว่า โครงการเกิดผลสำเร็จ ก็จะยิ่งสนใจเข้ามาทำโครงการที่นี่มากขึ้น วงจรแห่งความดีก็จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าเรื่อยๆ เด็กๆ ก็ได้ประโยชน์ ผู้ปกครองก็ได้ประโยชน์และสังคมก็ได้ประโยชน์เช่นกัน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น