++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

ผีปอบ - เรื่องราวชีวิตในชนบท

ว.แหวนลงยา

            สังคมชนบทสมัยก่อน เป็นสังคมที่มีความเอื้ออารี คอยเป็นห่วงเป็นใย และพร้อมที่จะช่วยเหลือกัน บ้านใกล้เรือนเคียงมีอะไรก็แบ่งปันกันไป ใครมีอะไร ใครเป็นอะไรก็รู้กันไปทั้งหมู่บ้าน ผิดกับสังคมแบบฝรั่งที่ต่างคนต่างอยู่

            จะไปใส่ใจคนอื่นมากเกินไปก้ไม่ได้ แม้ว่าจะห่วงใยด้วยความบริสุทธิ์ใจ มันกลายเป็น ส.ใส่เกือกไปโน่น สังคมของเขาจึงเป็นแบบตัวใครตัวมัน บ้านใกล้กันตายเน่าเหม็นยังไม่มีใครรู้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมฝรั่งในเรื่องครอบครัว ลูกๆที่โตเป็นหนุ่มสาวต้องแยกออกไปอยู่ต่างหาก ไม่ว่ายากดีมีจนพ่อแม่ต้องอยู่ตามลำพังเท่านั้น ใครมีน้ำใจก็มาเยี่ยมเยียน อาทิตย์สองอาทิตย์ครั้ง แต่ส่วนมากจะมาเยี่ยมพ่อแม่ปีละหน มากกว่า อย่างดีก็โทรฯ คุยกัน จะมาเจอหน้ากันก็ตอนคริสต์มาสนั่นแหละ

            ความจริงการที่ลูกๆฝรั่งไม่ค่อยกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนใจไม้ไส้ระกำอะไร  แต่เป็นเพราะบ้านเมืองเขา รัฐฯมีสวัสดิการให้ดีมาก คนแก่ทุกคนรัฐบาลเลี้ยงดูให้จนตาย เจ็บป่วยก็มีหมอมารักษา อาการหนักแค่ไหนขอให้ยกโทรศัพท์ได้เท่านั้น รถพยาบาลจะมารับถึงบ้านเลย ใครเคยไปอยู่ในประเทศเหล่านี้มาแล้ว ในเมืองใหญ่จะได้ยินเสียงไซเรนรถพยาบาลทั้งวัน ส่วนมากก็บริการคนแก่ที่มีสวัสดิการเหล่านี้ ที่พูดมานี้หมายถึงคนแก่ทุกคน ไม่ได้เฉพาะคนที่รับราชการแบบบ้านเรา

            ทีนี้หันมาดูสังคมบ้านเรา ครอบครัวไทยเรามักเป็นครอบครัวใหญ่ ลูกเต้าแต่งงานมีบ้านเรือนแล้วบางทียังพักอยู่ในชายคาเดียวกับพ่อแม่  ทำให้เกิดความอบอุ่น ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ช่วยกันดูแล โดยเฉพาะคนแก่มักไม่ค่อยเหงาเพราะมีหลานให้เลี้ยง เงินทองอาหารการกินก็มีลูกหลานคอยหาให้

            เรื่องนี้จะว่าดีก็ดี คือ ดีสำหรับผู้ที่มีลูกหลาน หรือมีลูกหลานที่สนใจพ่อแม่ อย่างน้อยก็ยังมีเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่ชรา

            แต่ถ้าคนแก่คนนั้นไม่มีลูกหลานล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น ใครจะเลี้ยงดู  แล้วยิ่งถ้าเป็นคนแก่ที่ไม่มีสตางค์ด้วย จะเอาอะไรกิน จะไปหวังพึ่งรัฐบาลคงจะยาก

            บ้านพักคนชราบางแคนั่น เขามีไว้เป็นตัวอย่างต่างหาก เอาไว้เชิดหน้าชูตาโชว์ชาวต่างชาติว่า บ้านเมืองเรารัฐฯ ก็มีสวัสดิการให้เหมือนกัน  แต่โทษทีเถอะ คนแก่บ้านเราไม่มีลูกหลานเลี้ยงดูมีอีกเท่าไร รัฐบาลเคยเหลียวแลบ้างไหม


