++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ความสำคัญของการปรับฐานความคิด กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.เชียงราย

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            บ้านถ้ำชุมชนที่เก่าแก่มากว่า 150 ปี ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีถ้ำหลายแห่งจึงเรียกกันติดปากว่า "ชาวบ้านถ้ำ หรือ คนบ้านถ้ำ" ธรรมชาติของคนในชุมชนบ้านถ้ำนั้น ชาวบ้านไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่แสดงความคิดเห็น มักจะเป็นฝ่ายรับฟังเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านที่นี่มีความเชื่อและศรัทธาในตัวผู้นำมาก ดังนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไรจะยกให้เป็นหน้าที่ของผู้นำในการตัดสินใจ เช่นเดียวกับเรื่องสุขภาพ หากถามชาวบ้านถ้ำถึงเรื่องสุขภาพของพวกเขาเอง ก็จะได้คำตอบว่า เป็นหน้าที่ของหมอและเจ้าหน้าที่อนามัย

            "หมออนามัยว่ายังไง ชาวบ้านก็ว่าตาม"

            กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ของชาวบ้านถ้ำอยู่ภายใต้การดูแลของกองสาธารณสุข และมีหัวหน้ากอสาธารณสุขเป็นผู้ประสานงาน ให้แนวทางในการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
            "สำหรับเป้าหมายของหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ที่เทศบาลตำบลบ้านถ้ำตั้งไว้ คือ ต้องให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากกองทุนฯ มากที่สุด โดยชาวบ้านสามารถคิด และวางแผนในการดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพด้วยตนเอง"

            ความมุ่งหวังหรือเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนาเรื่องสุขภาพของชุมชนบ้านถ้ำ เริ่มจากผู้นำชุมชนขึ้น ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพที่ชุมชนควรจะมีผู้นำชุมชน นำความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้ไปเผยแพร่ โดยการพูดคุยในเวทีประชาคมแต่ละหมู่บ้าน โดยมีกองสาธารณสุขเป็นพี่เลี้ยง

            เมื่อชาวบ้านตระหนักถึงประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของตนแล้ว ก็ได้มีการจัดโครงการต่างๆเพิ่มขึ้นตามความต้องการของคนในชุมชนเอง โครงการเด่นในชุมชนบ้านถ้ำ ได้แก่ "โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา"

            ประธานกองทุนฯ ได้กล่าวไว้ว่า
            " โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ก็พบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการสามารถงดเหล้าได้บางส่วน โดยประเมินผลจากการที่ชาวบ้านในหมู่บ้าน มีการติดตามประเมินผลกันเอง เมื่อไปพบกันในงานต่างๆ งานศพ งานบุญต่างๆในหมู่บ้าน จากคนที่เคยดื่มเหล้า ก็ปฏิเสธการดื่มเหล้า  แต่โครงการนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ครอบคลุมกับชาวบ้านทุกคน เนื่องจากการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ ให้เป็นกลุ่มคนทำงาน แต่ชาวบ้านอีกบางส่วนก้ไม่ได้เข้าร่วม ชาวบ้านก็ให้ข้อคิดเห็นว่าควรจะทำให้ครอบคลุมเหมือนๆกัน เนื่องจากการจัดกลุ่มเป้าหมายในครั้งแรก คณะดำเนินการร่วมกันคิดว่าน่าจะทำในกลุ่มผู้นำก่อน เฉพาะกลุ่มเล็กๆ เพื่อว่า ถ้าทำกลุ่มใหญ่ทั้งหมด และไม่เกิดผลสำเร็จ กลัวว่าจะเกิดการท้อถอยขึ้น จึงคิดกันว่า ทำในกลุ่มผู้นำในชุมชนก่อนเพื่อเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็นและอยากทำตาม"

            หลังจากทำโครงการนี้แล้วก็ค้นพบว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชนบ้านถ้ำนั้น สามารถเริ่มต้นจากผู้นำชุมชนได้ เพราะความเชื่อและศรัทธาในตัวผู้นำชุมชน เมื่อผู้นำชุมชนเห็นว่าดีและปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ชาวบ้านก็จะทำตามมากขึ้นตามลำดับ พร้อมกับพัฒนาความรู้ในเรื่องสุขภาพมากขึ้นตามลำดับเช่นกัน

            ปัจจัยที่ทำให้โครงการนี้ สำเร็จได้เกิดขึ้นจาก
            วิสัยทัศน์ของผู้บริหารงาน คือ หัวหน้ากองสาธารณสุข ซึ่งมองเห็นปัญหาแล้วรู้จักวิธีการเริ่มต้นแก้ปัญหาได้ดีโดย
            ผู้นำชุมชนที่ปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้เกิดความเข้าใจก่อน จากนั้นชุมชนก็ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อสม. ทุกส่วนมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น รวมไปถึง คนในชุมชนเองที่ยอมปรับเปลี่ยนและพัฒนาตนเองตามผู้นำชุมชน

            ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเริ่มต้นโดยให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนฐานความคิดของผู้นำชุมชนนัน ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนวงกว้างได้มากทีเดียว แม้คำกล่าวที่ว่า "เชื่อผู้นำ ชาติเจริญ"  จะดูเชยและตกยุค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทและความคิดของผู้นำนั้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับชุมชนบ้านถ้ำได้จริงๆ

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
พวงผกา คำดี
จันร์จิรา จันทร์บก
วพบ.เชียงใหม่/วพบ.พะเยา   




ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น