++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

อุจจารณวิลาส - อภิมหาสารคดี

        บุญไหล บุญหล่นทับ

            ผมเคยอ่านหนังสือที่ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้นานแล้ว ยังจำได้อยู่จนทุกวันนี้ นึกได้ว่าหากไม่นำมาเล่าให้ฟังต่อแล้ว กลัวความจำมันจะตกขวดเหล้าสูญหายไปเสียเปล่าๆ ครูภาษาไทยอ่านแล้วอย่ามองค้อนเสียละ ยังไง ยังไง เย็นไว้นะโยม

            ท่านว่าใน "คำคู่-คำควบ" ว่า เมื่อภาษาเดิมเป็นคำโดดพยางค์เดียว ก็เป็นธรรมดาจะต้องมีคำที่ซ้ำเสียง และต่างความหมายกันอยู่ในภาษาเป็นจำนวนมาก เมื่อพูดออกไปคำใดมีข้อความกำกวมในความหมายก็ต้องหาคำอื่นมาเติมลงไปให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างเช่น พี่ต่วย อภิมหา บ.ก.สารพัดหนังสือ เมื่อนั่งอยู่ในชมรมท่ามกลางนักกิน เอ้ย -นักเขียนของทีมต่วยตูน (ยังกะทีมฟุตบอล) บ.ก.มองหน้าลุงสรศัลย์ และจ้องเขม็งอยู่ตั้งนาน พูดขึ้นลอยๆว่า
            "เหล้า"
            การพูดขึ้นเช่นนี้ย่อมทำให้ลุงสรศัลย์เปิดพจนานุกรมไทยไม่ทัน แต่ด้วยสติปัญญาและความจัดเจนมากในการเสพน้ำชนิดนี้ ลุงสรศัลย์ย่อมรู้ได้โดยอัตโนมัติว่า บ.ก.ต้องการเหล้าหรือไม่เหล้าในแก้วลุงสรศัลย์หมดจึงถูกกรรมการเตือน แต่มองดูบนโต๊ะ ไม่เห็นมีเหล้าซักหยด เหลือแต่ขวดเปล่าและถั่วทอดของแกล้ม ฟังไปอีกแง่หนึ่ง ต้องตีความหมายว่า บ.ก.บอกว่าเหล้าหมด สมควรจะมีคนออกไปซื้อหรือขึ้นไปเอาที่ซ่อนไว้บนบ้าน หรือไม่ บ.ก.เมาถึงขนาดกล้าใช้ตูเดินออกไปซื้อให้หว่า?? หรือว่าแกจะลองใจดูว่ากล้าควักกระเป๋าเองไหม สังขารตูก็ปาเข้าไปเจ็ดสิบกว่า ใกล้แปดสิบเต็มทนแล้ว ไอ้เด็กรุ่นลูกรุ่นหลานยังบังอาจจะมาใช้ให้ยักแย่ยักยันไปเชียวเรอะ

            นี่... ก็เพราะคำกำกวมไม่แจ่มชัดในความหมาย ที่เปรียบเทียบให้เห็นประจักษ์นี้ผมขอกราบอภัยท่านที่ได้เอ่ยนามมาด้วย ไม่ยังงั้นไม่เกิด "ภาพพจน์" หรือ "ภาพพักตร์"
            สาเหตุที่ผมเอาเรื่องนี้มาเขียนก็เพราะสมัยเป็นนักเรียน พอถึงชั่วโมงภาษาไทยและดูเหมือนผมจะถูกบังคับให้กินยาหม้อใหญ่ แก้โรคเข้าข้อเข้ากระดูกอะไรทำนองนั้น อีกทั้งครูที่สอนก็แก่งั่กพุดจนเนิบนาบ พอๆกับท่านเจ้าคุณนั่งเทศน์บนธรรมาสน์ ยิ่งเหมือนกับมีมโหรีขับกล่อมชวนนิทรา เท่านั้นเอง คราวนี้จึงขอไถ่บาปสักครั้ง

