เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
"ยอมรับอยู่ว่ามันเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราที่ไม่เคยทำมาก่อน" คือ คำกล่าวถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ในระยะแรกจากหนึ่งในคณะกรรมการกองทุนฯ
ถึงแม้ว่า การทำโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคณะกรรมการ อบต.บ้านราษฎร์ แต่ด้วยความอุตสาหะและการประสานเครือข่ายทำให้กองทุนฯ เป็นรูปเป็นร่างผ่านการทำประชาคมเพื่อจัดทำโครงการ ในระยะแรก คณะกรรมการยอมรับว่า คิดภาพไม่ออกว่าจะเริ่มขั้นตอนอย่างไร ทั้งในเรื่องการจัดทำงบประมาณ การดำเนินการหรือการคิดโครงการ
ผลที่สุด การทำประชาคมได้บทสรุปถึงความหมายของคำว่า สุขภาพ อันเป็นนิยามเบื้องต้นที่มีความสำคัญในการริเริ่มโครงการออกกำลังกายประจำหมู่บ้าน
ความหมายของคำว่าสุขภาพ แบ่งเป็น 2 ประการ คือ
1. สุขภาพจิต โดยคิดว่าทำอย่างไรจิตใจถึงจะดี
2. สุขภาพกาย เน้นการออกกำลังกาย ซึ่งในตำบลบ้านราษฎร์มีโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่เน้นการออกกำลังกาย โดยใช้กระบวนท่ารำไม้พลอง แอโรบิก โยคะ และไทเก๊ก เพื่อสร้างเสริมสุขภาพอยู่แล้ว
เมื่อเริ่มเข้าที่เข้าทาง เมื่อทุกคนเข้าใจร่วมกันแล้วว่า สุขภาพ คือ ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคภัยทั้งหลาย การออกกำลังกายทำให้สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรค เช่น หากผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกายสม่ำเสมอ วันละนิด วันละหน่อย ความดันเลือดจะลดลง นอกจากสุขภาพกายแล้ว ยังทำให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส เบิกบาน ครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจ
"เมื่อก่อนลุกเดินไม่ได้ เวลาเดินหลังค่อมเพราะปวดหลัง เดินได้ไม่ไกล ลูกหลานต้องพาเดินและให้มาออกกำลังกาย เดี๋ยวนี้ยายดีใจมากที่ช่วยเหลือตนเองได้" คุณยายวัย 72 ปี
โครงการออกกำลังกายประจำหมู่บ้าน ตำบลบ้านราษฎร์ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นโดยผ่านความเห็นร่วมกันของประชาคมและได้มีจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และจัดกลุ่มสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ ตามหลักเกณฑ์ของ สปสช. ใน 5 กลุ่มเป้าหมาย
1. หญิงตั้งครรภ์
2. เด็กเล็ก (ต่ำกว่า 6 ปี)
3. เด็กโต (6 ปี ถึงต่ำกว่า 25 ปี)
4. ผู้ใหญ่ (25 ปีขึ้นไป) และ
5. ผู้พิการและทุพพลภาพ
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็วออกเยี่ยมผู้ป่วยอีกด้วย
"ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเปิดเพลงประกอบท่าแอโรบิกเต้นยึกยักอยู่หน้าบ้าน แถมยังชวนเพื่อนบ้านผ่านหอกระจายเสียงตามสาย เชิญชวนชาวบ้านมาร่วมออกกำลังกาย ทำต่อเนื่องมาก่อนจะมีงบจากทางราชการให้ เมื่อ อบต.ให้เสนอโครงการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้เสนอโครงการออกกำลังกายและของบสร้างสถานที่ ซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียงใช้เป็นของหมู่บ้าน " ประธานอาสาสมัคร หมู่ 2 อายุ 50 ปี
