++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

เจ้านายบัณฑิตท่านแรกของสยาม

สิทธิพร ณ นครพนท

            แฟนานุแฟนของต่วยตูน อ่านเรื่องเจ้านายปริญญาเอกพระองค์แรกของสยาม (และเอเชีย ?) แล้วติดใจจดหมายมาถามผมว่า  แล้วใครจบปริญญาคนแรก?
            เรื่องนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ นักเขียนกิติมศักดิ์ ต่วยตูน เคยเขียนถึงไว้แล้วใน "ไปเมืองนอก" โดยบริษัท พิ
วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด พ.ศ.๒๕๒๘ ถึงบุคคลท่านหนึ่ง ซึ่งขึ้นรถรางโดยไม่ต้องจ่ายสตางค์ ทั้งทรงเป็นต้นแบบฮิปปี้ท่านแรกของโลก โดยคนไทยทั่วๆไปเข้าใจว่า พระสติไม่ค่อยดี เนื่องจากบวชที่ลังกานาน ท่านนั้น คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (ชุมสาย) นั่นเอง
       
            ศักดิ์กำเนิด หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย ทรงเป็นพระโอรสองค์สุดท้ายของ  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๓) พระองค์เจ้าชุมสาย กรมขุนราชสีห์วิกรม พระราชโอรสของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๓ กับ เจ้าจอมมารดาเอมใหญ่ ซึ่งเป็นธิดาของ หลวงอนุชิตพิทักษ์ (อดีตพระวันรัตทองอยู่) ปราชญ์เอกยุคนั้น ราชสกุลนี้จึงได้เป็นที่เลื่องลือในความเป็นปราชญ์ และครูบาอาจรย์หลายท่าน เสด็จในกรมได้บัญชาการกรมช่างสิบหมู่ และได้ "หม่อมน้อย" ธิดา พระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่ ภมรมนตรี) อธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ และธิดาคนสำคัญคือ คุณพุ่ม ภมรมนตรี หรือ "บุษบาท่าเรือจ้าง" กวีเอกคนหนึ่ง ราชสกุลนักรบบวกปราชญ์บวกขุนคลังบวกกวี  ท่านผู้อ่านก็นึกเองจะขนาดไหน? โดยที่ท่านเป็นโอรสองค์สุดท้ายหรือหลัง (ปากลาวว่าหล้า) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปวเรศวิริยาลงกรณ์ ทรงผูกศัพท์ตั้งพระนามให้ว่า "หม่อมเจ้าปฤษฎางค์" (แปลว่าหลัง) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๓๙๔ จึงรุ่นราวคราวเดียวกันในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕

            ปฐมวัย พระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์อัตชีวประวัติเอง ซึ่งก็ไม่มีอะไรเด่น นอกจากพระชนกโปรดให้ติดตามไปเรื่อยๆ แม้ตอนเข้าเฝ้า  ทั้งทรงงานช่างสิบหมู่  จนพระเชษฐาคนหนึ่งเป็นยอดศิลปิน คือ หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย( เจ้าครอกต๋ง) แต่พระองค์ก็ไม่สู้เอาพระทัยใส่ด้านนี้มากนัก จนล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ส่งนักเรียนไทยชุดแรก ไปเรียนที่โรงเรียนแรฟเฟิลสิงคโปร์ พระอัจฉริยะจึงปรากฏสอบได้ที่หนึ่ง  จึงให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ท่านก็ใช้ชื่อว่า "มิสเตอร์ปฤษฎางค์" เพื่อมิให้ต้องเปลืองเงินหลวง และเสียเกียรติยศเจ้า ที่จะต้องไปต๊อกต๋อยอยู่อย่างราษฎรสามัญของอังกฤษ (ฮา) เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ และสอบเทียบระดับประถม มัธยม ๒ ปี ๓ เดือน จนเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์  และวิศวกรรมศาสตร์คิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งได้รับเลือกเป็นอาจารย์พิเศษระหว่างเรียนด้วย เพียง ๓ ปี ก็จบการศึกษาเป็น "วิศวกรรมบัณฑิต" คนแรกของสยาม พ.ศ.๒๔๑๙

            วิศวะฑูต? ทรงเสด็จกลับไม่นานก็กลับไปฝึกงานวิศวะสาขาต่างๆอีก ๓ ปี ทั้งเหมืองแร่ เครื่องกล ไฟฟ้า แถมรับราชการเป็น "ล่ามและเลขานุการ" คณะฑูตไทยในอังกฤษด้วย เมื่อเสด็จกลับ พ.ศ.๒๔๒๓ จึงทรงพระเกียรติยศยิ่ง ทั้งชาติวุฒิ คุณวุฒิ และได้รับสถาปนาเป็นองครักษ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมา (สมเด็จพระบรมราชปิตุลาแห่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๘ และปัจจุบัน) และแต่งตั้งเป็น อัครราชฑูตยุโรป ๑๒ ประเทศ ณ อังกฤษ ซึ่งยุคนั้นอัครราชฑูตเป็นตำแหน่งสูงสุด (ยังไม่มีเอก)