            พูดเรื่องนี้แล้วมันน่าน้อยใจ มันไม่ยุติธรรมเลย ที่บางคนเคยทำงานเสียภาษีให้รัฐบาลมาเกือบตลอดชีวิต ครั้นแก่ตัวลงทำงานไม่ไหว รัฐบาลก็ไม่เหลียวแล ไม่มีลูกหลานเลี้ยงดูก็อดตายไปเอง มันยุติธรรมไหมล่ะครับ
            คนแก่บางคนเคยบ่นน้อยใจให้ฟังว่า ตอนมีแรงร่ำรวยอยู่ รัฐบาลก็เก็บภาษีเอา ครั้นหมดแรงเขาก็ทอดทิ้งยังกับหมาไล่เนื้อ ฟังแล้วก็เห็นจริงตามที่ว่า น่าเศร้าเหลือเกิน

            คนแก่บางคนโชคดี ที่มีรายการสื่อดีๆ ซอกแซกไปเก็บข้อมูลมาออกรายการ ผู้ชมรายการที่เขามีน้ำใจเห็นแล้วอดสงสารไม่ได้ ส่งเงินไปร่วมบริจาคให้ทุกครั้ง นั่นก็เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว
            สังคมบ้านเราคนใจบุญมีไม่น้อย แต่คนชอบทำบุญเอาหน้ามีมากกว่า ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราเห็นเป็นประจำ เศรษฐีมีหน้ามีตาชอบบริจาคเงินให้กับเจ้านาย หรือรายการกุศลผ่านสื่อต่างๆ บางทีเห็นแล้วทุเรศนัยน์ตา เพราะยื่นของให้จนคนรับเมื่อยมือ แต่ไม่ยอมปล่อยสักที กลัวว่ากล้องยังถ่ายไม่เสร็จ

            อยากรู้นักว่าเศรษฐีพวกนี้ บริจาคได้ครั้งละเป็นล้าน แต่ถ้าคนจนไปขอเงินกินข้าวสักสิบบาท จะให้หรือเปล่า
            เมื่อตอนที่ผมเป็นเด็กวัด  ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ตกเข้าไปเกือบสี่สิบแล้ว สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านแถวนั้นยังเป็นบ้านนอกร้อยเปอร์เซ็นต์ บ้านเรือนอยู่ห่างๆกัน เกือบทุกบ้านหลังคามุงด้วยใบจาก นานๆถึงจะมีบ้านคนรวย หลังคามุงด้วยกระเบื้องสักหลัง

            สมัยนั้นแค่ดูหลังคาบ้านก็รู้แล้วว่าเจ้าของรวยหรือจน ยิ่งบ้านชาวนาซึ่งเป็นคนไทยแท้ ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยมุงจากทั้งนั้น
            ที่จริง หลังคาที่มุงด้วยจากนี่มีข้อดีหลายประการ ข้อแรกก็เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ เลิกใช้แล้วก็ผุพังกลายเป็นดิน ต่อมาเวลาแดดจัดก็ไม่ร้อน แล้วเวลาฝนตกไม่มีเสียงดังหนวกหู เรื่องนี้คนที่ใช้กันสาดอลูมิเนียมปัจจุบันจะรู้ดี เพราะฝนตกทีไร พูดอะไรกันแทบไม่ได้ยิน ข้อสุดท้ายคือ คนสมัยก่อนรองน้ำฝนไว้ดื่มกิน น้ำฝนที่รองด้วยหลังคาใบจาก  สีของน้ำจะออกเหลืองนิดๆ แต่กินอร่อยมีรสหวานหอมชื่นใจ

            เส้นทางที่ผมเดินหิ้วปิ่นโตตามพระไปบิณฑบาต มีอยูาสองสามเส้นทางด้วยกัน ด้านหน้าวัดเป็นท้องทุ่งนากว้างใหญ่ นานๆถึงจะมีละเมาะไม้และบ้านเรือนแทรกอยู่ ต้องเดินลัดคันนากันเป็นกิโลกว่าจะถึงบ้านสักหลัง ข้อสำคัญบ้านชาวนาส่วนมากยากจนกับข้าวที่ชาวบ้านใส่บาตรไม่เคยมีของดีๆ ปลาแห้ง ปลาเค็ม ไข่ต้มยืนพื้น