เมื่อโครงการเริ่มต้น ทุกคนเริ่มตื่นตัวกับโครงการออกกำลังกายประจำหมู่บ้าน ต่างมีความคาดหวังโครงการออกกำลังกายจะทำให้ประชาชนในหมู่บ้าน มีร่างกายที่แข็งแรง เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน " ทางด้านจิตใจของผู้สูงอายุจะทำให้ผู้สูงอายุที่มาออกกำลังกายมีการพูดมาคุยกัน" เจ้าหน้าที่บริหารทางการแพทย์ฉุกเฉินกล่าว
โครงการออกกำลังกาย ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งจะรำไม้พลอง ในกลุ่มเด็กโต (6 ปีถึงต่ำกว่า 25 ปี) จะเต้นแอโรบิก ผู้ชายจะเตะฟุตบอลโดยใช้สนามเตะฟุตบอลที่โรงเรียนและสนามประจำหมู่บ้านกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ ตะกร้อ เปตอง วอลเลย์บอล เหมือนกับนิยามที่ว่า กีฬาเป็นยาวิเศษ
"การออกกำลังกายช่วยให้โรคภัยต่างๆทุเลาลง ใครที่ไม่เป็นโรคก็ได้รับการผ่อนคลาย " ครูฝึกออกกำลังกายประจำหมู่บ้าน หรือ " เมื่อก่อนไปโรงพยาบาลบ่อย หลังจากออกกำลังกายแล้วไม่ค่อยได้ไป " คุณยายอายุ 68 ปี หรือ "การออกกำลังกาย เป็นยาที่ไม่ต้องซื้อ " ชาตรี อายุ 21 ปี
เหล่านี้ ล้วนเป็นความเห็นของผู้คนบ้านราษฎร์ ที่เล็งเห็นผลในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการออกกำลังกาย
แม้แต่ ลุงถนอม (นามสมมติ) อายุ 68 ปี ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เล่าว่า ก่อนเข้าโครงการเดินเป๋ไป เป๋มา เพราะป่วยและมีรูปร่างอ้วน ตัวใหญ่ จึงได้เริ่มมาร่วมกลุ่มออกกำลังกาย ทำวันละนิด เฉพาะช่วงเวลา 17.00-18.30 น. เป็นประจำ ปัจจุบัน เดินได้คล่อง น้ำหนักลด รู้สึกสบายขึ้น หลังจากทำเพียง 3 เดือน
อาสาสมัครทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ เกิดจาก
1. ทุกคนมีความเห็นว่า การออกกำลังกายทำให้สุขภาพดี นอกจากนี้ โครงการออกกำลังกายทำให้ทุกคนจากหมู่บ้านต่างๆ ได้มาทำความรู้จักกัน
2. เกิดการประสานงานแต่ละกลุ่มโดยธรรมชาติ เป็นภาคประชาสังคมที่มีความอบอุ่น มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแล รัฐให้ความสำคัญดูแลซึ่งกันและกัน
3. ทำให้รูปร่างดีและสุขภาพดี ป้องกันโรคอ้วน จากเมื่อก่อนมีคนอ้วนถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากร โครงการนี้ช่วยให้ลดความอ้วนได้มาก
ทั้งนี้ การออกกำลังกาย ต้องควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารเย็น จำพวกผักและผลไม้
ข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการกองทุนฯ น่าจะได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงจากทาง สปสช. ทุกคน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ทั้งในส่วนของงบประมาณ การจัดการจัดจ้างวัสดุ - อุปกรณ์ เพราะการไม่ได้เข้าร่วมรับฟัง จะเกิดปัญหาในการถ่ายทอด ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งอยากให้แจ้งว่า "สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร" และงบประมาณควรโอนมาให้เร็วเพื่อการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่ อบต.กำหนดไว้ตามปีงบประมาณ
" อยากเห็นทุกคนสุขภาพดี แข็งแรง ไม่ป่วยไข้ " อาสาสมัครโครงการออกกำลังกายกล่าวทิ้งท้ายพร้อมด้วยรอยยิ้ม และเชื่อว่าน่าจะเป็นยิ้มที่แทนใจราษฎรแห่งบ้านราษฎร์ทุกคน
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
ดร.นัฐชญา คุรุเจริญ
ดร.ดวงรัตน์ คัดทะเล
จงกลนี ตุ้ยเจริญ
กชกร แก้วพรหม
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น