            การเติมคำอื่นเพิ่มเข้าไปขยายความให้แจ่มแจ้ง คือ พูดภาษาคนให้รู้เรื่องนั้น ท่านว่ามีหลายลักษณะ แต่ลักษณะหนึ่งคือ นำเอาคำอื่นมาควบเป็นคำคู่ นอกจากจะใช้เพื่อประโยชน์ไขความในประโยคนั้นให้ชัดขึ้น ยังใช้ประโยชน์เพื่อความไพเราะสละสลวยของเสียงด้วย คำคู่-คำควบในภาษาไทยมีอยู่มากมาย และมีมากลักษณะด้วยกัน ชนิดที่เป็นแม่กก-กง, กด-กน, กบ-กม ที่เราได้ยินบ่อยๆว่า แจกแจง, แซกแซง (กก-กง) ถอดถอน, อัดอั้น (กด-กน) นอบน้อม, รวบรวม (กบ-กม) หรือ สระอิ, อี เพี้ยนเป็น แอ, เอ หรือ เอีย เช่น พลิกแพลง, หลีกเลี่ยง หยิบยืม, ขีดเขียน เป็นต้น

            คำคู่เหล่านี้ แต่ละคำมีความหมายเท่ากันก็มี ผิดเพี้ยนกันไปก็มี ใช้เป็นคำควบไม่ใช่คำสมาส เป็นคำไทยก็มี ของลาว, เขมร, พม่า, มลายู, รามัญ มีทั้งนั้น เหมือนคำควบว่า กระบอก-กระบอง ถ้าตัดเอากระพยางค์หน้าออกก็จะเป็น บอก-บอง ภาษาไทยถิ่นต่างๆเขาเรียกสิ่งกลมๆยาวๆกลวงๆในเช่นไม้ไผ่ว่า "บอก" แต่บางทีเรียก "บอง" คู่ของบอกจึงควรจะเป็นบ้อง หรือเพี้ยนเป็น "บั้ง" ตามสำเนียงท้องถิ่นนั้นๆ เช่น บ้องกัญชา-บั้งกัญชา,บอกไฟ-บั้งไฟ, บ้องไฟ ฯลฯ ผมยังเคยได้ยินไทยพวนแถวบ้านหาดเสี้ยวและชาวผู้ไทย ตลอดจนชาวเหนือชาวอีสานบางที่เขาเรียกกระบอกเป็น กระบั้ง แมลงสาบเป็นแมงกะสาบ อย่างนี้เป็นต้น หรือคำว่า "กระบอง" ซึ่งเป็นอาวุธตีกบาลได้เหมือน "กระบอก" นั้น จะเป็นภาษาไทยหรือไม่ยังสงสัยอยู่ เพราะเขมรมีคำว่า "ตำบอง" หมายความว่า "ตะบอง" อยู่เหมือนกัน

            ท่านเสฐียรโกเศศยังเล่านิทานในเชิงวิชาการของท่านไว้เลยว่า เขมรยังมีเมืองๆหนึ่ง ชื่อ "บัดตำบอง" หรือ  ที่เราเรียกว่า "พระตะบอง" ซึ่งแปลว่า "ตะบองหาย" เนื่องจากพระยาโคตตะบองขว้างตะบองวิเศษของแกไปประหารเด็กเลี้ยงวัว ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นผู้มีบุญ แล้วตะบองเกิดหายไป ที่นั่นจึงเรียกว่า เมืองบัดตำบอง แปลว่า เมืองตะบองหาย (บัด-หาย, ตำบอง-ตะบอง, บำบัดโรค-ทำให้โรคหาย)

            ตำบอง เพี้ยนเป็นตะบอง ตระบอง, กะบอง, กระบอง เมื่อพูดเข้าคู่กับกระบี่ก็เป็นกระบี่ตะบอง ก็ขัดหูไม่สะดวกปาก จึงต้องใช้เป็นกระบี่กระบอง
            อยากทราบรายละเอียดของคำว่ากะบองจริงๆ ต้องถามมหาไต้ ตามกะบอง เอ๊ย-ตามทาง ท่านคงอธิบายได้แจ่มแจ้ง เพราะชื่อท่านก็แปลว่ากะบองอยู่แล้ว หรือถ้าเคยอ่านเรื่อง "ไต้ กะบอง" ที่เขียนโดยครูคำหมาน คนไค ใน ต่วยตูน พ็อกเก็ตบุ๊ค คงจำได้ว่าครูท่านได้เขียนไว้ละเอียดดีแล้ว

