++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

เสนอกฎหมาย : ปฏิบัติการลดทอนความเหลื่อมล้ำของภาคประชาชน

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 6 กันยายน 2553 17:38 น.
ประเทศไทยมีกฎหมายมากมาย แต่ทว่ากฎหมายที่ร่างขึ้นเพื่อตอบสนองความจำเป็นและความต้องการแท้จริงของ ประชาชน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยกลับขาดแคลน ด้วยกฎหมายสูงสุดนับแต่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ จนถึงประกาศกระทรวง มักเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มกุมอำนาจการเมืองและทุนธุรกิจมากกว่าจะเป็น ประโยชน์ต่อคนด้อยโอกาสที่เป็นชายขอบของสังคมไทย

ในความเพียรพยายามเสนอกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกในการเจรจา ต่อรองเรียกร้องโอกาส จัดสรรอำนาจที่จะเข้าถึงปัจจัยการผลิต หรือครอบครองฐานทรัพยากรของประชาชนจึงไม่เพียงคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งที่ เกิดจากการมุ่งใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมในการควบคุมการลุกขึ้นสู้หรือทวงถาม สิทธิอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยของคนรากหญ้าที่ไร้อภิสิทธิ์ทางการเมือง หรือเศรษฐกิจเท่านั้น ทว่ายังสามารถตอบโจทย์ประเทศไทยที่ถูกความเหลื่อมล้ำบดขยี้รุนแรงจนหลายคราว ครั้งระเบิดออกเป็นวิกฤตการเมือง-สังคม-วัฒนธรรมที่ยืดเยื้อด้วย

ด้วยสายธารประชาธิปไตยกว่า 7 ทศวรรษพิสูจน์ชัดแล้วว่าไม่อาจวาดหวังให้ตัวแทนประชาชนร่างกฎหมายที่คำนึง ถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ได้มากนัก เนื่องด้วยผู้แทนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการเลือกตั้งมาไม่ได้ปฏิบัติตนเป็น ผู้แทน (Representative) ที่แท้จริงของประชาชน แต่กลับใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ให้ครอบครัว พวกพ้อง หรือกลุ่มของตนด้วยการคอร์รัปชันรูปแบบต่างๆ นานา จนอาจเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของวงศ์วานว่านเครือจะถูกต้องกว่า

อำนาจอธิปไตยที่ประชาชนมอบให้ผู้แทนเพื่อไปทำหน้าที่บรรเทาเบาบาง ความเดือดร้อนของประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตัวจึงกลายเป็นความเจ็บปวดของประชาชนผู้ใช้สิทธิใช้เสียงไปในทาง หนึ่ง ซึ่งจะถอนพิษไข้นี้ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนต้องเข้ามากำกับควบคุมการบริหารชาติ บ้านเมืองของตัวแทนทั้งในฟากรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วยการตรวจสอบและถ่วงดุลทั้ง ในสภา นอกสภา หรือกระทั่งบนท้องถนน ตลอดจนรวมตัวกันเสนอกฎหมายเพื่อพลิกวิกฤตคุณภาพชีวิตด้วยพลังของตนเอง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การ เข้าชื่อเสนอกฎหมาย (Initiative) เป็นหนึ่งยุทธวิธีที่ประชาชนจะสามารถมีสิทธิเสียงทางการเมืองมากกว่าการลง คะแนนเสียงเลือกตั้ง เช่นเดียวกันกับการประชาพิจารณ์ (Public hearing) การลงประชามติ (Referendum) การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (Impeachment and recall) ที่ล้วนแล้วแต่เสริมสร้างอำนาจ (Empower) แก่ภาคประชาชนบนระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory democracy) ที่ได้ทวีช่องทางในการเจรจาต่อรองเรียกร้องเพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำที่ กำลังถั่งโถมสังคมไทยไปสู่จุดหายนะอย่างไม่หยุดยั้ง

ดังนั้น จึงต้องธำรงเจตนารมณ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนในการเสนอ กฎหมายตามมาตรา 163 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่มีพัฒนาการมากกว่ามาตรา 170 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ไว้ให้ได้ เพราะจำนวนประชาชนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายที่ลดลงเหลือแค่ 10,000 คน จากเดิม 50,000 คน นั้นนอกจากจะเพิ่มความสะดวกในการใช้สิทธิมากขึ้นแล้ว ยังได้รับประกันการคงอยู่ในเจตนารมณ์แท้จริงของประชาชนไว้ด้วย โดยการกำหนดให้มีผู้แทนของผู้เสนอกฎหมายเข้าชี้แจงและเป็นกรรมาธิการร่วมไม่ น้อยกว่า 1 ใน 3 ในการพิจารณาร่างกฎหมาย นอกเหนือไปจากการเพิ่มความคล่องตัวในการร่างกฎหมายด้วยการให้องค์กรเพื่อการ ปฏิรูปกฎหมายหรือกองทุนเพื่อพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองช่วยเหลือทำร่างพระราช บัญญัติ

