++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

คำสอนที่สายลม ปี ๒๕๓๒ ตอนที่ ๑๑ ๔ เม.ย. ๓๓ โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

ที่มา หนังสือธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๔๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

ญาติโยมทั้งหลาย ต่อนี้ไปก็ขอโปรดฟังคำแนะนำในการเจริญพระกรรมฐาน วันนี้ก็เป็นคืนที่สองของเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓ เมื่อคืนนี้เราคุยกันเรื่องตายแล้วไปสวรรค์ใช่ไหม แล้วถ้าตายจากสวรรค์ก็มาเกิดเป็นคน เราก็ต้องเป็นคนรวย อันนี้ต้องหวังแบบนี้ไว้ก่อนนะ



แต่ตามธรรมดาคนที่ตั้งใจไปนิพพานตั้งแต่สมัยที่เป็นมนุษย์ ถ้าตายจากความเป็นคน ไปเป็นเทวดาหรือนางฟ้าก็ดี เห็นพรหมก็ดี ส่วนใหญ่ไม่กลับลงมา ส่วนใหญ่จริงๆ แล้วเขาไม่กลับนะ เขาตีตั๋วต่อ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าอีกไม่นานนักพระศรีอาริย์ก็จะตรัสรู้ คนที่เข้าถึงไตรสรณคมณ์จริงๆ ฟังเทศน์จากพระศรีอาริย์จบเดียวก็เป็นพระโสดาบัน นี่เขาเป็นเทวดานะ แล้วถ้าฟังอีกครั้งเดียวก็เป็นพระอรหันต์ พวกเทวดา นางฟ้า พรหม เขามีกำไรมากกว่าเรา



ฉะนั้น อันดับแรกขอบันดาท่านพุทธบริษัท การเจริญพระกรรมฐานทุกคนหวังพระนิพพานนี่ถูกต้อง แต่ว่าความจริงนิพพานนี่ถ้าจะไปได้จริงๆ ต้องมีบารมีเต็ม ถ้ามีบารมีบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถไปนิพพานได้ ตายไปเป็นพรหมได้ เป็นเทวดาเป็นนางฟ้าได้ แต่ยังเข้าพระนิพพานไม่ได้



คำว่าบารมีนี่เขาแปลว่าเต็ม แต่พระพุทธเจ้าให้แปลว่า บารมีคือกำลังใจเต็ม ของพระพุทธเจ้านี่ง่ายหน่อยนะ ความจริงที่ง่ายนี่ไม่ใช่ปัญญาของฉัน ของพระพุทธเจ้าท่านแนะนำ



ทีนี้คนที่ไปนิพพานจริงๆ ในสังโยชน์ ๑๐ ตัดข้อเดียวคือข้อต้นที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ หรือตามศัพท์ที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระสาวก เช่น ท่านพระพาหิยะว่า “พาหิยะ เธอจงอย่าสนใจในรูป” นี่ตัดรูปตัวเดียว หรือที่ท่านตรัสกับพระติสสะว่า “ติสสะ ร่างกายนี้ในไม่ช้าก็จะมีวิญญาณไปปราศแล้ว เป็นฯของที่เขาทอดทิ้งเหมือนกับท่อนไม่ไร้ประโยชน์” ฟังเพียงเท่านี้พระติสสะก็เป็นพระอรหันต์ ก็รวมความว่าการเป็นพระอรหันต์ นี่ตัดที่รูปตัวเดียว คือที่ร่างกาย

ตัดที่ร่างกายนี่ร่างกายใคร ตัดร่างกายคนอื่นหรือ ถ้าตัดจริงๆ ต้องตัดที่ร่างกายของเรา ถ้าเรายังเห็นว่าร่างกายของเราดี เราก็เห็นว่าร่างกายของคนอื่นดี ถ้าเราเห็นร่างกายของเราไม่ดี เราก็เห็นว่าร่างกายคนอื่นไม่ดี นี่ต้องตัดที่เราเองนะ ข้อนี้ทิ้งไว้ก่อนยังไม่พูดวันนี้



วันนี้ก็จะพูดถึงอารมณ์ของพรหมก่อน ถ้ามีเวลาก็จะพูดถึงอารมณ์ของพระอรหันต์ เมื่อคืนนี้เราพูดกันถึงเรื่องการป้องกันตัวในฐานะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าตายจากการเป็นมนุษย์ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ดี เป็นอสุรกายก็ดี เป็นเปรตก็ดี เป็นสัตว์นรกก็ดี เราก็ขาดทุน คำว่าขาดทุน ก็เพราะว่ามนุษย์ดีกว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นและดีกว่าอบายภูมิ ฉะนั้นการตายจากความเป็นมนุษย์อย่างน้อยที่สุดเราต้องไปสวรรค์



