++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตามรอยลายสือไทย

ส.บุญเสนอ

                สามรสของกวีวัจนไทย  ฉันท์ทุกประเภทจาก
                "พระนลคำฉันท์ " ,กลอนหกจาก "กนกนคร"
                และรวมกวีทุกประเภทจาก "สามกรุง"

            กรมหมื่นพิทยาลงกรณทรงเป็นรัตนกวี, นักปราชญ์ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์พร้อมสรรพอยู่ในพระองค์เอง และทรงสามารถยิ่งทุกแขนง อีกอย่างที่ทรงเคร่งครัดและทรงใฝ่พระทัยมาก คือ เรื่องภาษาศาสตร์ หากผู้ใดใช้ภาษาผิดๆ ก็ทรงท้วงติง ด้วยถ้อยคำหรือข้อความที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน จนผู้ถูกทักท้วงก็โกรธไม่ลง  ในเรื่องวรรณคดีทรงเข้าถึงทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง นอกจากบางเรื่องที่เป็นของเก่ามาแต่โบราณ ที่ทรงไม่ค่อยเข้าพระทัย ซึ่งจะทรงตำหนิก็ไม่ได้เพราะไม่เข้าใจและไม่รู้
           
            นักอ่านจำพวกหนึ่งรู้จักชื่อหนังสือที่ได้รับยกย่องเป็นวรรณคดีทั้งๆที่ตนเองไม่เคยสัมผัส เมื่อคนอื่นเขาว่าดีก็พลอยว่าดีตามเขาไปด้วย เรื่องทำนองนี้เสด็จในกรมฯ เคยทรงเผยความรู้สึกของพระองค์ไว้ในปาฐกถาเรื่องหนึ่ง ทรงแสดงที่สามัคคยาจารย์สมาคม เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ มีข้อความในพระทัยของพระองค์ตอนหนึ่ง
       
            "... ฉันจะพูดความลับสักข้อหนึ่ง ซึ่งชักจะไม่กล้าพูด เป็นความในใจท่านด้วย ในใจฉันด้วย ความลับนั้นคือว่า เราจะรู้ว่ากาพย์กลอนชุดไหนดีก็เพราะคนอื่นเขาว่าดีมาก่อน เราไม่รู้เองว่าดีหรือไม่ ถึงจะชอบก้ไม่กล้าว่าดีเพราะกลัวจะผิด และกลัวเสียเหลี่ยม คนที่กลัวเสียเหลี่ยมนั้น เพราะมีเหลี่ยมจะเสีย และรู้ว่าเหลี่ยมอ่อน ถ้ารู้ว่าเหลี่ยมแข็งก็ไม่กลัวเสีย เราโดยมากเหลี่ยมอ่อน..."

            เสด็จในกรมฯ ทรงแต่งโคลง, ฉันท์, กาพย์, กลอนสั้นๆไว้เป็นจำนวนมาก ลงพิมพ์ในหนังสือรายคาบต่างๆนับเวลาหลายปีที่ทรงเล่น "หนังสือ" เป็นต้นมา เฉพาะเรื่องใหญ่ที่ได้รับยกย่องเป็นวรรณคดีมีสามเรื่อง คือ "พระนลคำฉันท์" , "กนกนคร" และ "สามกรุง"  ซึ่งคอหนังสือทั้งหลายรู้จักดี

            เสด็จในกรมฯ ทรงนิพนธ์เรื่อง "พระนลคำฉันท์" เมื่อต้น พ.ศ.๒๔๕๖ และทรงแต่งจบเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ พระองค์ท่านทรงกล่าวไว้ในคำนำตอนหนึ่งดังนี้

