++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

ค่าเงินบาทกับปัญหาการปรับตัวของเศรษฐกิจไทย

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย 8 กันยายน 2553 15:16 น.

ผลกระทบของเงินทุนไหลเข้า เปรียบได้กับ “ช้างตัวใหญ่” ที่เข้ามาในแช่ใน “บ่อน้ำเล็ก” เช่นเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นเสมือน “น้ำในบ่อ” กระเพื่อมขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ท่านคิดว่าจะมีวิธีจัดการกับช้างตัวใหญ่นี้อย่างไร
      
       หากตอบถูกได้ใจมีรางวัลเป็นตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ รับได้ที่นายกฯ อภิสิทธิ์
      
       เงินบาทที่มีค่าแข็งตัว (appreciate) เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่ผ่านมาน่าจะมีที่มาจากการ เกินดุลในดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายมากกว่าดุลบัญชีเดินสะพัด ดังจะเห็นได้จากในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาจนถึงปี พ.ศ. 2552 ดุลบัญชีเดินสะพัดมีการเกินดุลประมาณ 82,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินของประเทศไทยที่ทำมาค้าขายหามาได้อย่างแท้จริง ในขณะที่ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นเงินตราต่าง ประเทศประมาณ 138,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากคิดง่ายๆ ว่าเมื่อคราวเกิดวิกฤตฯ เมื่อปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยแทบจะไม่มีเงินสำรองที่ว่านี้เหลืออยู่เลย แสดงให้เห็นว่ามีเงินจำนวนมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มิใช่เป็นของไทยแต่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย
      
       ความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อ 18 ธ.ค. 49 ที่ผ่านมาด้วยมาตรการสำรองร้อยละ 30 จึงเป็นความพยายามที่จะขจัดหรือชะลอเงินทุนไหลเข้าไม่ให้ไหลเข้ามาเป็นจำนวน มากเพราะเงินส่วนนี้ ประเทศไทยมิได้เป็นเจ้าของและสามารถก่อให้เกิดความผันผวนกับเศรษฐกิจไทยได้ โดยง่าย อันเนื่องมาจากการไหลเข้า-ออกในภาวการณ์ในปัจจุบันเป็นไปในปริมาณมากและ อย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่มาตรการดังกล่าวมีอายุสั้นเพียงชั่วข้ามคืนเท่า นั้น เพราะในวันถัดมาก็มีการยกเว้นในส่วนสาระสำคัญคือในเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาด หุ้น
      
       ประเทศไทยเคยชินกับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทกับดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวช่วยเพื่อให้ผู้ส่งออกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นมา เป็นเวลานาน การเสพติดค่าบาทคงที่หรือค่าบาทอ่อน ก่อให้เกิดการขาดแรงจูงใจในการปรับโครงสร้างในการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นของจริงมิใช่แต้มต่อหรือตัวช่วยดังเช่นค่าเงินบาทคงที่หรืออ่อน
      
       ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปรับมาเป็นประมาณ 40-45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อหลังเกิดวิกฤตฯ และมาอยู่ในระดับประมาณ 31-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ทำไมผู้ผลิตผู้ส่งออกที่ยังประกอบธุรกิจอยู่ในตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2540 และอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันจึงไม่คิดปรับปรุงตนเองอะไรบ้าง? เพราะมีเวลาถึงกว่า 10 ปี ได้กำไร 10-15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากภาวการณ์บาทอ่อนมานานแล้ว ทำไมเมื่อบาทยังไม่แข็งค่ากลับไปที่ระดับเดิมที่ 25-26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำไมจึงอยู่ไม่ได้? คำตอบก็คือการขาดการปรับตัวใช่หรือไม่?
      
