++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

เรื่อง ไม่ยินดียินร้าย

เสนอพระธรรมเทศนาของ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

เรื่อง ไม่ยินดียินร้าย


ไม่ยินดียินร้าย คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ในโลกธรรม 8 ที่มากระทบ
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
ชอบก็รู้ ไม่ชอบก็รู้ รู้แล้วปล่อย
สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ แล้วปล่อย
เห็นทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเสมอ
ถ้าทุกคนเข้าใจอย่างนี้ได้ ครอบครัวก็จะอบอุ่น บ้านเมืองก็จะร่มเย็นเป็นสุข
ทุกคนก็จะสบาย และเป็นสุขได้ในทุกสถานการณ์

ใครทำอะไรไม่ดี ท่านก็ไม่ให้ยินร้าย
ให้รีบโอปนยิโก น้อมเข้ามาดูตัวเอง
เตือนใจตัวเองว่า เราอย่าทำอย่างนั้น

จริง ๆ แล้ว เราก็ไม่ใช่คนสมบูรณ์
เราก็ทำให้คนอื่นไม่พอใจเหมือนกัน ไม่มากก็น้อย
พยายามรักษาความเป็นปกติ รักษาความเป็นกลาง ๆ รักษาสุขภาพใจดีของเรา
หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ พยายามปฏิบัติ เจริญสติปัฏฐาน 4 เจริญอาณาปานสติ
อยู่กับปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม

ไม่ยินดียินร้ายคือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
เห็นผู้หญิงสวย ชอบก็รู้ รู้แล้วก็ปล่อย ไม่ยึดมั่น ถือมั่นว่าต้องเอามาเป็นของเราให้ได้
ลูกทำอะไรไม่ถูกใจ ก็ปล่อย อนิจจัง แล้วเขาจะเปลี่ยนไปเอง เขาก็มีกรรมเป็นของเขา
เมื่อมีโอกาส เมื่อใจของเราดีแล้ว ก็ค่อยแนะนำ สอนเขา
เราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของลูก เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แล้วก็ปล่อย

นี้คือ ไม่ยินดี ยินร้าย

ไม่ยินดียินร้าย ไม่ใช่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่ปฏิบัติหน้าที่
ตรงกันข้าม ไม่ยินดียินร้าย เป็นสุขภาพใจที่ดี
เมื่อเรามีสุขภาพใจดี เราก็สามารถทำหน้าทีของเราได้ดีที่สุด

เราต้องทำหน้าทีของเราให้ดีที่สุดเสมอ
เป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นพี่น้องที่ดี เป็นลูกที่ดี
เป็นนายที่ดี เป็นลูกน้องที่ดี เป็นนักการเมืองที่ดี
ทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ เต็มความสามารถเสมอ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยอิทธิบาท 4

เมื่อเราทำดีที่สุดแล้ว
ผลจะเป็นอย่างไร ถูกใจ หรือไม่ถูกใจ
ใครจะสรรเสริญ ใครจะนินทา ก็ปล่อย
ไม่ยึดมั่น ถือมั่นว่า ฉันทำดีแล้วคนต้องชม
ฉันทำดีแล้ว ฉันต้องได้ 2 ขั้น ฉันต้องได้เลื่อนตำแหน่ง
คนดี อยู่ที่ไหน ใครจะว่าอย่างไร ก็ดีอยู่เสมอ และสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยความพอใจ

นี่คือ ไม่ยินดียินร้าย ไม่ยึดมั่นถือมั่น

เราค่อย ๆ ศึกษา ค่อย ๆ ฝึกปฏิบัติ
ตั้งใจแน่วแน่ที่จะรักษาสุขภาพใจที่ดีของเราเอาไว้

ยินดียินร้ายเกิดขึ้น ก็รีบระงับ
มีหิริโอตตัปปะที่จิตใจ เป็นศีลเป็นสมาธิ เมื่อทำสำเร็จ จิตใจของเราก็เป็นมัชฌิมา
เป็นปกติ เป็นสุขภาพใจดี และจะมีความสุขได้ในทุกสถานการณ์


ที่มา : หนังสือ ปีมะโรง ขอจงมีความสุข..พิมพ์ครั้งที่ 15 กันยายน 2551.. ผู้สนใจติดต่อ มูลนิธิมายา
โคตมี กทม โทร 02 676 3453

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น