++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ต้นไม้-ต้นไร่ ๐ ไม้ก๊อก (๒-ตอนจบ)

แพน นนทรี


            ..แม้ว่า การใช้ประโยชน์ไม้ก๊อกจะมีหลากหลายมากขึ้นเรื่อยมานับเป็นศตวรรษๆแล้วก็ตามทีเถิด แต่ทราบไหมครับว่า วิธีการลอกเปลือกตั้งแต่สมัยกษัตริย์ ดอม ดินิส (ค.ศ.๑๓๑๐) แห่งปอร์ตุเกสเป็นต้นมามีการเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก ยังคงใช้วิธีเก๋ากึ๊กกันอยู่จนทุกวันนี้ ว่ายังงั้นเถอะ "ฝีมือ" ของการลอกเปลือกมักจะถ่ายทอดจากพ่อมาสู่ลูกเป็นทอดๆยังงี้เรื่อยมา

            การลอกเปลือกนั้นจะต้องทำอย่างประณีตและถูกต้อง เพราะถ้าหากผิวเนื้อ (ใต้เปลือก) ถูกปู้ยี่ปู้ยำเป็นแผลหรือฟกช้ำ ธรรมชาติก็จะผลิตเนื้อไม้ออกมาแทนที่ คราวนี้แหละครับมันจะเป็นปุ่มเป็นปม และเปลือกที่จะเกิดตามมาก็จะเป็นปุ่มเป็นปมตามไปด้วย คุณภาพของเปลือกทั้งแผ่นก็จะด้อยลง มีแผลมากก็มีปุ่มปมมาก คุณภาพเปลือกก็ด้อยมากเข้าไปทุกที เรื่องมันก็เป็นยังงี้แหละครับ ฝีมือจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การลอกเปลือกนั้นเขาจะทำกันตั้งแต่เช้ามืด เริ่มด้วยการใช้ขวานคมกริบกรีดเปลือกจนรอบโคนต้น เสร็จแล้วก็กรีดอย่างเดียวกันนั้นสูงขึ้นไปบนลำต้น ก็ประมาณ ๕ ฟุตนั่นแหละ จากนั้นก็กรีดตามแนวดิ่งลงมาหนึ่งครั้ง เป็นอันเสร็จเรื่องของการกรีด  คราวนี้จึงใช้เหล็กงัดซึ่งเป็นรูปลิ่มมีด้ามถือ ค่อยๆงัดตรงรอยกรีด ลอกเปลือกออกมาเป็นแผ่นโตๆ ลอกออกจามาหมดทั้งลำต้นส่วนนั้นทีเดียว ลอกเสร็จก็เห็นเนื้อไม้สีขาวซึ่งจะกลายเป็นสีแดงเรื่อๆ เหมือนสีสนิมเหล็ก ทำให้รู้สึกคล้ายกับเลือดออกซิบๆอะไรทำนองนั้นแหละครับ

            เคยมีคนพยายามคิดเครื่องยนต์กลไกสำหรับลอกเปลือกไม้ก๊อกแทนคนกันบ้างเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่เข้าแก๊บซักที จึงต้องอาศัยกล้ามเนื้อคนกันอยู่จนทุกวันนี้ งานมันก็หนักเอาการเหมือนกันนะครับ ว่าไปทำไมมี วันหนึ่งๆคนปอร์ตุเกสที่ชำนาญจะลอกเปลือกได้ราวๆ ๘๐๐ ปอนด์ งานนี้ไม่ได้ทำกันตลอดทั้งปีหรอกครับ เหนื่อยกันเฉพาะฤดูร้อนเท่านั้น ช่วงนี้เป็นระยะที่ต้นไม้ผ่านระยะการเจริญเติบโตประจำปีไปแล้ว เปลือกจะแห้งกว่าปกติ ทำให้ล่อนออกจากเนื้อง่าย เมื่อลอกเปลือกออกไปแล้ว เลือดที่ออกซิบๆ เช่นว่านั้นจะเปลี่ยนจากสีสนิมเหล็กเป็นสีเข้มขึ้นไปจนเป็นสีเทาแบบสีขี้เถ้า ซึ่งก็หมายถึงว่าเซลล์เปลือกชุดใหม่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว

            เปลือกสดนั้นเมื่อถึงโรงงานก็จะเอาไปต้ม ๔๕ นาทีเพื่อให้มันอ่อนตัวลง การต้มจะทำให้มันพองตัวขึ้น รวมทั้งคายกรดแทนนินและเกลือแร่ต่างๆออกมา ตอนนี้คือหลังจากต้มแล้ว เปลือกไม้ก๊อกก็มีลักษณะคล้ายๆยาง เขาจะเอาไปวางเรียงทับกันเป็นชั้นๆให้มันแบนราบและเย็นลง จากนั้นก็เป็นเรื่องของการตรวจคัดคุณภาพตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ปัจจัยที่สำคัญของคุณภาพก็อยู่ที่ความหนาของเปลือกและคุณภาพของเนื้อ

            มนุษย์หากินด้วยอาชีพทำไม้ก๊อกขายมานานหลายศตวรรษเต็มที แต่ก็เพิ่งมีโรงงานผลิตกันจริงๆตั้งแต่เมื่อ ๒๐๐ ปีมาแล้วเท่านั้นเอง ก็ในปอร์ตุเกสนั่นแหละครับ ทุกวันนี้โรงงานแปรรูปหันเข้าหาเครื่องมืออัตโนมัตกันมากขึ้น เพราะมันเป็นยุคของคอมพิวเตอร์แล้วนี่ครับ  มัวเล่นฉับแกละเหมือนเดิมก็ไม่ทันบริโภค ที่ปอร์ตุเกสเดี๋ยวนี้มีโรงงานใหญ่ที่สุดที่ผลิตจุกขวดไม้ก๊อกได้วันละ ๑.๒๕ ล้านจุกเข้าไปโน่นทีเดียว การผลิตจุกขวดนี่เป็นอาชีพหลัก ปีนึงใช้ไม้ก๊อกไปราวๆ ๖๕ เปอร์เซ็นต์ และจุกขวดที่ใช้กันมากที่สุด คือ จุกขวดแชมเปญนั่นแล ต้องใช้ไม้ก๊อกคุณภาพยอดเยี่ยมด้วยนะครับ

            ผลิตภัณฑ์ที่อันดับรองลงไปจากจุกขวดก็ได้แก่ วัสดุต่างๆที่ใช้ในการตกแต่งบ้าน ทำเป็นแผ่นกันความร้อน หรือสัวดุปูพื้นบ้าง แล้วก็มีอะไรอีกจิปาถะ แต่มีที่สำคัญมากที่บางทีเราก็นึกกันไม่ถึงเพราะไม่ได้ใกล้ชิดกับวงการ เพราะมัวแต่ใกล้ชิดกับวงเหล้าเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่ผมควรจะเสวนาไว้ในวันนี้ด้วย ก็คือว่า โดยเหตุที่ไม้ก๊อกติดไฟช้ามาก ซึ่งก็หมายความเพื่อ ซ.ต.พ. ได้ง่ายๆว่า มันทนความร้อนได้มากนั่นเอง  เค้าจึงนิยมเอามาใช้กรุท่อระบายในระบบปรับอุณหภูมิภายในเรือดำน้ำปรมาณู เอาไปใช้ในการขนส่งสารกัมมันตรังสี แคปซูลที่บรรจุสารพวกนี้เมื่อมีไม้ก๊อกห่อหุ้มไว้แล้ว ก็จะทนทานต่อการกระแทกกระทั้นและทนความร้อนได้ดีเยี่ยม ขนาดหล่นจากที่สูง ๓๐ ฟุต และความร้อนสูงถึง ๑,๕๐๐ องศาฟาเรนไฮท์ ก็ไม่ทำให้กัมมันตรังสีรั่วออกมาได้

            ที่ตรงส่วนหัวของจรวด หรือ กระสวยอวกาศ หรือยานอวกาศ อะไรก็สุดแท้แต่จะเรียก  ไม่ว่าเป็นของสหรัฐหรือรัสเซีย ตรงจุดนั้นน่ะเป็นส่วนที่เสียดสีกับบรรยากาศอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความร้อนสูงมาก ด้านในจะมีไม้ก๊อกหนาขนาด ๓-๔ นิ้วบุอยู่ทั้งนั้น และส่วนอื่นๆ ถ้าตรงไหนมีความร้อนสูงๆก็จะต้องบุด้วยแผ่นไม้ก๊อกเสมอ ยานอวกาศโคลัมเบียที่เราคุ้นกันมากก็ใช้ไม้ก๊อกเข้าไปพะเรอเกวียนเชียวละครับ



           

ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น