       การ ออกมาให้ความเห็นของผู้ประกอบการหรือนักอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องบาทแข็ง และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงช่วยเหลือจึงเป็นประจักษ์พยานที่ดีที่สนับ สนุนว่าขาดการปรับตัว
      
       อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ราคารถยนต์ผลิตในประเทศที่ขึ้นราคาเพราะค่าเงินบาทที่อ่อนลง ทำให้ราคารถยนต์ปรับตัวขึ้นมาจากเมื่อปี พ.ศ. 2540 จาก 500,000 บาทก็กลายมาเป็น 750,000 - 800,000 บาทในปัจจุบัน ฟังดูก็มีเหตุผลดี แต่เมื่อค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงแข็งค่าขึ้น ทำไมราคารถยนต์จึงไม่ลดลงตามไปด้วย ทั้งๆ ที่สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศก็มิได้เปลี่ยนแปลง หรือจะโทษเงินเฟ้อ ค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออะไรอื่นอีกที่จะเอามาอ้าง แม้แต่การลดเลิกภาษีตามกรอบของอาฟตาเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีผลทำให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นำเข้าจากอาเซียนไม่มีภาษี ผู้ผลิตก็ไม่ลดราคาให้ ท่านบอกว่าราคาที่ใช้อยู่คิดลดไว้ให้แล้ว ช่างหยั่งรู้การณ์ล่วงหน้าได้เก่งจริงๆ
      
       ประเด็นก็คือ ในขณะที่ค่าบาทแข็งเช่นในปัจจุบัน ทำไมอุตสาหกรรมยานยนต์จึงต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐเข้าแทรกแซงค่าเงิน เพราะตอนที่บาทอ่อนก็ปรับขึ้นราคาตามค่าบาท เมื่อบาทแข็งก็จะปรับขึ้นราคาอีกหรืออย่างไร ช่างอหังการเสียนี่กะไรสำหรับอุตสาหกรรมนี้
      
       การ ที่เอกชนไม่ปรับตัวก็มีผลกระทบในวงแคบเพราะเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนเป็นรายๆ ไปเท่านั้น แต่การที่รัฐบาลโดยนักการเมืองตั้งแต่เกิดวิกฤตฯ เป็นต้นมา ไม่ว่าชุดใดก็ไม่มีวิสัยทัศน์ นี่ซิจึงเป็นผลกระทบในวงกว้างกับประเทศไทยจริงๆ ทั้งที่รัฐบาลควร ฉกฉวยโอกาสในการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเสียใหม่ เพราะประสบการณ์ของการพัฒนาระหว่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ชี้ให้เห็นว่า ตัวช่วยเช่น อัตราแลกเปลี่ยนนี้สามารถใช้ได้ชั่วครั้งชั่วคราว หากแต่การสะสมปัจจัยซึ่งเป็นที่มาของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การศึกษา การวิจัย จึงจะเป็นของจริงที่ผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นจากสภาวะเดิมและแข่งกับผู้มา ใหม่ได้
      
       เครื่องชี้ที่สำคัญของโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความแข็งแรงหรือไม่ก็ คือ ความสามารถที่เศรษฐกิจจะทนทานหรือรับกับความผันผวน เช่น จากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งความสามารถดังกล่าวมีที่มาจากขีดความสามารถในการแข่งขันที่ทำให้ผู้ ประกอบการมีต้นทุนต่ำ หรือการมีส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนสูงนั่นเอง
      
       ในระยะยาวการแทรกแซงตลาดเพื่อให้ค่าเงินอ่อนเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาด หวังได้อีกแล้วเพราะจะเป็นการบิดเบือนราคาและไม่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมมีการ ปรับตัวในทิศทางที่ถูกต้อง ระบบอัตราและเปลี่ยน (exchange rate regime) จะเป็นแบบคงที่หรือลอยตัวก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลักมิใช่ เป็นไปตามแรงผลักดันของกลุ่มผลประโยชน์ และที่สำคัญที่สุดก็คือ เครดิตของประเทศ (creditability) เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมาจากการกระทำที่ตรงกับคำพูดที่ได้ประกาศไป หาซื้อหรือให้ใครมารับรองไม่ได้
      