            "พระนลคพฉันท์" นี้เริ่มแต่งในตอนต้นปี พ.ศ.๒๔๕๖ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายในงานเฉลิมพระตำหนักจิตรลดาระโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคมปีเดียวกันนั้น ๕ สรรคครั้งหนึ่ง ทูลเกล้าฯ ในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.๒๔๕๗ อีก ๕ สรรคครั้งหนึ่ง เพราะได้ทูลเกล้าฯ ถวายเช่นนี้ จึงมีหนังสือเป็นที่จดจำไว้ว่าได้แต่งใน พ.ศ.๒๔๔๖ เพียง ๑๐ สรรคเท่านั้น อีก ๑๖ สรรคแต่งใน พ.ศ.๒๔๕๗ และ ๒๔๕๘ จบบริบูรณ์เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๘

            การแต่งฉันท์นี้มิได้แต่งติดต่อกันคราวเดียวจบ บางคราวแต่งได้ท่อนหนึ่งแล้วทิ้งทอดไปนานๆก็มี เหตุดังนั้นจึงกินเวลานานนักหนา เมื่อแต่งสำเร็จแล้วได้ให้เสมียนเขียนตัวดีขึ้นดู หวังจะเอาไว้เป็นร่างหลายๆฉบับ กันต้นฉบับหาย ครั้นเขียนขึ้นแล้วอ่านสอบดูเห็นผิดมากมาย ถ้าทิ้งไว้มีผู้คัดต่อๆกันไปสักสามทอดคงจะเปลี่ยนแปลงไปมาก คิดดังนี้จึงจัดพิมพ์ "พระนลคำฉันท์" ขึ้นเป็นครั้งแรกสำเร็จในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๕๙ จำนวนฉบับที่พิมพ์เพียง ๖๓ เท่านั้น

            "กนกนคร" เป็นร้อยกรองเรื่องใหม่อันดับสองของเสด็จในกรมฯ  คราวนี้ทรงเลือกแต่งเป็นกลอนหกล้วน ซึ่งลำบากและยากกว่าแต่งกลอนชนิดอื่น ทรงเริ่มแต่งเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๔๕๘ หลังจากจบเรื่อง "พระนลคำฉันท์" แล้ว และทรงแต่งจบเมื่อพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๕  ถ้านับเวลาก็เกือบเจ็ดปี แต่ความจริงไม่นานถึงเท่านั้น มีการแต่งๆหยุดๆ ประมาณหกปีเศษ แล้วมารวบยอดทรงเร่งแต่งรวดเดียวจบภายในเวลาสามเดือน

            ทรงแต่งอย่างพิถีพิถันมาก เพราะทรงตั้งพระทัยอยากให้ไพเราะจริงๆ ครั้งนั้นยังไม่มีผู้ใดเลยที่เคยแต่งกลอนหกล้วนเป็นเรื่อวราว และพระองค์ท่านทรงทำได้สำเร็จ

            เคยมีผู้ปรารภกับเสด็จในกรมฯ ว่า อยากนำเรื่อง "กนกนคร" ไปเล่นละคร ทรงเขียนตอบไว้ในคำนำของหนังสือของพระองค์ท่านว่า...

            "... ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะผู้แต่งไม่เคยเอาการเล่นละครมาคำนึงเลย ท่านผู้นั้นตอบว่าไม่เป็นไรดอก ถ้าเนื้อเรื่องใช้ได้แล้วขอเอาไปแก้ไขสักสองสามวันก็ใช้ได้ ข้าพเจ้าร้องขอทันทีว่าอย่าให้มีใจดุร้ายเช่นนั้นเป็นอันขาด เพราะกลอนนี้ของข้าพเจ้า ถ้าท่านแก้ ถึงหากว่าดีขึ้น ก็ผิดสำนวนเจ้าของไป ถ้าท่านอยากเล่นละครก็จงหาเรื่องอื่นเถิด ข้าพเจ้านำเอาความข้อนี้มาเล่าเพื่อจะกล่าวคำขอร้องนั้น ซ้ำไว้อีกครั้งหนึ่ง