การที่จะไปสวรรค์จะต้องทำอย่างไรก็เป็นของไม่ยาก ตามพระบาลีพระพุทธเจ้าบอกว่า “ทานัง สัคคโส ปาณัง” ทานเป็นบันไดให้เกิดบนสวรรค์ มีหรือยัง มีแล้วใช่ไหม ถ้ามีแล้วแต่ลืมก็ไม่ได้ไป ข้อสำคัญก็คืออย่าลืมทานบารมีที่เราทำแล้ว ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจาคานุสสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานกองหนึ่ง ที่มีความจำไว้ว่าเราเคยทำบุญทำทานที่ไหนบ้าง ถวายทานแก่พระ ให้ทานแก่คน ให้ทานแก่สัตว์ ก่อนที่จะหลับจะนอนนึกถึงสักประเดี๋ยวหนึ่ง



แล้วเรื่องทานการกุศลที่เราเคยทำแล้วหรือยัง มันอาจนึกไม่หมด นึกได้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ ก็คิดว่าทานที่เราทำแล้ว ทานเป็นปัจจัยให้เกิดความร่ำรวย ในชาติที่เราทำแล้ว แล้วพอตื่นมาเราก็นึกถึงอีกนิดหนึ่ง ว่าเราเคยบำเพ็ญที่ไหนบ้าง นึกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ช้าจิตมันก็ชิน แล้วก่อนจะหลับเราก็ต้องนึกถึงทาน ตื่นใหม่ๆ ก็ต้องนึกถึงทาน อย่างนี้ชื่อว่าเป็นทานในจาคานุสสติกรรมฐาน



เพียงเท่านี้บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าตายจากความเป็นคนจะไปเกิดบนสวรรค์ทันที เคยไปไหม ไม่เคยหรือ โอโห..... นี่มาจากนรกหรือนี่ จะไปนิพพานแต่ว่ามาจากนรกก็แย่นะ (หัวเราะ) อย่างสาตกีเทพธิดานี่แกไม่เคยทำบุญอย่างอื่นมาก่อน เพียงแต่คิดว่าเราจะนำดอกบวบขมนี่ไปบูชาเจดีย์ ที่เขาบรรจุกระดูกพระอรหันต์ แต่ก็ยังไม่ทันจะไป ก็มีนางยักษิณีแปลงตัวเป็นวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตาย เธอตายจากตอนนั้นก็ขึ้นไปบนสวรรค์ทันที คือจิตกำลังนึกถึงทานการบริจาก การบูชาพระอยู่ อันนี้เป็นข้อที่ ๑



ส่วนข้อที่ ๒ ก็นึกถึงศีลที่เราเคยรักษา ปกติเราก็รักษาได้บริบูรณ์บ้าง ไม่บริบูรณ์บ้างก็ตามใจ แต่ว่าเวลาตอนค่ำตั้งใจสมาทานศีล คิดว่าศีลนี่เราจะรักษาให้ครบถ้วน แล้วนึกถึงศีลก่อนหลับ ตื่นใหม่ๆ เราก็นึกถึงศีลที่เราเคยรักษา มันพร่องบ้างอะไรบ้างก็เป็นของธรรมดา แล้วนึกว่าศีล ๕ เราเคยมี ศีล ๘ เราก็เคยมีใช่ไหม แม้แต่คนที่เขาไม่มีศีลเลยในครั้งแรก แค่นึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเขาก็ไปสวรรค์ได้ ไปเป็นพระโสดาบันได้



นี่เราเคยมีศีลในกาลก่อน การรักษาศีลเรามีตั้งหลายครั้ง เพราะเราเป็นคนมีศีล ถ้านึกอย่างนี้เป็นปกติ ก่อนจะหลับนึกถึงศีล ตื่นใหม่ๆ นึกถึงศีล จนกระทั่งไม่ต้องบังคับเป็นอารมณ์ จิตมันทรงตัวเอง อย่างนี้เรียกว่าเป็นฌานในสีลานุสสติกรรมฐาน คำว่าฌานนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าเราจะพูดว่าจะไปเกิดบนสวรรค์ก็ต่ำไป ฌานนี่เป็นกำลังของพรหม นี่เราเอาแบบง่ายๆ ดีไหม หากินง่ายๆ แต่กำไรมากใช่ไหม ดีกว่าหากินยากๆ แต่ขาดทุน