            คำคำเดียวกันย่อมแปรรูปเสียงในภาษาต่างๆเป้นหลายอย่าง แม้คำเดิมจะเป็นคำเดียวกันแท้ๆ เมื่อตกไปอยู่ในภาษาต่างๆก็ย่อมกลายเป็นระบบเสียงของภาษานั้น แล้วแต่ว่าเจ้าของภาษาจะถนัดปาก อย่างคำว่า "ชา" ที่เราใช้ชงน้ำร้อนกินนั้น  มิใช่กัญชาที่ใช้สูบและใส่ต้มไก่ กวางตุ้งว่า-ฉ่า, แต้จิ๋ว-เต๊, มลายู-เตะ, เขมร-แต๋, อังกฤษ-ที, อินเดีย-ชหา, ภาษาแม้ว, เย้า, มูเซอ, คะฉิ่น, ขมู, ผีตองเหลือง ยังไม่ทราบว่าเขาเรียก "ชา" นี้ว่ากระไร

            หรืออย่าง "ช้าง" ไอ้สัตว์หูใหญ่ ตาเล็กจมูกยาว ซึ่งปัจจุบันถูกย่อส่วนเป็นช้างแคระอยู่ตามศาลเจ้านั้น เรียกออกสำเนียงต่างกัน กวางตุ้งว่า-เฉียง แคะ-เซี้ยง, ฮกเกี้ยน-เสียง, แต้จิ๋ว-เฉีย, ไหหลำ-เตี้ยง, จีนกลาง-เชียน, ญวน-เจือง, มอญ-เจิ่น, พม่า-เชน, ขมุ เติม ส.เข้าข้างหน้าคำว่า สะจาง

            ยิ่งคำที่เลียนเสียงธรรมชาติ เรายิ่งฟังเพี้ยนไปต่างๆนานาได้ แต่ลองทำใจให้เป้นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดดูเถิด ฟังสำเนียงจากชนชาติต่างๆแล้วมันก็เหมือนอย่างที่เขาได้ยินนั่นแหละ อย่างหมาหรือจะเรียกไม่ให้คาวปากนักก็ว่า สุนัขนั้น ลองสังเกตดูตอนที่มันหอน มันจะร้องมีเสียงสูงตำ สั้นยาวและหนักเบา แล้วยังยื่นปากยื่นคางอย่างชอบกล ฟังเสียงมันแล้วสังเกตดูดีๆ แล้วไปสังเกตดูคนร้องเพลงบ้าง อย่างหนังอินเดียหรือหนังไทยก็แล้วแต่  เราจะได้ยินเสียงร้องเป็นเสียงสูงต่ำสั้นยาวและหนักเบา  เหมือนลักษณะหมาหอนอย่างใกล้เคียงกันมาก เป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกไม่เป็นปรกติของร่างกายและจิตใจ ที่ผิดกันคือเสียงคนร้องเพลงจะมีจังหวะ ที่คนแต่งจัดระเบียบเป็นแบบไว้แล้ว ผิดกับหมาที่หอนอย่างไม่ต้องมีโน้ต เหมือนตอนเมาเหล้าพวกที่ชอบแหกปากร้องก็ไม่วาย เพื่อนรอบวงช่วยกันเคาะถ้วยชามเป็นจังหวะตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพลงโศก เพลงร่าเริงเบิกบาน ย่อมต่างจากเสียงหมาหอนอยู่บ้างหรอกน่า