            ส่วนเส้นทางด้านหลังวัด เป็นเรือกสวนและลำคลอง ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวจีน หรือไม่ก็ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวสวนเป็นคนขยัน จึงมีฐานะดีกว่าชาวนา กับข้าวกับปลาที่ใส่บาตร จึงมีหมูเห็ดเป็ดไก่มากกว่ากัน
            แต่ยังดีที่วัดของเรา พระทุกองค์ที่บิณฑบาต ต้องนำมารวมกันเป็นกองกลาง แล้วฉันพร้อมๆกัน
           
            ผมเป็นคนขี้เบื่อ ความจริงหลวงพี่ของผมเดินรับบาตรตามสวน แต่บางวันผมก็ขอเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ออกเดินตามหลวงพี่องค์อื่นๆไปรับบาตรตามท้องนาบ้าง จึงได้เห็นภาพชีวิตของผู้คนอย่างทั่วถึง
            บ้านเรือนชาวนาส่วนมาก มักมีกองฟางกองสูงอยู่ข้างบ้าน เหตุที่ต้องมีกองฟาง เพราะในหน้าน้ำท้องนามีแต่ต้นข้าว และน้ำท่วมเจิ่งนองไปหมด วัวควายที่เลี้ยงไว้ไม่มีหญ้ากิน จึงต้องเก็บฟางข้าวหลังจากนวดเสร็จแล้วไว้ให้มันกิน


            ท้อนาสมัยก่อนเตียนโล่ง จะมีหมู่ไม้เฉพาะตามใกล้บ้านคนเท่านั้น ต้นไม้ที่เห็นกันทั่วไปคือต้นตาล  แล้วก็สะแก ตามที่ดอนที่ทำนาไม่ได้จะมีสะแกขึ้นเป็นดงมืดครึ้ม
            สำหรับเด็กอย่างพวกผม ป่าสะแกเป็นป่าที่ไม่น่าเข้าใกล้อย่างยิ่ง เพราะป่าช้าที่มีต้นไม้มืดครึ้ม ล้วนเป็นป่าสะแกทั้งนั้น

            มีอีกอยางที่จำได้แม่นยำ คือ การที่ท้องนาสมัยก่อนเป็นทุ่งกว้างใหญ่ จึงมีนกแร้งหรืออีแร้งหากินอยู่มากมาย  กลางวันมันจะบินวนอยู่เป็นกลุ่มอยู่สูงลิบ ถ้ามีสัตว์อะไรตายในท้องนา อีแร้งซึ่งสายตาดีมากจะบินลงมากิน
            พวกผมเด็กวัดจอมซน ชอบเอาไม้ไปไล่ตีฝูงอีแร้งบ่อยๆ เรื่องที่สนุกก็คือ อีแร้งมันตัวใหญ่น้ำหนักคงพอๆกับเด็กสิบขวบ เวลาจะบินขึ้นมันจึงบินขึ้นทันทีไม่ได้ ต้องกางปีกให้วิ่งให้รับลมก่อน เรียกว่า เหมือนเครื่องบินยังไงยังงั้น

            เมื่อมันบินทันทีไม่ได้ พวกผมจึงตีวงล้อมเข้าไป อีแร้งตกใจก็วิ่งกางปีกออกบิน ถึงตอนนี้ล่ะ ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหม ถ้าขวางทางมันเป็นชนแหลก เพราะตัวมันใหญ่เทอะทะ กลับตัวยาก ไอ้แจ้เพื่อนผมเคยโดนอีแร้งชนจนหงายท้องมาแล้ว
            เรื่องเจ็บไม่เท่าไร แต่กลิ่นของมันนี่ซิ ติดตัวล้างสามน้ำไม่หมด เหตุที่อีแร้งตัวเหม็นเพราะอะไรผมรู้ดี ก็เวลามันกินสัตว์ตายนั้น มันไม่ได้จิกกินเฉยๆ แต่มันเกลือกกลิ้งเลอะไปทั้งตัวทีเดียว  โดยเฉพาะหัวที่ไม่มีขน จะชอนไชเข้าไปในท้องของเหยื่อเน่าๆ คงจะนึกออกแล้วนะครับ ว่าทำไมอีแร้งจึงตัวเหม็น  ไม่ได้เหม็นแค่นิดหน่อย แต่อยู่ห่างสักสิบวาก็แทบลมใส่แล้ว ใครที่ถูกว่าตัวเหม็นเป็นอีแร้งจึงโกรธนักหนา
           