ที่หากินยากแต่ขาดทุนนั่นก็หมายความว่าเวลาปฏิบัติกรรมฐานแล้วใช้อารมณ์เครียดเกินไป เครียดหนัก เร่งรัดตัวหนักเกินไป แล้วผลที่สุดการเร่งรัดตัวเกินไปนี่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตัว จะไม่เกิดมรรคผลแก่ตัวเอง ทำไปนานเท่าไรก็ตาม มรรคผลไม่เกิด จะเกิดอาการกลุ้ม เมื่อเกิดอาการกลุ้ม อารมณ์ก็เศร้าหมอง ตายก็ลงอบายภูมิ อย่างนี้ขาดทุนนะ



ก็รวมความว่าเราก็ทำตามแบบที่พระพุทธเจ้าท่านสอนดีกว่าง่ายๆ เสียงเมื่อคืนไม่ดี เพราะไม่ได้กินข้าวเย็น สู้เสียงคนข้างล่างไม่ได้ (หัวเราะ) ก็เป็นอันว่าเราปฏิบัติกันง่ายๆ แต่เอาจริง แต่ส่วนใหญ่ให้ใช้อนุสสติ เพียงแค่อนุสสตินี่ก็ไปนิพพานได้แบบสบายแล้ว อนุสสติก็คือ



๑. พุทธานุสสติ การนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ วันนี้เราพูดกันแบบพรหมๆ นะ ไม่ใช่แค่สวรรค์ เป็นพรหมกันแบบง่ายๆ ถ้าเป็นพรหมถ้าไปคุยกับนักปฏิบัติพระกรรมฐาน เขาจะบอกต้องเข้าฌานสมาบัติเป็นปกติ นั่นหมายความว่าต้องตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น แล้วตั้งอารมณ์ไว้ให้ตรง แต่ความจริงนั่นเป็นการฝึก

๒.

แต่ถ้าอารมณ์จริงๆ ควรจะใช้แบบ อนุสสติ ให้มีอารมณ์ชิน ฌานก็คือชิน การนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน อันนี้เราไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้านี่ คนที่ได้มโนมยิทนี่ได้กำไรเพราะเคยเห็นพระพุทธเจ้าจริงๆ คนที่ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าจริงก็นึกถึงพระพุทธรูปแทน

จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าเวลาไหนที่เราเคยปฏิบัติ อย่างเวลาก่อนจะนอนเคยบูชาพระ จิตใจเราไม่สบาย อารมณ์ไม่เป็นสุข เพราะเวลาบูชาพระ เราก็นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นองค์แรก ส่วนใหญ่จิตใจคนจะจับที่พระพุทธเจ้า แล้วรองลงมาจริงๆ ก็จับที่พระสงฆ์ พระธรรมจับไม่ค่อยอยู่ เพราะไม่เห็นพระธรรม แต่ก็ใช้ได้กันหมดนะ



ในเมื่ออารมณ์เราจับอยู่ที่พระพุทธรูป องค์ใดองค์หนึ่งก็ตาม หรือจับอยู่ที่พระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งอยู่ก็ตาม โดยเฉพาะเวลานะ เวลาทำการงานก็ทำไปตามปกติ แต่เวลามันว่างจากการงาน นึกถึงภาพพระพุทธรูปคือพระพุทธเจ้าก็ตาม นึกถึงภาพพระสงฆ์ก็ตาม จิตมันนึกเป็นอารมณ์ พอว่างขึ้นมาจิตมันจับแบบนั้น



เช่นเวลาเราบูชาพระ ถ้านึกถึงพระไม่ได้บูชาพระก็ไม่สบายใจ เวลาบูชาพระก็ตั้งใจนึกถึงพระพุทธรูปองค์ที่เราบูชา จิตทรงตัว อย่างนี้ก่อนหลับนึกถึง ตื่นขึ้นมาก็นึกถึง บางทีเราเดินไปไหนก็ตาม ก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทางเราเดินไปคนเดียว เดินไปคนเดียวไม่รู้จะคุยกับใครเราก็นึกถึงพระ นึกถึงภาพพระ ถ้านึกว่าพระอยู่ในอก เขาเรียกว่าอรูปฌาน ถ้านึกถึงพระอยู่ข้างนอกเป็นรูปฌาน ถ้านึกว่าพระอยู่ในอกของเราเป็นอรูปฌาน ถนัดทางไหนก็ทำ นึกถึงภาพพระอยู่ พระนั่งก็ตาม พระนอนก็ตามพระเดินก็ตาม พระยืนก็ตาม ตามใจนึก อย่างนี้ชื่อว่าจิตเป็นฌานในพุทธานุสสติกรรมฐาน



