++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

กินหมากกินพลู (๓-ตอนจบ) - ชีวิตเด็กบ้านสวนบางลำเจียก

แก้ว แกมทอง

            เต้าปูนของคนแก่ทุกเต้านี่นะ ตรงปากเต้ามักจะมีปูนจับหนา แข็งเป๊ก กินเนื้อที่ออกมาจนแทบจะปิดปากเต้าทีเดียว เหลือรูกลมๆไว้หน่อยพอให้ไม้ควักปูนใส่ลงไปได้ ซึ่งไม้ควักปูนเอง ก็มีปูนจับแข็งตรงถัดมือจับลงไปเหมือนกัน เป็นก้อนกลมพอดีกับรูของเต้าปูน พอเขาป้ายปูนเสร็จวางไม้ควักลงไป จะเหมือนกับปิดฝาเต้าปูนยังไงยังงั้น

            เรื่องเต้าปูนกับไม้ควัก ถูกจับด้วยปูนแข็งเป็กเป็นดินพอกหางหมูนี้ เคยมีนักเลงผู้หวังดีคนหนึ่งในบ้าน  ได้จัดแจงเอาไปทุบทิ้ง คือ ค่อยๆ เอาสิ่วตอกปูนที่จับปากเต้าออกเสียเกลี้ยงเกลา ที่ไม้ควักก็เอามาทุบทิ้ง เหลือแต่เต้าแต่ไม้สะอาดสวยเลย แล้วตั้งหน้าคอยรับคำชมว่า ขยันทำงาน แต่ที่ไหนได้ เหตุการณ์กลับเป็นตรงข้าม กลับโดนเจ้าของเต้าปูนด่าเสียไม่มี เพราะเขาไม่ได้ต้องการให้เต้าปูนเปิดปากกว้างยังงั้น เดี๋ยวปูนในเต้ามันจะแห้งเร็ว

            เรื่องกินหมากกินปูนกินพลูของคนไทยโบราณนี้ ไม่รู้เริ่มกันมาแต่เมื่อไหร่นะ ขี้เกียจค้น ใครขยันค้นกรุณาเล่ามาให้ทราบกันบ้างก็จะดี ทราบแต่ตอนเขาเลิกกิน ก็เมื่อสมัย "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัน" น่ะแหละ ต่อมาซอยสวนพลูจึงถูกถล่ม ..ทันโทษ ไม่ใช่ถล่ม คือ เมื่อเขาเลิกกินหมากกินพลูกัน สวนพลูต่างๆก็พากันสลายตัวไปเอง คือ ถูกผลักดันให้ค่อยๆหมดไป เพราะเดี๋ยวนี้คนกินหมากกินพลูก็เหลือไม่เท่าไหร่แล้ว

            เล่ากันมาเสียหนักหนานี่ เรื่องคนกินหมากกินพลู ถ้าจะถามกันว่า แล้วผู้เขียนซึ่งเป็นคนโบราณเหมือนกัน เคยกินหมากกินพลูกะเขามั่งไหม ก็ขอตอบว่า เคย เคยกินหนเดียวแหละ ตั้งแต่เกิดมา แล้วเป็นหมากเสกเสียด้วย

            ที่วัดพลับเมื่อก่อนโน้น  มีท่านพระครูอยู่องค์หนึ่ง เขาเรียกกันว่า พระครูแป๊ะ กุฎิท่านอยู่ตรงหน้าวัดพอดี ท่านเป็นพระแก่มากแล้วในตอนนั้น รูปร่างท่านอ้วนขาว ฟันไม่มี เดินก็ไม่ค่อยไหว ท่านจึงไม่ค่อยออกบิณฑบาตร มีญาติโยมมาคอยถวายอาหารทุกวัน ว่ากันว่า ท่านเป็นอาจารย์วิปัสนา คือ เก่งทางใน ดูรู้เห็นอะไรหมด ถ้าใครถาม แต่ท่านก็ไม่ชอบรับแขก ชอบปิดกุฎินั่งเงียบอยู่องค์เดียว เขาว่าท่านสวดมนต์ไป ภาวนาไป ท่านก็อมหมากเคี้ยวไปทั้งวันทั้งคืน แต่อีภาพนี้ผู้เขียนเคยเห็นคือ เคยขึ้นไปบนกุฎินั้นบ่อยๆ แอบเขย่งมองเข้าไปในประตู แง้มๆจะเห็นท่านนั่งอยู่ในแสงสลัวๆ หน้าโต๊ะหมู่บูชา หลับตา ปากก็เคี้ยวหมากอยู่งุบๆ คนเขาลือกันว่า หมากในปากท่านน่ะขลัง เพราะท่านอมไปก็ภาวนาไป ใครๆถึงชอบไปเคี่ยวเข็นขอท่านมากิน แต่ท่านก้ไม่ค่อยให้ พอใครขอท่านก็หัวเราะหึๆ แล้วคายหมากทิ้งกระโถน เขาว่าไม่รักไม่ชอบใครจริงๆแล้ว ท่านก้ไม่ให้

