"ศุภลักษณ์"
คิง โอ มอลลี่ เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ สมองของเขาคิดอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เขาคิดและทำเป็นเรื่องโลดโผนสำหรับยุคนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนก็ต้องยอมรับว่า ความคิดของ โอ มอลลี่ เป็นความคิดที่ก้าวหน้าล้ำยุค และเป็นประโยชน์กับคนทั้งหลายได้จริงๆ ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน
ในการประชุมสภาสูงและสภาล่างของสหพันธรัฐครั้งแรก โอ มอลลี่ เป็นคนเสนอให้ออกกฎหมาย "สงวนที่ดินไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ตารางไมล์ไว้เป็นที่ดินในเขตสงวนของสหพันธรัฐ"
และในปัจจุบันนี้ "ที่ดินในเขตสงวนของสหพันธรัฐ" ก็คือ "นครหลวงของออสเตรเลีย" ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งในหกรัฐของประเทศออสเตรเลีย"
ในปี ค.ศ.๑๙๑๐ คิง โอ มอลลี่ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เขาเป็นตัวตั้งตัวตีให้มีการประกวด การออกแบบสร้างนครแคนเบอร์ร่า นครหลวงของประเทศขึ้นในเขตนครหลวงออสเตรเลีย ซึ่งต่อมานายวอเตอร์ เบอร์ลี่ กริฟฟิน เป็นผู้ชนะการประกวด นครแคนเบอร์ร่าเป็นเมืองเนรมิตที่เรียกกันว่า "แมนเมดซิตี้" เพราะทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นเมืองขนาดย่อมนี้ เกิดจากการวางผังของมนุษย์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นทะเลสาป ทุ่งโล่ง ภูเขา ต้นไม้ และถนนหนทางรวมทั้งที่ตั้งของ ตึกรามบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ถูกจัดวางผังกำหนดให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่กระจัดกระจายไปจนควบคุมไม่ได้อย่างเมืองอื่นๆ นครแคนเบอร์ร่าจึงเป็นนครหลวงขนาดใหญ่ที่ร่มรื่นด้วย พันธุ์ไม้ในส่วนที่ควรจะมีต้นไม้ มีตึกที่ทำการของรัฐบาลตั้งสง่างามอยู่ในตำแหน่งที่เด่นชัด เป็นหมวดหมู่และสวยงาม มีถนนตัดตามเส้นทางแน่นอน ไม่คดเคี้ยวไปตามภูมิประเทศกำหนด เพราะว่า นายกริฟฟินได้กำหนดเอาไว้แล้วว่า จะตัดถนนตรงไหนบ้าง
โอ มอลลี่ เป็นคนต่อสู้ให้มีการจัดตั้งธนาคารกลางของสหพันธรัฐขึ้น และในที่สุด พระราชบัญญัติจัดตั้ง "คอมมอนเว้ลท์ แบ๊งค์" ก็ผ่านมติของสภาเมื่อปี ค.ศ ๑๙๑๒ แม้ว่าจะอยู่ในฐานะรัฐมนตรีมหาดไทย โอ มอลลี่ ก็ยังปากหวานอยู่เหมือนเดิม โอ มอลลี่ เรียกผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาว่า "น้องชาย" เสมอ เขาเรียกพนักงานส่งหนังสือว่า "ผู้พัน" และฉายาที่เขาใช้เรียกนักการเมืองฝ่ายค้านขนาดเบาะๆที่สุด ก็คือ "ไอ้พ่อเล้า"
รัฐบาลออสเตรเลียต้องการให้มีทหารเกณฑ์เพื่อเป็นกำลังกองทัพแห่งชาติ แต่ โอมอลลี่ ซึ่งเป็นนักต่อต้านสงครามค้านหัวชนฝา เขาไม่ยอมให้กฎหมายฉบับนี้ ผ่านสภาเด็ดขาด และนั่นคืออวสานแห่งชีวิตการเมืองของโอ มอลลี่ หลังจากนั้นแล้ว โอ มอลลี่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งให้เข้าไปบริหารประเทศอีกเลย โอ มอลลี่ หันไปทำธุรกิจการค้าจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
คิง โอ มอลลี่ ถึงแก่กรรม เมื่ออายุ ๙๘ ปี เขาทิ้งมรดกจำนวนหนึ่งแสนสี่หมื่นเหรียญเอาไว้เป็นกองทุน สำหรับนักศึกษาในสาขาคหเศรษฐศาสตร์ ภรรยาของเขามีเงินเลี้ยงชีพส่วนหนึ่งต่างหากแล้ว และได้จัดการให้ทุกอย่าง เป็นไปตามความประสงค์ของ โอ มอลลี่ แต่น่าเสียดาย ที่เธอสิ้นชีวิตไปเสียก่อน ที่จะมีการมอบทุนดังกล่าวให้กับนักศึกษาผู้โชคดี
ที่มา ต่วยตูน เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น