ถ้าคนที่มีกำลังใจแบบนี้ตายจากความเป็นคนไปเป็นพรหม ยากไหม ไม่ยาก เพราะว่าถ้าทำถูกนี่มันไม่ยาก แต่ว่าฉันก็ไม่ได้บอกว่าคนอื่นเขาทำผิดนะ แต่ว่าทำตึงเกินไป อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสกับปัญญจวัคคีย์ฤๅษีทั้ง ๕ คือมีท่านโกญทัญญะ ท่านวัปปะ ท่านภัททิยะ ท่านมหานาม ท่านอัสสชิ ว่าเธอทั้งหลายจงละส่วนสุด ๒ อย่างคือ

๑. อัตตกิลมถานุโยค

๒. กามสุขัลลิกานุโยค

จงปฏิบัติใน มัชฌิมาปฏิปทา

อัตตกิลมนุโยค ก็หมายความว่า การทรมานตัวเกินไป พวกพราหมณ์มักจะทำที่ สังเกตตัวเป็นสำคัญ ต้องนั่งให้ตรง ต้องนั่งท่านั้น ต้องนั่งท่านี้ ต้องนั่งแบบนั้น ต้องนั่งแบบนี้ ถือร่างกายเป็นสำคัญ ก็ไม่เกิดมรรคผล

สำหรับกามสุขัลลิกานุโยคนั่นอยากมากเกินไป กามะ แปลว่า ความใคร่ คือความอยาก ก่อนที่เราเจริญสมาธิก็อยากได้ฌานที่ ๑. อยากได้ฌานที่ ๒. อยากได้ฌานที่ ๓. อยากได้ฌานที่ ๔. เวลานี้อยากเป็นพระโสดาบัน อยากเป็นพระสกิทาคามี อยากเป็นพระอนาคามี อยากเป็นพระอรหันต์ อารมณ์ก็ฟุ้งซ่านไม่เห็นสมาธิ ผลไม่เกิดท่านบอกให้ใช้ มัชฌิมาปฏิปทา คือใช้อารมณ์แบบสบายๆ



อันดับแรกที่ตรัสไว้ในอุทุมพริกสูตรว่า เมื่อพระทั้งหลายเมื่อกลับจากบิณฑบาต ฉันข้าวแล้ว ตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก

คำว่าตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่นนี่ ไม่ได้บังคับว่าจะต้องนั่งเสมอไป การปฏิบัติพระพุทธเจ้าบอกว่า การปฏิบัติเราปฏิบัติได้ทุกอิริยาบถ คือนั่งนอนยืนเดิน ถ้าท่าไหนของเราสบาย เราทำท่านั้น ถ้านอนสบายเราก็นอน นั่งสบายเราก็นั่ง แล้วเวลานั่งเรานั่งท่าไหน ถ้านั่งขัดสมาธินั่งพับเพียบไม่ถนัดเราก็นั่งเก้าอี้ หรือนั่งห้อยขาก็ได้ตามใจชอบ คือร่างกายปล่อยให้มันสบายก่อน อย่าไปฝืนกัน



ในเมื่อร่างกายสบายแล้วก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ารู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้ว่าหายใจออก การรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกนี่เป็นการระงับอุทธัจจะกุกกุจจะ คือการฟุ้งซ่านและรำคาญ จึงตัดนิวรณ์ตัวที่ ๔ เป็นตัวทำสมาธิให้เกิด



เวลาปฏิบัติจริงๆ ต่อไปถ้าเราใช้คำภาวนาก็ได้ หรือพิจารณาก็ได้ เราแค่สบายๆ ทำไปใช้กำลังจิตเป็นสุขเราก็ทำของเราเรื่อยไป ถ้าจิตเริ่มฟุ้งซ่านขึ้นมา มันดึงไม่ไหว ต้องพัก อย่าทรมานใจ ทรมานตัว หรือร่างกายปวดเมื่อยมากเกินไป ถ้าปวดเมื่อยเราเปลี่ยนอิริยาบถได้ ถ้านั่งมันปวดมันเมื่อยเราก็นอน ถ้านอนไม่สบายเราก็ยืน ถ้ายืนไม่สบายเราก็เดิน ถ้าอิริยาบถทั้ง ๔ ยังไม่สบายทั้งหมดเราก็เลิก พัก อย่าผืน อย่างนี้เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือปฏิบัติเป็นสายกลางๆ



