++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความเคลื่อนไหวทางวรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์



            ในสมัยรัตนโกสินทร์ วรรณคดีเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าสมัยอื่นๆ ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ วรรณคดีประเภทกาพย์กลอนที่เจริญถึงสุดขีด คือ กลอน โคลง และฉันท์กลอน ดีกว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะสุนทรภู่ได้คิดแบบกลอนเป็นพิเศษ  โคลงดีเสมอสมัยศรีอยุธยา  ส่วนฉันท์ดีกว่าสมัยศรีอยุธยา ในด้านเคร่งครัดแบบบังคับครุลหุและสัมผัส ประเภทร้อยแก้ว เริ่มเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แล้วงอกงามขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา จนสามารถข่มรัศมีของกาพย์กลอนให้อับแสงไปเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๖ สำหรับวรรณคดีประเภทร้อยแก้ว เกิดแบบเพิ่มขึ้นจากนิทานนิยายธรรมดาอีกอย่างหนึ่ง คือ นวนิยาย ซึ่งกำลังรุ่งโรจน์นำหน้าอยู่ในปัจจุบัน

            ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามาแทรกซึมอยู่ในวรรณคดีไทยมากกว่าสมัยศรีอยุธยา และสุโขทัย คือ นอกจากของอินเดียและชวาแล้ว ยังมี จีน มอญ และนับแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา วัฒนธรรมทางตะวันตกได้หลั่งไหลเข้ามามากเป็นพิเศษ ปัจจัยสำคัญซึ่งช่วยอุดหนุนวรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีมากกว่าในสมัยอื่นๆ กษัตริย์ทุกพระองค์นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นกวีและทรงอุปการะวรรณคดีอย่างดียิ่ง ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๖ แล้ว ผู้สร้างงานวรรณคดีเปลี่ยนไปรับความเกื้อหนุนจากประชาชน คือ สามารถหารายได้จากการขายวรรณคดีของตนแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังเกิดการพิมพ์ หอสมุดแห่งชาติ โบราณคดีสโมสร วรรณคดีสโมสร สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และสถานศึกษาถึงขั้นมหาวิทยาลัย ซึ่งล้วนส่งเสริมให้วรรณคดีสมัยนี้เจริญรุดหน้ายิ่งขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ประการสำคัญที่สุด คือ ในสมัยรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา ถึงแม้จะมีศึกสงครามบ้างในตอนต้นๆ แต่ก้ไม่ร้ายแรงถึงแก่เป็นภัยทำลายวรรณคดี กลับช่วยสร้างสรรค์วรรณคดีเพิ่มขึ้น เช่น เพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง นิราศนรินทร์ นิราศไปทัพเวียงจันทน์ และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือปลุกใจไว้หลายเรื่อง

            รัชกาลที่ ๑
            ลักษณะวรรณคดี  ในรัชกาลนี้เป็นระยะเวลาที่ต้องเร่งสร้างความเจริญในทุกๆด้าน ให้คืนคงดังสมัยกรุงศรีอยุธยา ประกอบกับยังมีสงครามกับพม่าติดพันอยู่อีก รัชกาลที่ ๑ จึงทรงวางนโยบายปลุกขวัญคนไทยให้ฮึกเหิมและตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม การสร้างวรรณคดีของชาติในรัชกาลนี้มีเจตจำนงไปในลักษณะดังกล่าว เช่นเรื่อง รามเกียรติ์ อุณรุท สามก๊ก และราชาธิราช มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรบทัพจับศึก ส่วนไตรภูมิ โลกวินิจฉัย และกฎหมายตราสามดวง เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา และระเบียบของสังคม