            พวกผมที่ชอบไล่ตีมัน ก็ได้แค่ขว้างด้วยก้อนดินเท่านั้น หาได้กล้าเข้าใกล้มันไม่ นึกแล้วก็สงสารมัน อุตส่าห์ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร กินก็กินแต่สัตว์ตายเน่า ทำหน้าที่เก็บขยะปฏิกูลได้ดีกว่าเทศบาลบ้านผมในปัจจุบันเสียด้วยซ้ำ แต่ไอ้เด็กจอมซนยังไปแกล้งอีก
            ปัจจุบัน ไม่เคยมีใครเห็นอีแร้งอีกเลย สาเหตุก็เพราะบ้านเมืองเราคนมากขึ้น จะหาท้องไร่ท้องนาที่กว้างจริงๆ ไม่มีบ้านเรือนและผู้คนไม่ได้อีกแล้ว อีแร้งจึงไม่มีที่อยู่ ที่หากิน เพราะที่แคบๆมันลงไม่ได้ เปรียบเหมือนจะเอาเครื่องบินบี.๕๒ มาลงสนามบินบางพระ  จะไปลงได้อย่างไร อีแร้งก็เลยสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยด้วยประการฉะนี้

            เส้นทางที่ผมเดินตามหลวงพี่ออกไปบิณฑบาตในท้องนา มีอยู่ช่วงหนึ่งเลียบเลาะไปตามที่ดอน เป็นโคกเหมือนกับป่าโคกของทางภาคอีสาน บนโคกนี้เป็นป่าสะแกมืดครึ้ม มีกอไผ่และต้นหนามเหยี่ยวขึ้นปะปน และที่ชายโคกป่าสะแกนี้เอง มีกระท่อมมุงจากซอมซ่อตั้งอยู่หลังหนึ่ง
            เจ้าของกระท่อมผุพังนี้ เป็นผัวเมียชราสองคนชื่อว่าตาเดชกับยายโถ  อายุของแกก็คงเจ็ดสิบกว่า ใกล้แปดสิบแล้วทั้งคู่ ทั้งสองไม่มีลูกหลานญาติพี่น้อง ตอนนั้นผมก้ไม่รู้ว่าลูกแกตายหมดหรืออย่างไร

            จำได้แต่ว่า เห็นกระท่อมและความเป็นอยู่ของแกแล้ว ขนาดผมเป็นเด็กยังอดสงสารไม่ได้เลย คนแก่ที่อยู่กันตามลำพังมันเงียบเหงาปานใด ยิ่งบ้านผุพังอยู่ชายป่า ไฟฟ้า ถนนหนทางไม่เคยมี มืดค่ำลงก็มีเพียงตะเกียงกระป๋องวอมแวม

            ตาเดชกับยายโถ มีรายได้จากการเก็บลูกตาลสุกมาขายให้แม่ค้านำไปทำขนมตาลบ้าง บางฤดูก็เก็บเห็ดโคนที่ขึ้นบนโคก แต่ส่วนมากจะเป็นผักป่าบนโคนมาขาย รายจ่ายของแกมีเพียงค่าข้าวสารอย่างเดียว กับข้าวกับปลาก้หาผักหญ้ามากิน ตกปลาบ้าง สมัยนั้นกุ้งปลาหาได้ไม่ยาก

            ที่ผมประทับใจจนป่านนี้ก็คือ ถึงจะลำบากยากจนปานใด สองตายายนี่ก็พยายามหาอะไรมาใส่บาตรได้บ่อยๆ บางทีก็ข้าวสารสามช้อน กับปลาย่างชิ้นหนึ่ง น้ำพริกผักต้มนั่นบ่อยที่สุด สภาพไม้ใกล้ฝั่งอย่างนั้น พระคงจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจได้ดีที่สุด
            แต่อนิจจา...กับข้าวของตาเดชกับยายโถ ไม่เคยมีพระหรือเด็กวัดคนไหนหยิบกินเลย เอาเถอะ ถ้าบุญกุศลมีจริง แกคงได้รับอานิสงส์บ้างหรอก

