++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

เผยปี 52 คนไทยฆ่าตัวตาย 3,634 คน เหตุเครียด-ซึมเศร้า

“จุ รินทร์” เผยปี 52 คนไทยฆ่าตัวตาย 3,634 คน สาเหตุหลักมาจากความเครียด โรคซึมเศร้า ย้ำการฆ่าตัวตายป้องกันได้ ส่วนโรคซึมเศร้ารักษาหายได้

วันนี้ (10 ก.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 10 กันยายนทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก โดยในปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ว่า "หลากหน้า หลายพื้นที่ รวมพลังป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (Many Faces, Many Places : Suicide Prevention Across the World) มีความหมายว่า ทั้งโลกจะต้องรวมพลังกันเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายขึ้น ขณะนี้อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรทั้งโลกอยู่ที่ 16 คนต่อประชากรแสนคน สำหรับ ประเทศไทยข้อมูลในปี 2552 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,634 คน อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 5.72 ต่อประชากร 100,000 คน สูงที่สุดในเดือนมิถุนายน จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง 5 จังหวัดแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน เชียงราย เชียงใหม่ และระยอง โดยผู้หญิงมีความพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ชาย 3 เท่า แต่เมื่อมีความพยายามฆ่าตัวตายแล้ว ผู้ชายจะทำสำเร็จสูงกว่าผู้หญิง 3.5 เท่า


ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด รองลงมา ได้แก่ เป็นโรคซึมเศร้า ติดยาเสพติด และการเจ็บป่วยทางกาย อย่างไรก็ตามการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้ และโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือวิธีการป้องกันและวิธีการดูแลรักษาหากเป็นโรคซึม เศร้า โดยวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายเช่น พยายามหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ สร้างความมั่นคงให้กับจิตใจ ฝึกทักษะในการแก้ปัญหาชีวิต ปัญหาส่วนตัว ความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งครอบครัวจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการฆ่าตัวตายได้

นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดบริการด้านสุขภาพจิตให้ผู้ที่อยู่ในภาวะที่อาจนำไปสู่การคิดฆ่าตัวตาย สามารถขอคำปรึกษาที่เข้าถึงง่าย เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือเว็บไซต์ของโรงพยาบาลศรีธัญญา การตอบคำถามผ่านเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร และขยายบริการลงถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ โดยใช้ อสม.เป็นผู้ช่วยคัดกรองผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งขณะนี้ได้อบรม อสม.และเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในการคัดกรองผู้อยู่ใน กลุ่มเสี่ยง เพื่อนำไปสู่การป้องกันและดูแลรักษาต่อไป

“ขอ ย้ำว่า สิ่งที่สำคัญ ก็คือ การฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้ และโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นสาเหตุหลัก รักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นอยากให้ทุกคนมีความหวัง” นายจุรินทร์ กล่าว

ทางด้านนายแพทย์ วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเกณฑ์ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายโดยประเทศที่เสี่ยง สูง คือ มีอัตราฆ่าตัวตายเฉลี่ยมากกว่า 13 คนต่อประชากรแสนคน เสี่ยงปานกลางมีอัตราเฉลี่ย 6.5-13 คนต่อประชากรแสนคน และประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยมีอัตราเฉลี่ยน้อยกว่า 6 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งประเทศไทยในปี 2552 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,634 คน เฉลี่ย 5.72 คนต่อแสนประชากร ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงการฆ่าตัวตายน้อยติดต่อกันมาตลอด 3 ปี แต่ก็ยังต้องรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตายต่อไป เพราะทุกชีวิตล้วนมีคุณค่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น