            ก่อนนั้น ราชนิกุลบุนนาคได้ผูกขาดกรมท่ามาตลอด เจ้านายท่านแรกที่แหวกวงล้อมได้คือ ท่านเอง ถึงจะจบวิศวะ แต่ภาษาก็ดีกว่า ด้วยจบมหาวิทยาลัยชั้นนำเป็นคนแรก ล้นเกล้าญ รัชกาลที่ ๕ ได้วางพระราชหฤทัยยิ่ง ทรงให้ติดต่อราชสำนัก และรัฐบาลต่างๆ ของยุโรปแทนพระองค์  ถึงกับทรงล้อว่าเป็น "กระดูกสันหลัง" ของพระองค์เอง ท่านได้เจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆที่ไทยเสียเปรียบ เช่น ภาษีร้อยชักสาม ภาษีสุราต่างประเทศเป็นต้น จนเป็นผลดีแก่ชาติ และได้รับสถาปนาเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์" และถูกเรียกกลับ พ.ศ.๒๔๒๙
           
            ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย?ในปี นั้น พระราชวงศ์หลายพระองค์ ขุนนางได้เข้าพระนาม-ชื่อ  กราบบังคมทูลขอให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้มีรัฐธรรมนูญ รัฐสภา รัฐบาล  เป็นต้น ซึ่งล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ ก้ได้ทรงพระราชปรีชาญาณ แย้งวิจารณ์ด้วยเหตุผลถึงความเป็นไปได้อย่างถ่องแท้ (กรมศิลปากรพิมพ์พระราชวิจารณ์แล้ว) แต่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่เกี่ยวก็คือ เจ้านายและขุนนางทั้งหลาย ครั้นไม่ทรงเห็นด้วย ก็อ้างว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นต้นคิด คนร่าง (ฮา) จึงทรงเรียกกลับ แต่ก็มิได้ถูกลงโทษอย่างใด ทั้งทรงแต่งตั้งเป็น "อธิบดีกรมไปรษณีย์และโทรเลข" คนแรกด้วย ในห้วงระยะเวลา ๓ ปีนี้ พระองค์ก็ทรงใช้พระปรีชาสามารถด้านวิศวะเต็มที่ ทั้งเข้าเป็นภาคีสหภาพไปรษณีย์สากลด้วย

            พระชินวงศ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระดูกสันหลัง ร.๕ กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ? หนีราชการ? ต้องพระอาญา? ยังไม่อาจสืบค้นได้ แต่ ศ.ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย เขียนนิพนธ์วิทยากรปกิณกะว่า "พระองค์ท่านจะกระทำผิดสิ่งใดไม่ปรากฏแก่คนทั่วไปในสมัยนั้น จึงทำให้เป็นที่ขุ่นมัวเบื้องพระยุคลบาทแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  ๕ แต่ก็ยังมิได้มีการปรึกษาโทษ ชะรอยจะมิใช่ความผิดหนักหนาแต่อย่างใด แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงน้อยพระทัยอย่างยิ่ง ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๘ เรือมาแวะจอดที่ฮ่องกง พระองค์ท่านก็หลบหนีไปจากคณะเสียเฉยๆ เท่านั้นยังไม่ร้ายแรงเท่ากับคำที่พระองค์ตรัสสาบานว่า
            "เกิดชาติใด ฉันใด ขออย่าให้ได้เกิดมาในราชสกุลจักรี" เป็นคำกล่าวที่ขาดสติอย่างสุดยอดฯ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงกริ้วอย่างยิ่ง และมีพระราชดำรัสว่า ถ้าแผ่นดินสยามนี้ยังเป็นของพระองค์ทานอยู่ จะไม่ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์มาเหยียบอีกเลย"