            ครั้งนั้นเป็นสมัยละครรำ เรื่องที่จะทำเป็นละครก็ต้องแก้ไขดัดแปลงให้เข้ากับกระบวนเล่นละครได้ไม่ขัดเขิน ทั้งการรำ การร้อง และพิณพาทย์ ขอเล่าเรื่องประวัติสุนทรภู่ประกอบข้อความตอนนี้สักหน่อย เป็นเรื่องตอนที่สุนทรภู่รับราชการเป็นอาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงอยากจะแก้บทพระราชนิพนธ์สำหรับเล่นละคร เรื่อง "รามเกียรติ์" ตอนนางสีดาผูกคอตาย ซึ่งบทพระราชนิพนธ์เดิมดังนี้....

                "เอาภูษาผูกสอให้มั่น       แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
        หลับเนตรจำนงปลงใจ              อรทัยก็โจนลงมา"

                ต่อไปเป็นบทของหนุมาน ว่า
                "บัดนั้น                    วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
            ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา        ผูกสอโจนลงมาก็ตกใจ
            ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต            ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม้
            โลดโผนโจนลงตรงไป         ด้วยกำลังว่องไวทันที (เชิด)
            ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง        ที่ผูกสอองค์พระลักษมี
            หย่อนลงยังพื้นปฐพี            ขุนกระบี่ก็โจนลงมา"

                บทตอนนี้ยืดยาดไม่สมจริง กว่าหนุมานจะแก้ภูษาได้ นางสีดาก็ขาดใจตายเสียก่อน จึงทรงแก้บทใหม่ เป็น...

                "จึงเอาผ้าพันกระสันรัด        เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่"

                ทรงติดอยู่แค่นี้ เพราะจะต้องรวบรัดให้หนุมานเข้าไปแก้ผ้าผูกคอนางสีดาได้รวดเร็ว  เหล่ากวีที่ปรึกษาบรรดาศักดิ์ที่เฝ้าอยู่สลอนก็แต่งถวายทั่วหน้า แต่ไม่มีผู้ใดแต่งบทตอนนี้ให้กระชับเป็นที่พอพระราชหฤทัยได้ ยังเหลือแต่สุนทรภู่กวีสามัญ ผู้เฝ้าอยู่ปลายแถวอีกคน จึงทรงลองให้แต่งถวาย                        

                ถ้าเป็นสมัยนี้ การทำเรื่องให้กระชับละก็ นักตัดต่อภาพยนตร์มือตุ๊กตาทองทำได้สบายมาก แต่ด้วยสมองไวเฉียบแหลมของสุนทรภู่ ซึ่งแต่งต่อถวายได้ทันทีว่า...

                " ชายหนึ่งผูกสออรทัย          แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย"
            แล้วตัดภาพซ้อนเข้าให้ทันที
                "บัดนั้น                        วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย"

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพอพระทัย ทรงเอาบทใหม่ซ้อมละครก็เข้ากับการร้องและรำเล่นได้สะดวกดีทุกประการ ต่อมาสุนทรภู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นกวีที่ปรึกษาใกล้ชิดด้วยผู้หนึ่ง ทั้งยังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนสุนทรโวหารในกรมพระอาลักษณ์

            การแปลงบทประพันธ์เป็นละครเวที, ละครโทรทัศน์ หรือ ภาพยนตร์ ต้องใช้ผู้มีฝีมือในทางนี้มากทีเดียว เคยได้ยินเจ้าของบทประพันธ์ปรารภบ่อยๆ ว่าเอาเรื่องของเขาไปดัดแปลงไม่ถึงเรื่องเดิม