ข้อจำกัดเดิมๆ ในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อรักษาวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น 1) ขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อที่กำหนดให้ประชาชนต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวของทาง ราชการและทะเบียนบ้านคู่กัน การแบกรับค่าใช้จ่ายในการทำสำเนาเอกสารและประชาสัมพันธ์ 2) กระบวนการรัฐสภาที่การตรวจสอบรายชื่อไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนและระยะเวลานาน สถานที่ที่ปิดประกาศเป็นสถานที่ราชการที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลยาก

และ 3) สมาชิกรัฐสภาไม่ให้ความสำคัญแก่ร่างกฎหมายประชาชน ตลอดจนไม่เข้าใจเจตนารมณ์แท้จริง จึงมักแปรญัตติบนอคติถึงขนาดบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนเพื่อผลประโยชน์ พรรคพวก ที่พังทลายลงตามมาตรา 163 นี้จะพลิกโฉมหน้าการเมืองแบบมีส่วนร่วมของประชาชนได้

ด้วยอย่างน้อยที่สุดความพยายามของภาคประชาชนที่จะลดทอนความเหลื่อม ล้ำอันเนื่องมาจาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบทุนนิยมสุดขั้วที่ไม่เห็นหัวคน เล็กคนน้อยที่เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจก็จะไม่ ‘แท้ง’ เหมือนก่อนหน้านี้ที่กระบวนการเสนอร่างกฎหมายของภาคประชาชน 16 ครั้ง แบ่งเป็นการเข้าชื่อเสนอกันเอง 10 ครั้ง และการเข้าชื่อโดยการร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวบรวมรายชื่อ 6 ครั้ง ประสบความสำเร็จประกาศใช้เป็นกฎหมายเพียงหนึ่งเดียว คือ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ทั้งๆ ที่มีร่างกฎหมายอื่นๆ อีกมากมายที่ก่อคุณูปการกับประเทศชาติ เช่น ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ธนาคารหมู่บ้าน พ.ศ. …

ด้วยเหตุนี้สิทธิในการเสนอกฎหมาย (Right to initiate Bill) ที่ก้าวหน้ากว่าเดิมขนาดไม่จำกัดสิทธิแก่บุคคลที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะถือเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของประชาชนจึงต้องได้รับการปกป้องจากสังคมไม่ ให้ถูกแทรกแซงหรือลิดรอนจากกลุ่มกุมอำนาจรัฐและทุนที่กลัวเกรงจะสูญเสีย ประโยชน์จากการเสนอกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมเท่าเทียมของภาคประชาชน โดยเฉพาะการจับตาแนวทางการปรับปรุง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 ที่ถือเป็นหัวใจในปฏิบัติการจริงของภาคประชาชน ถึงแม้นว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะได้กำหนดกลไกเพื่อขจัดอุป สรรคดัวกล่าวไว้แล้ว แต่ก็เป็นแค่หลักการลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

ดังนั้น การสร้างเสริมอำนาจประชาชนในการเสนอร่างกฎหมายจึงต้องวางอยู่บนหลักการต่างๆ ตามข้อเสนอของ ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณะทำงานสถาบันพระปกเกล้าฯ และอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของคณะกรรมการ ปฏิรูปกฎหมาย ดังนี้

1) ควรยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... ขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เนื่องจากบริบทตามรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไปทั้งจำนวนผู้ริเริ่ม กองทุน หรือองค์กรช่วยเหลือร่างกฎหมาย 2) วิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายควรคงช่องทางการเข้าชื่อโดยการร้องขอให้ กกต.สนับสนุนไว้ 3) การตรวจสอบการคัดค้านรายชื่อควรมีกระบวนการกระชับ โปร่งใส ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน

4) ควรนำบริบทของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในส่วนขององค์กรที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและกองทุน ที่ถูกจัดตั้งมาเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และ 5) ควรกำหนดกรอบระยะเวลาในกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันความล่าช้าและทำให้กระบวนการดังกล่าวมีระยะเวลาที่ชัดเจนอัน เป็นการบังคับภาครัฐให้ปฏิบัติตามกรอบเวลาโดยปริยาย

ภาย ใต้สถานการณ์ที่ความเหลื่อมล้ำกำลังถั่งโถมสังคมไทยจนเกือบนำไปสู่หายนะแห่ง สงครามกลางเมืองเช่นนี้ ปฏิบัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนจะเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่ลดทอนความ ขัดแย้งรุนแรงอันเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมเท่าเทียมได้

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น