       ในระยะสั้นสิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คืออะไรคือเหตุของปัญหาค่าบาทแข็งที่ เป็นอยู่ในขณะนี้ มิใช่อยู่ที่เงินส่วนเกินที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่มักจะพำนักอยู่ที่ตลาด หุ้นดอกหรือ ฉะนั้นมาตรการอะไรที่ออกมาก็จำเป็นต้องทำให้ส่วนเกินนี้หมดไปหรือไม่ก่อให้ เกิดความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนจากการเคลื่อนไหวของเงินทุนส่วนนี้
      
       ทางเลือกที่ ธปท.ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อลดผลกระทบของเงินทุนไหลเข้าที่เปรียบได้กับ “ช้างตัวใหญ่” ที่เข้ามาแช่ใน “บ่อน้ำเล็ก” เช่น เศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นเสมือน “น้ำในบ่อ” กระเพื่อมขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ก็พอจะประเมินได้แล้วว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เช่น
      
       การอนุญาตให้นำเงินดอลลาร์ภายในประเทศไปลงทุนนอกประเทศก็เป็นอีกทาง เลือกหนึ่งแต่ก็ไม่ตรงจุด เพราะทำได้เฉพาะเงินส่วนที่ได้มาจากการเกินดุลการค้า มิใช่ส่วนที่ได้มาจากดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายอันเป็นส่วนที่อยากให้ไหลออกไป และมีผลกระทบที่ควรคำนึงก็คือ การส่งเงินทุนออกก็เปรียบเสมือนการส่งตำแหน่งงานออกไปเช่นกันและนำกลับยาก
      
       การจัดตั้งกองทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องกับผู้ส่งออกนั้นเป็นเรื่องที่ ภาคราชการนิยมทำ เพราะเป็นการเลื่อนปัญหาออกไปในอนาคต แต่ก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าในปัจจุบันปัญหานี้มิใช่เป็นปัญหาชั่วครั้งชั่ว คราว หากแต่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างต่างหากเพราะมีแนวโน้มที่บาทจะมีค่าแข็งขึ้น เรื่อยๆ กองทุนดังกล่าวจึงไม่น่าจะประสบความสำเร็จแต่อย่างใด
      
       การอนุญาตให้ถือครองเงินตราต่างประเทศหรือสามารถนำไปชำระราคาได้โดย ตรงอาจเป็นผลดีในเชิงจิตวิทยาเนื่องจากเคยชินกับบาทอ่อนดอลลาร์แข็ง แต่ก็ไม่น่าประสบความสำเร็จเช่นกันเพราะในปัจจุบันเป็นในทางตรงกันข้าม ที่สำคัญก็คือ หากไม่สามารถเปลี่ยนการคาดคะเนของตลาดว่าเงินบาทจะมีค่าแข็งกว่าดอลลาร์ สหรัฐ หรือดอลลาร์สหรัฐจะมีค่าอ่อนลงในอนาคต ใครจะยอมถือเงินตราที่คาดว่าจะมีค่าเสื่อมถอย
      
       เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่สินค้า เช่น เงินตราต่างประเทศไม่มีขายในตลาด future ของไทยดังเช่นทองคำ ทั้งๆ ที่มีผู้ใช้ทองคำเพื่อเป็นวัตถุดิบจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ ต้องการใช้เงินตราต่างประเทศและต้องการปกป้องความเสี่ยง
      
       อย่าสับสนกับตลาด forward ที่มีการซื้อขายล่วงหน้าของเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการอยู่ เพราะธนาคารจะทำหน้าที่เป็นคู่ค้า (counterpart) อีกข้างหนึ่งเสมอ คืออยากขายล่วงหน้าธนาคารก็จะเป็นฝ่ายซื้อ ธนาคารจึงมักเป็นฝ่ายกำหนดราคาและปริมาณเพราะเป็นคู่ค้าเพียงรายเดียวและมัก เป็นรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเนื่องจากมีไม่กี่ราย และต้องมีการส่งมอบสินค้าที่ตกลงซื้อขายล่วงหน้ากันจริงๆ
      