        กวีและวรรณคดีสำคัญ
            ๑. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
                (๑) เพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง
                (๒) บมละครเรื่องอุณรุท
                (๓) บทละครเรื่องรามเกียรติ์
                (๔) กฎหมายตราสามดวง
                (๕) บทละครเรื่องดาหลังและอิเหนา
            ๒.  เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
                (๑) สามก๊ก
                (๒) ราชาธิราช
                (๓) บทมโหรี เรื่อง กากี
                (๔) ลิลิตศรีวิชัยชาดก
                (๕) ลิลิตพหุหยาตราเพชรพวง
                (๖) ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร และมัทรี
            ๓. พระยาธรรมปรีชา (แก้ว)
                (๑) ไตรภูมิ โลกวินิจฉัย
            ๔. พระเทพโมลี (กลิ่น)
                (๑) ร่าวยาวมหาเวสสันดรชาดก
                (๒) มหาชาติคำหลวง กัณฑ์ทาน
                 
        รัชกาลที่ ๒
            ลักษณะวรรณคดี ในรัชกาลนี้การศึกเบาบางลงมาก มีการเจริญไมตรีทางการค้ากับต่างประเทศเช่น จีน ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงเป็นศิลปินเอกทั้งทางกวีและสถาปัตยกรรม ทรงอุปการะกวีเป็นพิเศษ รัชสมัยของพระองค์จึงเกิดวรรณคดีบริสุทธิ์ขึ้นมากมาย ได้กล่าวมาแล้วว่า ในรัชกาลที่ ๑ ถึงแม้จะเป็นสมัยฟื้นฟูวรรณคดี แต่เนื้อแท้ของวรรณคดีมีแนวโน้มไปในทางรบทัพจับศึก เพื่อใช้ปลุกใจคนไทยให้เหิมฮึกกล้าสู้พม่า และอบรมศีลธรรม รสวรรณคดีรัชกาลที่ ๑ จึงสู้ในรัชกาลที่ ๒ ไม่ได้

        กวีและวรรณคดีที่สำคัญ
            ๑. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
                (๑) เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนบางตอน
                (๒) บทละครเรื่องอิเหนา
                (๓) บทละครเรื่องรามเกียรติ์
                (๔) บทละครนอก ๕ เรื่องคือ ไชยเชษฐ์ มณีพิไชย คาวี สังข์ทอง ไกรทอง
                (๕) กาพย์เห่เรือ
                (๖) บทพากย์โขน ตอน นางลอย นาคบาศ พรหมมาศ และเอราวัณ
            ๒. พระสุนทรโวหาร (ภู่)
                (๑) นิราศ ๙ เรื่อง คือ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระประธม นิราศเมืองเพชร นิราศพระแท่นดงรัง รำพันพิลาป (ทำนองนิราศ)
                (๒) กลอนนิยาย ๔ เรื่อง คือ โคบุตร สิงหไตรภพ ลักษณวงศ์ พระอภัยมณี
                (๓) เสภา ๒ เรื่อง คือ เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม เสภาพระราชพงศาวดาร
                (๔) กาพย์ ๑ เรื่อง คือ กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา
                (๕) กลอนสุภาษิต ๓ เรื่อง คือ สุภาษิตสอนหญิง เพลงยาวถวายโอวาท สวัสดิรักษา
                (๖) บทเห่ ๔ เรื่อง คือ เห่เรื่องกากี เห่เรื่องจับระบำ เห่เรื่องพระอภัยมณี เห่เรื่องโคบุตร
                (๗) บทละคร ๑ เรื่อง คือ อภัยนุราช
            ๓. นายนรินทร์ธิเบศร
                (๑) โคลงนิราศนรินทร์
            ๔. พระยาตรัง
                (๑) โคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย
                (๒) โคลงนิราศพระยาตรัง
                (๓) โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
                (๔) เพลงยาวนิราศว่าด้วยครั้งไปวางตราเป็นเจ้าเมืองตรัง
                (๕) โคลงกวีโบราณ
                (๖) โคลงกระทุ้เบ็ดเตล็ด
            ๕. พระยาไชยวิชิต (เผือก)
                (๑) โคลงยอพระเกียรติรัชกาลที่ ๒
            ๖. คณะกวี
                (๑) มหาชาติคำหลวง ๖ กัณฑ์
           