หากจะถามว่า ถ้าเราปฏิบัติเป็นสายกลางๆ เราจะได้มรรคผลแน่นอนหรือ ต้องขอตอบยืนยันว่าแน่นอน อย่างพระอานนท์ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อานันทะ ดูก่อนอานนท์ พระอานนท์นี่ความจริงเป็นพระโสดาบันตั้ง ๒๐ ปีกว่า นี่เก่งไหม เป็นผู้ชำนาญการนะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๕ พรรษาก็ไปโปรดพระพุทธบิดา ระหว่างนั้นพระอานนท์นั่งฟังเทศน์อยู่ด้วย ฟังเทศน์จบเดียวพระโสดาบันแล้วขอบวช บวชจนกระทั่งพระพุทธเจ้าอายุ ๘๐ ปี ท่านประกาศพระศาสนา ๔๕ ปี เข้าใจว่าพระอานนท์นี่เป็นพระโสดาบัน ๔๐ ปี ไม่ใช่ ๒๐ ปีนะ เก่งมากชำนาญ ถ้าใครไม่เข้าใจเรื่องพระโสดาบันให้ไปถามพระอานนท์ ท่านเข้าใจแน่



ทีนี้ตอนที่พระพุทธเจ้าจะนิพพาน เวลาเช้าตรู่ได้อรุณจะนิพพานแน่นอน ก่อนหน้านั้นนิดเดียว พระอานนท์ก็ไปยืนเกาะสลักหน้าต่างร้องไห้เสียใจ ในเมื่อพระพุทธเจ้าไม่เห็นพระอานนท์ก็ถามพระที่ปฏิบัติอยู่ พระก็บอกว่าพระอานนท์ไปยืนร้องไห้ที่นั่นพระเจ้าข้า ท่านก็เรียกพระอานนท์มา ท่านก็ถามว่า “อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอร้องไห้ทำไม “ พระอานนท์ก็บอกว่า “เวลานี้ข้าพระพุทธเจ้ายังเป็นพระเสขะบุคคล” คำว่า เสขะ แปลว่า ยังต้องศึกษาอยู่ คือยังเป็นพระโสดาบัน พระอรหันต์นี่เขาเรียกอเสขะบุคคล คือเป็นคนที่ไม่ต้องศึกษา

“เวลานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพานเสียแล้ว ใครจะเป็นครูสอนข้าพระพุทธเจ้า”

พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า “อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ถ้าตถาคตนิพพานไปแล้ว พระธรรมวินัยที่สอนไว้จะเป็นศาสดาสอนเธอ” คำว่าศาสดานี่แปลว่าครู จะเป็นครูสอนเธอ



พระอานนท์ฟังแล้วก็ยังไม่ยั้งตัว เพราะว่าเวลานี้เป็นแค่พระโสดาบัน ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเองกับปาก ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แค่ดูตำราจะเป็นอรหันต์ได้อย่างไร ยังไม่แน่ใจในตนเอง ในหนังสือไม่ได้เขียนนะฉันพูดเอง ฉันเองฉันอาจจะคิดอย่างนั้นนะ



พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์บอกว่า “อานันทะ ดูก่อนอานนท์ หลังจากตถาคตนิพพานไปแล้ว เวลาจวนจะเข้าพรรษาวันรุ่งขึ้นจะเข้าพรรษา พระมหากัสสปจะทำปฐมสังคายนา แต่ความจริงเวลานั้นพระมหากัสสปไม่อยู่ อย่างวันพรุ่งนี้เขาจะทำปฐมสังคายนา คืนนี้แหละเธอจะได้บรรละพระอรหันต์พร้อมกับปฏิสัมภิทาญาณ” พระอานนท์ก็เบาใจ



หลังจากนั้นเมื่อเขาเผาพระพุทธเจ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระก็ประชุมกันว่าเวลานี้พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว เราควรจะรวบรวมพระธรรมวินัยเข้าไว้เพื่อเป็นหลักปฏิบัติ บรรดาพระทั้งหลายก็มอบหน้าที่ให้พระมหากัสสป ซึ่งเป็นพระอาวุโสมากที่สุด แล้วกำหนดว่า การทำปฐมสังคายนาคราวนั้นต้องใช้พระอรหันต์ถึง ๕๐๐ องค์ ตอนนั้นพระอรหันต์มี ๒ แสนกว่า เลือกเฉพาะพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ แล้วเลือกเฉพาะพระอรหันต์องค์ที่รับฟังจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ไม่ใช่ฟังต่อกันมา