            หมาของชาติใดเห่าก็มีเสียงเห่าของชนชาตินั้น ลองทำใจให้เป็นธรรมและเป็นกลางดูเถิดว่า หมาแต่ละสัญชาติ เขาก็ฟังผิดจากที่เราเคยได้ฟังบ่อยๆ
            เขมร-โว้กๆ, อังกฤษ-เบาเวา, พม่า-โงกๆเงียงๆ, อิตาลี-เบาๆบูๆ, อินเดียเบงกาลี-เคาๆ, ปัญจาบ-วงๆ, มัทราส-บำๆ, มัธยมประเทศ-คองๆ, เช็คโกฯ-โอะโอ, ญี่ปุ่น-วังๆ, เยอรมัน-บิมบำ, ฝรั่งเศส-วาๆ, ฟิลิปปินส์-เอาๆ, มลายู-ฮองๆ, จีนไหหลำ-บ๊องๆ, กวางตุ้ง-เฮาๆ, โฮ้ๆ, แคะ-โฮๆ

            ของพี่ไทยนั้นโปรดสังเกตเอาจากสำเนียงหมาที่ท่านเลี้ยงเอาเองแต่ละพันธุ์และขนาด  รับรองสุ้มเสียงเห่าไม่เหมือนกันเลย
            เอ๊ะ-  ว่าจะเขียนเรื่องคำคู่-คำควบ ที่เสริมพยางค์ให้แจ่มชัด ไหงเมาตุปัดตุเป๋เหล่ไปว่าเรื่องเสียง-สำเนียงก็ไม่รู้ได้ สงสัยสมองฟั่นเฟือนวิปลาสไปแล้วก็ไม่รู้ซี
            สมัยหนึ่ง- ก็สมัยนั้นแหละที่หัวหน้ารัฐบาลท่านจอมพลแปลก ที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นเมืองไทย ท่านผู้นำคงเห็นว่าเราก็เป็นมหาอำนาจเหมือนกันทางด้านภาษา  ทั้งภาษาพูดภาษาเขียนของประชาชนพลเมือง มันฟังแล้วไม่รื่นรูหู กระโดกกระเดก หยาบคาย สองแง่สองง่าม เป็นที่น่าอับอายแก่อารยชนชาติอื่นยิ่งนัก ท่านเลยปฏิวัติ, ปฏิรูป ปฏิสังขรณ์การใช้ภาษาไทยใหม่หมด คงจะให้มันสละสลวยอย่างคำคู่-คำควบนี้กระมัง อักษรตัวไหนที่ออกเสียงซ้ำซ้อนกันท่านให้ตัดออก คำสรรพนามแทนตัว มี ท่าน, จ๊ะ, จ๋า, ฉัน...อะไรทำนองนี้ ชื่อผักชื่อปลาที่คุณหญิงคุณนายดัดจริตว่าหยาบคายถูกเปลี่ยนใหม่หมด เช่น ปลาสลิดกลายเป็นปลาใบไม้ ผักบุ้งกลายเป็นผักทอดยอด ขนมไข่เหี้ยกลายเป็นขนมไข่หงส์.. ฯลฯ มันจะพิลึกหน่อยก็ตรงให้สามีจูบภริยาก่อนออกนอกบ้าน และต้องสวมหมวกให้สมกับเป็นชาติที่เจริญ ซึ่งผมเองโตไม่ทัน ได้ฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ สงสารแต่คนแก่นะซีที่จะลงแดงตาย เพราะท่านให้เลิกกินหมาก

            ผมกำลังเขียนเรื่องนี้อยู่ เพื่อนฝูงแวะมาเยี่ยมเยียน มันชะโงกอ่านดูต้นฉบับที่ผมพิมพ์จั่วหัวเรื่องไว้แล้ว ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดเหมือนคนเป็นพรรดึก และมองดูราวกับว่า ตัวผมนี้สุขสบายดีหรือ หรือว่าฝนตกทุกวันร่างกายจิตใจพลอยผิดปรกติไปด้วย