        รัชกาลที่ ๓
            ความเคลื่อนไหวทางวรรณคดี วรรณคดีซึ่งเริ่มได้รับการฟื้นฟูในรัชกาลที่ ๑และรุ่งโรจน์ยิ่งขึ้นตลอดรัชกาลที่ ๒ ก็ยังคงเรืองรัศมีต่อไปในรัชกาลที่ ๓ ทั้งนี้เพราะรัชกาลที่ ๓ ถึงแม้จะไม่ทรงใฝ่พระทัยในการละครเป็นพิเศษอย่างรัชกาลที่ ๒ ก้ไม่ทรงขัดขวางผู้อื่น ทั้งทรงเป็นกวียอดเยี่ยมผู้หนึ่ง และทรงอุดหนุนการศึกษาทั่วไปและกวีนิพนธ์อย่างดียิ่ง ในรัชกาลของพระองค์มีกวีและวรรณคดีสำคัญไม่น้อย สุนทรภู่ซึ่งได้จัดเป็นกวีในรัชกาลที่ ๒ ความจริงได้สร้างงานสำคัญไว้ในรัชกาลที่ ๓ เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวทางวรรณคดีที่ควรกล่าว ๒ ประการ คือ การประชุมจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และการตั้งโรงพิมพ์

            จารึกวัดพระเชตุพน ฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให่นักปราชญ์ราชบัณฑิตร่วมกันแต่งตำราวิชาการต่างๆ จารึกบนแผ่นศิลาติดไว้ในบริเวณวัด เพื่อประโยชน์แก่คนทั้งปวง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๙ เพราะขณะนั้นการถ่ายทอดวิชาการให้แก่กันเป็นที่หวงแหนปิดบัง ทำให้การเผยแพร่ไม่กว้างขวางและเสื่อมสูญได้ง่าย ความรู้ที่จารึกไว้นั้น ที่สำคัญมี ๒ ประเภท คือ อักษรศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีความรู้เกี่ยวกับประวัติ พุทธศาสนา ทำเนียบต่างๆ ประเพณี และสุภาษิตวัดพระเชตุพนฯ จึงเป็นสถานประสาทวิทยาการขั้นสูง เทียบได้กับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

            การตั้งโรงพิมพ์ เดิมการเขียนหนังสือของคนไทย นอกจากจารึกบนศิลาแล้ว ใช้เขียนบนกระดาษข่อย (สมุดไทย) และบนใบลาน ต่อมาร้อยเอก เยมส์ โล คิดหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้น พวกมิชชันนารีอเมริกัน ขอซื้อไปพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศาสนาที่สิงคโปร์ แล้วจึงส่งมาแจกในกรุงเทพฯ ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๓๗๘ พวกมิชชันนารีจึงตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยขึ้นที่กรุงเทพฯ พุทธศักราช ๒๓๘๐ หมอบรัดเลย์ ตั้งขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ในพุทธศักราช ๒๓๘๒ รัชกาลที่ ๓ รับสั่งว่าจ้างโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่น นับเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ทางราชการฉบับแรก หนังสือที่พิมพ์ในระยะแรกๆ เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ ข่าวประจำวัน และข่าวทางราชการ พุทธศักราช ๒๓๘๗ เกิดหนังสือข่าวบางกอกรีคอร์ดเดอร์ (Bangkok Recorder)  พุทธศักราช ๒๔๐๑ เริ่มมีหนังสือราชกิจจานุเบกษา ของทางราชการ การพิมพ์หนังสือวรรณคดี เพิ่งเริ่มในรัชกาลที่ ๕ เมื่อหมอสมิทพิมพ์เรื่องของสุนทรภู่จำหน่าย