พระมหากัสสปก็คัดมาไว้ ๔๙๙ กันไว้หนึ่งองค์ เพราะอีกองค์หนึ่งถ้าถ้าทิ้งก็ไม่ได้ คือพระอานนท์ พระอานนท์นี่รู้ทุกอย่าง ถ้าจะจัดเข้าไว้ในขณะนั้นเขาก็จะนินทาหาว่าเป็นน้องพระพุทธเจ้า เพราะยังไม่ได้พระอรหันต์ อย่างตอนกลางวันพรุ่งนี้จะเป็นวันปฐมสังคายนา



ตอนกลางวันพระก็ตักเตือนบอกว่า อานนท์ พรุ่งนี้เขาจะทำปฐมสังคายนาแล้วนะ ท่านยังไม่เป็นพระอรหันต์ คราวนี้ต้องมีอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณพร้อมกัน ๕๐๐ องค์ ไม่ใช่ ๔๙๙ องค์ และท่านก็เป็ฯพระที่อยู่ในบัญชีที่ต้องทำปฐมสังคายนา เพราะรับฟังจากพระพุทธเจ้าทุกอย่าง



พระอานนท์ก็เลยตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือนั่งบ้าง นอนบ้าง เดินบ้าง ที่เรียกว่าจงกรม จงกรมหนักที่สุด ต้องการเป็นพระอรหันต์ มันก็ไม่เป็น ที่นี้พอเวลาดึกมากขึ้น มันก็ใกล้สว่างเต็มที ประมาณยามที่ ๓ ท่านก็คิดในใจว่าเราทำความเพียรมาตั้งแต่เช้า เวลานี้ก็ใกล้สว่าง เวลารุ่งเช้าจากนี้เขาจะทำปฐมสังคายนา องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงพยากรณ์ไว้ บอกว่าเราจะเป็นพระอรหันต์วันนี้ แต่เวลานี้เรายังไม่ได้เป็น ถ้าจะเครียดเกินไปเพราะไม่ได้พักผ่อน จะพักผ่อนเสียหน่อยจะดีกว่า พอร่างกายสบายหายเพลียแล้วลุกขึ้นมาทำใหม่



เมื่อตั้งใจคลายตัว ก็เอนกายลงหัวยังไม่ทันจะถึงหมอน เท้าซ้ายยกขึ้นแล้ว เท้าขวายังไม่พ้นจากดิน ร่างกายข้างๆ ยังไม่ถึงเตียง พระอานนท์เห็นพระอรหันต์เวลานั้น ท่านเรียกว่าพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ในอิริยาบถ ๔ คือจะยืนก็ไม่ใช่ จะเดินก็ไม่ใช่ จะนอนก็ไม่ใช่ นั่งก็ไม่ใช่ ก็รวมความว่าเพราะอาศัยจิตคลายตัว



ทีนี้การปฏิบัติในขณะที่สมัยหลังเรานี่ ที่ท่านทำๆ กันมาก็เป็นแบบนี้ทุกองค์ ตามที่ถามๆ มานะ ขณะที่ปฏิบัติเครียด ตั้งใจเอาฌานจริงจัง มันไม่ได้ คำว่าได้ก็หมายความว่าต้องได้ธรรมะที่พระพุทธเจ้าต้องการ ไม่ใช่ได้สมาธิ คือได้อารมณ์ตัดสังโยชน์ แต่ไปได้เอาตอนที่จิตคลายตัว



พอจิตคลายตัวหรือเครียดเกินไปเลิก ตั้งใจเลิกนอนดีกว่า พอคิดว่านอนดีกว่า พอนอนปั๊บอารมณ์ก็ตั้งใจคิดถึงว่าสักกายทิฏฐิมันเป็นอย่างไร วิจิกิจฉาเป็นอย่างไร สีลัพพตปรามาสเป็นอย่างไร ความเข้าใจก็เกิดขึ้นที่พระพุทธเจ้าบอกว่า สักกายทิฏฐิ คือร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ก็คือร่างกายมันตาย นี่อารมณ์พระโสดาบันหรือพระสกิทาคามีก็คิดง่ายๆ ไม่ยาก



ถ้ามันเป็นเราจริง เป็นของเราจริง มันก็ต้องไม่ตาย มันก็ต้องไม่แก่ เพราะเราไม่ต้องการให้ร่างกายแก่ เราไม่ต้องการให้ร่างกายตาย แต่ทีนี้ถึงเวลาแก่มันก็แก่ ถึงเวลาตายมันก็ตาย แสดงว่ามันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ก็มีความเข้าใจในร่างกายเล็กน้อย เป็นหลักของพระโสดาบัน



