++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

นิกรวันอาทิตย์ - บางเสี้ยวของชีวิต

วิลาศ มณีวัตร

            ขณะเรียนอยู่ปีที่สองในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชีวิตของผมก็ถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อได้เขียนเรื่องลงใน "นิกรวันอาทิตย์" ซึ่งมีคุณสุภา ศิริมานนท์ เป็นกัปตัน
            คุณสุภา ศิริมานนท์ มีบุญคุณอย่างสูงต่อผม เพราะเป็นผู้ "เปิดประตู" ให้ผมได้ก้าวเข้าไปในโลกแห่งการประพันธ์ ทั้งได้คอยประคับประคองและเป็นพี่เลี้ยงให้กำลังใจด้วย
            ผมเริ่มงานชิ้นแรกใน "นิกรวันอาทิตย์" ด้วยคอลัมน์ "สายลม-แสงแดด" ใช้นามปากกา "นภาพร" ซึ่งภายในไม่ช้าก็สามารถทำให้ผู้อ่านสนใจติดตามได้ แต่ตัวผู้เขียนเองต้องทรมานอย่างที่สุด เพราะต้องทำใจให้เป็นคนแก่ จึงจะเขียนเรื่องแบบนั้นได้
           
            ต่อจากนั้น ผมได้ทดลองแปลเรื่องสั้นจากภาษาอังกฤษ โดยใช้นามแฝงว่า "สุชาวดี" ย่อมาจาก สุรีพันธุ์ ชาลีจันทร์ ซึ่งผมกำลังมีใจปฎิพัทธ์อยู่ในตอนนั้น จำได้ว่าได้แปลเรื่องของ แอนตัน เชคอฟ นักเขียนชาวรัสเซียและเรื่อง The Man with the Ragged Sout  (ดวงวิญญาณที่แหลกสลาย) ของ ฟรานซิส เมสโค นักเขียนชาวยูโกสลาเวีย
            ถัดจากนั้น ผมหันมาทางศาสนา โดยได้เขียนแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับ ชีวิตและงานของ "พุทธทาสภิกขุ" โดยใช้นามปากกาใหม่ขึ้นมาอีก คือ "มานพ"

            คุณสุภา ศิริมานนท์ เป็นผู้ร่ำรวยความคิด ขณะที่กำลังตรวจบรู๊ฟเรื่อง "แม่อนงค์" อยู่ ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า น่าจะส่งคนไปสัมภาษณ์ "แม่อนงค์" ที่บ้าน เพื่อจะได้ทราบถึงโลกทัศน์แห่งท่าน ดังนั้น จึงได้ตั้งชื่อขึ้นมาว่า "โลกทัศน์ของนักเขียน"  และส่งผมไปสัมภาษณ์ "แม่อนงค์" "ศรีบูรพา" และ สดกูรมะโรหิต ปรากฏว่า มีผู้อ่านชอบกันมาก สมัยนั้นยังไม่มีเทป และผมก็ไม่เคยเรียนชวเลข  จึงต้องอาศัยฟังไปจดไป ขีดๆโยงๆยุ่งไปหมด เมื่อนำมาเรียบเรียงที่บ้านแล้ว ก็ส่งไปให้เจ้าตัวตรวจเสียก่อนที่จะลงพิมพ์เพื่อความถูกต้อง เทียวไปเทียวมาอยู่เช่นนี้ จึงทำให้ผมคุ้นเคยกับนักประพันธ์ใหญ่แห่งยุคมากขึ้น

            สำหรับเรื่องสั้นนั้น ผมได้เขียนลง "นิกรวันอาทิตย์" หลายเรื่องเหมือนกัน แต่ที่มีคนจำกันได้มากก็คือ "ยุวกวีแห่งบางใบไม้"
            ต่อมา ผมได้เขียนเรื่องที่ใช้ฉากต่างประเทศ เช่น "หมอวิเศษแห่งกรุงเวียนนา" ใช้นามปากกาว่า "วิไล วัชรวัต" (คุณสุภาเป็นผู้ตั้งให้) ส่วนเรื่องสั้นใช้นามว่า "วิวัต"
            การเขียนเรื่องค่อนข้างมาก ลงใน "นิกรสันอาทิตย์" เช่นนี้ทำให้ผมมีรายได้ดี จนทางบ้านที่สุราษฎร์ฯ ไม่ต้องส่งเงินมาให้เป็นค่าใช้จ่ายอีกต่อไป เป็นการช่วยผ่อนคลายภาระของพ่อแม่ไปได้มาก เพราะท่านมีลูกชายถึง ๔ คน
           