        กวีและวรรณคดีสำคัญ
            ๑. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
                (๑) เสภาขุนช้างขุนแผนบางตอน (เช่น ตอนขุนช้างขอนางพิม และขุนช้างตามนางวันทอง)
                (๒) บทละครเรื่องสังข์ศิลป์ไชย
                (๓) เพลงยาว
                (๔) โคลงปราบดาภิเษก
            ๒. สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิโนรส
                (๑) ลิลิตตะเลงพ่าย
                (๒) สมุทโฆษคำฉันท์ (ตอนจบ)
                (๓) พระปฐมสมโพธิกถา
                (๔) ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ๑๑ กัณฑ์
                (๕) กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
                (๖) สรรพสิทธิ์คำฉันท์
                (๗) ตำราฉันท์มาตราพฤตและวรรณพฤต
                (๘) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
            ๓. สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร
                (๑) โลกนิติคำโคลง
                (๒) โคลงนิราศเสด็จไปทัพเวียงจันทน์
            ๔. กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
                (๑) นิราศพระประธม
                (๒) โคลงจินดามณี
            ๕. พระมหามนตรี (ทรัพย์)    
                (๑) บทละครเรื่องระเด่นลันได
                (๒) เพลงยาวว่าพระมหาเทพ (ปาน)
            ๖. คุณพุ่ม
                (๑) บทสักวา
                (๒) เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติและฉลองสระ
            ๗. คุณสุวรรณ
                (๑) บทละครเรื่องพระมะเหลเถไถ
                (๒) บทละครเรื่องอุณรุทธ์ร้อยเรื่อง
                (๓) เพลงยาวจดหมายเหตุ เรื่อง กรมหมื่นอัปสราสุดาเทพ ประชวร
            ๘. นายมี
                (๑) นิราศฉลาง (ถลาง)
                (๒) นิราศเดือน
                (๓) นิราศพระแท่นดงรัง (สันนิษฐาน)
                (๔) นิราศสุพรรณ

        รัชกาลที่ ๔
            ลักษณะและความเคลื่อนไหวทางวรรณคดี ในรัชกาลนี้วรรณคดียังคงรุ่งเรืองเช่นเดิม กวีที่มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๓ คงมีชีวิตอยู่และสร้างสรรค์วรรณคดีต่อมาอีกหลายท่าน เช่น สุนทรภู่ คุณพุ่ม คุณสุวรรณ นายมี เป็นต้น  และยังมีกวีที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ ทั้งรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงเป็นกวี และทรงพระปรีชาสามารถในด้านศาสนา โบราณคดี โหราศาสตร์ และภาษาอังกฤษ มีการเกี่ยวข้องกับประเทศทางตะวันตกมากขึ้น  วรรณคดีจึงขยายวงกว้างออกไป เช่น นิราศลอนดอน ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ วรรณคดีเริ่มมีค่าเป็นเงินทอง หมอบรัดเลย์ ขอซื้อลิขสิทธิ์นิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย เป็นเงิน 400 บาท เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๕

        กวีและวรรณคดีที่สำคัญ
            ๑.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว      
                (๑) บทละครเรื่องรามเกียรติ์
                (๒) ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ๕ กัณฑ์
                (๓) ประกาศ และพระบรมราชาธิบายต่างๆ
            ๒. เจ้าอิศริญาณ
                (๑) อิศริญาณภาษิต
            ๓. หม่อมราโชทัย
                (๑) จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย
                (๒) นิราศลอนดอน
            ๔. มหาฤกษฺ (หลวงจักรปาณี)
                (๑) นิราศประปฐม
                (๒) นิราศทวาราวดี
                (๓) นิราศกรุงเก่า
                (๔) นิราศปถวี
                (๕) เสภาเรื่องอาบูหะซัน
                (๖) โคลงรามเกียรติ์
            ๕. พระยาอิศรานุภาพ (อ้น)
                (๑) สุธนคำฉันท์
                (๒) สุธนูคำฉันท์
                (๓) อุเทนคำฉันท์