            "เดี๋ยวนี้มึงรึอ่านเป็นมหาบาเรียญแล้วเรอะวะ"
            "ใครไปลือให้มึงฟังล่ะว่ากูใบ้หวย, ดูหมอ, มึงถึงได้เข้าใจม้าๆยังงี้"
            "เปล่า" มันชี้ตรงหัวเรื่อง "อะไรวะนี่ อุจจารณวิลาส ภาษาพระอีกละซี"
            แล้วมันหัวเราะ ห้า ห้า ห้า ตามนิสัย
           
            "คำนี้เป็นภาษาสันสกฤตเชียวนะโว้ย กูตั้งชื่อให้มันวิวิสมาหราดูแล้วขลังไม่เบาเชียวนา ครั้นจะตั้งชื่อเป็นภาษาปะกิตว่า Euphony  ประเดี๋ยว บ.ก.ที่ตรวจต้นฉบับจะสำลักเหล้าตาย หาว่ากูเก่งภาษาไปกว่าแก ไอ้อุจจารณวิลาสนี้ มันก็หมายถึงความไพเราะสละสลวยของเสียงต่างหาก

            "ทำไมถึงได้พิเรนตั้งชื่อให้มันแปลยากๆด้วยวะ"
            "นี้ละ...เป็นความคิดริเริ่มและลีลาของกู มึงคงไม่รู้ว่าตอนนี้กูกำลังแสวงหาโอริจินัลไอเดียกับสไตล์ในการเขียนเป็นของตัวเองอยู่ ดูแต่ ส.ศิวรักษ์ ซี ท่านเขียนหนังสือที่มึงอ่านแล้ว ถ้าไม่เจอศัพท์สูงๆยังงี้กูยอมให้เหยียบ..."
            "เออ.. ไม่เลวสำหรับไอเดียของมึง แต่กูว่าอย่างเก่งมึงก็ได้แค่ตัวประหลาดออกงานวัดเท่านั้น ชาตินี้คงไม่ถึงนักปราชญ์ราชบัณฑิตกะเขาหรอก....ไ

            "ช่างกู...แต่มึงรู้มั้ยว่ายังแปลได้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเต๋ายิ่งกว่าเซ็นเสียอีก อุจจารณวิลาสคำนี้สัตกรรมคำนำหน้าเรียกของมันไม่สละสลวยอะไรหรอก เป็นคำที่กำเนิดมาจากแหล่งเดียวกันกับอุจจาระ แต่ไอ้วิลาสนี้หมายถึง ความงามสีเสน่ห์, ผุดผ่อง, เปล่งปลั่ง, เหมือนเราเอาคำต่างๆมาร้อยขึ้นให้มันงดงามเป็นคำคู่-คำควบ มึงอย่าลืมว่าภาษาไทยเราร่ำรวยขนาดไหน มีพยัญชนะตั้ง ๔๔ ตัว มึงก็คงเคยอ่านงานเขียนของ ประมูล อุณหธูป มาแล้ว  จะเห็นว่าท่านหยิบเอาพยัญชนะมาใช้แต่ละตัวแต่ละคำนั้น กูอ่านแล้วยังทึ่งอยู่จนทุกวันนี้ว่า ท่านเป็นยอดของนายภาษาไม่มีใครทาบจริงๆ เห็นนักเขียนรุ่นหลังๆพยายามเลียนแบบ กูว่ามือไม่ถึงหรอก อย่างไอ้คำอุจจารณะวิลาสนี้ เมื่อรวมกันเข้าแล้วกูก็แปลซะเลยว่า -กองขี้ย่อมงดงามไปอีกรูปแบบหนึ่ง"

            "ถุย-ไอ้เต๋าจากเต้า " มันหัวเราะก๊ากชอบใจ "ยังดีที่มึงไม่อุตริตั้งชื่อเรื่องว่า คำคู่-คำควบ มันยิ่งแสนจะอันตราย หากเขาปรู๊ฟผิดเป็นคำอื่น....

            "ก็นั่นนะซิ..." ผมก็ว่าไปยังงั้นเอง ไม่รู้ว่า คำคู่-คำควบนี้มันจะเพี้ยนเป็นอย่างอื่นได้ยังไง....
           

ที่มา  ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น