            ยิ่งนานวันเข้า ความใกล้ชิดระหว่างผมกับคุณสุภาก็ยิ่งมากขึ้น จนผมได้ไปค้างคืนที่บ้านคุณสุภาแถวเจริญพาสน์ จึงได้พบกับภรรยาผู้มีเสน่ห์และสวยงาม แถมยังใจดีอีก คือ คุณจินดา
            สิ่งที่ผมคาดไม่ถึงในบ้านคุณสุภาก็คือ หนังสือมากมายก่ายกองจนดูคล้ายจะเป็นห้องสมุด ส่วนมากจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับวิชาการหนังสือพิมพ์ อันเป็นจุดสนใจใหญ่ยิ่งของคุณสุภา และต่อมาท่านก็ได้เขียนตำราทางวิชาการหนังสือพิมพ์อันมีค่าไว้หลายเล่ม

            "นิกรวันอาทิตย์" อยู่มาจนถึงช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง กระดาษขาดแคลนมากขึ้น จนต้องหันไปใช้กระดาษสา และในที่สุดกระดาษสาก็หาไม่ได้ จึงจำเป็นต้องหยุดพิมพ์ เป็นการปิดฉากยุคสมัยของ "นิกรวันอาทิตย์" พร้อมๆกับคู่แข่ง คือ "สุภาพบุรุษ-ประชามิตร" รายสัปดาห์ ซึ่งมีคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นหัวหน้าทีม มี "พนม" เขียนภาพปก ส่วนทาง "นิกรวันอาทิตย์" นั้น ประยูร จรรยาวงษ์ เขียนปก

            ท่านอาจจะสงสัยว่า "นิกรวันอาทิตย์" ไม่มีเรื่องขันๆบ้างเลยหรือ ขอตอบว่า มีเต็ม ๒ หน้ากลางเลยทีเดียว ให้ชื่อว่า "ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขหลังกินข้าวแล้ว" โดย อ.ร.ด. เขียนประจำทุกเล่ม
            ส่วนเรื่องตลกของ อ.ร.ด. จะเป็นแบบไหนนั้น จะขอคัดมาลงเป็นตัวอย่าง ดังนี้
            "เมื่อนายพลเนวิน นายพลชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงโด่งดังก้องโลก ในฐานที่เป็นผู้ได้ทำการรบในสมรภูมิแวร์ดังครั้งสงครามโลกคราวที่แล้ว  ได้ไปเยี่ยมฮอลลีวู้ด ชาวฮอลลีวู้ดได้ต้อนรับท่านนายพลผู้มีเกียรติอย่างเอิกเกริก วันหนึ่ง ชาลี แชปปลิน กับ วิลโรเยอร์ ได้ไปเยี่ยมท่านนายพล ณ ที่พัก ตามปกติ ชาลี แชปปลิน เป็นคนขี้อาย และไม่ค่อยพูด เมื่อทั้งสองไปถึงหน้าห้องพักท่านนายพล ชาลี แชปปลินจึงหันไปถามวิล โรเยอร์ ว่า จะทักทายปราศรัยท่านนายพลว่ากระไรดี เพราะเป็นคนช่างพูด วิล โรเยอร์ ตอบว่า
            "ลองถามอย่างนี้สิว่า ท่านนายพลครับ เมื่อท่านรบที่แวร์ดังนั้น ท่านเข้าข้างไหน"

            อีกเรื่องหนึ่งมีว่าดังนี้
            " ท่านผู้หนึ่งมีบุตรชายนเดียว พ่อลูกชายคนนี้ประพฤติตนเหลวไหลเที่ยวเตร่และเสพสุรายาเมาเป็นอาจิณ จนท่านผู้เป็นบิดามีความเบื่อหน่ายระอา จึงส่งบุตรชายเข้ามากรุงเทพฯ ให้พักที่บ้านพักนักเรียนหัวเมืองแห่งหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่า มีผู้กครองซึ่งมีความสามารถมาก นักเรียนที่ไม่มีที่พักในพระนคร มักจะมาพักที่บ้านพักนี้ ได้รับการอบรมและควบคุม จนปรากฏว่าเรียนสำเร็จกลับไปด้วยดีทุกคน