        รัชกาลที่ ๕
            ความเคลื่อนไหวทางวรรณคดีี ในรัชกาลนี้วรรณคดียังคงเจริญสืบมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นกวีเอกผู้หนึ่ง และมีเหตุการณ์สำคัญอย่างอื่นอีกที่สนับสนุนให้วรรณคดีก้าวหน้า คือ การตั้งโรงเรียนแบบปัจจุบัน ในพระบรมมหาราชวังเป็นแห่งแรก พ.ศ.๒๔๑๔ เกิดหอสมุดวชิรญาณ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ ซึ่งกลายเป็นหอสมุดแห่งชาติในต่อมา นอกจากนี้ยังเกิดโบราณคดีสโมสร พ.ศ.๒๔๕๐ มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการประพันธ์ การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี โบราณคดีสโมสรออกหนังสือเล่มหนึ่ง คือ "หนังสือวชิรญาณ" ลงเรื่องวรรณคดีโบราณซึ่งหาต้นฉบับได้ยาก และสารคดีที่กวีในเวลานั้นแต่งขึ้นใหม่ งานสำคัญของสโมสรนี้อย่างหนึ่ง คือ พิจารณาหนังสือที่มีคุณภาพดีทั้งเก่าและใหม่ แล้วประทับตราของสโมสรไว้เป็นเครื่องหมายประกาศเกียรติคุณ การหนังสือพิมพ์ ซึ่งเริ่มขึ้นบ้างแล้วในรัชกาลที่ ๓ มาในรัชกาลนี้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นกว่า ๕๐ ฉบับ ความนิยมวรรณคดีตะวันตกเริ่มเกิดขึ้น มีการแปลออกเป็นภาษาไทย               

        กวีและวรรณคดีที่สำคัญ
            ๑.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                (๑) พระราชพิธีสิบสองเดือน
                (๒) ไกลบ้าน
                (๓) พระราชวิจารณ์
                (๔) ลิลิตนิทราชาคริต
                (๕) บทละครเรื่องเงาะป่า
                (๖) กวีนิพนธ์เบ็ดเตล็ด
            ๒. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)
                (๑) แบบเรียนภาษาไทย
                (๒) พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน
            ๓. เทียนวรรณ (ต.ว.ส. วัณณาโภ)
                (๑) ตุลวิภาคพจนกิจ
                (๒) ศิริพจน์ภาค
            ๔.คณะกวี
                (๑) ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก

        รัชกาลที่ ๖
            ความเคลื่อนไหวทางวรรณคดี ในสมัยนี้วรรณคดีประเภทร้อยกรองได้เจริญถึงขีดสุด ส่วนวรรณคดีประเภทร้อยแก้วก็ได้รุดหน้าขึ้นกว่าแต่ก่อน และเป็นระยะเวลาที่คติทางตะวันตกเข้ามาแทรกในวรรณคดีไทยมากที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประธานในทางวรรณกรรม ทรงสร้างสรรค์วรรณกรรม ประเภทต่างๆ ไว้มากยิ่งกว่าคนไทยในอดีตและปัจจุบัน ทรงสนับสนุนผู้แต่งหนังสือ โดยพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ต่างๆ และพระราชทานเสรีภาพในการเขียนหนังสืออย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังทรงตรา พระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๗ เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือไทยให้มีมาตรฐานดี ทรงตั้งกรรมการทำหน้าที่ตรวจพิจารณาหนังสือทั้งเก่าและใหม่ ที่ควรแก่การยกย่อง เมื่อจะพิมพ์ก็พระราชทานบรมราชานุญาตให้ประทับพระราชลัญจกรรูปพระคเณศอันเป็นตราสำหรับวรรณคดีสโมสรไว้เป็นสำคัญ

