++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

สืบสาน...สืบทอด ทางรอด'ช่างพื้นถิ่น'

ศิลปะแต่ละแขนงต่างมีเอกลักษณ์อันทรงคุณค่า ทั้งยังมีความหมายต่อการสืบรักษาอย่างยั่งยืน ดังนั้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมศิลปากรจึงงานพิธีไหว้ครูและพิธีสืบทอดผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขน-ละคร และครูช่างของกรมศิลปากรขึ้น เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ เป็นการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม ประเพณี และจารีตของโบราณาจารย์ สร้างองค์ความรู้ทางวิชาการและสร้างความมงคลแก่ผู้เข้าร่วมพิธี

นอกจากนี้ มีการจัดนิทรรศการ “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ตั้งแต่วันนี้ ถึง31 ตุลาคม ณ โรงละครแห่งชาติ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยนิทรรศการจะเน้นเรื่อง “ช่างพื้นถิ่น” โดยพลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อย สถาปัตยกรรม และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ให้ข้อมูลเกี่ยงกับงานช่างว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.) ได้เตรียมจัดทำข้อมูลเพื่อประกาศขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมสาขาช่างปั้นฝีมือดั้งเดิมในปี 2554 เนื่องจากพบปัญหาการขาดแคลนองค์ความรู้ในสาขาดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะงานช่างพื้นถิ่นแบบดั้งเดิมต้องการการจัดเก็บองค์ความรู้ที่เป็นระบบ
อดีตอธิบดีกรมศิลปากร แสดงทัศนะอีกว่า ปัจจุบันพบว่ามีช่างฝีมือประสบปัญหาการประกอบวิชาชีพ เนื่องจากคนสมัยใหม่ไม่เข้าใจถึงความลึกซึ้งในงานฝีมือ ทำให้เกรงว่าในอนาคตจะไม่มีการสืบทอดช่างฝีมืออีกต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น แม้จะมีการเก็บรักษาองค์ความรู้เอาไว้ได้ แต่หาคนทำเป็นไม่ได้ก็ไร้ผล

“ช่างพื้นถิ่น คือช่างที่ยังคงรักษารูปแบบการทำงานแบบท้องถิ่น เช่น ช่างปั้นปูนจะปั้นตามแบบอย่างดั้งเดิม ปูนต้องนำไปตำก่อนจะทำให้ชิ้นงานที่ปั้นออกมาสวย แต่เดี๋ยวนี้คนจ้างไม่เข้าใจต้องการราคาถูกเลยหันไปใช้ปูนซีเมนต์สำเร็จรูปกันหมด อย่างนี้ก็ไม่ใช่ช่างฝีมือ ” พลอากาศตรีอาวุธ กล่าว

นิรมล เรืองสม ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ให้ความรู้ว่า งานช่างพื้นถิ่นทุกแขนงต่างมีเอกลักษณ์และโดดเด่น โดยได้ถ่ายทอดความเป็นไทย เชื่อมโยงให้เห็นการสร้างสรรค์ศิลปะอันมีเอกลักษณ์ของไทยซึ่งสั่งสมอย่างยาวนาน

“ศิลปะพื้นบ้านเกิดจากการดำเนินชีวิตของผู้คน ซึ่งงานของช่างแต่ละท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกันไปซึ่งจะแสดงออกทางผลงาน งานปั้นปูนจากเพชรบุรีก็จะมีรูปแบบเฉพาะเป็นการปั้นปูนสด ขณะที่งานทอผ้าก็มีเอกลักษณ์ เช่นในภาคอีสานจะมีลวดลาย สีสันต่างจากผ้าทอจากภูมิภาคอื่นๆ งานแกะสลักไม้ ช่างสลักหนัง ช่างเบญจรงค์ หรือกระทั้งเครื่องปั้นดินเผา ก็ล้วนมีความงามอยู่ในตัวเอง”

พลอากาศตรี อาวุธ อาวุธ ทิ้งท้ายว่า หากมีเพียงการเก็บความรู้ของสวช.อาจจะได้แต่องค์ความรู้ แต่จะไม่ได้เห็นของจริงในพื้นที่ ก็จะไม่มีการต่อยอดจะเหลือไว้เพียงความรู้ในตำรา ซึ่งต้องมีการถ่ายทอด และสาธิตให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาสัมผัสจึงจะเกิดการสืบทอด สืบสาน

อย่างไรก็ตาม นิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เรื่อง “ช่างพื้นถิ่น” จะจัดแสดงผลงานช่างพื้นถิ่นของแต่ละภาค เช่น งานช่างพื้นถิ่นภาคเหนือ ช่างทำทองสุโขทัย ช่างทำเครื่องเงินบ้านวัวลาย จ.เชียงใหม่ ช่างแกะสลักไม้ ภาคกลางเช่น ช่างจักสาน ช่างทำหัวโขน ช่างแทงหยวกเมืองเพชร งานช่างปูนปั้น งานทอผ้าภาคอีสาน ช่างทำเทียน จ.อุบลราชธานี งานช่างทำหนังตะลุงภาคใต้ งานเครื่องถม และจักสานย่านลำเภา เป็นต้น นิทรรศการจะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้-31 ตุลาคม เข้าชมได้ทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 0-2224-1333,0-2224-1402

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น