            ผมลอกที่สำคัญๆมานะครับ และเป็ฯนิพนธ์ของลูกหลานราชสกุลชุมสายด้วย
            แต่ในพระนิพนธ์ของพระองค์ มิได้กล่าวเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าถวายหนังสือกราบบังคมลาออก  และเสด็จไปกวางตุ้ง  ไซ่ง่อน พนมเปญและปีนัง ทรงทำราชกาลกับอังกฤษ ๓ ปีเศษ และนิพนธ์บันทึกขนาดยาวเป็นภาษาอังกฤษ วิจารณ์ระบบราชการไทยอย่างมันส์ (ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย) จากนั้นก็ไปลังกา (ซีลอน) ไปบวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๘๙๖ (พ.ศ. ๒๔๓๙) อยู่ในสำนักท่านสุภูติมหาเถรนายก ณ เมืองลังกาก่อน "เป็นการเอิกเกริกสละตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเครื่องแบบแต่งตัวทหารและพลเรือน พระสุพรรณบัฏสัญญาบัตร ประกาศนียบัตร และบรรดาเครื่องหมายเกียรติศักดิ์ เกียรติคุณทรัพย์สมบัติทั้งปวง กระทำพุทธบูชาและหักบาปบวช ไม่สึกมาเกี่ยวกับการโลกอีกต่อไป"และทรงได้ฉายา "พระชินวรวงศ์"

            สังฆนายกนครโคลัมโบ พระชินวรวงศ์ทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อสังคม เป็นผลดีอย่างยิ่ง เช่น ขอพระบรมสารีริกธาตุกับลอร์ดคอร์สัน อุปราชอินเดีย อัญเชิญมาไว้พระพรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสะเกศ กรุงเทพฯ ทรงสมานฉันท์พระสงฆ์ ๕ นิกายของลังกา และเปิดโรงเรียนสอนเด็กอนาถา โดยสอนฟรีทั้งภาษาสิงหลและอังกฤษที่วัด จนรัฐบาลอังกฤษตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทิปทุตตะ และสังฆนายกนครโคลัมโบร่วม ๒๐ ปี
            นิวัติพระนคร เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต พ.ศ.๒๔๕๓ พระชินวรวงศ์ เสด็จกลับมางานพระบรมศพ และ "กลับมาคอยความตาย ณ กรุงเทพฯ"  ตามที่ทรงบันทึกไว้และลาผนวช ซึ่งทรงสูญสิ้นจริงๆ เพราะทรัพย์สินต่างๆก็อุทิศให้วัดที่ลังกาหมดแล้ว จึงทรงงานรับสอนภาษาอังกฤษ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่ศิษย์เอกก็ได้เป็นปราชญ์ไทยและโลกต่อมา คือ "พระยาอนุมานราชธน" (ยง เสฐียรโกเศศ) ทรงรับเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "สยามออบเซอร์เวอร์" วันเดียวก็รู้เรื่อง เพราะ บท บก.ทำให้ถูกไล่ออก (ฮา) จากนั้นก็มิได้ทำอะไรอีก ตามบันทึกว่า "มีร่างกายทุพพลภาพ โรคภัยต่างๆก็ตามมา ผจญซ้ำเติม ป่วยไข้เรื่อยมา โดยความอัตคัดจนกาลบัดนี้ เป็นตุ๊กตาล้มลุกลงนอนอยู่บ้าง ลุกขึ้นเต้นรำตะกุยตะกายหาใส่ท้องบ้าง เที่ยวขอทานญาติมิตรจนเขาระอาบ้าง ไปอยู่โรงพยาบาลบ้างเรื่อยมา"

            พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ บัณฑิตไทยคนแรก ได้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ พระชนมายุถึง ๘๔ ปี ทันการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทรงใฝ่ฝันเรียกร้อง พ.ศ.๒๔๗๕ และขบถบวรเดชนองเลือดปีต่อมา
            ด้วยความเคารพยิ่ง ผมก็เกรงจะเกิดปัญหา ถ้าจบห้วนๆแค่นี้ จึงนำเรียนถึงสรุปว่า เสียดายพระปรีชาสามารถของบัณฑิตแรกแห่งสยาม แต่ทว่า ทรงศึกษาทางวิศวะ ซึ่งแก้ปัญหาง่าย เช่น อุปกรณ์ตัวนั้นเสียก็เปลี่ยนหรือซ่อมก็ใช้ได้ เป็นต้น แต่ทว่าการแก้ปัญหาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ นั้นต่างกัน เพราะมนุษย์มีอารมณ์ (รัก โลภ โกรธ เกลียด) มีความศรัทธา ความเชื่อ ฯลฯ บุคคลที่จะเป็นผู้นำสังคม และสร้างอารยธรรม วัฒนธรรมได้นั้น จะต้อง "ประยุกต์" ให้เข้ากับรากเหง้าพื้นฐานสังคมเดิมด้วย
            เสียดายว่ามิได้ทรงศึกษาทางนี้ เจ้านายบัณฑิตพระองค์แรก และเจ้านายปริญญาพระองค์แรกจึงสิ้นพระชนม์อย่างน่าเสียดายด้วยประการฉะนี้
           

           


ที่มา  ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น