        กวีและวรรณคดีที่สำคัญ
            ๑.พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
                บทละคร ได้แก่ หัวใจนักรบ มัทนะพาธา พระร่วง หนามยอกเอาหนามบ่ง พระเกียรติรถ ฉวยอำนาจ วิวาห์พระสมุทร มหาตมะ เสียสละ เวนิสวาณิช ตามใจท่าน วิไลยเลือกคู่ เห็นแก่ลูก เป็นต้น           
                บทพากย์โขน - รามเกียรติ์ชุดต่างๆ
                ประวัติศาสตร์และโบราณคดี -ได้แก่ เที่ยวเมืองพระร่วง สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์  เที่ยวเมืองอียิปต์ ตำนานชาติฮั่น
                ศาสนา ได้แก่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เทศนาเสือป่า พระศุนหเศป
                วรรณคดี ได้แก่ บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ คำอธิบายและ อภิธานประกอบเรื่องนารายณ์สิบปาง
                การทหาร ได้แก่ การสงครามป้อมค่ายประชิด พันแหลม
                ปลุกใจ ได้แก่ ปลุกใจเสือป่า เมืองไทยจงตื่นเถิด ยิวแห่งบูรพาทิศ โคลนติดล้อ
                การแพทย์ - กันป่วย
                กวีนิพนธ์ ได้แก่ พระนลคำหลวง ลิลิตนารายณ์สิบปาง นิราศพระมะเหลเถไถ กาพย์เห่เรือ ธรรมาธรรมะสงคราม มงคลสูตรคำฉันท์
            ๒. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
                (๑) ไทยรบพม่า
                (๒) นิราศนครวัด
                (๓) เที่ยวเมืองพม่า
                (๔) นิทานโบราณคดี
                (๕) สาส์นสมเด็จ
            ๓. กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
                ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เฉลิมพระเกียรติกษัตริย์คำฉันท์ ลิลิตมหามงกุฎราชคุณานุสรณ์ ลิลิตตำนานพระแท่นมนังคศิลาบาต พระราชพงศาวดารพม่า พงศาวดารไทยใหญ่
                บันเทิงคดี กลอนสุภาพเรื่องลูกอินทร์ สร้อยคอที่หาย อาหรับราตรี บทละครสาวเครือฟ้า บทละครพระลอ บทละครไกรทอง บทละครมหาราชวงศ์พม่า แผ่นดินพระเจ้าสีปอมินทร์
                ธรรมและปรัชญา ปัญจาภิณหะปัจจะเวกขน์กับ อัฏญโลกธัมมรุไบยาต สิทธิ์และสมภาพพลเมืองคล้อยตามธรรมชาติ นรางกุโรวาท
                จดหมายเหตุ นิราศนราธิป  อุทยานยวนถวิล
            ๔.กรมหมื่นพิทยาลงกรณ
                (๑) จดหมายจางวางหร่ำ
                (๒) สืบราชสมบัติ
                (๓) ตลาดเงินตรา
                (๔) นิทานเวตาล
                (๕) พระนางฮองไทเฮา
                (๖) กนกนคร
                (๗) พระนลคำฉันท์
                (๘) สามกรุง
            ๕. พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ)
                (๑) อิลราชคำฉันท์
            ๖. หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก)
                (๑) โคลงนิราศวัดรวก
                (๒) กฏาหกคำฉันท์
                (๓) วินิศวาณิชคำฉันท์
                (๔) เปริคคลิสคำฉันท์
                (๕) เพชรมงกุฎคำฉันท์
                (๖) กลอนเรื่องสามก๊กตอนนางเตียวเสี้ยน
                (๗) ประชุมลำนำ
                (๘) กลอนธาดามณีศรีสุพิน
            ๗. เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ( ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)
                (๑) พลเมืองดี
                (๒) จรรยาแพทย์
                (๓) สมบัติผู้ดี
            ๘. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ  อยุธยา)
                (๑) แบบเรียนธรรมจริยา
                (๒) ความเรียงเรื่องการศึกษาและเศรษฐกิจ
                (๓) โคลงกลอนครูเทพ
            ๙. พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)
                (๑) คำประพันธ์บางเรื่อง
                (๒) สงครามภารตะคำกลอน
                (๓) แบบเรียนสยามไวยากรณ์ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณ์
            ๑๐.นายชิต  บุรทัต
                (๑) สามัคคีเภทคำฉันท์
                (๒) วรรณกรรมของกวีเอก ชิต บุรทัต
            ๑๑. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
                (๑) ดุสิตสมิต
                (๒) ทวีปัญญา
                (๓) ถลกวิทยา
                (๔) ลักวิทยา
                (๕) วิทยาจารย์
                (๖) ศัพท์ไทย
                (๗) ไทยเขษม                          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น