++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

ทหารกับการเมืองไทยและอนาคตของกองทัพ

ความพ่ายแพ้ของกลุ่มคนเสื้อแดงจากการใช้กำลังทหารปราบปรามต่อกลุ่ม ประชาชนและกองกำลังติดอาวุธที่อ้างว่าไม่ทราบฝ่าย ทำให้สถานะของรัฐบาลแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก นอกจากนั้น ปรากฏการณ์ที่เป็นผลพวงหรือสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของรัฐบาลคือการกลับมาของ กองทัพกับบทบาททางการเมือง โดยเฉพาะบทบาทการรักษาความมั่นคงภายในรัฐที่เพิ่มมากขึ้น การจัดวางกำลังของกองทัพบกตรรกะ “ รุ่น เหล่า และแหล่งที่มา ” กำลังจะกลายเป็นตัวแบบซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วแต่ก็น่า วิเคราะห์ถึงบทบาทของทหารในสังคมประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันว่าจะลงเอยกัน แบบใด

ในสมัยที่ทหารไทยเข้าแทรกแซงทางการเมืองและมีบทบาทโดยตรงอย่างชัดเจน โดยมีการสร้างฐานอำนาจจากการที่รุ่นต่าง ๆ มักจะสามารถคุมกำลังในหน่วยกำลังรบที่จำเป็นต่อการ ปฏิวัติ เอาไว้ เช่น สมัยของนายทหารรุ่น 5 และรุ่น 7 (ยังเติร์ก) ต่างก็มีรูปแบบการใช้ฐานอำนาจที่คล้ายคลึงกันคือการครอบครอง “ เครื่องมือสงคราม (Cohesive Power) ” โดยยึดกุมตำแหน่งในหน่วยกำลังรบระดับกองทัพ และเป็นฐานกำลังหลัก

ในยุคนั้นนายทหารระดับผู้บังคับกองพัน และผู้บังคับการกรม ก็มีอำนาจทางการเมืองกันแล้ว

ส่วนความชอบธรรมในการใช้กำลังเข้าแทรกแซงทางการเมืองไม่ว่าจะทำการยึดอำนาจ หรือกดดันระบบ และนักการเมือง มักจะได้จากบรรยากาศการเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบ มีจุดอ่อน นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งยังไม่มีความชำนาญ บารมีและช่องว่างเพียงพอที่จะทำงานการเมืองโดยลำพัง หรือปราศจากการคุ้มครองจากทหาร ท้ายที่สุดกลุ่มทหารก็เข้ายึดอำนาจ โดยบางครั้งอาศัยสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค – ชายแดน หรือสงครามเย็นเป็นฐานความชอบธรรมของการแทรกแซงการเมืองก็มี

ข้อที่น่าสังเกตคือการแทรกแซงของทหารยุคเดิม มักจะกระทำกันในหมู่ทหารรุ่นต่าง ๆ กันเอง โดยมีแนวคิด และอุดมการณ์ทางการเมืองที่แต่ละรุ่น เช่น 5 หรือ 7 จะตีความหรือมองสภาพการเมืองกันด้วยตัวของตัวเอง แล้วจึงตัดสินใจทำการแทรกแซงหรือปฏิวัติแล้วสถาปนาอำนาจ เข้ามาใช้อำนาจ บริหารกันเอง แบบเบ็ดเสร็จ

มีแต่เพียงการปฏิวัติของชุด พลเอก สนธิฯ เมื่อปี 49 ที่ผ่านมาเท่านั้นที่กลุ่มทหาร ทำการปฏิวัติในฐานะ “เครื่องมือ” ของกลุ่มอำนาจอื่น ๆ และปฏิวัติเสร็จแล้ว ก็ไม่ลงไปเล่น เป็นฝ่ายบริหารเองแต่กลับให้กลุ่มอื่น ๆ ใช้ตนเป็นนั่งร้านช่วยทำปฏิวัติแล้วส่งคนอื่นมาบริหาร

การล่มสลายของกลุ่มยังเติร์ก รุ่น 7 โดยกลุ่มรุ่น 5 ก็มีนัยสำคัญของการสนับสนุนจากกลุ่มอีลิตในรัฐไทยให้ได้เห็น แต่อย่างไรก็ตามรุ่น 5 ก็ล่มสลายลงเพราะขาดความชอบธรรมในการจะเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่ไม่ได้มา จากระบบการเลือกตั้ง สังคมไทยช่วงนั้นมีสำนึกประชาธิปไตยในรูปแบบเกิดขึ้นแล้ว เพราะเข้าใจว่า การยึดอำนาจเท่ากับเผด็จการ ประชาธิปไตยหมายถึงต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการที่รุ่น 5 ใช้กำลังกับประชาชนทำให้เกิดการสูญเสียเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้ต้องออกจากอำนาจไปได้