            "ที่ได้รับคำชมเชยก็มีเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าค่อนข้างจะน้อยกว่า ทั้งนี้สุดแต่ฝีมือของแต่ละคน ผมเคยทราบว่าผู้ทำหน้าที่แปลงเป็นบทภาพยนตร์ของต่างประเทศ ได้รับเกียรติใช้ตัวอักษรประกาศชื่อของเขาใหญ่เท่ากับตัวอักษรของชื่อผู้กำกับการแสดงทีเดียว เพราะเป็นผู้บันดาลจะให้ดีขึ้นหรือเลวลงได้ทั้งสองสถาน ดังจะเห็นได้จากตามโปสเตอร์โฆษณาของภาพยนตร์เรื่องต่างๆ และหนังสือคู่มือการโฆษณาที่ภาษาโรงหนังเรียก "เพรสบุ้ค"

            เหตุผลที่เสด็จในกรมฯ ไม่ทรงพอพระทัยให้นำเรื่องของพระองค์ไปเล่นละคร คงเพราะทรงเกรงผลที่ออกมาจะเสียมากกว่าดีกระมัง มีนักเขียนนวนิยายหลายคนไม่ยอมให้นำเรื่องของเขาไปดัดแปลงทำภาพยนตร์ ด้วยใคร่ครวญดูแล้วพอจะมองเห็นว่าผลที่ออกมายากจะดีกว่าของเดิม

            สำนวนโวหารคมคายและรสคำกลอนใน "กนกนคร" ไพเราะเพราะพริ้งอย่างเยี่ยม มีผู้นำคำกลอนบางตอนท่องจำติดปาก ดังเช่นตอนหนึ่งที่ว่า...

                "หญิงไม่อยากมีสามี                หาในโลกนี้หาไหน
                อันพวงบุปผามาลัย                เกลียดแมลงภู่ไซร้ฤามี
                ควรจำธรรมดานาไร่                 จักไม่รับไถไช่ที่
                ฉันใดชาดานารี                    พึงมีสามีแนบตัว..."

                มีผู้เล่าว่าข้อความกลอนหกท่อนนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ชอบมาก ว่าได้ปร๋อทีเดียว แทบจะกล่าวได้ว่าผู้ไม่เห็นคำกลอนเหล่านี้ผ่านสายตายังหาใช่นักอ่านตัวยงไม่

            "กนกนคร" พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕ ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนากร ขนาดแปดหน้ายกด้วยกระดาษปอนด์ หนากว่าสองร้อยหน้า ทำปกแข็งเดินทองอย่างดี จำนวนพิมพ์ ๕๐๐ เล่ม และไม่มีราคาขายเพราะไม่มีการจำหน่าย  ที่ทรงลงทุนพิมพ์ไว้เพื่อป้องกันมิให้ต้นฉบับสูญหาย และเพื่อประทานให้แก่ผู้ที่ทรงเห็นสมควรได้รับ การที่ไม่ได้ตั้งราคาขายนี้ต่อมากลายเป็นหนังสือมีค่ายิ่ง ที่นักเล่นหนังสือเสาะแสวงหา เล่ากันว่าคราวหนึ่งหนังสือ "กนกนคร" ที่พิมพ์ครั้งแรกนี้ก่อให้เกิดการวิวาทได้ เรื่องนี้มีว่าที่ร้านขายหนังสือเก่าได้หนังสือเล่มนี้มาก็เอาออกอวด นักเล่นหนังสือสองคนบังเอิญเห็นพร้อมกัน และอยากได้มากขนาดยื้อแย่งจนใช้กำลังกัน

            ก่อนออกหนังสือพิมพ์ประมวญวัน พวกผมสี่ห้าคนรุ่นแรกที่เข้าไปทำงานสำนักนั้น เสด็จในกรมฯ ประทานหนังสือที่ทรงแต่งใหคนละชุด มี "กนกนคร" , "จดหมายจางวางหร่ำ" , "ประมวลนิทาน น.ม.ส.", "นิทานเวตาล" ขาดที่อยากได้กันมากอีกเล่ม คือ "พระนลคำฉันท์"   

ที่มา ต่วย ตูน เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๖ เล่มที่ ๑๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น