            สมัยนั้นแถววัดที่ผมอยู่ เกิดมีเสียงร่ำลือกันว่ามีผีปอบ  มีคนเห็นแสงไฟวับๆแวมๆตอนกลางดึกบ่อยๆ ผู้คนที่ตากอาหารสด อาหารแห้ง  แล้วลืมทิ้งไว้นอกบ้าน ตื่นเช้าขึ้นมามักหายเสมอ ยิ่งร่ำลือกันไปใหญ่ว่าผีปอบมาลักไปกิน
            ผีปอบที่นี่น่าจะดุร้ายกว่าที่อื่น เพราะคนที่เห็นบอกว่ามันออกหากินเป็นทีม คือ มีทั้งผีปอบและผีกระสือ แสงไฟวับๆแวมๆตอนดึกที่มีคนเห็น มักจะเป็นแสงจากผีกระสือ เพราะผีปอบไม่มีแสงสว่าง
           
            ตามคำร่ำลือนั้น ผีปอบเป็นผีตัวผู้ คือ เป็นผู้ชาย ส่วนผีกระสือเป้นผีผู้หญิง เรื่องนี้ไม่รู้ใครเป้นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ ตอนนั้นผมก็อยากรู้เหมือนกันว่า ทำไมผู้ชายถึงเป็นผีกระสือไม่ได้ แล้วผู้หญิงทำไมเป็นผีปอบไม่ได้

             เรื่องของเรื่องก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าหาคนที่รู้จริงๆไม่ได้หรอก คนที่เคยเห็นจริงๆ ก็หาไม่ได้อีกเหมือนกัน มีแต่คนว่าเห็นที่นั่นที่นี่ แต่ไล่เลียงเข้าจริงๆ ก็ออกตัวว่าคนนั้นเห็น คนนี้เห็นไปอีก
            เรื่องนี้ไม่ได้ร่ำลือกันเฉพาะชาวบ้านเท่านั้น พระในวัดเองก็พูดกันอยู่บ่อยๆ ว่า เห็นแสงไฟจากผีกระสือ โดยเฉพาะหลวงพี่แช ท่านยืนยันว่าเห็นผีกระสือมาวับๆแวมๆ ข้างวัดจริงๆ  ที่เป็นเรื่องแปลกก็คือ  ผีกระสือมักจะมาปรากฏในคืนวันพระหรือวันโกนเท่านั้น คืนธรรมดาไม่เคยมีใครเห็น มันช่างเข้ากับความเชื่อที่ว่า วันพระเป็นวันที่ยมโลกปล่อยผีเสียจริงเชียว

            เรื่องมันมาน่าคิดเอาตรงที่ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ผีปอบกับผีกระสือนั้นต้องเปนคนในหมู่บ้านนั้นเอง ความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ว่าผีทั้งสองชนิด กลางวันก็เป็นคนธรรมดา แต่กลางคืนก็ต้องออกหากิน ส่วนที่ว่ากลางวันทำไมกินไม่อิ่มผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ถือว่าเป็นเวรกรรมของมันก็แล้วกัน
            คนที่ถูกชาวบ้านใส่ร้ายว่าเป็นผีกระสือกับปอบคงเดาได้ไม่ยาก แน่นอน ตาเดชกับยายโถนั่นเอง

            คุณเคยได้ยินคำพังเพยที่ว่า ขี้เรื้อนกินหมาผอมไหมครับ คนจนๆทำมาหากินอะไรก็มักจะเจ๊ง ทีคนรวยทำอะไรก็ยิ่งรวย เรื่องนี้เป็นของธรรมดา ตาเดชกับยายโถเปรียบไปก็เหมือนคนจนตรอก  นอกจากจนยาก ลำบากยากแค้น เจ็บไข้ได้ป้วยไม่มีใครสนใจ เวลาไปทำบุญที่วัดในวันตรุษสงกรานต์ นั่งใกล้ใครเขาก็รังเกียจ เสื้อผ้าแสนเก่าดูอย่างไรก็ขะมุกขะมอม กับข้าวที่หามาใส่บาตรพระไม่เคยฉัน