       ดังนั้น เมื่อมีความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น ธนาคารจะตั้งค่าธรรมเนียมซื้อขายหรือ premium ในอัตราที่สูงในตลาด forward เนื่องจากต้องทำตัวเป็นคู่ค้าซึ่งมีน้อยรายและจะไปออกตัวหรือกระจายความ เสี่ยงให้กับผู้อื่นๆ ต่อไปได้ยาก ผิดกับในตลาด future ที่จะมีผู้ซื้อผู้ขายจำนวนมากและมีโอกาสสูงที่แต่ละฝ่ายจะมองไปในอนาคตไม่ เหมือนกัน ดังนั้น การกระจายความเสี่ยงไปให้ผู้อื่นที่มองหรือคาดการณ์ไปในอนาคตต่างกันจึงมี มาก ทำให้มีราคาซื้อขายในทุกช่วงราคาอยู่ตลอดเวลา และมีค่า premium ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ
      
       มาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า เช่น Tobin’s Tax หรือมาตรการสำรองร้อยละ 30 จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประเทศบ่อน้ำเล็ก เป็นเสมือน “รั้ว” ที่จะนำมาเพื่อป้องกันช้างตัวใหญ่ไม่ให้เข้ามาอาศัยบ่อน้ำหนีร้อน หากเป็นช้างตัวย่อมๆ ก็ยินดีต้อนรับ มิได้เป็นการถือปืนไป “ฆ่า” ช้างดังที่หลายฝ่ายพยายามสร้างภาพให้เห็นแต่อย่างใด
      
       อย่าลืมว่าผู้ที่นำเงินทุนเข้ามา อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อหวังประโยชน์จากการรักษาค่าเงินบาทมิให้ผันผวนกับ เงินตราต่างประเทศ ที่ทางการไทยดำเนินมาทุกยุคทุกสมัยมิใช่หรือ แล้วต้นทุนในการ “รักษาความสงบของเงินบาท” ที่ปรากฏจากการขาดทุนในอัตราแลกเปลี่ยนที่ ธปท.เข้าไปแทรกแซงเพื่อรักษาค่าเงินบาทมิให้ผันผวนจะมาจากใคร มิใช่จากประชาชนทุกคนดอกหรือ แต่ผู้รับประโยชน์กลับรวมเอาคนต่างประเทศที่ไม่เคยเสียภาษีในประเทศไทยแม้ แต่เก๊เดียว
      
       ต้องอย่าให้คนไทยด้วยกันว่ารัฐบาลมี 2 มาตรฐาน เก่งแต่เก็บภาษีคนไทย ทีต่างชาติทั้งขาเข้านำเงินเข้ามาและขาออกนำเงินบวกกำไรออกไปก็ไม่สามารถ เก็บภาษีอะไรได้เลย
      
       ประเทศไทยควรหรือที่ต้องการเงินร้อนที่หวังเพียงแค่เข้ามาหาที่พัก เพื่อเก็งกำไรทั้งค่าเงินและราคาหุ้น แต่ทิ้งไว้ซึ่งความผันผวนทางเศรษฐกิจกับคนไทยทุกคน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรเก็บภาษีขาเข้าเงินทุนจากต่างประเทศเสียที
      
       ประเด็นสำคัญที่ประชาชนพลเมืองเข้มแข็งควรจะกระตุ้นให้ภาครัฐคำนึงถึงก็คือ การ ยึดติดกับนโยบายการเข้าแทรกแซงเพื่อมิให้ค่าบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจะทำได้ มากน้อยเพียงใดในอนาคต ด้วยต้นทุนเท่าใด คุ้มค่าหรือไม่ และที่สำคัญการสะสมความมั่งคั่งของประเทศโดยการถือ “กระดาษ” ในรูปเงินตราต่างประเทศกับการปล่อยให้บาทแข็งไปตามที่ควรจะเป็น เปลี่ยนการสะสมความมั่งคั่งในรูปของสินค้านำเข้าที่จำเป็นแทน “กระดาษ” เช่น การไปลงทุนในกิจการพลังงานนอกประเทศ และปล่อยให้เศรษฐกิจปรับตัวจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบันหรือไม่
      
       อย่ารอการริเริ่มหรือคำตอบจากนักการเมืองเพราะพวกเขาอาจไม่มีศักยภาพพอที่จะมาคิดหรือตัดสินใจเรื่องยากๆ เช่นนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น