ต่อมาก็เรื่องไตรสรณาคมน์ คือพระพุทธเจ้า คือมานั่งนึกว่าที่เรามีข้าวกินก็ดี มีผ้าห่มก็ดี มีที่อยู่อาศัยก็ดี มียารักษาโรคก็ตาม ที่ญาติโยมสงเคราะห์ก็เพราะอาศัยพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนก็ไม่มี ถ้าไม่มีพระอริยสงฆ์ พระธรรมคำสั่งสอนก็ไม่ถึงเรา

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี ท่านดีจริง ถ้าความดีของท่านไม่มี เราขืนบวชแบบนี้เราก็อดตาย ไม่มีใครให้กินหรอก ก็เป็นอันว่า ความดีและชีวิตที่เราทรงอยู่ได้ก็เพราะอาศัยพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ความมั่นใจในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ก็เกิดขึ้น ก็เรียกว่ามีความไม่สงสัย ตัดวิจิกิจฉาได้



ต่อมาก็คิดว่าความเป็นพระของเราจะเป็นขึ้นได้อย่างไร เป็นได้เพราะความมีศีล ๒๒๗ ข้อ สิกขาบท ๒๒๗ จริงๆ นี่เขาใช้จริงๆ แค่ ๒๒๐ ข้อ อีก ๗ ข้อ เป็นแค่บอกชื่อ เป็นอันว่าสิกขาบท ๒๒๐ เราต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน มีบางส่วนถึงแม้พระอรหันต์ยังต้องละเมิด ต้องพลาด ยังมีบ้าง ก็คือจริยาต่างๆ ที่เรียกว่า อภิสมาจาร คือเสียงบ้าง การวางร่างกายบ้าง เดินบ้าง อะไรบ้าง เคยนั่งสูงไปบ้าง ต่ำไปบ้าง อย่างนี้ท่านไม่ถือเป็นโทษหนัก ท่านห้ามเหมือนกัน แต่ท่านไม่ถือเป็นโทษหนัก ในเมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้จิตก็เริ่มมีความมั่นคงในศีล



ถ้านึกว่าร่างกายจะร่างกายจะต้องตาย เรามีความมั่นใจในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์จริง ไม่ลสงสัย เรามีความมั่นคงในศีล เราก็เป็นพระโสดาบัน



เวลาที่ท่านได้จริงๆ ท่านได้เวลานอน ถามทุกองค์ หลายองค์แล้วนะ เวลาที่นั่งเครียด มันนึกจริงเอาจริง แต่ว่าอารมณ์มันเครียด อารมณ์ไม่ทรงตัว แต่พอเลิกแล้ว ไม่ใช่อารมณ์คิด เมื่อสมาธิคลายตัวลงนิดหน่อยเหลือแค่อุปจารสมาธิ ไม่ใช้กำลังคิดเวลานั้น อารมณ์วิปัสสนาญาณก็ไม่ทรงตัว อันนี้เราคิดว่าเราจะเลิกทรงฌานแล้ว เราจะคลายตัว เวลานี้เราจะนอนพักผ่อน ขณะที่นอนพักผ่อนนี่สมาธิยังไม่ถอนตัวไปหมด อย่างสูงมันทรงอยู่แค่ฌาน ๒ อย่างกลางมันจะทรงอยู่แค่ฌานที่ ๑ อย่างต่ำที่สุดจะทรงอยู่แค่อุปจารฌาน



ทีนี้ถ้าจิตทรงอยู่ในฌานทั้งหลายเหล่านี้ก็มีอารมณ์คิด อารมณ์คิดอย่างนี้ ถ้าคิดเกิดขึ้นมันจะทรงตัว มันจะมีความรู้สึกตามนั้น คิดว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องตาย เขาตายได้เราก็ตายได้



ประการที่ ๒ ถ้าตายแล้วถ้าทำไม่ดีก็ไปอบายภูมิ เราจะไม่ไปอบายภูมิได้ก็ต้องมีความเคารพในพระไตรสรณาคมน์ คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ แล้วก็มีจิตมั่นคงตามนั้นไม่สงสัย แล้วพยายามตั้งใจระมัดระวังศีลด้วยความตั้งใจจริง