            ท่านผู้นั้นเมื่อส่งบุตรชายมาพักที่หอพักนักเรียนแห่งนั้นแล้ว ก็คอยฟังข่าวของบุตรอยู่ทางต่างจังหวัดทางโน้น และได้รับจดหมายจากบุตรชายว่า บัดนี้ได้กลับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ เหล้ายาอะไรก็ลดน้อยลงไปตามลำดับแล้ว เนื่องจากได้ผู้ปกครองหอพักที่ดี คอยอบรมจิตใจและความประพฤติอยู่เสมอ ท่านพ่อก็มีความยินดีที่ลูกชายละนิสัยเดิม ยิ่งกว่านั้นยังได้รับจดหมายจากผู้ปกครองหอพักอีกฉบับหนึ่ง แจ้งความประพฤติของบุตรชายตนว่าดีขึ้นเป็นลำดับ
            ท่านบิดาคงได้รับจดหมายจากบุตรชายอีกเรื่อยๆ แถลงถึงความประพฤติรวมความว่า เดี๋ยวนี้เลิกเหล้ายาได้เด็ดขาดแล้ว ถ้าคุณพ่อได้เห็นลูกชายคราวนี้ จะรู้สึกแปลกใจมากทีเดียวว่าผิดไปคนละคน เมื่อท่านบิดาได้รับจดหมายจากบุตรเช่นนั้นก็ยิ่งดีใจมากขึ้น วันหนึ่งจึงขึ้นรถไฟเข้ามากรุงเทพฯ  แต่มิได้มีจดหมายบอกล่วงหน้ามาให้บุตรชายรู้ เพื่อจะได้ทำให้ลูกชายประหลาดใจโดยไม่ได้คิดไม่ได้ฝัน รถไฟมาถึงกรุงเทพฯ ค่ำๆ ท่านผู้นั้นออกจากสถานีรถไฟก็ตรงดิ่งมายังบ้านพักนักเรียนแห่งนั้น ครันถึงก็เข้าไปเคาะประตูบ้าน มีหญิงแก่ซึ่งเป็นแม่บ้านโผล่หน้าออกมาแล้วถามว่า
            "มีธุระอะไร?"
            ท่านผู้นั้นถามถึงลูกชายว่า
            "นายจ๋อง อยู่บ้านนี้ใช่ไหมจ๊ะ"
            หญิงแม่บ้านถอนใจ และโคลงศรีษะอย่างเบื่อหน่ายพร้อมกับตอบว่า
            " อยู่ค่ะ อยู่บ้านนี้แหละ ตัวแกอยู่ไหนล่ะคะ หามเอาเข้ามาเถอะ เป็นยังงนี้ซะเรื่อยเชียว"

* * * *

            ขอย้อนกลับไปเล่าถึงคุณสุภา ศิริมานนท์ อีกที
            ในตอนหลัง คุณสุภาได้ออกหนังสือรายเดือน "อักษรสาสน์" โดยมีกำลังสำคัญ คือ "อินทรายุทธ" (อัศนี พลจันทร์) เป็นผู้ช่วย เป็นหนังสือที่แพร่หลายมากในหมู่ปัญญาชน

            ครั้นถึงตอนที่เกิดมี "เสรีไทย" ขึ้น คุณสุภาได้อกกไปปฏิบัติการที่อินเดีย โดยไม่ยอมบอกแม้กระทั่งลูกเมียว่า จะไปทำอะไรที่ไหน
            ขอจบด้วยเรื่องที่น่าสนใจ ว่า จดหมายรักทั้งหมดทุกฉบับของคุณสุภานั้น คุณจินดาได้เก็บรักษาไว้อย่างครบถ้วน และคิดว่าคงจะเปิดเผยออกมาสักวันหนึ่ง หากพิมพ์เป็นเล่มเชื่อว่าจะเป็น "เบสต์ เซลเลอร์ " ทีเดียว

           



           


ที่มา  ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น