            ความยากแค้นแถมถูกรังเกียจ ทำให้แกไม่สู้สายตาคน อุตส่าห์ปลีกตัวออกไปอยู่ชายป่า ไม่วายโดนคำพิพากษาของชาวบ้านว่าเป็นผีปอบและกระสือ แกไม่มีญาติพ่น้อง ไม่มีใครปกป้อง ใครจะตัดสินว่าแกเป็นอะไรก็ย่อมได้
            ข่าวลือเรื่องผีปอบและกระสือ อาละวาดโด่งดังหนักขึ้นทุกวัน เด็กและผู้หญิงหวาดกลัว ผู้ชายไม่ค่อยกลัว แต่ก็ตื่นเต้นอยากรู้อยากเห็น แต่ก้ไม่เคยมีใครเห็นตัวจริงสักที นอกจากแสงไฟวอมแวมในคืนวันโกนเท่านั้น

            ตาเดชกับยายโถยิ่งดูลึกลับยิ่งขึ้น แกแทบจะไม่ออกมาพบปะผู้คน นอกจากยามเก็บหาผัก และลูกตาลสุกมาขาย ยิ่งแกทำตัวลึกลับ  ยิ่งตกเป็นขี้ปากชาวบ้านมากขึ้น  ถึงขนาดมีหนุ่มๆรวมหัวกันไปแอบซุ่มหลังบ้านแกตอนดึก คอยดูผีกระสือและผีปอบออกหากิน แต่คอยอยู่ทั้งคืน  อุทิศเลือดให้ยุงกินเสียตัวซีด ก็ไม่มีวี่แววของผีกระสือและปอบแต่อย่างใด
            พวกผมเด็กวัดต่างกลัวผีปอบและกระสือไม่แพ้คนอื่นๆ ยามค่ำคืนถึงขนาดไม่กล้าลงจากกุฎิคนเดียว จะไปไหนทีต้องไปเป็นกลุ่ม ยิ่งไอ้แขกกับไอ้จ้อยไปส้วมตอนค่ำ เจอแสงไฟจากผีกระสือเต็มตา มันวิ่งกลับกุฎิจนหัวใจแทบวาย หลวงพี่แชรู้เรื่องรีบถือไฟฉายออกไปดูทันที แต่ก็เห็นเพียงแสงไฟวอมแวมไกลๆ ตามไปดูก็ไม่ทัน

            หลังจากไอ้แขกกับไอ้จ้อยเจอกระสือที่หลังส้วมคืนนั้นแล้ว ยังมีคนอื่นเจออีก หลวงตาเพิ่มก็ว่าเหมือนกัน แต่ไม่ยืนยันว่าใช่หรือเปล่า หลวงพี่สายัณห์ก็เคยเห็น หนักเข้าไม่ว่าพระหรือเณร ไม่นับเด็กวัดซึ่งปอดแหกอยู่แล้ว ล้วนไม่กล้าไปส้วมยามกลางคืนคนเดียวอีกเลย  เรื่องนี้หลวงพี่แชบอกว่าที่เห็นกันหลังส้วมบ่อยๆ เพราะมีปอบและกระสือชอบมาหาของสกปรกกินในส้วม ยิ่งทำให้ไม่มีใครกล้าเข้าส้วมตอนกลางคืนเข้าไปใหญ่
           
            น่าแปลกตรงที่คนที่เคยเห็นผีกระสือ ต่างเห็นในคืนวันโกน คือ ก่อนวันพระทุกครั้ง ไม่มีใครตอบได้ว่าเป็นเพราะอะไร
            ข่าวเรื่องผีกระสือและผีปอบมาอาละวาดในวัด ทำให้ชาวบ้านโจษขานกันขนานใหญ่ ยิ่งข่าวที่ว่าพระในวัดกลัวผีจนไม่กล้าเข้าส้วม พระยังกลัวผีขนาดนี้ แล้วชาวบ้านจะไปพึ่งใคร ข่าวเรื่องนี้เริ่มทำความไม่สบายใจจนท่านสมภารทนอยู่ไม่ไหว จึงวางแผนจับผีกระสือกับผีปอบทันที
           