หลังจากนั้นเมื่อคิดอย่างนี้แล้วสักประเดี๋ยวเดียว อารมณ์มันก็คิดว่าการเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นเทวดาก็ดี เห็นพรหมก็ดี ไม่ดี ทั้งหมดไม่มีความสุขจริง มันก็อยากจะไปนิพพาน เวลานั้นอารมณ์มันจะคิดอย่างนั้น ในเมื่ออารมณ์มันคิดอย่างนั้นขณะที่ จิตอยู่ในอุปจารฌานก็ดี ในปฐมฌานก็ดี จิตจะทรงตัว นี่เป็นเวลาที่พยากรณ์เป็นสมาธิแล้วนะ หลังจากนั้นอารมณ์อย่างนี้ก็ทรงตัวตลอด



การนึกถึงความตายไม่ต้องไปเตือนมัน มันจะรู้สึกตัวเองว่าเรานี่ต้องตายกันแน่ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ พร้อมใจในการตาย เตรียมการตายไว้พร้อม ถ้าตายเมื่อไหร่เราไปสวรรค์เมื่อนั้น ถ้าจิตใจเรามั่นคงเราก็ไปพรหมเมื่อนั้น



แล้วมีความรักในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ด้วยความจริงใจ ใจรักพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่สงสัย แล้วตั้งใจทรงศีล จิตตั้งใจไว้เพื่อพระนิพพาน อย่างนี้ท่านเรียกว่าพระโสดาบัน การเป็นพระโสดาบันนี่ไปได้ ๒ ที่ จะไปสวรรค์ก็ได้ จะไปพรหมโลกก็ได้



เวลาเหลือหนึ่งนาทีครึ่งพูดต่อนะ มีเทวดาอยู่หนึ่งองค์เป็นตัวอย่าง มีเทวดาอยู่องค์หนึ่งท่านเป็นพระโสดาบันคือ พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารก็คือท้าวเวสสุวัณองค์ปัจจุบันนี่แหละ ไม่มีเขี้ยวนะ ท้าวเวสสุวัณจริงๆไม่มีเขี้ยว แต่ท้าวเวสสุวัณเขียนนี่มีเขี้ยว



ท้าวเวสสุวัณนี่ท่านก็คือ พระเจ้าพิมพิสาร ถูกลูกชายทรมานให้อดข้าวก็ยังไม่พอ ผลที่สุดท่านก็เดินจงกรมอยู่ในธรรมปีติ เขาก็เลยเฉือนเท้าเพื่อห้ามไม่ให้เดิน ในที่สุดอารมณ์จิตของท่านก็ทรงฌาน เพราะเป็นพระโสดาบันก็ตาย เมื่อตายจากความเป็นคนในขณะที่ทรงฌานอยู่ก็ต้องไปเป็นพรหม

พอออกจาร่างกายแล้วก็มีความรู้สึกว่านี่เราจะไปตั้งพรหม แต่ว่าก่อนที่เราจะมาเกิดเป็นมนุษย์เรามาจากชั้นจาตุมหาราชเป็นที่เดิม เราควรแวะที่เดิมดีกว่า ก็เลยแวะชั้นจาตุมหาราช ในขณะต่อมาเขาให้เป็นอินทกะ คือเป็นรองท้าวมหาราช ต่อมาเมื่อท้าวเวสสุวัณองค์นั้นท่านขึ้นไปอยู่พรหม ท่านก็เลยได้เลื่อนเป็นท้าวเวสสุวัณ



รวมความว่าวันนี้เราคุยกันรู้เรื่องหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่หมดเวลาแล้ว ก็เป็นอันว่าวันนี้ถ้าท่านพุทธบริษัทตั้งใจจะไปสวรรค์ ให้นึกถึงทานการบริจาคก็ได้ นึกถึงศีลที่เคยรักษาก็ได้ นึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธรูป หรือพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ตามใจชอบ ก่อนจะนอน



ถ้าต้องการจะเป็นพรหมต้องทำอารมณ์ให้ทรงตัว คือว่าเวลานี้เราจะบูชาพระ เวลาบูชาพระตั้งใจเอาจิตจับพระพุทธรูปด้วยความจริงใจ มันจำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่เป็นไร วันแรกๆ วันต่อไปก็จำได้ดีเอง ถ้าทำอย่างนี้ทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ได้ทำ วันนั้นเกิดความไม่สบายใจ ต้องทำ ถึงแม้ว่าเราเดินทางเวลานั้นไม่มีพระพุทธรูปจะบูชา แต่ใจก็นึกถึงภาพพระพุทธรูปอยู่ อย่างนี้จิตเป็นฌานในพุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกคนตายเมื่อไหร่ไปเป็นพรหมเมื่อนั้น



เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เวลาเลยมาสองนาที ต่อนี้ไปก็ขอทุกท่านตั้งใจสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐาน สวัสดี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น