            มีอยู่วันหนึ่ง ผู้เขียนกับเพื่อนอีกคนหนึ่งวิ่งเล่นกันอยู่หน้าวัด พอหิวน้ำเข้าก็วิ่งขึ้นกุฎิหลวงปู่แป๊ะ เพราะกุฎินี้อย่าว่าแต่น้ำ ข้าวก็เคยกินแล้ว เข้าถึงก้นครัวเลย คราวนี้พอวิ่งขึ้นไปก็ตกใจ เพราะเจอะท่านนั่งแง้มประตูกุฎิอยู่พอดี พอเราชะงักกึกอยู่ตรงชาน ท่านก็กวักมือเรียกว่า มานี่...

            ผู้เขียนกับเพื่อนมองตากัน ความกลัววิ่งขึ้นไปอยู่บนหัวขมองแล้ว เพราะคิดว่าต้องโดนดุแน่ๆ ที่วิ่งกันเสียงดัง พากันค่อยๆคลานขึ้นไประเบียงหน้ากุฎิท่าน แต่แทนจะดุท่านกลับถามว่า เอ็งลูกใครกันวะ...

            เพื่อนผู้เขียนตอบก่อน เพราะมันคงคิดได้ก่อน ส่วนผู้เขียนคิดอยู่ตั้งนาน ไม่รู้พ่อเป็นใคร รู้จักแต่แม่  แต่อาศัยเวลาไปไหนๆ ผู้ใหญ่เขาชอบชี้ที่ผู้เขียนแล้วบอกกันว่า นี่ไง ไอ้ลูกกบฎ พ่อมันอยู่บางขวางโน่น ผู้เขียนเลยจำไว้ บอกหลวงปู่แป๊ะไปยังงั้น ท่านก็เงียบฟังอยู่

            ท่านเงียบจริงๆนะ ฟังเราพูดจบไปตั้งนานแล้ว ท่านก็ยังหลับตาเคี้ยวหมากงุบๆตั้งพักใหญ่ แล้วลืมตาขึ้นมา คายหมากใส่มือ บิออกเป็นสองส่วน ใส่ใบพลู ยื่นวางลงมาตรงที่วางเท้าขึ้นลงหน้าประตูกุฎิ บอกเราว่า เอ้า แบ่งคนละคำ

            เราทำตามด้วยความกลัวตามประสาเด็ก หยิบหมากใส่ปากอย่างว่าง่าย ยังจำได้เลย รสชาติเย็นๆ แหยะๆ แต่หอมกลิ่นอะไรไม่รู้แปลกๆ  ไม่ได้เหม็นขี้ฟันเลย
       
            หลวงปู่เห็นว่าเรากินหมากแล้ว ก็หลับตาสวดมนต์อยู่เบาๆ เดี๋ยวหนึ่งถึงค่อยๆงับบานประตูเข้าไป

            เมื่อเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง ผู้ใหญ่เขาว่า เราสองคนนี่จะได้ดี มีวาสนาต่อไปภายหน้า เพราะได้กินชานหมากเสกของหลวงปู่แป๊ะ เพราะชานหมากนั่นขลัง

            ตกมาถึงป่านนี้ ผู้เขียนยังไม่รู้หรอกว่า ไอ้เพื่อนอีกคนนั่นน่ะ ไปได้ดีมีวาสนาอยู่ที่ไหนมั่งแล้ว เพราะไม่ได้ข่าวคราวเลย ส่วนตัวผู้เขียนเองจะพูดไปก็งั้นๆ มีชั่วบ้าง ดีบ้าง บางอย่างก็เหมือนเดิม ไม่ได้โลดโผนโจนทะยานอะไร

            แต่ก็นะ จากที่ฟังๆ คนอื่นเขาถพูดถึงตัว แล้วตัวเองดูตัวเองบ้างบางครั้ง ก็ชักรู้สึกอยู่มั่งเหมือนกันว่า เอ๊ะ ไอ้ตัวเรานี่มันก็ชักจะมีอะไรๆที่ติดจะขลังๆ อยู่มั่งเหมือนกันแฮะ

ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น