            ค่ำวันโกนถัดมา ท่านสมภารจะทำการจับผีปอบและกระสือ ทีแรกท่านไม่ต้องการให้ใครร่วมด้วย แต่หลวงพี่สายัณห์เห็นท่านแก่แล้ว  กลัวจะสู้ผีไม่ไหวจึงอาสาไปเป็นเพื่อน ท่านสมภารสั่งห้ามไม่ให้ใครไปอีก กลัวว่าผีจะตื่นแล้วไม่มาให้จับ ปล่อยให้พวกเด็กวัดและพระองค์อื่นๆ คอยลุ้นด้วยความตื่นเต้น
            คืนวันนั้นเป็นปลายฤดูฝน ใกล้ออกพรรษาแล้ว อากาศอบอ้าวแต่หัวค่ำ ท่านสมภารกับหลวงพี่สายัณห์หายเงียบไปนานแล้ว  ทุกคนในวัดแทบไม่มีใครหลับนอน ต่างคอยฟังข่าวผีกระสือและปอบกันด้วยความตื่นเต้น

            การรอคอยไม่สูญเปล่า ยังไม่ทันห้าทุ่ม เสียงคนเอะอะก็ดังมาจากทางส้วม พระในวัดรวมทั้งเด็กวัดที่ยังไม่หลับ ต่างคว้าตะเกียงและไฟฉายออกไปดูทันที
            เดินไปต่างก้ตื่นเต้น โดยเฉพาะเด็กวัดต้องเดินอยู่กลางกลุ่ม แล้วในที่สุดพวกเรากฌมาถึงที่ท่านสมภารจับผี

            ตรงหลังส้วมมีโคกจอมปลวกใหญ่ มีต้นขี้เหล็กขึ้นเป็นดง หน้านี้ขี้เหล็กออกดอกเหลืองอร่าม ท่านสมภารกับหลวงพี่สายัณห์นั่งจับมือตาเดชไว้แน่น มียายโถนั่งก้มหน้านิ่งอยู่ใกล้ๆ
            นั่นยังไง ผีปอบกับผีกระสือ คือตาเดชกับยายโถสมดังคำร่ำลือนั่นเอง

            พวกเราล้อมลงกันเข้ามาฟังท่านสมภารไล่เลียงผีทั้งสองตัว
            "แกออกมาทำอะไรกันแถวนี้ พระเณรไม่กล้ามาถาน แล้วที่เขาลือกันว่าแกเป็นผีกระสือกับผีปอบจริงหรือเปล่า"
           
            "โธ่- ไม่จริงหรอกครับ ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย คนมันก็บ้าใส่ร้ายกันดีนัก" ตาเดชตอบ
            "แล้วแกมาทำอะไรแถวนี้ ทำไมต้องมาวันโกนด้วย" ท่านสมภารซักต่อ

            "ผมมาหาเห็ดโคนครับ ตรงนี้เป็นจอมปลวก เห็ดขึ้นเยอะ นั่นเพิ่งเก็ไบได้สองดอกเอง ยายโถเลยถือโอกาสเก็บดอกขี้เหล็กไปด้วย กะว่าพรุ่งนี้เช้าจะแกงขี้เหล็กมาทำบุญ  ที่ผมต้องออกหาเห็ดในคืนวันโกนเพราะยายโถเข้าต้องมาวัดทำบุญทุกวันพระ หาปลามั่ง หาเห็ดมั่ง หูตาก้ไม่ดี  แก่ขนาดนี้แล้วคนยังหาว่าเป็นผีปอบผีกระสือ อย่าว่าแต่เข้าใกล้ใครเลย  มองหน้าเขาก็หลบกันหมด ท่านสมภารช่วยผมกะเมียทีเถอะครับ"

            สิ้นเสียงตาเดช พระก็ครางกันฮือ ผมนั้นสงสารตาดชกับยายโถจับใจ.

ที่มา  ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น