หลังจากนั้นมาประเทศไทยก็เข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตยที่ยึดถือรูปแบบเป็น หลัก (มากกว่าเนื้อหา) ยอมรับเรื่องการเลือกตั้งว่าเป็นปัจจัยสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า จะมองเนื้อหาเชิงโครงสร้างอำนาจ ดังนั้น อำนาจทางการเมืองจึงเปลี่ยนมือจากทหารไปสู่มือของนักเลือกตั้ง ที่ใช้ทุนแผ้วทางสู่การเมือง และอำนาจเหล่านั้นไม่ได้ตกลงสู่มือของคนข้างล่างอย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนทหารนั้นก็ยุติบทบาททางการเมืองลง กลับเข้าสู่กรมกองจนผู้คนทั่วไป และวงวิชาการคิดว่า การปฏิวัติคงไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในประเทศไทย แต่ประชาธิปไตยแบบทุน – การเมือง กลับเป็นตัวแปรทำให้กลุ่มทหารต้องออกมาทำการปฏิวัติอีกครั้ง โดยการสนับสนุนของคนในสังคม

อย่างไรก็ตามการปฏิวัติครั้งนี้ของทหารไม่ได้เกิดเองด้วยแนวคิดของกลุ่มทหาร ครองอำนาจ แต่มีความผูกพันกับการสนับสนุนของอีลิตรวมมิติของอุดมการณ์เชิงสังคม วัฒนธรรมของทหารเองเป็นตัวผลักดัน

ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับอีลิตจึงเปราะบาง เพราะด้านหนึ่งทหารต้องดำรงรักษาสถานภาพเชิงอำนาจของกลุ่มตนไว้ จึงจำเป็นต้องมีระบบการสืบทอดอำนาจ บนตรรกะ “รุ่น เหล่า และผู้คุ้นเคยจากพื้นเพเดียวกัน” รวมถึงสภาวะความชอบธรรมของกลุ่มอีลิตเองก็ถูกท้าทายจากสังคม เพราะประเด็นการเคลื่อนไหววันนี้ไม่เหมือนเดิม ที่เป็นปัญหา “เผด็จการทหารกับประชาธิปไตย” แต่วันนี้เป็นประเด็น “ประชาธิปไตยในรูปแบบ เทียม” ที่อำนาจกระจุกตัวอยู่กับสมการของกลุ่ม ทุน – การเมืองและอีลิต ซึ่งมุ่งใช้อำนาจแบบรักษาสถานภาพของตนเองจนต้องจ่ายด้วยราคาต่าง ๆ แม้จะใช้ความรุนแรงหรือมีการสูญเสียบ้างก็ต้องยอม

การจัดวางกำลังทหารคุมกำลังปัจจุบัน ตั้งแต่ระดับแม่ทัพลงมาถึงระดับกรมและกองพันที่ตกอยู่ในมือกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ และผู้ที่ร่วมทำงานมาในการใช้กำลังสลายเสื้อแดง ได้เข้าไปคุมกำลังทั้งหมด เป็นสิ่งบอกเหตุถึงสมการใช้กำลังเพื่อสร้างประชาธิปไตยในรูปแบบให้เดินต่อไป ได้

ในอนาคตอันใกล้ ทหารกลุ่มนี้แม้จะยังคงมีบทบาทและครองอำนาจกำลังรบอยู่ได้ แต่ก็น่าจะเผชิญกับความท้าทายหลักหลายประเด็น เช่น ประเด็นเอกภาพของกองทัพไม่เหลืออยู่อีกแล้วเพราะกลุ่มอื่น ๆ จะหมดหวังและต่อต้านภายในแบบเงียบ ๆ ความมีระบบ อาวุโสและระบบคุณธรรมในการจัดการกำลังพลจะหายไป ทำให้กองทัพกลายสภาพเหมือนองค์กรตำรวจที่ถูกการเมืองแทรกและมีการซื้อขาย ตำแหน่งและเดินตามการเมืองรุนแรงขึ้น

กองทัพยุคใหม่จะแปลกแยกจากมวลชนชั้นล่างเพราะปัญหาการเลือกที่จะดูแลและตาม ใจอีลิตอย่างไม่จำแนก จนต้องใช้กำลังกับคนข้างล่าง ในอนาคตหากหมดความชอบธรรมจากอีลิตด้วยเหตุต่าง ๆ ทหารไทยจะหาที่ยืนในสังคมได้ยากกว่ารุ่นพี่ ๆ ที่ยุติสงครามเย็นโดยเลือกเอามวลชนไว้ จะแก้ไขอย่างไรก็ต้องเตรียมการแต่เนิ่น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น